วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ลาทีปีเก่า..ตอนรับปีใหม่


ลาทีปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ด้วยจิตใจที่เบิกบาน ขอบคุณทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาใน 1 ปี  ขอบคุณที่เรากำลังจะได้มีอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ....อย่างน้อยมันทำให้เราได้รู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ เรายังได้สื่อสารกันผ่าน Facebook, Blogger, Wordpress, Lineได้บอกเล่าเก้าสิบ อัฟเดตกิจกรรมและเรื่องราวดีๆส่งถึงกันมากมายในปีนี้

"คิดริเริ่ม" อะไรใหม่ หรือ "ปรับเปลี่ยน" สิ่งเก่าๆ ในชีวิต ให้ลงมือทำสิ่งนั้นอย่างตั้งมั่นและต่อเนื่อง ดูแลคนที่คุณรักและมั่นใจว่าเขาจะเป็นกำลังใจให้คุณตลอด  ทบทวนสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่กำลังจะผ่านไป ทั้งชีวิตครอบครัว ส่วนตัว  และการงาน ปีหน้าหากคุณมีเป้าหมายชีวิตอะไรอย่าเพียงแต่คิด ให้ลงมือทำ

สุดท้ายนี้ขออวยพรให้ปี 2014 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เป็นปีที่วิเศษที่สุดอีกปีหนึ่งของทุกคนค่ะ

ขอบคุณที่เป็นเพื่อนกัน.....สวัสดีปีใหม่ค่ะ

******************************
http://radio.sanook.com/music/player/สวัสดีปีใหม่/119484/  ฟังเพลงสวัสดีปีใหม่ ฟังสบายๆ เย็นๆใจค่ะ

หน้าหนาวกับสาวผิวแห้ง

 
  
     อากาศแห้ง และเย็นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการผิวแห้ง เพราะจะดึงเอาความชุ่มชื้นออกไปจากผิว  ไม่ว่าจะเป็นหน้าหนาว หรือการใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผิวแห้งได้เช่นกัน สิ่งที่ทำให้อาการผิวแห้งคันเลวร้ายขึ้นไปอีกคือ การอาบน้ำอุ่นจัดในหน้าหนาว ซึ่งจะยิ่งทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื่นอย่างมาก วิธีการแก้ไขคือคุณจะต้องไม่เปิดแอร์เย็นเกินไป และไม่อาบน้ำร้อนที่ร้อนจนเกินไป นอกจากนี้คุณควรใช้โลชั่น น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงาทาผิวอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ 

ข้อเสียของผิวแห้ง
คนที่ผิวแห้งก็มีปัญหาเช่นกัน คือการเกิดริ้วรอย แก่เร็ว เป็นไฝ ฝ้า กระ ได้ง่าย รวมทั้งทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ชั้นในของผิวหนังได้ง่าย เกิดการระคายเคือง การแพ้ได้ง่าย  หรืออาจจะแห้งจนเกิดอาการคันหรือแห้งรุนแรงมากจนมีปัญหาอื่นเช่นโรคผิวหนังติดเชื้อก็ได้

