วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กายวิภาคแผนไทย



มาเรียนรู้สรีรศาสตร์หรือกายวิภาคตามแบบแผนไทยกัน

การศึกษาในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ต้องรู้สรีรศาสตร์ การทำงานของแต่ละอวัยวะมีหน้าที่อะไร และอยู่ใต้การควบคุมของธาตุอะไร ทำให้รู้สมุฏฐานของโรค เพื่อสะดวกในการบริหารรสยาให้ตรงกับโรค จึงทำการวินิจฉัยและรักษาตามทฤษฏีแพทย์แผนไทยได้ถูกต้อง
คัมภีร์แพทย์แผนไทย ที่เกี่ยวกับธาตุทั้ง ๔ มี ๕ คัมภีร์
๑ คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย
๒ คัมภีร์โรคนิทาน
๓ คัมภีร์ธาตุวิภังค์
๔ คัมภีร์ธาตุวิวรณ์
๕ คัมภีร์ฉันทศาสตร์
คำว่า “ธาตุ” ตามพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ อธิบายว่า
“ธาตุ” คือ สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่คุ้มกัน เป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่วไป เชื่อว่ามี ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า ยังมีธาตุอื่นๆ อีก เช่น ธาตุไม้ ธาตุเหล็ก (คติทางจีน) วิญญาณธาตุ อากาศธาตุ (คติทางพุทธศาสนา) ในบางคัมภีร์ จะมีกล่าวถึง “อากาศธาตุ” ในพระไตรปิฎก อธิบายว่า “อากาศ” ได้แก่ ช่องว่างที่ไม่มีธาตุทั้ง ๔ สถิตอยู่
ทางการแพทย์ปัจจุบัน ได้อธิบายว่า “ช่องว่าง” “เป็นช่องที่ไม่เป็นช่อง” คือ Potential Space ซึ่งจะปรากฏเป็นช่อง เมื่อวัตถุแปลกปลอมเข้าไปอยู่ เช่น ช่องปอด ช่องท้อง ช่องในข้อต่อกระดูก เป็นต้น ในพระไตรปิฎก ก็ได้ยืนยัน “อากาศธาตุ” ไว้ เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิชาแพทย์แผนไทย จึงไม่ได้โบราณอย่างที่คิด
ในทางพระพุทธศาสนา ได้บัญญัติธาตุ ๔ ไว้ดังนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าในโลกนี้ทั้งหมด มีอยู่เพียง ๒ สิ่งเท่านั้น คือ
๑. รูป คือ สิ่งที่ไม่รู้ ได้แก่ สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ทั้งที่เห็นได้ และเห็นไม่ได้ เช่น ต้นไม้ ภูเขา น้ำ พลังงานความร้อน แสง สี รังสี เสียง สารเคมี (กลิ่นและรส) ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีตัวตน และสัมผัสทางกายได้
๒. นาม คือ สิ่งที่รู้ ได้แก่ จิต และ เจตสิก ซึ่งรับรู้ มีความรู้สึก มีอารมณ์ และอาจทำให้ “รูป” เคลื่อนไหวไปตามปรารถนา เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่สัมผัสทางกายไม่ได้
“สิ่งมีชีวิต” ในพระพุทธศาสนา หมายถึง “รูปที่มีใจครอง” เมื่อใจหรือจิตออกจากร่าง สิ่งมีชีวิตก็กลายเป็นสิ่งไม่มีชีวิต คือ มนุษย์ และสัตว์ตาย
ธาตุ ๔หรือมหาภูตรูป ๔ แสดงลักษณะเฉพาะตัว ประกอบด้วย
ธาตุดิน มีความแข็ง จับต้องได้
ธาตุน้ำ มีความสามารถในการเกาะกุม และไหลได้
ธาตุลม ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ได้ หรือถ้าอยู่ในที่จำกัด ก็ทำให้เกิดความเคร่งตึง
ธาตุไฟ ทำให้เกิดอุณหภูมิร้อนหรือเย็น
เมื่อธาตุทั้งหลายประชุมรวมกันเข้าเป็นร่างกาย ย่อมต้องอยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทั้งโครงสร้าง และหน้าที่การงาน กล่าวคือ
ธาตุดิน เช่น กล้ามเนื้อ จะมีน้ำอยู่ ๗๐ % เป็นน้ำที่ไม่นับรวมอยู่ในธาตุน้ำ พลังประสาท ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อไหวได้ ก็เป็นธาตุลม ซึ่งต้องอาศัยทางเดิน คือ เส้นประสาทที่เป็นธาตุดิน ธาตุไฟ ก็ต้องอาศัยเกิดขึ้นในเซลล์ของอวัยวะและยังทำให้อวัยวะต่างๆไม่เน่าเปื่อย
การพึ่งพาอาศัยกันดังกล่าว จะเป็นไปโดยราบรื่น ก็ต้องอยู่ใต้อิทธิพลของมโนวิญญาณธาตุ คือ จิตใจ เป็นกายที่มีจิตใจครอง ถ้ามโนวิญญาณธาตุแตกดับ ความมีชีวิตก็สูญสิ้นทันที ร่างกายก็จะค่อยๆสลายไป*************มีต่อค่ะ

