วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

อ่อนเพลีย - ระเหี่ยใจ

อ่อนเพลีย - ระเหี่ยใจ
อ่อนเพลีย อาการปรากฎที่กาย ระเหี่ยใจ อาการปรากฎที่ใจ หมอไทยแบ่งอาการกาย-ใจนี้เป็น ๕ ประการดังต่อไปนี้
1. อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เป็นอาการทางกาย
2. อ่อนระโหยโรยแรง เป็นอาการทางกายที่มากขึ้น
3. อ่อนกาย-อ่อนใจ เป็นอาการทางกายนำ ทางใจตาม
4. อ่อนใจ-อ่อนกาย เป็นอาการทางใจนำ ทางกายตาม
5. อ่อนอก-อ่อนใจ เป็นอาการทางใจ
โบราณแยกอาการอย่างละเอียดอ่อน เพื่อผลของการบรรเทาอาการ ในที่นี้จะขอกล่าวแยกออกเป็น อาการทางกาย อาการทางกายใจ และอาการทางใจ


อาการทางกาย ประกอบด้วย2อาการ เริ่มจากอ่อนเปลี้ยเพลียแรง มากๆเข้าเกิดเป็นอ่อนระโหยโรยแรงตามมาซึ่งเป็นอาการที่มากขึ้นๆ มักเกิดแต่สมุหฐานเหตุที่ อาชีพ และการใช้ชีวิต รวมทั้งอาการหรือโรคที่เกิดเป็นสำคัญ เกิดต่อเป็นกระษัย(ภาวะความเสื่อมไป)นำมาซึ่งความอ่อนแรงจนอ่อนเปลี้ย ขัดแข้งขัดขา ไม่สบายเนื้อตัว ปวดเมื่อยไปตามเนื้อตัว หมอไทยว่าไว้ จะเกิดกำเดาระส่ำระส่าย(ภาวะความร้อนเย็นที่ไม่เสถียร) ทำให้เกิดลมสวิงสวาย (ความร้อนไม่เสถียรลมก็ไม่เสถียร) นอนหลับกระสับกระส่าย (ภาวะไม่สบายเนื้อตัว) ถ้าเป็นสะสมมากขึ้นจะเกิดภาวะแขนขาอ่อนแรง แรงน้อยลงๆ เข้าเขตอ่อนระโหยโรยแรง ไม่อยากเคลื่อนไหวกาย อยากอยู่นิ่งๆหน้าตาหมองคล้ำไม่สดชื่น ซีดเซียว 

อาการทางกาย-ใจ เมื่อกายอ่อนแรงมากขนาดนี้แล้วภาวะทางใจจะตามมา รู้สึกห่อเหี่ยวไม่มีกำลัง ตัวจะรุ่มๆเหมือนเป็นไข้ ไม่อยากจะทำสิ่งใด และเมื่อนั้นอาการทางใจจะนำหน้าอาการทางกาย อารมณ์ไม่ดี เบื่อผู้คนรอบตัว อยากอยู่คนเดียว มักหาโรคหาอาการให้ตัวเองว่าตนเป็นโรคนั้นโรคนี้เรื่อยไป มีภาวะวิตกกังวลคิดอะไรๆตลอด

อาการทางใจ เข้าเขตอ่อนอกอ่อนใจ คล้ายอาการลมผิดเดือน โมโหง่าย น้อยใจเก่ง ใจเร็วคิดเร็วทำเร็ว ใจร้อน ร้อนใจ-ร้อนกาย ดื้อทำกิจต่างๆทั้งยังอ่อนแรง เป็นภาวะทางใจล้วน ก่อเป็นภาวะทางกาย วัฎฎะจะกลับไปตั้งต้นใหม่ที่ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง
เราสามารถตรวจกายตรวจใจของเราได้ด้วยตนเองอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง เป็นที่กายไปดับที่กาย เป็นที่ใจไปดับที่ใจ เป็นทั้งกายและใจไปดับทั้งสองนั้น หมอไทยไม่ได้รักษาแค่กายคนไข้แต่หมอรักษาทั้งกายและใจของคนไข้ไปพร้อมกันเสมอ กายหมอช่วยได้แต่ใจคนไข้ต้องช่วยหมอบ้าง หมอไทยมองคนไข้มิใช่คนไข้ แต่เป็นญาติที่ต้องรักษา หมอไทยจึงใช้เวลาค่อนข้างนานกับคนไข้ เพื่อให้คลายทุกข์จากอาการทางกายและใจ


ขอแนะนำน้ำกระสายยาสักสองขนานไว้บรรเทายามอ่อนกาย หรืออ่อนใจดังนี้  

น้ำกระสายยายามอ่อนกาย
ส่วนประกอบ ผลมะตูมแห้ง/ขิง/รากบัวไทย/ลูกเดื่อย/ใบบัวบก/ดอกเก็กฮวย/เกสรบัวหลวง
วิธีทำ นำทั้งหมดลงต้มในน้ำมะพร้าว แทรกน้ำตาลกรวด
วิธีใช้ จิบบ่อยๆเหมือนจิบน้ำชา เพิ่มแรงหายอ่อนเพลีย

น้ำกระสายยายามอ่อนใจ
ส่วนประกอบ 4 ใบใบพลู/ใบฟ้าทะลายโจร/ใบชา/ใบขี้เหล็ก/ 2 ดอก/ดอกบัว/ดอกขี้เหล็ก 2 ผล/ 
ผลมะละกอหั่นแว่น และผลมะเฟืองหั่นแว่น
วิธีทำ นำทั้งหมดลงต้มในน้ำมะพร้าว แทรกน้ำตาลกรวด
วิธีใช้ จิบบ่อยๆเหมือนจิบน้ำชา สบายใจนอนหลับดี