วิธีการป้องกันผิวแห้งตามวิถีไทยในหน้าหนาว มักจะมีตำรับอาหารเฉพาะ ส่วนใหญ่การรับประทานอาหารที่มีไขมันอยู่บ้าง เช่น  ข้าวหลาม รำหมกกล้วย ข้าวปุ๊กหรือข้าวตำงา บัวลอยไข่หวาน หรือเป็นอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม เพื่อที่ต่อมไขมันจะได้มีการขับน้ำมันธรรมชาติมาเคลือบผิวไว้ ไม่ให้แห้งแตก น้ำมันธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจะสามารถเคลือบผิวได้ดี ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีความมันอยู่บ้างนับว่าเป็นประโยชน์ต่อสาวผิวแห้ง
 มีข้อแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอกตามแบบฉบับวิถีไทย
สมัยก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแตก ภูมิปัญญาไทยจะใช้น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันงา รวมทั้งน้ำมันหมูมาทาผิวเพื่อไม่ให้ผิวแตกในหน้าหนาว ปัจจุบันนิยมใช้ครีม โลชั่น แต่ถ้าอากาศหนาวมาก หรือความชื้นสัมพัทธ์ต่ำมาก ต้องใช้น้ำมันทาเหมือนในอดีต หรือต้องใช้เนื้อครีมหรือโลชั่นที่มีความเข้มข้นขึ้น หรือใช้ทั้งสองอย่างผสมกัน รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่แรงเกินไปในการทำความสะอาดผิว และไม่แนะนำให้มีการล้างหน้า ล้างมือบ่อยเกินไปในหน้านี้ ซึ่งในรายของผู้สูงวัยอาจใช้มะขามเปียกอาบน้ำแทนการใช้สบู่
เยื่อบุทางเดินหายใจเป็นช่องทางที่ร่างกายสัมผัสกับอากาศภายนอก มีเพียงชั้นเซลล์ที่มีความเปียกชุ่มกันอยู่เท่านั้น บริเวณชั้นเซลล์เหล่านี้มีเซลล์ที่ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องไม่ให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง เพราะจะทำให้เชื้อโรค ฝุ่นละออง เข้าสู่เซลล์ได้ง่าย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การที่ไม่ให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้งต้องดื่มน้ำมากๆ และรับประทานสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เพื่อช่วยขับเสมหะให้มาเคลือบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจไว้ให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ
พอถึงหน้าหนาว คนสมัยก่อนจึงนิยมให้รับประทานตำรับอาหารที่มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้มดอกแค แกงบอน เป็นต้น รวมทั้งถ้ามีอาการไอ จะนิยมทำยาแก้ไอจากผลไม้สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งในฤดูกาลนี้จะมีมะขามป้อมและสมอไทยออกมาพอดี สภาพที่อากาศเย็น จะส่งผลให้ธาตุไฟภายในร่างกายแปรปรวน ทำให้การย่อยอาหาร การไหลเวียนของเลือด ซึ่งต้องการธาตุไฟไปใช้ต้องบกพร่องไป ทำให้เกิดอาการท้องอืดอาหารไม่ย่อย หอบหืดกำเริบ เกิดอาการหนาวใน เป็นต้น ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนในหน้าหนาว เพื่อช่วยเพิ่มธาตุไฟให้กับร่างกาย เช่น ข้าวหมาก พืชในตระกูลขิงข่า พืชผักที่มีรสร้อน เช่น พริก ดีปลี พริกไทย ตะไคร้ ใบกะเพรา เป็นต้น


การดูแลสุขภาพในฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ร้อนและปรุงเสร็จใหม่ๆ ควรมีรสเปรี้ยวอมขมเล็กน้อย และรสเผ็ด เช่น แกงส้มดอกแค แกงขี้เหล็ก แกงป่า สะเดาน้ำปลาหวาน และน้ำพริก เพราะธรรมชาติจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรในฤดูต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ในฤดูหนาว มักจะมีสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น สะเดา ซึ่งมีรสขม เมื่อกินแล้วจะช่วยแก้ไข้ ทำให้เจริญอาหาร ขี้เหล็กมีสรรพคุณช่วยระบายและช่วยให้หลับสบาย ดอกแคแก้ไข้หัวลม ฉะนั้นควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านที่มีอยู่ตามฤดูกาล มีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด
************************************************

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รักษาอาการไอด้วยสมุนไพรไทยง่ายๆ