*****************************************************

ทรงห่วงใยการแพทย์แผนไทย


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาเดิมอันถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และทรงห่วงใยว่าวิชาการด้านนี้จะสูญสิ้น หากชนรุ่นหลังไม่เข้าใจคุณค่าและหันไปรับอิทธิพลการแพทย์แผนตะวันตก โดยปรากฎในพระราชหัตถเลขาถึง พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ซึ่งเป็นผู้กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานเงินเดือนสำหรับนักเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์ ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 (ตรงกับ ร.ศ. 109 เป็นปีที่ 23 แห่งรัชกาล) ความตอนหนึ่งว่า

“...ขอเตือนว่า หมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญหฤาหาไม่ หมอไทยจะควรไม่ให้มีต่อไปภายน่าหฤาควรจะมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเองยังสมัคกินยาไทยแลยังวางใจหฤาอุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาอย่างฝรั่งหมด ดูเยือกเยนเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันก็อายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่ไปจนหมอไทยหมดดอก คนภายน่าจะพอใจอย่างฝรั่งทั่วกันไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เปนแต่ลองเตือนดู ตามหัวเก่า ๆทีหนึ่งเท่านั้น...
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลตอบพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้

กรมศึกษาธิการ
วันที่ 23 ธันวามคม รัตนโกสินทร์ ศก 109

          ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ดัวยข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขา ร.ที่ 81/109 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พระราชทานกระแสพระราชดำริห์ ทั้งการสอนวิชาแพทย์อย่างไทย แลอย่างฝรั่ง ในโรงเรียนแพทยากร นับเป็นพระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

          การสอนวิชาในโรงเรียนแพทยากรนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ตั้งใจแลคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะให้ฝึกสอนทั้งวิชาฝรั่งแลยาไทย เลือกแต่ที่ดีทั้ง 2 ฝ่ายมาประสมกัน คือฝึกสอนให้นักเรียนรู้ลักษณะร่างกาย การฝึกสอนการผ่าตัดแลเย็บบาดแผลแลการแยกธาตุตรวจสรรพคุณยาโดยวิธีเคมมีสตรีเป็นต้น วิชาฝรั่งเหล่านี้คิดด้วยเกล้าว่าจะฝึกสอน ก็จะฝึกสอนแลคิดบำรุงให้เจริญขึ้น โดยเต็มกำลัง
การฝึกสอนอยู่ประเดี๋ยวนี้ก็อยุ๋ในทางนี้ มิได้ยอมให้ทิ้งวิธีไทย ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจจะจัดการโรงเรียนวิชาแพทย์สนองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลังให้เจริญเป็นแบบแผนสืบไปจงได้
          ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

                    ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ ขอเดชะ

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เกลือในตำรายาไทย


สาระน่ารู้เรื่องเกลือในตำรายาไทย

              รสเค็มที่ได้จากเกลือ นับเป็นรสที่มีมายาวนานคู่โลกก็ว่าได้ เพราะเกลือได้มาจาก 2 แหล่ง คือ เกลือสินเธาว์และเกลือทะเล 