อ่อนกายอ่อนใจ จิบน้ำกระสายยาแล้ว ลงแช่น้ำฝักส้มป่อยทั้งหัวทั้งตัวชื่นกายชื่นใจ เหมือนได้ผ่อนคลาย หรือจะลงแช่พร้อมจิบน้ำกระสายอุ่นๆไปด้วยสุขกายสุขใจ ไม่ต้องไปเข้าสปาให้เปลืองเงินทอง น้ำยาอุทัยของแท้ (แบบสีแดงจากฝางเสน) ผสมน้ำที่ไม่เย็นชื่นกายผ่อนร้อนลง ยาขมยาเขียวก็กินดี กายเย็นใจเย็นไม่ต้องพึ่งยาคลายเครียด หรือหาสมุนไพรมาทำยายังไม่ได้ น้ำข้าวนี่แหละของดี ใส่เกลือนิดซดอุ่นๆหายอ่อนเพลียได้ อาทิตย์ละครั้งก็ไปหาหมอหัตถศาสตร์แผนไทย นวดคลายกล้ามเนื้อสักสองชั่วโมง เลือดลมไหลเวียนดีไม่ติดขัด 
แต่ถ้าทำไม่ได้สักอย่างด้วยเหตุผลสารพัน ขอแนะนำเป็นยาดองเหล้าใช้จิบก่อนนอน พอนอนได้นอนหลับดี
ร่างกายได้พักอย่างเต็มที่ เสมือนฟื้นฟูกำลังให้กลับมา เป็นการนอนยาวแบบมีคุณภาพ


ยาดองเหล้ายามอ่อนกาย-อ่อนใจ
ส่วนประกอบ กำลังทั้งห้า/รากปลาไหลเผือก/ฝางเสน/ดอกขี้เหล็กคั่วกับเตยหอม/เหล้าขาว/น้ำผึ้ง/น้ำตาลกรวด
วิธีทำ นำสมุนไพรห่อด้วยผ้าขาวบาง ดองในเหล้าขาวเติมน้ำผึ้ง,น้ำตาลกรวด สัก7-10 วันใช้ได้
วิธีใช้ น้ำมะนาวสดแทรกเกลือ ผสมกับยาดอง 1ถ้วยตะไล ดื่มหมดทีเดียวก่อนนอน
สรรพคุณ นอนหลับลึก หลับสบาย หายอ่อนหล้า ตื่นมาสดชื่นสบายเนื้อตัว

พักกายพักใจ คือยาขนานเอกที่แก้อาการอ่อนเพลีย ระเหี่ยใจได้ดีที่สุด ตรงจุดที่สุด หากพักกายไม่ได้ ให้ทำน้ำกระสายหรือยาดองลองทานดู ส่วนพักใจก็ลองน้ำกระสายยายามอ่อนใจ หากยังไม่หายต้องไปปรึกษากับผู้รู้ทางศาสนาของตนดู เพื่อหาทางออกทางใจ 

ขอกราบเคารพบรมครู แพทย์แผนไทย ด้วยบทความนี้
บทความรู้ดั้งเดิมโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)
*************************************

ข้อแนะนำเรื่องการกินอยู่ในแบบไทยๆ

ข้อแนะนำเรื่องการกินอยู่ในแบบไทยๆ
เรื่องกิน-ดื่ม

๑. กินเมื่อหิว หิวแล้วต้องกิน กินเพียงหายหิว เมื่อน้ำดีหลั่งจากถุงน้ำดีผ่านเข้าสู่ระบบการย่อยอาหารเป็นน้ำย่อย น้ำย่อยมีความร้อนเรียก "กำเดาย่อย" เมื่อร้อนย่อมเกิดลมทำให้เกิดเสียงจ๊อกๆเมื่อหิว หากไม่มีอาหารเข้าไปย่อยอีก ลมร้อนจะพัดขึ้นบนกลายเป็น หิวจนตาลาย หากไม่กินอีก น้ำตาลจะเริ่มลดระดับลงจะใจสั่นใจหวิวมือไม้สั่น ฉะนั้นหิวจึงต้องกิน และกินเพียงหายหิวด้วยเหตุที่ระบบการย่อยอาหารของแต่ละคนๆมีขนาดแตกต่างกันจึงอิ่มต่างกัน และเมื่ออิ่มให้หยุดกินทันทีระบบการย่อยจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์
๒. ไม่หิวอย่ากิน เพราะร่างกายไม่ต้องการสารอาหารเพิ่มจึงไม่มีการหลั่งน้ำดีออกมาเป็นน้ำย่อย หากกินเข้าไปอีก ระบบการย่อยจะทำงานไม่ได้เต็มทีการย่อยไม่สมบูรณ์และไปติดค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ แผนไทยเรียก "อาหารเก่า" สะสมเป็นตะกรันสกปรกในลำไส้นานวันเข้าเกิดเป็นกล่อนเถา เกิดโรคและอาการตามมาอีกมากมาย
๓. กินให้ถูกรสตามเวลาที่หิวนั้น หิวตอนเช้ากินเปรี้ยวร้อน หิวตอนเที่ยงบ่ายกินเย็นขม หิวตอนเย็นค่ำกินเผ็ดร้อนหิวตอนหัวค่ำกินเปรี้ยวร้อน หิวยามดึกกินเย็นขม หิวก่อนหัวรุ่งกินเผ็ดร้อน
๔. กินให้ถูกกับอาการที่เป็น ป่วยโรคทางปิตตะกินเย็นขม ป่วยโรคทางวาตะกินเผ็ดร้อน ป่วยโรคทางเสมหะกินเปรี้ยวร้อน หากกินผิดเรียก กินของแสลงโรค ทำให้เกิดอาการสำแดง