อาการไอเป็นอีกอาการหนึ่งที่มักเป็นควบคู่กับอาการอื่นๆ  และทรมานผู้ป่วยมาก ทั้งก่อให้เกิดอาการไอจนนอนไม่หลับ แต่การไอเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของปอด ที่ใช้ในการสกัดสิ่งที่บุกรุกเข้ามา จะช่วยขับสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในระบบหายใจ ซึ่งก็คือเสมหะนั่นเอง  ถ้าไอเรื้อรังไม่หายสักที ก็อาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาการไอก็มีทั้งไอแห้งและไอที่มีเสมหะ
วิธีรักษาอาการไอที่ดีที่สุดคือ การรักษาที่ต้นเหตุของการไอ แต่ไม่ใช่การกดอาการไว้ เพราะการไอจะช่วยขับเอาเสมหะ และฝุ่นละอองที่ สูดหายใจเข้าไปออกจากปอด หลอดลม และหลอดคอออกมา
เราลองมาดูว่าโบร่ำโบราณใช้ยาสมุนไพรอะไรบ้างเป็นยาแก้ไอ ซึ่งจำแนกได้  3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ขิง กระเทียม ดีปลี
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นกรด คือ รสเปรี้ยว ตามสรรพคุณยาไทย  รสเปรี้ยวบำรุงธาตุน้ำ กัดเสมหะ ฟอกโลหิต ได้แก่ มะนาว มะขามป้อม
กลุ่มที่ 3 กลุ่มสมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น เพกา มะเขือแจ้หรือมะเขือขื่น
 มะนาว เป็น ยาสมุนไพรครอบจักรวาลก็ว่าได้มีสรรพคุณมากมาย และยังเป็นสมุนไพรที่หาง่าย  แต่บางฤดูกาลก็มีราคาแพงสูงถึงลูกละ 10 บาท เมื่อมีอาการไอระคายคอมักได้รับคำแนะนำให้ฝานมะนาวเป็นชิ้นบางๆ หรือหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าชิ้นเล็กๆ จิ้มเกลือ อมทิ้งไว้สักครูแล้วเคี้ยวกลืน หรือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นผสมเกลือเล็กน้อยใช้จิบ ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ด้วย  หรือตำรับเก่าแก่ของมนุษย์ทั้งโลกใช้คือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งจิบแก้ไอ
มะขามป้อม ใช้ แก้ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ มีอาการริมฝีปากแห้ง และรู้สึกร้อนในอก ไอที่มาจากทรวงอกจนเจ็บชายโครง   หรือไอมานานแล้วไม่หาย ใช้ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่มหรือจิบ หรือใช้ผลสดต้มกับน้ำตาลทรายแดง มะขามป้อมมีรสฝาดเปรี้ยวหลังจากกลืนลงคอไปแล้วจะมีรสหวานชุ่มชื่นคอมาก
มะขาม ใช้กัดเสมหะเอามะขามเปียก 3 กรัม จิ้มเกลือรับประทาน หรือนำมะขามเปียกมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย จะได้ยาขับเสมหะที่มีรสกลมกล่อม ข้อควรระวัง มะขามเปียกมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป
ขิง รักษาอาการไอและขับเสมหะ หรือมีเสลดติดที่หลอดลมมากๆ ขิงจะช่วยให้หลอดลมขยายขึ้น   และขับของเหนียวข้นออกมาได้ง่าย  ให้ใช้เหง้าขิงสด ประมาณ 60 กรัม น้ำตาลทราย   30 กรัม ใส่น้ำ 3 แก้ว นำไปต้มให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบกินตอนอุ่นๆ หรือใช้ฝนกันน้ำมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ใช้รักษาอาการไอเรื้อรัง ให้เอาน้ำที่คั้นจากเหง้าสด ประมาณ 1 ลิตร ผสมน้ำผึ้งประมาณ 500 กรัม เคี่ยวในกระทะทองเหลือง  ทำจนน้ำระเหยไปหมด แล้วจึงเอามาปั้นเป็นเม็ดเท่าลูกพุทราจีนใช้อม