              ในตำรายาไทยแล้วมีความเกี่ยวข้องกับเกลือเยอะมาก  ถือเป็นตัวยาหนึ่งที่สำคัญ ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ได้กล่าวถึงการทำเกลือไว้ มีทั้งหมด 5 แบบ คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และ เกลือวิก เกลือแต่ละชนิดเกิดจากกระบวนการปรุงที่แตกต่างกัน เรียกว่าเกลือสะตุ โดยจะเอาเกลือจากเกลือทะเลมาทำ โดยกล่าวว่า เอาเกลือธาระหรือเกลือทะเลมาบดให้ละเอียด ใส่ในหม้อดินใหม่ เติมน้ำท่าพอสมควร นำไปต้มให้แห้งปิดฝาหม้อ แล้วนำไปสุมด้วยไฟแกลบจนหม้อแดง ทิ้งไว้ให้เย็นก็ได้เกลือที่จะนำมาทำการสะตุ
               การสะตุเกลือทั้ง 5 แตกต่างกันไปตรงเครื่องปรุงในการสะตุ และเมื่อสะตุแล้วจะได้ลักษณะและสรรพคุณเกลือที่แตกต่างกัน คือ
    เกลือสินเธาว์ จะกวนกับน้ำนมโค คือ เอาเกลือมา 1ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาน้ำนมโคเท่ากับเกลือ 1 ส่วน   ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือสินเธาว์ สีขาวนม มีรสเค็มมัน สรรพคุณ ทำลายพรรดึก แก้ระส่ำระสายและแก้สมุฏฐานตรีโทษ แก้นิ่ว
    เกลือวิก เอาเกลือกวนกับสุราหรือเหล้าขาว คือเอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาสุราเท่ากับเกลือ 1ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือวิก รสเค็มร้อน  สรรพคุณ แก้อภิญญาณธาตุ แก้โรคในท้อง ไส้พองท้องใหญ่ ทำกายให้ชุ่มชื่น
    เกลือพิก เอาเกลือกวนกับน้ำผึ้ง คือ เอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาน้ำผึ้งเท่ากับเกลือ 1 ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือน้ำผึ้งรสเค็มหวาน สรรพคุณ ทำเสียงให้ไพเราะ ชุ่มคอ แก้ไอ
    เกลือฝ่อ เอาเกลือกวนในน้ำมันเปรียงและน้ำมันงา เอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาน้ำมันงาและน้ำมันเปรียงเท่ากับเกลือ 1 ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือฝ่อรสเค็มมัน สรรพคุณ แก้เสียดท้อง บำรุงไฟธาตุ แก้กุมารโรคและพรรดึก แก้มูกเลือด
    น้ำมันเปรียง คือ ไขมันที่อยู่ในกระดูกของโค แคะเอาออกจากระดุกมาใช้เคี่ยวทำน้ำมันแล้วก็นำมาสะตุกับเกลือ
    เกลือสมุทรี หรือเกลือสมุทรี เอาเกลือที่เตรียมไว้ลงกวนกับน้ำเยี่ยววัว คือ เอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น ส่วน เอาน้ำมูตรโคเท่ากับเกลือ 1 ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือสมุทรี รสเค็มฉุนร้อน สรรพคุณ แก้ระส่ำระสาย กระทำอาหารให้งวด เจริญธาตุทั้ง 4 แก้พรรดึก แก้ดีเดือด แก้เสมหะพิการ บำรุงน้ำเหลือง
    นอกจากนี้ ยังมีเกลือที่เรียกว่าเกลือตัวผู้และเกลือตัวเมีย  คนที่ไม่รู้เรื่องเกลือก็คงงงเหมือนกัน แล้วเกลือตัวผู้กับเกลือตัวเมียมันต่างกันอย่างไร ในตำรายากล่าวไว้ว่า เกลือตัวผู้  เม็ดเกลือจะมีรูปร่างลักษณะเป็นเม็ดยาวแหลม ชาวนาเกลือจะใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ นำไปผสมน้ำมะนาวจะแก้ไอได้ดี หรือใช้อุดฟันแก้ปวดก็ได้ ส่วน เกลือตัวเมีย เม็ดเกลือจะมีรูปร่างลักษณะแบนเป็นเหลี่ยม ประโยชน์ของเกลือตัวเมียสามารถใช้ได้สารพัดประโยชน์ ใช้บริโภค ใช้ดองผัก ดองปลา ทำน้ำปลา และใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
   ** สรุปว่าเกลือตัวผู้กับเกลือตัวเมีย หรือเรียกว่าเกลือทั้งสองนั้นจะต่างกันตรงผลึกของเกลือนั่นเอง