๕. กินให้ถูกกับอากาศ ร้อนมากินเย็นขม เย็นมากินเปรี้ยวร้อน ฝนมากินเผ็ดร้อน
๖. ไม่ดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารเพื่อไปเจือจางน้ำย่อยทำให้การย่อยไม่มีประสิทธิภาพ ให้เพียงแค่จิบเท่านั้น
๗. ไม่กินน้ำเย็นเครื่องดื่มเย็นทุกชนิด เพราะด้วยความเย็นจัดจะไปลดกำเดาปกติของร่างกายเหมือนเอาน้ำไปราดรดบนกองไฟทำให้เกิดควันหรือไอกำเดาผลุ่งขึ้นบนเกิดอาการลมร้อนพัดขึ้นบนทันที นอกจากนั้นน้ำเย็นจะไปราดรดตัวตับซึ่งมีความร้อนปกติอยู่ส่งผลเช่นกัน นานวันเข้าตับอาจทำงานหย่อนลงส่งผลตามมามหาศาล
๘. กินอาหารสุขภาพ กินผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากถั่วเหลืองทุกชนิด กินอาหารกึ่งสำเร็จรูป สิ่งที่ร่างกายได้รับแน่ใจแล้วหรือว่า 
  • ๑.ปลอดสารกันบูดจริง 
  • ๒.ปลอดจากพืชตัดแต่งพันธุกรรมจริง 
  • ๓.ล้างปรุงสะอาดจริง 
  • ๔.หากเป็นเนื้อสัตว์ปลอดสารหลงเหลือและยาปฎิชีวะนะจากการเลี้ยงสัตว์จริง 
  • ๕.ปลอดจากผงปรุงรส,ผงชูรส,สารปรุงแต่งอาหารจริง ทั้งนี้หมายรวมถึงอาหารที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมทุกชนิดด้วย
๙. หากดื่มน้ำอัดลมมาก หากดื่มชาสำเร็จรูปมาก หากดื่มเครื่องดื่มเย็นทุกชนิดจากการผลิตปริมาณมากๆ แน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มีสารกันบูด ไม่มีสารปรุงแต่งกลิ่นและรส หรือดีต่อสุขภาพจริงตามคำโฆษณา
๑๐. ไม่กินบุฟเฟต์ ไม่กินแบบเหมาจ่ายกินเท่าไหร่ก็ได้ เพราะทุกคนจะกินจนเลยคำว่าอิ่มเสมอ แล้วบอกว่าอิ่มจนจุก ลุกไม่ขึ้น อึดอัดแน่นท้อง เป็นการทำลายระบบการย่อยอาหารอย่างยิ่งให้หลีกเลี่ยงการกินแบบนี้
๑๑. ไม่กินของหมักดองมากด้วยเราอยู่ในเขตประเทศร้อนมีอาหารสดอุดมสมบูรณ์กว่ามากนัก กินของหมักดองแล้วไปดองต่อในลำไส้ใหญ่ ไม่ต่างจากนำบ่อหมักก๊าซชีวภาพไปไว้ในตัวเรา
๑๒. คิดให้ดีว่าสิ่งต่อไปนี้เป็นของหมักดองหรือไม่ ชีส,เนย,ซีอิ๋ว,น้ำปลา,ปลาร้า,ซ๊อสปรุงรส,เต้าเจี้ยว,นมเปรี้ยว
โยเกิร์ต ถ้าตอบว่าใช่ให้กินแต่น้อยแต่นี้เป็นต้นไป
๑๓. ไม่กินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทุกชนิดหากไม่ขาดไม่เจ็บป่วย ร่างกายปกติของเราสร้างสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วเป็นปกติและเหมาะสมตามความต้องการของร่างกายเรา อย่านำส่วนเกินเข้าปาก
๑๔. ไม่กินเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อาหารไทยเป็นอาหารรสกลมกล่อมปรุงอาหารให้ถูกต้องตามแบบของอาหารชนิดนั้นๆ กินอาหารที่ปรุงด้วยวิธี ต้ม ยำ ตำ แกง กินผัดและทอดให้น้อยที่สุด
๑๕. อาหารไทยเป็นอาหารสุขภาพจริงๆถ้าปรุงให้ถูกรสถูกชาติ เหมาะกับคนไทยในเขตถิ่นแห่งประเทศไทย อาหารต่างชาติไม่ใช่อาหารของเรา อาหารของชาติใดก็เหมาะกับคนชาตินั้น

จบเรื่องการกินเพียงนี้ ในตอนหน้าจะเขียนต่อเรื่องการอยู่ 
บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)

ว่าด้วยเรื่องสัณฑฆาต


ว่าด้วยเรื่องสัณฑฆาต ๔ จำพวกซึ่งอยู่ในปะระเมหะ ๒๐ ประการ  เป็นโรคอันเกิดแต่อาโป(เสมหะ) บุพโพและโลหิต เกิดจากการกระทบกระแทก, อักเสบติดเชื้อ เกิดจากพิษโลหิตคั่งค้างภายใน เกิดเป็นเม็ดฝีเปื่อยลามไปต่างๆนาๆ เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์มุจฉาปักขันธิกา  (โรคระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ )
สัณฑฆาตมี ๔ จำพวก ดังนี้