กระเทียม ใช้ กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากัน ตำละเอียดละลายกับน้ำอ้อยสด คั้นน้ำจิบแก้ไอขับเสมหะและทำให้เสมหะแห้งหรือคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติม เกลือใช้จิบหรือกวาดคอก็ได้ กระเจี๊ยบแดง  ใช้กลีบเลี้ยงดอกสดหรือแห้งประมาณ 1-2 กรัมมือต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลและเหลือใช้จิบบ่อยๆ ช่วยให้ชุ่มชื้นคอ ดีปลี  ใช้แก้อาการไอมีเสมหะ ควรใช้ดีปลีประมาณครึ่งผล ตำละเอียดเติมน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย  กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
ดีปลี รสเผ็ดร้อนมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ใช้ผลแก่ของดีปลีประมาณ 1/2-1 ผล ฝนกับน้ำมะนาว เติมเกลือนิดหน่อย กวาดลิ้นหรือจิบ บ่อยๆ
มะแว้ง ต้น/เครือ ปัจจุบันมะแว้งได้รับการพัฒนาจากองค์การเภสัชกรรม ผลิตและจำหน่ายยาอมมะแว้ง  สรรพคุณช่วยแก้ไอและชุ่มคอ แต่เราสามารถใช้ในรูปของอาหารและยาได้ โดยใช้ผลสดตำกับน้ำพริกหรือใช้รับประทานเป็นผักเคียงกับน้ำพริก ถือเป็นการใช้ในรูปแบบอาหารเป็นยา  หรือใช้ผลมะแว้งเครือ/ต้นสด 5-6 ผล ล้างให้สะอาดเคี้ยวอมไว้ กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายทิ้ง  หรือใช้ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ เวลาไอ
เพกา เมล็ดเพกาเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งใน "น้ำจับเลี้ยง" ของคนจีน ใช้ดื่มแก้ร้อนใน เมล็ดเพกามีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ และขับ เสมหะ โดยใช้เมล็ดเพกาประมาณ 1/2-1 กำมือ (หนัก 1.5-3 กรัม) ต้มกับน้ำประมาณ 300 มิลลิลิตร ตั้งไฟอ่อนๆ ต้มให้เดือดนานประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้ดื่มเป็นยาวันละ 3 ครั้ง
มะเขือแจ้หรือมะเขือขื่น อาจ ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะเรามักจะบริโภคมะเขือเปราะมะเขือยาวมากกว่า  มะเขือแจ้เมื่อผลแก้จัดมีสีเหลือง นิยมทานกับน้ำพริก ก่อนเอามาทานจะเอามาแช่น้ำเกลือก่อนเพื่อให้กรอบและทานง่าย ถ้าไอเรื้อรังยาวนานหรือไอถึงขั้นปัสสาวะรด ใช้ยาตัวนี้โดยเอารากมาล้างให้สะอาดแช่น้ำฝนหรือน้ำต้มสุกใช้ดื่ม วันแรกอาจดูเหมือนดื่มน้ำเปล่า  แต่พอวันที่ 2-3 ตัวยาจะมีรสขมขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจลดปริมาณน้อยลง และจะช่วยให้อาการไอมานานนับเดือนนั้นหายเป็นปลิดทิ้ง
สับปะรด  แก้ไอในอาการคอแห้งคั้นเอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อยจิบ หรือทานทั้งผลก็ได้ สับประรดมีรสเปรี้ยวอมหวานช่วยให้ชุ่มคอ 
รับมือกับอาการไออย่างง่ายๆ ไม่ต้องวิตกกังวลมาก และยังมีอาการและโรคอื่นๆ  ที่มาพร้อมกับไอคือ อาการคัดจมูก ถ้าไม่มีวิกวาโปรับ ก็ใช้หอมแดงทุบพอบุบๆ  ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าบางๆ วางไว้ใกล้หมอนจะช่วยลดอาการทรมานจากการคัดจมูกลงได้  ในพื้นที่ที่ห่างไกลยาและหมอแล้ว ยาสมุนไพรมีความจำเป็นมาก เพราะหาได้ง่ายตามท้องถิ่น  และพร้อมหยิบใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายๆ เพียงเราเรียนรู้คุณค่าและวิธีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง.

สำหรับการคัดจมูก ให้ใช้น้ำมันยูคาลิปตัส (ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป) หยดลงหมอนคะ หรือไม่ก็ใช้หอมแดงทุบห่อด้วยผ้าบางๆ วางไว้ใกล้หมอน เวลานอน แค่นี้ก็ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นแล้วละค่ะ

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หทัย หมาย "ใจ"


หทัย หมาย "ใจ"
ศาสตร์อันลึกซึ้งของการแพทย์แผนไทยแต่โบราณมา

โดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย ในประเภท ก.)

หทัยในที่นี้คือใจ มิได้หมายถึงเนื้อหัวใจหรือหทยัง เมื่อเกิดสภาวะทางใจไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีจะเกิดกำเดา
หมายความร้อนขึ้น และจักเกิดลมตามมา ระบบปิตตะและระบบวาตะจะเริ่มทำงานมากขึ้นและพลุ่งขึ้นบนเป็น
แนวเส้นตรงนับแต่ช่องท้องผ่านขึ้นบนไปถึงศีรษะพัดพาระบบเสมหะหมายโลหิตังขึ้นเบื้องบน ก่อให้เกิดอาการ

๑. ไอกำเดาอุ่นกายจะมากกว่าปรกติและพลุ่งขึ้นบนจนถึงศีรษะ
๒. ลมอุทังคมาวาตาจักบังเกิดตามไอกำเดาในชั่วเวลาต่อเนื่องกันไป และพลุ่งขึ้นบน
๓. จักทำให้เกิดเป็น หทัยวาตะ พัดเข้าหทยัง ส่งผลให้ชีพจรเต้นเร็วและแรงตามสภาวะทางใจนั้น
๔. กำเดาพัดถึงศีรษะทำให้หน้าแดง ตาแดง ตาลาย ตาพร่า ศีรษะร้อน
๕. ลมอุทังคมาวาตาพัดถึงศีรษะทำให้หูดับ ลมออกหู ดันศีรษะทำให้หนักๆ
๖. เนื้อตัวจะร้อนอย่างรวดเร็วจนสภาวะทางใจนั้นดับไป
๗. โลหิตังจะพุ่งขึ้นบนอย่างรวดเร็วหากมีตะกรันแทรกในเนื้อโลหิตอาจเกิดอาการอัมพฤกษ์-อัมพาตได้
๘. หากลมอันบังเกิดวิ่งตามแนวเส้นกองสมุนาจักขึ้นถึงชิวหาสดมภ์ เกิดอัมพฤกษ์ชั่วคราว
๙. เกิดอาการหน้ามืด,ตาลาย,วิงเวียน,เป็นลม,หมดสติได้