๑.       สัณฑฆาตเพื่อโลหิตแห้ง เกิดได้กับบุรุษและสตรี
เกิดเพราะโลหิตจับเป็นก้อนภายใน เมื่อกินยาร้อนเข้าโลหิตจึงละลายออกเป็นลิ่ม ออกมาตามช่องทวารหนัก เรียกว่าอัสนโลหิตสันนิจโลหิต รักษายากนัก คือเป็นอสาทิยโรค
- ถ้าบังเกิดแก่สตรีเป็นเรื่องโลหิตและระดูแห้งเดินไม่สะดวก คุมกันเป็นก้อนเท่าฟองไข่ติดกระดูกสันหลังข้างใน มักจะเจ็บหลัง บิดตัว ให้จุกแน่นหน้าอกดังจะขาดใจ  เมื่อแก่เข้ามักเป็นลมจุกแน่นอก (เอกสัณฑฆาต)  
อธิบาย= ท่านว่าสตรีประจำเดือนไม่มาตามปกติ คือ ประจำเดือนขาดหายไปเป็นเดือนๆ แล้วมีอาการเจ็บปวดหลัง 14-15 วัน แล้วก็มีอาการเป็นลมในท้อง จุกแน่นหน้าอกดุจขาดใจ ยิ่งกินยาโบราณที่มีรสเผ็ดร้อนลงไปยิ่งทำให้มีอาการมากขึ้นอีก และทำให้ประจำเดือนตกออกมาเป็นลิ่มเป็นก้อน มีเลือดตกออกมาทางทวารหนัก ทวารเบา บางทีก็เป็นดังน้ำหมากจางๆ บางทีเป็นน้ำขาวขุ่นดังดินสอพอง
- ถ้าบุรุษมักเกิดด้วยไข้ถึงพิฆาต คือกระทบกระแทก ตกต้นไม้ ถูกทุบถองโบยตีสาหัส พิการช้ำในอก(ภายใน) โลหิตคุมกันเป็นก้อนเป็นดาน กระทำให้ร้อน เสียดแน่นยอกสันหลัง บางทีก็เรียกว่า "อาสัณทฆาต" 
อธิบาย = ถ้าชาย ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อแรกบังเกิดโรคดังนี้ ย่อมเป็นไข้พิการต่างๆ คือตกต้นไม้ และล้มลงถูกกระทบกระแทกขัดขวางอย่างแรงหรือเรียกว่าโรคพิฆาตถูกทุบถองโบยตี ซึ่งเป็นสาหัสฟกช้ำในอกใจ โลหิตช้ำใน ย่อมให้เจ็บร้อนในอก เสียดแทงเจ็บสันหลังก็มี มีอาการให้กระทำโทษต่างๆ ภายใน ในการฟกช้ำอาจเกิดเป็นเม็ดและช้ำภายใน โลหิตไม่กระจายออก ทำให้เส้นต่างๆ อักเสบ กระดูกสันหลังได้รับความกระทบกระเทือน
ถ้ารู้ตัวว่าเป็นต้องรับรักษาเสียเมื่อมีอาการเริ่มเป็นอย่างทิ้งไว้นาน โบราณถือว่าการกระทบกระแทกฟกช้ำอย่างแรง เลือดที่ช้ำไม่กระจายจะเป็นโทษแก่ร่างกาย หรือสตรีที่ประจำเดือนไม่มานานๆก็อาจเป็นได้
ยารักษา
มีตัวยาดังนี้ เถาสะค้าน ผักแพวแดง หัวดองดึง หัวว่านน้ำ มหาหิงคุ์ ยาดำ โกศจุฬาลัมภา โกศสอ โกศพุงปลา หัวอุตพิด ชะเอมเทศ ดอกดีปลี แก่นแสมทะเล หนักสิ่งละ 15 กรัม พริกไทยหนัก 195 กรัม
วิธีทำ 
เอายารวมกันบดให้ละเอียด
วิธีใช้
ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานมื้อละ 2-3 เม็ดวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร แก้อาการและโรค
สัณทฆาตนั้นแล 
๒.     สัณฑฆาตเกิดเพื่อปัตตะฆาต(โทสัณฑฆาต) เป็นได้ทั้งบุรุษ-สตรี
เพราะเกิดท้องผูกเป็นพรรดึกและโลหิตแห้ง แล้ววาโยกล้าพัดโลหิตให้เป็นก้อนเข้าในอุทร จึงเจ็บทั่วสรรพางค์กาย เมื่อยบั้นเอว มือเท้าตาย ให้ขบขัดเข่าและตะโพกท้องขึ้นและตึงที่ทวารเบา กินอาหารไม่มีรส ปากเปื่อยเสียงแห้ง เวียนศีรษะ  ตามืด น้ำตาไหล หูตึง ร้อนบ้างหนาวบ้าง อยากเปรี้ยวอยากหวาน เป็นคราว
๓.      สัณฑฆาตเกิดเพื่อกาฬ หรือเม็ดกาฬ (เม็ดฝี จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอุจจาระเป็นโลหิต คลั่งเพ้อจุกเสียด ท้องขึ้นพองเหมือนท้องมาน เกิดภายในตับ ปอด หัวใจและดี ไส้อ่อน,ไส้แก่ (ตรีสัณฑฆาต) เป็นเม็ดขนาดเม็ดข้าวสารหัก ให้ปวด เช่น
-          ถ้าขึ้นในดี เจรจาด้วยผี พูดเพ้อไป อาการคลั่งเพ้อไปต่างๆ
-          ถ้าขึ้นที่ตับ ลงเป็นโลหิต แล้วมีอาการดุจผีเข้าสิง เข้าจำอยู่
-          ถ้าขึ้นไส้อ่อน ไส้แก่ ให้จุกเสียด ท้องเฟ้อ เป็นมานโลหิตท้องขึ้นท้องพองดังมานกระษัย
-          ถ้าขึ้นในปอด ทำให้กระหายน้ำเป็นอันมาก
-          ถ้าขึ้นในหัวใจ เจรจามิได้ แน่นิ่งไป


**พระอาจารย์เข้าจัดเปนตรีสันทะฆาฏ ถ้าแพทย์จะแก้อย่าให้ต้องยาร้อนแลเข้าสุราเข้าน้ำมัน ให้แต่ยาข้างไข้ไปตามบุญของผู้นั้นเถิด**
ถ้าบุคคลใด เป็นดังกล่าวมาได้ ๗-๘ วัน โลหิตแตกซ่านไปในทวารทั้ง 9 เรียกว่าลักปิด เป็นต้นแห่งสันฑฆาต ก็เป็นกรรมของผู้นั้น แก้มิได้เลย อันสันฑฆาตนี้ว่าด้วยบุคคลจะถึงแก่อาสัญนั้นแล เป็นอติสัยโรค(โรคที่มีอาการตัด หมดทางรักษา)         
๔.      สัณฑฆาตเกิดเพื่อกล่อนแห้ง (โทสัณฑฆาต)เกิดเพื่อสมุฎฐานธาตุทั้ง ๔และอชิณโรค คือกินของแสลงโรคแสลงธาตุเช่นของอันมีรสคาว รสหวานเป็นต้น บางทีก็เรียกว่ากระษัยโลหิต กระษัยเถา ทำให้อาเจียนเป็นน้ำลาย น้ำลายฝาด มีอาการเจ็บกระบอกตา เมื่อยไปทั้งตัว เจ็บที่ขั้วสะดือ ลงไปถึงอัณฑะ(ไข่ดัน) คันองคชาติ องคชาติบวมเจ็บแสบร้อน แตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลซึม เกิดเป็นเม็ดงอกขึ้นในรูองคชาติขนาดเท่าผลพริกเทศ แก่เข้าดังยอดหูด ให้ปัสสาวะเป็นโลหิต เจ็บหลัง เมื่อยปลายมือปลายเท้า เป็นอสาทิยโรค (โรคที่รักษายากนักหรือรักษาไม่หาย)            
**ถ้าจะแก้ท่านให้เอาเข็มแดง ๑ รากมะงั่ว ๑ รากมะนาว ๑ ผลกระวาน ๑ พริกไทย ๑ สิ่งละเสมอภาค ดองด้วยสุราให้กินเมื่อมีระดูเปนด้วยปถวีธาตุนั้นหายแล
**ถ้าจะแก้ด้วยฤดูเปนเตโชธาตุ เอารากกะเช้าแดง กะเช้าขาว ยาเข้าเย็น รากมะดูกทั้ง ๒ สิ่งละ ๔ บาท ดองสุราทนาน ๑ กิน ๓ วัน ๗ วัน ถ้าจะต้มเอาพริกไทย ขิง ดีปลี บดปรุงลงกินหายแล
**แก้เมื่อฤดูวาโยธาตุ เอารากมะหวด ๑ รากตับเต่าหลวง ๑ ปีกนาคราช ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล
**แก้เมื่อฤดูอันเปนอาโปธาตุ เอารากหญ้าคา ๔ บาท หัวหญ้าชันะกาด ๑ บาท แห้วหมู ๔ บาท ใบพลวง ๔ ใบ กำลังวัวเถลิง ๑ สารส้ม ๒ บาท น้ำประสานทอง ๒ สลึง ผักเบี้ยใหญ่กำมือ ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล
ท่านให้ทำยาทา เอารากหีบลม ๑ รากพิลังกาสา ๑ ใบพลูแก ๑ บดทาองคชาตหาย ถ้ามิหายแซกฝิ่น ๑ เฟื้องทาหายแล 