หทัยหมายใจ สภาวะความเครียด,ความวิตกกังวล,ความหดหู่,ความเศร้า,ความเสียใจ,ความดีใจ
ความปิติ,ความโมโห,ความอิจฉาริษยา,ความอยากได้อยากมีแล้วไม่ได้,ความพลัดพรากจากกัน ฯลฯ
สภาวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดกำเดาอีกชนิดหนึ่งก็ได้เรียก "กำเดาระส่ำระส่าย" ลางทีตัวร้อน ลางทีตัวเย็น
ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวแรงเดี๋ยวอ่อนสลับกันไป ตามกำเดาที่ระส่ำนั้น แพทย์โบราณว่า หากเกิดกำเดา
ระส่ำระส่าย จักเกิดลมสวิงสวาย นอนหลับกระสับกระส่าย เป็นภาวะที่ไม่นิ่งตามสภาวะทางใจทึ่ไม่นิ่งนั้น
เกิดกำเดากำเริบ กำเดาหย่อนสลับกันไปมา และทุกอย่างจะหยุดเมื่อสภาวะทางอารมณ์คลายลงบรรเทาลง
ตำรับยารสเย็น อันปรุงขึ้นจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมและมีสรรพคุณเย็น ย่อมบรรเทาซึ่งอาการทางสภาวะ
อารมณ์ใจ ทำให้ใจสงบใจเบิกบานชื่นใจ ทำให้ใจชุ่มชื่น ที่สำคัญทำให้กำเดาอุ่นกายอันบังเกิดแต่ใจหย่อนลง
และต้องไม่ใช่ตำรับยาที่ปรุงจากสมุนไพรรสขมมากนัก ด้วยอาการที่เกิดเป็นอาการทางใจมิใช่อาการทางกาย
ต้องใช้กลิ่นหอมมาสัมผัสอาการทางใจเกิดสุนทรียทางกลิ่นสัมผัส 
นับได้ว่าแพทย์แต่โบราณมารู้จักความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ช่างล้ำลึกและชาญฉลาดยิ่งนัก นำความรู้แห่งธรรมชาติมาปรุงเป็นตำรับยาหอมบำรุงหทัยให้สดชื่นเบิกบาน รู้จักนำความหอมมาทำเป็นยา ไปจนกระทั่งแม้แต่น้ำกระสายยายังใช้น้ำลอยดอกไม้หอม น้ำดอกไม้เทศ มาผสมกับยาหรือดื่มไปพร้อมกับยา ช่างละเอียดลออยิ่งนักในภูมิรู้นี้
รสหอมเย็นไม่ได้แก้หรือบรรเทาอาการหรือโรคทางหัวใจ แต่เป็นยารักษาใจ รักษาอารมณ์ รักษาหทัย
มิให้ "หทยัง" เสื่อมไปต่างหาก ตำรับยาหอมสำหรับลมอุทังคมาวาตาและลมหทัยวาตะ จะปรุงด้วยความ ละเมียดละไมเลือกใช้แต่สมุนไพรประเภทดอกไม้เป็นส่วนมาก ของหอมบรรดามีทั้งชมดเช็ด ชมดเชียง พิมเสนในปล้องไม้ไผ่ หญ้าฝรั่น ถูกผสมผสานด้วยน้ำกระสายยาที่ปรุงจากของหอมนานาชนิดเข้าไปอีกแล้วบดจนเป็นผงละเอียดมาก ทานกับน้ำดอกไม้หอม หรือเพียงแค่ดมก็ชื่นใจแล้ว

คงปรุงตำรับยาขนานนี้ได้อย่างลำบากมากในปัจจุบันนี้ จึงขอแนะนำให้ปรุงน้ำกระสายยาทดแทนถึงแม้มีสรรพคุณไม่ทัดเทียมแต่ก็ช่วยบรรเทาได้บ้าง


ตำรับน้ำกระสายยา ดอกไม้หอม

ส่วนประกอบสมุนไพร กุหลาบมอญสด,มะลิลาหรือมะลิซ้อนสด,เกสรบัวหลวง,กระดังงาหรือการะเวกสด

(ใช้ดอกไม้หอมได้นานาชนิดแล้วแต่หาได้)

วิธีทำ นำดอกไม้แต่ละชนิดแยกชนิดกันมาลอยบนน้ำสะอาดเพียงห่างๆ ทิ้งชั่วคืนเมื่อเข้าหัวรุ่ง

นำกรองให้สะอาดแล้วผสมเข้าด้วยกัน

วิธีใช้ ใช้ทานพร้อมยาหอมเทพจิตร 


ตำรับน้ำกระสายยา บำรุงอารมณ์แห่งใจ


ส่วนประกอบสมุนไพร ขอนดอก(จากไม้พิกุลล้ม),เกสรบัวหลวง,รากระย่อมสะตุ,เกสรทั้งห้า,ใบย่านาง

ดอกขี้เหล็ก,ดอกสะเดา (แห้งหรือสดก็ได้) หากเป็นรสขมให้ใช้แต่น้อย

วิธีทำ นำลงต้มในน้ำซาวข้าวหรือน้ำสะอาดก็ได้ ให้เจือใบชาจีนไปนิดหน่อย

วิธีใช้ จิบเฉกจิบชาอุ่นๆทำให้ใจสงบนิ่ง 
**********************************************

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รสและสรรพคุณของสมุนไพร


" รสชาติบอกสรรพคุณ สรรพคุณบอกรสชาติ "
กลไกการออกฤทธิ์ของรสสมุนไพร
ในแบบฉบับแห่งการแพทย์แผนไทยแต่ดั้งเดิม
( ตอนที่๑.) รสฝาด,หวาน,มัน

รสชาติของสมุนไพรแต่ละชนิดบ่งบอกถึงสรรพคุณแห่งสมุนไพรชนิดนั้น ในขณะเดียวกันหากเรารู้สรรพคุณ
ของสมุนไพรชนิดนั้น เราก็จะบอกได้ทันทีว่าสมุนไพรชนิดนั้นมีรสใดโดยไม่ต้องชิม ภูมิปัญญานี้ช่างวิเศษนักใช้
ประโยชน์ได้หลายสถานดังนี้
๑. รู้รส รู้สรรพคุณ รู้สรรพคุณ รู้รส รู้หนึ่งสิ่งรู้อีกสิ่ง ไม่รู้สองสิ่ง ไม่รู้สิ่งใดเลย
๒. เมื่อรู้สรรพคุณ ทำให้แพทย์นำมาปรุงเป็นตำรับยาได้
๓. รู้คุณแห่งรส ย่อมรู้โทษแห่งสรรพคุณของรสนั้น รสสมุนไพรแสลงอาการหรือโรค
๔. รู้สรรพคุณ ย่อมรู้ว่าสมุนไพรนั้นชอบกับโรคและอาการใด โดยพิจารณาจากรส
๕. รู้รส รู้สรรพคุณ รู้อาหารแสลงโรค รู้อาหารผิดสำแดง รู้อาหารชอบกับโรค
ในทางคัมภีร์การแพทย์แผนไทยบ่งบอกเพียงสรรพคุณเภสัช แต่มิได้แจ้งว่าเภสัชนั้นมีสรรพคุณวิธีเช่นไร
เพื่อให้บังเกิดผลนั้นตามมาภายหลัง คือบอกแต่ผล มิได้บอกเหตุแห่งผลนั้น แพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง
ศึกษาเหตุที่ทำให้เกิดผลของรสสมุนไพรนั้นมิใช่ทราบเพียงแต่ผลโดยไม่เข้าใจเหตุ เพราะเมื่อไม่ทราบก็จักปรุง
ตำรับยาตามผลของสมุนไพรนั้น โดยขาดสาระแห่งเหตุทำให้ประสิทธิภาพแห่งตำรับยาเกิดประสิทธิผลได้น้อย
ปัจจุบันเราเรียกเหตุแห่งผลนั้นว่า "กลไกการออกฤทธิ์" ของรสซึ่งก่อให้เกิดสรรพคุณตามมา จักขออรรถาธิ
บายเหตุแห่งรสดังต่อไปนี้

รสฝาด
กลไกการออกฤทธิ์ ฝาด มีลักษณะรสที่แห้งเฝื่อนขื่นแต่ไม่ขม ทำให้เสมหะที่กำเริบงวดลง เมื่อเสมหะแห้งจักเกิดกำเดาตามมา ทำสิ่งที่เปียกให้แห้งลง ฝาดจึงทำให้น้ำแห้ง เกิดไฟเกิดลมตามมา