หมายเหตุ คำว่า สัณฑฆาต เขียนได้หลายอย่าง เช่น สันฑะฆาต สันทะฆาฎ สันทฆาต สัณฑะฆาต
http://www.samunpri.com/
หมอชาวบ้าน
เรียบเรียงโดย Admin
***********************************************

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทย (ตอนที่ ๓)

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทย ตอนที่ ๓

๔. การวินิจฉัยสมุฎฐานเหตุทางวาตะ และการวินิจฉัยเหตุทางวาตะตามหลักเส้นประธานสิบ

๔.๑ การวินิจฉัยสมุฎฐานเหตุทางวาตะ
ให้เริ่มการตรวจวินิจฉัยจากกำเดาอุ่นกายเสียก่อนเนื่องเพราะเป็นปฐมเหตุแห่งวาตะทั้งสิ้นมีวิธีการตรวจ
ดั่งต่อไปนี้
-
กำเดามักพัดขึ้นบนเสมอเป็นสัจจะธรรมชาติหนึ่ง ดังนั้นบริเวณที่มีกำเดาน้อยจึงเป็นส่วนล่างสุด ถ้านับ
กายของมนุษย์ได้แก่ เท้า ให้แพทย์ใช้สองมือจับทั้งเท้าหมายหน้าเท้าและหลังเท้าพร้อมๆกันหากร้อนมาก
สำแดงว่ามีกำเดากำเริบมาก หากร้อนน้อยถือเป็นปรกติ หากเย็นสำแดงว่ากำเดานั้นหย่อนลงแล้ว
-
จากนั้นจึงใช้ฝ่ามือวางบนช่องท้อง(กลางสะดือ) หากร้อนถือเป็นปรกติด้วยบริเวณนี้มีทั้งไฟย่อยและ
ไฟอุ่นกายประชุมกันอยู่ หากร้อนน้อยสำแดงว่ากำเดาย่อยหย่อนลง หากร้อนมากผิดปรกติเมื่อจับเทียบ
กับศีรษะสำแดงว่ากำเดาย่อยอาจกำเริบได้
-
ใช้ฝ่ามือแตะสัมผัสไล่ขึ้นบนไปเรื่อยๆผ่านแผงอก ลำคอจนถึงศีรษะ กำเดาจักต้องไล่ลำดับจากน้อย
ไปหามากจึ่งนับเป็นปรกติ หากไม่สำแดงตามนั้นแสดงว่ามีกำเดากำเริบหรือหย่อนในที่ใดที่หนึ่ง
-
ตรวจดูฝ้าและรอยแตกบริเวณขอบลิ้นและริมฝีปาก หากมีฝ้ามากขอบลิ้นแตกเป็นร่องริมฝีปากแห้ง สำแดงว่ากำเดาใดกำเดาหนึ่งกำเริบขึ้นแล้ว 
-
ตรวจดูสีของตาขาว ความสว่างใสของตาดำ หากตาขาวออกแดงออกเหลือง ตาดำหม่นเหมือนเป็นฝ้า
จางๆ สำแดงว่ากำเดาได้กำเริบขึ้นบนแล้ว
-
ให้คนไข้นอนราบลงกับพื้นห้องสักหลายอึดใจ แล้วพลิกกลับ แพทย์พึงเอามือสัมผัสที่พื้นก็จักทราบภาวะ
กำเดาอุ่นกายในขณะนั้น

เมื่อแพทย์ทราบกำเดา แพทย์จักทราบทันทีว่ามีลมกำเริบหรือหย่อน เกิดขึ้นกับคนไข้นั้น จึ่งทำการวินิจฉัย
ต่อไปว่ากองลมใดบ้างที่กำเริบหรือหย่อนโดยจักขออธิบายการวินิจฉัยทีละกองลมดังนี้

-
การวินิจฉัยจากกองลมหายใจเข้าออก หากเนินอกมีกำเดามากสำแดงว่าอาจเกิดลมดานตะคุณ(ตั้งเป็นก้อนกลางลิ้นปี่)ลมนี้จักวิ่งได้เป็นสี่เส้นทาง 
๑.วิ่งตรงขึ้นบนเข้าชิวหาสดมภ์เกิดอาการลิ้นกระด้างคางแข็งหรือกรามค้าง
๒. วิ่งเข้าขวาเป็นลมเสียดชายโครงขวา 
๓. วิ่งเข้าซ้ายเป็นหทัยวาตะหรือสัตถกะวาตะ 
๔.วิ่งแทงออกหลัง แล้วพัดขึ้นเบื้องบน 
ให้แพทย์กางมือออกแล้วแตะสัมผัสบริเวณกลางอก นิ้วกลางให้อยู่บริเวณ
หลอดลม นิ้วชี้กับนิ้วกลางบริเวณปอดสองข้าง นิ้วก้อยอยู่ใต้ราวนมซ้าย นิ้วโป้งอยู่ใต้ราวนมขวา ให้คนไข้
หายใจปรกติ เมื่อคนไข้หายใจเข้าและออก อากาศจักผ่านเข้ารูจมูกแล้วแปรเป็นลมผ่านตามระบบทางเดิน
หายใจเข้าศอถึงอุระท้ายที่คูถ เมื่อถึงอุระจักเข้าปอดสองข้าง ฉะนั้นจึงให้แพทย์พึ่งสังเกตุความสัมพันธ์ของ
หลอดลม,ปอด,หัวใจว่าสัมพันธ์กันไหม มีสะดุดที่ใด การหายใจหนักเบา แรงไม่แรง ลึกหรือตื้น