สรรพคุณ ฝาดจึงมีลักษณะสมานเสมหะที่กำเริบ ปิตตะที่หย่อนมากขึ้น ลมที่หย่อนจะเพิ่มขึ้น 
ประโยชน์ สมานเสมหะ ปิดบาดแผลทั้งภายในและภายนอก ที่มีบุพโพเสียบังเกิด ใช้ปิดโลหิตเน่าร้าย ปิดระดูที่มีมากเกิน ปิดศอ,อุระ,คูถเสมหะที่กำเริบบังเกิดเสลด
สมานปิตตะ ปิดไข้เพื่อดี ไข้เพื่อเสมหะ และไข้เพื่อลม 
สมานวาตะ ปิดลมที่หย่อนจากเหตุที่น้ำกำเริบ

โทษ กับอาการหรือโรคที่ทำให้ เสมหะกำเริบ ปิตตะหย่อน วาตะหย่อน

รสหวาน 
กลไกการออกฤทธิ์ หวาน มีลักษณะรสที่ชุ่มเย็น ทำให้เกิดเสมหะ โบราณว่าหวานทำให้เกิดโลหิต และ
โลหิตนั้นไปหล่อเลี้ยงมังสะ หมายที่อวัยวะภายในและภายนอก หรือหวานนั้นทำให้เกิดพลังงาน และพลังงานไปหล่อเลี้ยงมังสะอีกที รสหวานจึงไม่ได้บำรุงเนื้อแต่ทำให้เกิดพลังงานไปบำรุงเนื้อต่างหาก

สรรพคุณ หวานบำรุงธาตุดิน ๒๐ ส่วนด้วยเสมหะโลหิตัง และเมื่อระบบปิตตะกำเริบนั้นเสมหะจะหย่อนไปวาตะจะกำเริบตาม แต่รสหวานจะไปช่วยทำให้เกิดเสมหะผ่อนกำเดาของระบบปิตตะลง วาตะจึงหย่อนตาม ลมจึงหย่อนลงในที่สุด

ประโยชน์ บำรุงเสมหะ ด้วยกลไกความชุ่มเย็น ลดกำเดาอันเกิดแต่ภาวะระบบปิตตะกำเริบ ลดลมอันเกิดแต่ภาวะระบบวาตะกำเริบจากระบบปิตตะที่กำเริบอยู่ก่อน

โทษ แสลงกับอาการเสมหะกำเริบทุกชนิด แสลงกับอาการทางระบบปิตตะหย่อน
แสลงกับอาการทางวาตะหย่อนกระทำให้กองลมลงล่างหย่อนตาม

รสมัน
กลไกการออกฤทธิ์ มัน มีลักษณะรสที่เหนียวหนึบยึดติด ดั่งคำที่ว่า "กินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน"มีภาวะเชื่อมติดสิ่งที่แตกร้าว,เปราะหัก,เสื่อมไป เช่นกระดูกร้าว,กระดูกเสื่อม ผังผืด,เส้นเอ็น,กล้ามเนื้อ ที่ขาดออกขยายออกหรือเสื่อมไป

สรรพคุณ เชื่อมประสานธาตุดิน ๒๐ ส่วน ที่ประกอบไปด้วย กระดูก,กล้ามเนื้อ,เส้นเอ็น,ผังผืด เยื่อกระดูกและกระดูก แต่กระทำให้ธาตุน้ำข้นหนืด ธาตุไฟจักกำเริบได้

ประโยชน์ ธาตุดิน เชื่อมประสานให้ยึดเกาะกัน
ธาตุน้ำ ทำให้น้ำหนืดข้นขึ้น หากน้ำนั้นใสไปไม่บริบูรณ์
ธาตุลม ทำให้เกิดลมแล่นทั่วกายมากขึ้นจากธาตุไฟที่มากขึ้น
ธาตุไฟ ทำให้ไฟมากขึ้น ด้วยเหตุที่เสมหะข้นขึ้น

โทษ แสลงกับอาการทางไฟธาตุนั้นกำเริบ
แสลงกับอาการทางธาตุน้ำที่มีความหนืดข้นอยู่แล้ว แสลงกับอาการทางธาตุลม ที่ระบบวาตะกำเริบอยู่


โดย อ.คมสัน ทินกร ณ อยุธยา


**************************