-
การวินิจฉัยจากกองลมแล่นทั่วกาย แบ่งเป็นสองกอง กองแรกเรียกลมกองหยาบวิ่งวนทั่วกายในช่องอวัยวะที่กลวงใหญ่ซึ่งมีกำเดาแผ่ออก ลมที่เกิดตามก็แผ่เช่นกันตามลักษณะของอวัยวะนั้น กองที่สองเรียกลมกองละเอียดวิ่งวนทั่วกายในช่องอวัยวะที่เล็กแคบ กำเดาที่ดำรงอยู่ย่อมร้อนกว่าในพื้นที่กว้าง ลมที่เกิดตามย่อมมีแรงมากกว่าละเอียดอ่อนกว่่าเช่นกัน กำเดาที่แทรกอยู่ในลมกองละเอียดจักมีมากกว่าในลมกองหยาบเสมอ ลักษณะอาการจึ่งต่างกันดังต่อไปนี้ 
อาการทางลมกองหยาบ จักเคลื่อนไหวช้า หากกำเริบจะมีลักษณะอืดพองขึ้น แล้วจึงดันขึ้นเช่นลมในลำไส้
ลมนอกลำไส้ ลมในกระเพาะอาหาร ลมในกล้ามเนื้อ ในผิวเนื้อ ในผิวกาย ในเนื้อสมอง เป็นต้น จักเกิดอาการปวด
มวล ปวดหน่วง ปวดเสียด ปวดเมื่อย ปวดแบบกว้างๆแผ่ออกตามลักษณะของลมกองหยาบนั้น 
อาการทางลมกองละเอียด จักเคลื่อนไหวเร็ว หากกำเริบจะมีลักษณะเสียดแทงไปข้างหน้าเช่น ลมกอง
สัตถกะวาตะ ลมกองสมุนา ลมกองดานตะคุณ ลมกองอัพยา ลมปะกัง ปวดร้าวในศีรษะ ปวดเสียวในกระดูก
ปวดเบ้าตา ปวดจำกัดเขตนั้นๆไม่ได้แผ่ออกเท่าลมกองหยาบ
การตรวจวินิจฉัยนั้นใช้การซักถามลักษณะอาการที่ปวดว่าปวดแบบใด เกิดที่ส่วนใดของอวัยวะ เพื่อจัก ทราบได้ว่าเป็นลมกองหยาบหรือกองละเอียด แพทย์จักได้วางยาได้อย่างถูกต้อง อีกประการหนึ่งลมแล่นทั่ว กายจักกำเริบได้ย่อมเกิดแต่กำเดาอุ่นกายกำเริบเป็นสำคัญ และมักพัดขึ้นบนทำให้เกิดลมตีขึ้นเบื้องสูง เกิดอาการความดันโลหิตสูง กองชีพจรจักเต้นเร็วแรง มีอาการทางกองลมตีขึ้นบน แต่หากกำเดาอุ่นกายหย่อนลมแล่นทั่วกายจักหย่อนตามเกิดกองลมพัดลงล่าง ความดันโลหิตจะลงต่ำ กองชีพจรจะเต้นอ่อนเบา และมีอาการของกองลมนี้จักปรากฎขึ้น

-
การวินิจฉัยจากกองลมตีขึ้นเบื้องสูง อาการจากระบบปิตตะกำเริบไม่ว่าจะเป็น พัทธะปิตตะ อพัทธะปิตตะ
จากไฟสี่กอง ล้วนมีอาการลมตีขึ้นบนตามมาทั้งสิ้น โดยเริ่มจาก นับจากเหนือสะดือขึ้นไปสองนิ้วจักพบก้อนลมประมาณปลายนิ้วก้อยเคลื่อนได้เรียก "กองสมุนา" ให้กดด้วยนิ้วโปงไปที่จุดนี้สักอึดใจแล้วถอนนิ้วออกหากคนไข้
รู้สึกเหมือนมีลมวิ่งขึ้นบนสำแดงว่าอาจมีอาการแน่นลิ้นปี่หน้าอกตามมา หากรู้สึกลมนั้นวิ่งแทงออกหลังจักเข้า
"ลมกองอัพยา"    อาจมีอาการปวดหลังบริเวณนั้น ลมทั้งสองกองนี้จักพัดขึ้นบนเสมอถ้าเป็นกองสมุนาจะพัดเป็น
แนวตรงจนถึง "ลมกองชิวหาสดมภ์" เข้าเขตอัมพฤกษ์-อัมพาต เช่นเดียวกับกองลมอัพยา (แต่ไปด้านหลัง)เข้า
แนบติดกับกระดูกสันหลังแล้ววิ่งขึ้นบนดุจเดียวกัน 
ในอีกประการหนึ่งหากคนไข้มีภาวะท้องอืดให้แพทย์ตรวจตามแนวลมนี้เช่นกันเพราะเมื่ออืดจักตามด้วยเฟ้อ
จนเรอมีภาวะของลมตีขึ้นบนทั้งสิ้น และหากคนไข้มีภาวะกำเดาอุ่นกายกำเริบก็มักเกิดอาการลมตีขึ้นบนตามมา
เช่นกัน ที่สำคัญลมกองนี้มักเป็นเหตุต้นแห่ง "กองลมหทัยวาตะ" และอาจเกิดเป็น "กองลมสัตถะกะวาตะ" ในที่สุด
จักสังเกตุได้ว่าลมกองตีขึ้นบนล้วนเป็นลมอันตรายแพทย์จักรีบรักษาก่อนอาการอื่นใด ลมกองนี้โดยแท้แล้วคือลม
แล่นทั่วกายที่พัดขึ้นบนมีกำเดาแทรกอยู่สูง ทำหน้าที่หนึ่งคือพัดพาโลหิตังให้ขึ้นบนร่วมกับหทยังที่ทำหน้าที่สูบฉีด
โลหิตไปหล่อเลี้ยงสมองและร่างกาย หากลมกองนี้กำเริบย่อมพัดโลหิตให้เร็วและแรงเกิดเป็นภาวะเลือดตีขึ้นบน
(ความดันโลหิตสูง)ตามมา และหากมีตะกรันแทรกอยู่ในเนื้อโลหิตอาจเกิดการอุดตันที่สมองเป็นอัมพฤกษ์-
อัมพาต(ซึ่งเป็นลมตีขึ้นบนกองหนึ่ง) ขอลำดับอาการจากกองลมตีขึ้นเบื้องสูงดังต่อไปนี้
กองสมุนา------(กองลมอัพยา)----กองลมแน่นอก------(กองลมแนบกระดูกสันหลัง)------กองลมจุกคอ-----กองลมชิวหาสดมภ์------กองลมเสียดชายโครงขวา------กองลมเสียดชายโครงซ้าย------กองลมหทัยวาตะ------กองลมสัตถะกะวาตะ------กองลมเข้ากำด้นต้นคอ------กองลมแน่นเข้าบ่าไหล่ออกแขน------กองลมขึ้นศีรษะ------กองลมปะกัง
แน่นท้องเสียดท้อง------ปวดหลังช่วงกลาง------แน่นหน้าอก------ลมแน่นคอจุกคอ------ลิ้นกระด้างคางแข็ง------ปวดเสียดตามแนวกระดูกสันหลัง------จากกลางหลังถึงต้นคอ------เสียดชายโครงขวา------เสียดชายโครงซ้าย------แน่นหัวใจ------เสียดหัวใจ------ปวดต้นคอ------ปวดร้าวบ่าไหล่------ปวดหัว,มึนหัว,หนักๆในหัว,เวียนหัว,ทรงตัวไม่อยู่,ตาพร่าตาลาย,หูอื้อ,หูดับ,หน้ามืด,คล้ายจะเป็นลม,เป็นลมหมดสติ------ปวดหัวข้างเดียว-------ปวดเบ้าตา------ต้อลมต้อกำเดาต้อกระจก

-
การวินิจฉัยจากกองลมพัดลงล่าง อาการทั้งหมดสืบเนืองจากการที่ปิตตะกำเดาหย่อนลง มักเกิดแต่ผู้สูง
อายุเหตุเพราะปิตตะมักถอยลงเสื่อมลง,ผู้มีอริยาบทนั่งมากนอนมาก,ผู้มีอาชีพที่เคลื่อนไหวน้อย,ผู้มีธาตุปฎิสนธิ
ธาตุน้ำ,ผู้ที่ใช้ชีวิตในห้องปรับอากาศนานๆ,มักเกิดเมื่ออากาศภายนอกหนาวเย็น,โรค/อาการที่ติดเตียงทำให้
เคลื่อนไหวได้จำกัด จักเห็นได้ว่าสมุฎฐานเหตุเหล่านี้กระทำให้ปิตตะกำเดาหย่อนลง แพทย์จึงสามารถวินิจฉัย
ได้จากเหตุดังกล่าวว่าน่าจะมีโอกาสเกิดสมุฎฐานดั่งนี้ "ปิตตะกำเดาหย่อน วาตะกองลงล่างหย่อน เสมหะจัก กำเริบได้ " กองเสลดในศอ,อุระ,คูถอาจจักกำเริบได้ เกิดเสลดในลำคอในอก หรือเช่นผู้ป่วยทางตับหากเกิดภาวะตับหย่อน กำเดาย่อยหย่อนตาม ลมกองลงล่างก็จักหย่อนในที่สุด ท้องจะป่องพองด้วยลมเย็นแข้งขาจะบวมน้ำ 

-
การวินิจฉัยจากกองลมพัดในลำไส้ ลมในลำไส้เป็นลมร้อน ฉะนั้นบริเวณท้องเมื่อแพทย์สัมผัสจักต้องอุ่นร้อนที่สุดเมื่อเทียบกับบริเวณหน้าอก สำแดงว่ากำเดาพัดเป็นปรกติ หากท้องร้อนน้อยสำแดงว่าลมพัดในลำไส้อาจพัด
หย่อนตามกำเดาที่หย่อน คือไฟย่อยและไฟอุ่นกายเป็นเหตุ หรือในทางตรงกันข้ามหากท้องป่องพองลมเคาะฟัง
แล้วมีเสียงโปร่งๆมีลมอัดอยู่ภายใน สำแดงว่ากำเดาอาจกำเริบ ทำให้เกิดลมพัดในไส้กำเริบตามมาในที่สุด ทั้งสองลักษณะมิว่าจะหย่อนจะกำเริบล้วนนำพาอาการท้องอืดมาทั้งสิ้นแต่ต่างกันที่ลมหย่อนจะเฟ้อลงล่างเกิดเป็นลมพัดลงล่าง ลมกำเริบจะเฟ้อขึ้นบนเป็นลมพัดขึ้นบน จนออกอาการเรอลงท้ายที่เหม็นเปรี้ยวในที่สุด เฉกเช่นเดียวกันหาก
เกิดอาการทางพัทธะปิตตะหรืออพัทธะปิตตะกำเริบหรือหย่อนก็จักมีอาการทางกองลมพัดในลำไส้กำเริบหรือหย่อน
เป็นอาการตาม ท้องอืดที่ผู้คนทั่วไปเห็นเป็นอาการสามัญ แต่สำหรับแพทย์แผนไทยนั้นมิใช่เลย เหตุเพราะต้นเหตุ
อาจบังเกิดจากอาการของปถวีธาตุภายในไม่ว่าจะเป็นตับ,กระเพาะอาหาร,ลำไส้ใหญ่น้อยเป็นต้นซึ่งจักต้องรีบแก้ไขไปที่ต้นเหตุของอาการท้องอืดไม่ใช่ไปรักษาเพียงอาการท้องอืดสามัญนั้น เช่นเดียวกันหากลมพัดในไส้หย่อนต้นทางมาจากไฟย่อยหย่อนอาหารย่อยไม่หมดไปตกค้างในลำไส้ใหญ่พอกพูนเป็นตะกรันในลำไส้และเมื่อลมหย่อน
ในลำไส้ใหญ่ก็จักเกิดอาการท้องผูกจากการหย่อนนั้นตามมา มักเกิดแต่อายุสมุฎฐานเข้าปัจฉิมวัย ไฟธาตุหย่อนลง
เป็นปรกติ เกิดแต่อาชีพนั่ง อริยาบทนั่งนอน ธาตุน้ำเป็นเจ้าเรือน เป็นต้น แต่หากคนไข้มีธาตุเจ้าเรือนเข้าไฟ วัย
เป็นไฟ,ลม อาชีพเดินมากยืนมาก อริยาบทไม่อยู่นิ่งเคลื่อนไหวเร็วแคล่วคล่อง มีวิตกจริตเป็นอาจิณ คนไข้เหล่านี้มักมีไฟย่อยไฟอุ่นกายสูง มักเกิดอาการลมพัดในลำไส้กำเริบเกิดต่อเป็นอาการลมพัดขึ้นบนตามมาในที่สุด
ที่สำคัญลมกองสมุนาซึ่งเป็นหนึ่งในลมอันตรายมักเกิดร่วมกับลมพัดในลำไส้กำเริบเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้ง
แห่งกองลมนี้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับกองลมพัดในลำไส้นั่นเอง กองสมุนานั้นเป็นฐานให้เกิดลมอันตรายอื่นๆตามมา
มากมายนัก ดังนั้นเมื่อแพทย์พบอาการท้องอืดเฟ้อจนเรอเปรี้ยวจากลมร้อนพึ่งกดตรวจหาไปที่กองสมุนาโดยทันที 
และหากมีลมกองสมุนาและลมกองพัดในไส้แพทย์จักต้องตรวจต่อไปจนถึงลมแน่นอก,ลมจุกคอ,ลมหทัยวาตะ,
ลมตีขึ้นบนเพราะอาจเป็นอาการต่อกันของลักษณะลมร้อนนั้น

-
การวินิจฉัยจากกองลมพัดนอกลำไส้ ให้วินิจฉัยเริ่มจากอาการทางพัทธะปิตตะและอพัทธะปิตตะกำเริบ
หรือหย่อนไหม ธาตุดินในช่องท้องเช่นตับ,ไต,ไส้,ม้าม,ต่อมเพศ มีกำเริบ หย่อน พิการไหม เพราะหากมีย่อมส่ง
ผลต่อกำเดา และส่งผลต่อลมกองนี้ในที่สุด ให้กำเริบหรือหย่อนตามกำเดาที่เกิดก่อนนั้นเป็นเหตุต้น ในทางตรง
ข้ามกันหากมีภาวะลมพัดนอกลำไส้กำเริบหรือหย่อนด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ย่อมกระทบต่อธาตุดินที่ตั้งอยู่ในช่องท้องฉันนั้นเช่นกัน แพทย์จึ่งวินิจฉัยได้เป็นสองทางแล้วแต่เหตุปลายที่เกิด ลักษณะอาการทางลมกองนี้มี
๑. หากหย่อนอาจส่งผลให้เกิดคูถเสลดมากในช่องท้อง กระทบให้เกิดคูถเสมหะกำเริบตาม
๒. หากหย่อนจะส่งผลให้โลหิตังไปเลี้ยงอวัยวะส่วนล่างได้น้อย เกิดเหน็บชา ตะคริว ขาอ่อนแรง
๓. หากหย่อนเส้นเอ็น,ผังผืด,กระดูก,กล้ามเนื้อ,น้ำไขข้อ จักมีโลหิตังไปหล่อเลี้ยงน้อยลงทำให้เกิดอาการขัด แข้งขัดขาเคลื่อนไหวไม่สะดวก หนักขา เกิดจับโปงน้ำ,แข้งขาปวดบวมเท้าบวม,รูมาติค,รูมาตอย,เก้าท์กำเริบ
๔. หากหย่อนจะปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อยเพราะปัสสาวะไม่สุด
๕. หากหย่อนจักกระทบต่อไตสะสมตะกรันทำให้เกิดนิ่วในระบบไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะได้
๖. หากหย่อนระดูจะไหลออกไม่สะดวกไม่หมดไหลไม่มากเกิดการสะสมของตะกรันโลหิตระดูในเพศหญิง สำหรับเพศชายน้ำกามจะไหลไม่แรง จักมีตะกรันไปสะสมในต่อมลูกหมากนานวันเข้าต่อมลูกหมากจักโตบวม
๗. หากหย่อนจักเกิดภาวะไส้เลื่อนในเพศชายลงถุงอัณฑะได้ หากมีภาวะลมกองนี้บ่อยครั้ง
๘. หากหย่อนจักทำให้ม้ามชื้นกระทบต่อระบบเสมหะในช่องคูถทำให้กำเริบ
๙. หากหย่อนจักทำให้การขับเคลื่อนของเสียจากตับไม่ดี เกิดการสะสมของตะกรันตีกลับเข้าโลหิต
๑๐. หากกำเริบจากกำเดาลมร้อนจะผลักลงล่างทำให้เกิดกำเดาสูงที่ส่วนล่าง ขาร้อนเท้าร้อน
๑๑. เสมหะลงล่างทั้งหมดจักหย่อนเกิดอาการดังต่อไปนี้
-
จับโปงแห้ง,ปวดเมื่อยแข้งขาเข้าตามแนวเส้นสัณฑฆาต,ปัตฆาต,รัตฆาต,เส้นตึง,เส้นปีนกัน
เกิดการรัดตัวของเส้น,น้ำไขข้อแห้ง,กระดูกแห้งเปราะ,จะเกิดภาวะของเส้นเอ็น,ผังผืด,กล้ามเนื้อ ด้วยโลหิตัง อันหล่อเลี้ยงนั้นน้อยลงความร้อนกำเดาสูงขึ้นมีภาวะแห้งนำ
-
ปัสสาวะน้อยลง และร้อน เกิดตะกรันปัสสาวะสะสมในระบบไต,ระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดนิ่วในวันหน้า
-
ระดูจะแห้งไปนานวันเข้าเกิดโลหิตระดูสุจริตโทษหรือทุจริตโทษ
โดย .. นายแพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา