วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

มาบริหารสมองเป็น 2 เท่ากันเถอะ

คุณเคยมีปัญหา คิดช้า หลงๆ ลืมๆ นึกไม่ออกว่าตัวเองจะทำอะไร อาการเหล่านี้ทำให้ต้องรีบมาบริหารสมองเป็น 2 เท่า ก่อนที่โรคความจำสั้นจะถามหา

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ธาตุของร่างกาย(เทหธาตุ)


ธาตุของร่างกายเรียกว่า เทหธาตุ 

วิชาที่ว่าด้วย ธาตุของร่างกาย เรียกว่า เทหธาตุวิชญาณัม


ที่ว่า ร่างกายประกอบขึ้นด้วย ตรีธาตุ คือโทษะ ธาตุ และมละ นั้น จำแนกออกไปดังนี้
ตรีธาตุ
 มี ๓ ประเภท คือ  อาหารธาตุ  ธารณธาตุ  มละธาตุ

๑. อาหารธาตุ เป็นธาตุหล่อเลี้ยงร่างกาย  ได้แก่อาหารต่างๆที่กินเข้าไปเพื่อเลี้ยงร่างกาย (Nutrient matters) มี ๓ อย่าง คือ
(๑) อันนะ - ได้แก่อาหารแข็ง หรือที่เป็นของเคี้ยว (Solid) เช่น ข้าว ผัก ปลา เนื้อ ฯลฯ
(๒) อุทกะ - ได้แก่อาหารเหลว หรือเป็นน้ำ หรือเครื่องดื่ม (Liquid) เช่น น้ำ
(๓) ปราณะ - ได้แก่อาหารที่เป็นลม เช่น ลมหายใจ (Gas)












๒. ธารณธาตุ เป็นธาตุดำรงร่างกาย - หรือ ภูตธาตุ ได้แก่อาหารที่กินเข้าไปแล้วร่างกายย่อยแล้วเป็นเลือดเนื้อ ฯลฯ  เข้าไปเป็นโครงสร้างของร่างกาย เป็นธาตุทรงไว้ซึ่งร่างกาย (Supporting matters) เรียกว่า ธารณธาตุ หรือ ภูตธาตุหรือ สัปตธาตุ  มี ๗ อย่าง คือ
(๑) รสะธาตุ - คือ น้ำยอดอาหาร (Chyle) และน้ำเหลือง (Lymph)
(๒) รักตะธาตุ - คือ เลือด (Blood)
(๓) มางสะธาตุ - คือ เนื้อหรือกล้ามเนื้อทั่วไป (Muscle)
(๔) เมทะธาตุ - คือ เนื้อมันหรือไขมัน (Fat)
(๕) อัษถิธาตุ - คือ กระดูก (Bone)
(๖) มัชชธาตุ - คือ ไขกระดูก (Bone Marrow)
(๗) ศุกระธาตุ - คือ น้ำอสุจิ (Sperm)
ทั้ง ๗ ธาตุนี้ เป็นธาตุธารณะ คือ ค้ำจุน หรือประคับประคอง หรือทรงร่างกายอยู่

๓. มละธาตุ เป็นธาตุที่ขับถ่ายออกจากร่างกาย - ได้แก่อาหารที่กินข้าไปแล้ว ย่อยเป็นเลือดเนื้อแล้ว ส่วนที่เป็นกาก ก็ขับออกจากร่างกาย  เป็น มละธาตุ
มละธาตุ ธาตุที่ร่างกายขับถ่ายออก (Debris และ Excerting matters) มี ๓ อย่าง คือ
(๑) คูธ หรือ ขี้ (Faeces)
(๒) มูตร หรือ เยี่ยว (Urine)
(๓) สเวทะ หรือ เสโท หรือ เหงื่อ (Sweat)
มละธาตุ ๓ อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตรีมละ ก็ได้ (มละ หรือ มล แปลว่า ไม่สะอาดหรือสกปรก หรือสิ่งที่ร่างกายขับถ่ายออก ตรงกันข้ามกับ วิมล หรือ วิมาลา ที่แปลว่า บริสุทธิ์)
อาหารธาตุ (ที่กินเข้าไป) เป็น ธารณธาตุ (ทรงร่างกายไว้) แล้วส่วนที่เป็นกากทั้งหยาบและละเอียด เป็น มละธาตุ (ที่ร่างกายขับถ่ายออก) ทั้งสามประการนี้เป็นไปโดยอัคนีกรรม (Digestion และ Metabolism) ของร่างกาย โดยอำนาจของชีโว-รสายนดำเนิน (Bio-chemical processes) อาหารธาตุและธารณธาตุเปรียบทางปัจจุบันได้แก่ Anabolism ส่วนมละธาตุ ได้แก่ Catabolism 

อ้างอิงจากหนังสือ อายุรเวทศึกษา (วิชาแพทย์แผนโบราณ) ของ ขุนนิทเทสสุขกิจ [นิทเทส (ถมรัตน์) พุ่มชูศรี]


วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรีธาตุหรือตรีโทษ(Tri dosha)

ทำความรู้จักกับตรีธาตุ
ตรีธาตุ คือ อาหารธาตุ ธารณธาตุ และ มละธาตุ ธาตุ ๓ อย่าง นี้ที่สำคัญคือ อาหารธาตุ เมื่อกินเข้าไปแล้ว เข้าไปเป็นเทหธาตุ (ธาตุในร่างกาย) ที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ วาตะ ปิตตะ และศเลษมะ (คำว่าศเลษมะ หมอโบราณอินเดียเรียก กผะ หมอโบราณไทยเราเรียก เสมหะ) โดยอัคนีกรรม (การย่อยและการเผาผลาญ Digestion และ Metabolism) หรือชีโว-รสายน (กระบวนการชีวภาพเคมี ของสิ่งมีชีวิต Bio-chemical processes) ดำเนินของร่างกาย เกิดมีขึ้นตั้งแต่ในครรภ์ คือได้อาหารจากเลือดของมารดาทางสายรก เมื่อคลอดแล้วก็ได้จากน้ำนม เมื่อโตแล้วก็ได้จากข้าวปลาอาหารต่างๆจนตลอดชีวิต
วาตะ ปิตตะ ศเลษมะ(เสมหะหรือกผะ) 
อาหารทั้งหลายที่มีอยู่ ๖ รส หรือ ฉัฐรส คือ มธุระรส (รสหวาน) อมละรส (รสเปรี้ยว) ลวนะรส (รสเค็ม) ติกตะรส (รสขม) กฏุรส (รสเผ็ดร้อน) กษายรส (รสฝาด) อาหารรสต่างๆเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้กลายสภาพเป็นวาตะ ปิตตะ และ ศเลษมะ ดังนั้นอาการเจ็บป่วยของร่างกายจึงสามารถอธิบายด้วยหลักตรีธาตุนี้ ว่ากำเริบ หย่อน หรือพิการ ในทางกลับกันเมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ วิธีการแก้ไขก็คือการใช้อาหารหรือยาที่มีรสต่างๆมารักษา การใช้ยาสมุนไพรของคนโบราณจึงคำนึงถึงเรื่องรสชาติของสมุนไพรเป็นสิ่งสำคัญ เราเรียกหลักการนี้คือ "หลักฉัฐรส"

สถานะหรือที่ตั้งสำคัญของ วาตะ ปิตตะ เศลษมะ(เสมหะหรือกผะ)


วาตะ ปิตตะ ศเลษมะ มี ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหยาบที่เห็นได้ (Gross) กับลักษณะละเอียดที่เห็นไม่ได้ (Subtle) 
1. ตรีธาตุในลักษณะหยาบ  ชี้ให้เห็นชัดได้คืออวัยวะทางเดินอาหารเป็นสำคัญ (Alimentary canal) โบราณเรียกว่า มหาโศรต (คือ ทางใหญ่) หรือ อาหารโศรต นับแต่ปากลงไป จนสุดทวารหนัก
มหาโศรต แบ่งเป็น 3 ภาค เรียกว่า ไตรวิภาค ภาคบน เช่น ที่ปาก เป็นศเลษมะสถานะ คือที่ตั้งสำคัญของเสมหะ ภาคกลาง เช่น ตอนต้นลำไส้ เป็นปิตตะสถานะ ภาคปลาย คือ ลำไส้เล็กลงไป เป็นวาตะสถานะ อาหารทั้ง ๖ รส ที่กินเข้าไป จะถูกตรีธาตุ (คือ ศเลษมะ ปิตตะ และวาตะ) ย่อยตามภาคต่างๆนั้นแล้ว ตรีธาตุกลับดูดเข้าไปเลี้ยง สัปตธาตุ หรือ ธารณธาตุ คือ ธาตุที่ทรงไว้ซึ่งร่างกาย (Tissues)  การแปรธาตุจากอาหาร โดยการย่อยอาหารตามภาคของมหาโศรต เป็น อัคนีกรรม (Digestion และ Metabolism)โดยอำนาจของชีโว-รสายนดำเนิน (Bio-chemical processes)  แห่งธรรมชาติของร่างกาย ดั่งตัวอย่างเทียบได้กับทางแผนปัจจุบัน ดังนี้
เมื่อกินอาหารเคี้ยวอยู่ในปาก และลงไปในกระเพาะอาหาร ตอนนี้ ศเลษมะสถานะ จะทำการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล และตามลงไปย่อยจนในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารเคลื่อนไปถึงมหาโศรตตอนกลาง คือ ต้นลำไส้เล็ก จะถูกน้ำดีในส่วน ปิตตะสถานะ ย่อยไขมันให้เป็นกรดไขมัน (Fatty acids) และเมื่ออาหารเคลื่อนไปถึงลำไส้ตอนปลาย ถูก วาตะ ในวาตะสถานะย่อย แล้วดูดเข้าเลี้ยงร่างกายทั่วไป เปลี่ยนสภาพเป็น วายุ หรือ วาโย คือ วาตะ ที่เห็นไม่ได้
 2. ตรีธาตุในลักษณะละเอียด เป็นสิ่งที่ละเอียดมากแปรสภาพผิดไปจากธาตุแบบหยาบ ยกตัวอย่างเช่นน้ำปกติเป็นของเหลว ถูกความเย็นจัด กลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อถูกความร้อนก็กลายเป็นไอ มองไม่เห็น เย็นมากก็กลายเป็นน้ำอีก กระบวนการนี้ไม่อาจมองเห็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่รู้ว่ามันมีอยู่จริง  วาตะเปรียบเสมือนกระแสประสาท ซึ่งมองไม่เห็นแต่ก็รู้ว่ามีอยู่จริง ปิตตะก็เปรียบเหมือนความร้อน มองไม่เห็นแต่ก็รู้ว่ามีอยู่จริง เสมหะก็เปรียบเสมือนความเย็น และสิ่งที่แทรกซึมคอยหล่อลื่นระบบต่างๆของร่างกายไม่ให้ฝืดเคือง
ไม่ว่าโรคใด ๆ ก็ตาม แม้แต่แผนปัจุบันที่มีการค้นคว้ามาใหม่ แผนโบราณเข้ามาจัดอยู่ในตรีธาตุหรือตรีโทษทั้งหมด ไม่ว่าโรคใดๆก็ตามก็จะหนีไม้พ้น 3 สิ่งนี้คือ  วาตะ ปิตตะ และศเลษมะ


การที่ตรีธาตุออกมารับและย่อยแล้วดูดเอาอาหารเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายนั้น เป็นไปตามปรกติ แต่บางทีตรีธาตุบางอย่าง ออกมากเกินปรกติ เช่น เวลาให้กินยาอาเจียน ให้กินยาถ่าย ศเลษมะจะออกมาก ทำให้อ้วกและท้องเดิน หรือเวลามีเชื้อโรคบางอย่างเข้าลำไส้ มีอาการท้องเดินมาก เนื่องจากศเลษมะออกมาก เพื่อขับถ่ายเอาพิษและเชื้อโรคออก
ตามปรกติ ตรีธาตุ ปนกัน และคุมกันอย่างใกล้ชิด ทางโบราณถือว่า ร่างกายจะเป็นสุขสบายก็เพราะ วาตะ ปิตตะ และ ศเลษมะ ๓ อย่างนี้ คุมกันดี เป็นไปพอดี สมดุลยภาพ ถ้าคราวใด ธาตุใดกำเริบ หรือหย่อน ไม่สมดุล ก็เกิดโทษ ถ้าธาตุทั้ง ๓ สมดุล เรียกตรีธาตุ เป็นปรกติ ถ้าไม่สมดุล เรียก ตรีโทษ ธาตุอะไรกำเริบ หรือหย่อน หรือไม่ปรกติ ต้องแก้ไขธาตุนั้นๆ

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรีธาตุ สิทธานตะ


ดังได้กล่าวมาบทความที่แล้วว่า ตรีธาตุ มี ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหยาบ ที่พอรู้เห็นได้ ที่เรียกกันว่า ลม ดี เสมหะ การที่รู้ว่า วาตะ เป็นลม ปิตตะ เป็นดี และศเลษมะ ว่า เสมหะ หรือ เสลด นั้น ถ้ารู้ให้ลึกซึ้งต่อไป ถึงลักษณะละเอียด ก็เป็นประโยชน์ ถ้ารู้แต่เพียง ลม ดี ศเลษมะ ที่มองเห็นเท่านั้น ก็เท่ากับไม่รู้อะไรเลย


ลักษณะละเอียดของ ตรีธาตุ ที่มีอยู่ในร่างกายทั่วไป เป็น ชีวทรวยะ ที่ลึกซึ้งมากเราไม่เห็น แต่สำแดงอาการให้รู้ได้ว่ามี อุปมาดั่ง เอ๊กสเรย์ (X-ray) เราไม่เห็นว่าเป็นรัศมีอะไร รู้ว่ามี แต่ไม่เห็น หรือสนามแม่เหล็กมีเส้นแรงแม่เหล็ก จะมองเห็นว่าขั้วเหมือนกันจะมีแรงผลักกันและขั้วต่างกันดูดกันฉันใด ตรีธาตุที่เป็นส่วนละเอียด (Fine หรือ Subtle) ก็ไม่เห็น แต่รู้ว่ามี ฉันนั้น
ตรีธาตุที่เป็นส่วนละเอียด
วาตะ ปิตตะ ศเลษมะ นี้ ถ้าเป็นปรกติเรียกตรีธาตุ ถ้าไม่ปรกติเรียกตรีโทษ แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด บางทีเรียกตรีโทษ ก็หมายถึงตรีธาตุ การไม่ปรกติของตรีธาตุที่เรียกว่า ตรีโทษนั้น ตรีโทษไม่ใช่โรค เป็นแต่เพียงอาการที่แสดงว่า เป็นโรค หรือไม่สบายเท่านั้น
ตัวอย่าง คนที่รู้สึกตัวเนื้อเบาหวิว รู้สึกหรือเจ็บตามข้อกระดูก ว่าเป็นอาการของวาโย หรือรู้สึกหนักตัวหนักหัว ว่าเป็นอาการของเสมหะ หรือรู้สึกร้อนตามผิวตัว ตาเหลือง ว่าเป็นอาการของปิตตะ อาการของโรคในร่างกายอาจแสดงอาการแต่เพียง วาตะ อย่างเดียว หรือ ปิตตะ อย่างเดียว หรือ ศเลษมะ อย่างเดียว หรือ ปนกันก็ได้
โบราณอาศัยตรีโทษหรือตรีธาตุเป็นหลักสำคัญ ในการดูโรคและวางยาแก้โรค เมื่อมีอาการทางไหนก็แก้ทางนั้น ทฤษฏีนี้เรียก ตรีธาตุ สิทธานตะ (The theory the of three humours of the body)
วาตะ เป็น ทรวยะ สำคัญที่สุดของตรีธาตุ เป็นเหตุให้เกิด ให้ดลใจ เป็นแหล่งกำเนิดของกำลัง การเคลื่อนไหว และกรรมต่างๆ การพูดจา การเดินของเลือดในร่างกาย การชำระภายในระบบของร่างกาย ควบคุมกรรมของอวัยวะและกล้ามเนื้อ ควบคุมมโน และ จิต (กริยาศักดิ์) ความรู้สึก ความเข้าใจ นำความรู้สึกอย่างถูกต้องของอินทรียะ คือ รูป (รูปะ) รส (รสะ) กลิ่น (คันธะ) เสียง (ศัพทะ) สัมผัส (สปรสะ)  ควบคุมระบบของร่างกายให้ดำเนินเกี่ยวข้องกันด้วยดี ช่วยประสานเนื้อหนังอวัยวะที่ชำรุดเสียหาย วายุ หรือ วาตะ ในทางโบราณมีความหมายเท่ากับระบบประสาท แต่มีนัยสูงกว่าระบบประสาทของปัจจุบัน เด็กที่เริ่มแต่ปฏิสนธิในครรภ์เจริญขึ้นโดยอิทธิพลของวาโย วาโย คุมอวัยวะร่างกายทุกส่วน ตั้งแต่ปรมาณู หรือ เซลล์ ขึ้นไปจนกระทั่งร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งตาย วาโยเป็นกำลังของชีวิต เคลื่อนไหวอยู่เสมอ สัญจลนะ จิตบังคับประสาท แต่วาโยบังคับจิตสูงขึ้นไปอีก วาตะ บังคับร่างกายทั่วไป ทางระบบประสาท (วาตะ ยนตระ ประนาลิ)  เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งกลไก หรือเครื่องจักรของร่างกาย (ตนตระ ยนตระ ธาระ)
วาตะ หรือ วายุ หรือ วาโย จึงไม่ใช่ลมอย่างที่เข้าใจกันอย่างธรรมดาสามัญ วาโยที่แล่นบังคับอยู่ในร่างกาย เราไม่รู้สึก หรือพิสูจน์ง่ายๆ อย่างลมพัดในเวหาหรือในห้อง ที่หมอโบราณเรียก วาตะ หรือ วายุ หรือ วาโย มาจาก คำว่า วา แปลว่า เคลื่อนไหว คำสามัญแปลว่า ลม คือ เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหว หมอโบราณเอาคำนี้มาใช้ในร่างกาย ว่า วาโย หรือ วายุ หรือ วาตะ มีความหมายสูงกว่าลมธรรมดา ความเข้าใจในเรื่องวาตะในร่างกาย ต้องอาศัยความรู้สึกเข้าใจอย่างลึกซึ้งเป็นความเข้าใจของ ตุรียจิต คือ จิตชั้นสูง (Super Concious State)
วายุ หรือ วาตะ นี้ ถ้าเราจะเปรียบกับลมในเวหาภายนอกร่างกาย ก็จะเห็นความสำคัญอยู่มากเหมือนกัน ว่าลมในเวหาก็มีอำนาจอย่างยิ่ง คือ การเคลื่อนหมุนของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวทั้งหลาย เป็นไปโดยอำนาจของลม และโลกเราที่หมุนหรือไหว ก็ด้วยอำนาจของลม ลมมีส่วนทำให้เกิดทองคำและแร่ธาตุต่างๆในท้องโลก วาโยในโลก จึงไม่เพียงเป็นเวหาหรือบรรยากาศ (Atmosphere) แต่เป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ (Almighty Power) วาโยในร่างกาย ก็มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ในร่างกายเช่นนั้น เราแลไม่เห็นลมในเวหาฉันใด ก็ไม่เห็นวาตะในร่างกายฉันนั้น แต่รู้ได้ด้วยอาการและด้วยความเข้าใจของจิตชั้นสูง วาโย ไม่ใช่ลมอย่างลมในเวหา แต่เป็นลมอันละเอียดอย่างยิ่งในร่างกาย วาโย ไม่ใช่ประสาท แต่เป็นกำลังของประสาท หรือลมประสาท (Nervous impulse) ที่ไหลอยู่ในสมอง เส้นประสาทและอวัยวะทั้งหลาย ลมเราไม่เห็น แต่รู้อาการแสดงของลม อาการอย่างนี้โบราณเรียกว่า อวยกะตวยะ กรรมาจะ คือ รู้แต่กรรมของมัน ส่วนตัวมันไม่เห็น อุปมาอย่างเอ๊กสเรย์ เราไม่เห็น แต่รู้ว่ามี และลมประสาท (Nerve impulse) เราไม่เห็น แต่ก็รู้ว่ามี กระนั้น

ปิตตะ เป็นผู้กำเนิดของความร้อน หรือความอบอุ่นของร่างกาย การย่อยอาหาร ความหิวกระหาย ความคิดสติปัญญา ความจำ ความละมุนละม่อมของร่างกาย ความเปล่งปลั่ง ความสดชื่นร่าเริง ผิวพรรณ ดวงตา ความกล้าหาญ อดทน ความโกรธ ความดีใจ เสียใจ ความพอใจ ความหลง (โมหะ) ความไม่หลง (อโมหะ) ปิตตะ เป็นตัวการสำคัญในการย่อยอาหารต่างๆ แล้วจำแนกออกเป็น รสธาตุ ปัสสาวะ อุจจาระ ย่อยอาหารและส่งอัคนีเพื่อเลี้ยงร่างกาย (ปาจกะปิตตะ) ทำให้ รสธาตุ และร่างกายมีสี (รชนกะปิตตะ) ทำให้เกิดความอิ่มใจ (สาธกะปิตตะ) ทำให้ดวงตา และความเห็นแจ่มใส (อาโลจกะปิตตะ) ทำให้หนังงอกงามและผิวพรรณดี (ภราชกะปิตตะ) ปิตตะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดอาหารบำรุงร่างกาย ตับ เป็นที่ตั้งสำคัญของปิตตะ ม้าม ก็เป็นส่วนของปิตตะ เป็นตำแหน่งของ รนชกะปิตตะ มีหน้าที่ควบคุมในการเกิดและการทำลาย เม็ดเลือดแดง เยื่อชั้นในลูกตา ต่อมภายในร่างกาย และอารมณ์ต่างๆก็เกี่ยวกับปิตตะ หมอโบราณที่รักษาคนเป็นโรคฟางไก่ หรือโรคราตรีอนธะ หรือโรคตาฟางกลางคืน (Night blindness) ด้วยการให้กินตับสัตว์ เช่น ยาขนาน ๑๙๘๓ ในเล่ม ๒ สรรพยาวิจารณ์นั้น ก็เพื่อให้ดวงตาได้รับปิตตะ มีวิตามิน เอ. ตรงกับปัจจุบัน ที่ให้กินตับและทำน้ำมันตับปลาต่างๆนั้น

ศเลษมะ  เสมหะ หรือกผะ  มีหน้าที่ทำให้ร่างกายนุ่มนวลละมุนละม่อม ช่วยในการให้เกิดกำลัง ความเข้มแข็ง ความอดทน ศเลษมะ มีลักษณะเหนียวอ่อนและชุ่มชื้น ทำให้ลิ้น ปาก คอ ชุ่มทำให้เกิดน้ำลาย น้ำไขข้อกระดูก ทำให้เยื่อเมือก หรือเยื่อมูก (mucous membrane) เยื่อน้ำเหลือง (Serous membrane) ชุ่ม ลื่น และถูไถ เคลื่อนไหวคล่อง
คำว่า ศเลษมะ มาจากคำ ศลิษะ กับ อาลิงคณะ แปลว่า สิ่งยึดเหนี่ยว หรือผูกพันค้ำจุนสิ่งทั้งหลายให้เข้ากัน ถ้าเราจะพิจารณาดูอวัยวะทุกอย่างในร่างกาย ที่เห็นเป็นดุ้น เช่น กระดูก หรือเป็นก้อน เป็นแผ่น เป็นมัด เป็นชิ้น เช่น กล้ามเนื้อ และเนื้อของอวัยวะทั้งหลาย ประกอบกันขึ้นด้วยปรมาณู หรือเซลล์ เป็นจำนวนมากมาย เหลือที่จะคณนา เกาะยึดรวมกันอยู่เป็นอวัยวะ เป็นพวกๆ กระทำหน้าที่ได้นั้น ปรมาณูทั้งหลาย เกาะติดกันอยู่ได้ด้วยอะไร? ปัจจุบันว่า เกาะติดกันอยู่ เพราะใยหรือเนื้อประสาน (Connective tissues) แต่ใยประสานนั้น โบราณว่า ต้องมี ศเลษมะ ศเลษมะของโบราณมีหลายลักษณะ คือใยเสลดที่ประสานปรมาณู (Connective tissues) โบราณเรียก อวลัมพกะศเลษมะ คือ ยึดไว้พยุงไว้ ศเลษมะ ทั้งหลายยังเป็นพาหนะนำอาหารเข้าเลี้ยงปรมาณูได้ด้วย ศเลษมะ มีอำนาจผูกพันอาหารต่างๆ ที่กินเข้าไป และทำให้อาหารอ่อนลงเพื่อให้ปาจกะปิตตะ ทำการย่อยได้ดี ศเลษมะที่ผูกพันอาหารนี้ เรียก กเลทกะศเลษมะ เช่น น้ำลาย เมือกต่างๆ ศเลษมะ ยังเป็นโพธกะศเลษมะ คือละลายอาหารให้ลิ้นรู้รส ที่สำคัญอย่างอื่นอีก คือผูกพันและหล่อลื่นอวัยวะที่ถูกไถกัน เช่น ระหว่างกระดูกกับกระดูก ระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก ฯลฯ เรียก ศเลษกะศเลษมะ หรือ ศเลษกะกผะ นอกจากนี้ ศเลษมะ มีหน้าที่หล่อเลี้ยงและประคับประคองมันสมอง เรียก ตรปกะ ศเลษมะ
โบราณถือว่า วาตะ ปิตตะ และ ศเลษมะ ๓ อย่างนี้ เป็น ชีวทรวยะ หรือชื่อทรัพย์ (Living matters) ที่สำคัญที่สุด ร่างกายจะปรกติสบายดี เพราะตรีธาตุที่เป็นปรกติเป็นไปพอดี คุมกันและประสานงานกันด้วยดี สมดุลกัน ถ้าตรีธาตุ ไม่สมดุล กล่าวคือ อย่างใด มากหรือน้อย หรือบกพร่อง ร่างกายไม่ปรกติ ไม่สบาย เป็นตรีโทษ หรือถึงตายฉันนั้น ตรีธาตุนี้ โดยปรกติ มักกระเดียดหรือเอนเอียงไปข้างจะเกิดโทษ คือ ไม่ค่อยปรกติอยู่เนืองๆ และมักเป็นเช่นนั้น โบราณจึงนิยมเรียกแต่อย่างเดียวว่าตรีโทษ คือ มันมักเป็นโทษ ไม่ค่อยนิยมเรียกตรีธาตุ ในการศึกษาต้องเข้าใจตรีธาตุ แต่พวกหมอเรียก ตรีโทษ คำว่า ตรีโทษ คนไทยเรียกเพี้ยนไปว่า ตรีทูต และหมายไปถึงเข้าระยะจะตาย หรือระยะรากสาด (Typhoid state) ความจริง ตรีโทษ อาจเป็นอย่างอ่อน อย่างกลาง หรือถึงตายก็ได้ แล้วแต่โทษจะมากหรือน้อย ข้อตกลงเป็นหลักวิชาของตรีโทษตามที่กล่าวมานี้ เรียก ตรีธาตุ สิทธานตะ

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

Case Study (๒)

กรณีศึกษาคนไข้ใน "คลินิกหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร" 
แพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัย คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)

คนไข้เพศหญิง อายุ ๖๓ ปี รูปร่าง แขนขาไม่ใหญ่แต่มีหน้าท้อง หากนึกย้อนไปสักสาวๆจนถึงกลางคนน่าจะเป็นคนรูปร่างค่อนข้างผอม สำแดงธาตุไฟปรากฎ ซึ่งก็ถูกต้องตามที่ได้สอบถามจากคนไข้ หากพบคนไข้เข้าวัยปัจฉิม ให้นึกย้อนไปถึงมัชฌิมวัยเข้าปิตตะ-ปิตตะ จนถึง ปิตตะ-วาตะ ถ้าเข้าลักษณะทางกายภาพของคนธาตุไฟให้ประเมินอาการปกติและนิสัยปกติของคนธาตุไฟด้วยเหตุเป็นต้นอาการแห่งการเจ็บป่วย
ในระหว่างการตรวจวินิจฉัย คนไข้พูดได้เรื่อยๆพยายามจะบอกแต่อาการของตนทั้งซีสในมดลูกทั้งความกังวลว่าจะมีก้อนเนื้อและอื่นๆอีกมากมาย จนหมอต้องบอกให้หมอพูดบ้างได้ไหมขอเวลาหมอตรวจสักนิด คนไข้บอกที่พูดมาทั้งหมดไม่ต้องรักษาเพราะไม่ชอบกินยา ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาระหว่างอาจารย์และคนไข้

หมอหนึ่ง ถ้าไม่กินยาแล้วจะให้หมอทำอย่างไร
คนไข้ ใช้นวดหายไหม?
หมอหนึ่ง ไม่หายตลอดไป
คนไข้ งั้นกินยาก็ได้ ซีสกับเนื้องอกหายแน่นะ กินยานานเท่าใด มีผลข้างเคียงมากไหม ถึงตายไหม
กินพร้อมยาแผนปัจจุบันได้ไหม ไม่อยากผ่าตัด กินยาไทยจะหายเหรอ มีสตีรอยด์ไหม
กินยาไทยแล้วถ่ายไหมเดี๋ยวทำงานไม่ได้ ฯลฯ
หมอหนึ่ง คนธาตุไฟแบบพี่เป็นเช่นนี้มาตลอดชีวิต พูดเร็ว ทำเร็ว ใจร้อน ร้อนใจ ดื้อไม่ยอมใคร ถ้ามี
สิ่งใดที่ตนไม่แน่ใจจะโยนให้คนอื่นทันที พี่เป็นนางมารร้ายในเรื่องมังกรหยกชื่อ ลีหมกโฉ้
ตัวจริง พี่เป็นคนขี้ร้อนเพราะชอบร้อนใจ ทำงานหนึ่งยังไม่เสร็จ หัวพี่ไปคิดเรื่องอื่นเตรียมไว้แล้ว
เป็นเช่นนี้มาตลอดชีวิตพี่ พี่ถึงได้มีโรคต่างๆอย่างที่บอกผม พี่ทำตัวเองทั้งหมด
หมายเหตุ อาจารย์พูดไปยิ้มไปนะ ใจดีสู้เสือ และได้สังเกตุว่าระหว่างที่คนไข้ไม่ได้พูดคนไข้จะเรอออกมาเป็นระยะๆตลอดเวลามีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
คนไข้ หมอรู้ได้ไง จริงๆหมอพูดถูกพี่เป็นแบบนี้แหละ เออหมอเก่งใช้ได้ (ปรากฎว่าคนไข้ไม่โกรธ และ
ยอมรับได้)
หมอหนึ่ง พอเราเข้าปัจฉิมวัย วาตะคือลมจะกำเริบได้ง่าย ผมเห็นพี่เรอเป็นระยะๆตลอดเวลา
คนไข้ ไม่ใช่แค่เรอนะหมอ พี่ผายลมด้วยตลอดเลยแต่ไม่เหม็นนะหมอ
หมอหนึ่ง มีพี่ ผมได้กลิ่นตลอดเวลาเลยแต่ไม่เป็นไรหมอเจอแบบนี้มามากแล้วพี่ พี่ไม่ใช่คนแรกที่เป็นแบบนี้ คนไข้ นึกว่าไม่เหม็น สงสัยคงชินกลิ่นตัวเอง เอาแบบนี้หมอโรคอื่นไม่ต้องรักษาเอาโรคลมอย่างเดียวรักษามานานแล้วไม่หายหมดไปหลายเงิน ไปหาหมอได้แต่ยาช่วยย่อย ฝังเข็มก็แล้ว ไปดีท๊อก
ก็แล้ว หมอรักษาพี่ให้หายนะพี่ยอมกินยาก็ได้แต่อย่ามากนะ
หมอหนึ่ง พี่เป็นคนมีไฟมาก พี่ถึงบอกหมอว่าร้อนมาแต่สาวๆเดี๋ยวนี้ก็ยังขี้ร้อนอยู่ หมอไทยเราเรียกกำเดาไอแห่งความร้อน เกิดแต่พี่เป็นคนธาตุไฟเมื่อปฎิสนธิ ความคิดกังวลความวิตกก็ทำให้เกิดความร้อนการทำการงานเร็วๆ ใช้ชีวิตเร่งรีบ กินเร็วให้อิ่มเร็วๆ แม้แต่พูดพี่ยังพูดเร็วพูดไม่หยุด ลมเข้าปาก
มากไฟก็ยิ่งแรงเหมือนเอาพัดไปพัดเตาไฟ พี่เห็นไหมพี่ทำเองทั้งหมดอย่างหมอว่า ผมจะบอกไปให้
พี่เลิกพี่คงทำไม่ได้เพราะเป็นตัวตนของพี่ แต่สิ่งที่หมอทำได้หมอไทยทำมานานแล้วพี่ หากเราคุมไฟ
ได้ เราก็คุมลมได้ เราคุมลมได้ เราก็คุมน้ำได้ หมอไทยคุมไฟเพื่อคุมลมและน้ำทำแบบนี้กันมา
หลายร้อยปีแล้วพี่ และผมจะวางแผนการรักษาเป็นขั้นตอนดังนี้

๑. รุกำเดาอุ่นกายให้ความร้อนลดลง ใช้ยาเขียวประสะพิมเสน และยาแดงดับพิษ
รุลมในไส้ ทำให้ผายลม ใช้ยาอากาศบริรักษ์และยาอนันตธาตุ
รุอาหารเก่าในลำไส้ใหญ่ ใช้ยาธรณีไหว

๒. ล้อมลมสูงลงล่าง ใช้ยาหอมเทพจิตรารมย์และยาหอมมหาสีสว่าง
ล้อมตับให้ผ่อนร้อนลง ใช้ยากล่อมนางนอน

๓. รักษากำเดาอุ่นกาย ใช้น้ำกระสายยาลดปิตตะ
รักษาพัทธะปิตตะไม่ให้กำเริบ ใช้น้ำกระสายยาพัทธะปิตตะ
รักษากองลมในไส้ ใช้น้ำกระสายยาขับลม

คนไข้ ยามากขนาดนี้ พี่จะหายไหมหมอ ถ้าพี่ยอมกินยา
หมอหนึ่ง ไม่หายพี่แต่จะบรรเทาลงได้มาก หมอรักษาเพื่อไม่ให้ลมไปกระทบกับไฟและน้ำทำให้เกิดอาการอื่นๆตามมาภายหลังอีกมากมายผมจะวางยาพี่แค่ ๑๕ วัน แล้วเรามาคุยกันใหม่ดูซิว่าพี่จะเรอจะ
ผายลมให้ผมดมน้อยลงไหม
คนไข้ (หัวเราะเสียงดังมาก) ตกลงหมอพี่เชื่อหมอ เกิดมาก็เพิ่งเคยเจอหมอแบบหมอ พี่ชอบตรงดี

บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)

Case Study (๑)

กรณีศึกษาผู้ไข้ ที่คลินิกการแพทย์แผนไทย หม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร
แพทย์แผนไทยผู้ตรวจ คมสัน ทินกร ณ อยุธยา
ผู้ไข้มาพบแพทย์เมื่อเดือน มกราคม ๒๕๕๗

ประวัติผู้ไข้ 
เพศหญิง อายุ ๔๓ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน อยู่ในครรภ์มารดาเข้า ๘ เดือน กำเนิดที่ จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบัน พำนักที่กรุงเทพมหานคร สถานภาพ แต่งงาน บุตร ๒ คน (ไม่อยู่ไฟ และผ่าคลอด) อาชีพ ตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางในธุรกิจธนาคาร รูปร่างผอมไม่บางมาก มีผมหงอกประปราย มาพบแพทย์แผนไทยด้วยอาการตึงคอบ่าไหล่

ผลการวินิจฉัยของแพทย์
คำณวนหาธาตุเจ้าเรือนได้ดังนี้ ธาตุปฎิสนธิ ไฟ ธาตุกำเนิด ลม ประเทศสมุฎฐาน นครราชสีมา ลักษณะธาตุ
เจ้าเรือนเมื่อมาพบแพทย์ ลม อริยาบทสมุฎฐาน นั่ง อาชีพสมุฎฐาน ความเครียด ครอบครัวสมุฎฐาน ความวิตก
กังวล จากอายุสมุฎฐาน วาตะกำเริบ

จากธาตุเจ้าเรือน ไฟ/ลม วินิจฉัยได้ดั่งนี้ มีภาวะกำเดาอุ่นกายมากกว่าปรกติ ลมกองขึ้นบนจักตามมา มีภาวะเลือดตีขึ้นบน พัทธะปิตตะหย่อน ทำให้มีอาการทางพัทธะปิตตะกำเริบ มีอัตราเสี่ยง เบาหวาน,ไขมัน มีลมกองในไส้นอกไส้กำเริบ อาจมีภาวะเรอเหม็นเปรี้ยวร่วมด้วย มีภาวะท้องผูกบ่อยๆ
จากประเทศสมุฎฐาน วินิจฉัยได้ดั่งนี้ มีภาวะลมในไส้ลมนอกไส้กำเริบได้ง่าย มีอัตราเสี่ยง นิ่วในระบบ
ทางเดินปัสสาวะ มีภาวะศอเสลด
จากธาตุเจ้าเรือนเมื่อมาพบแพทย์ วินิจฉัยได้ดั่งนี้ มีภาวะลมในไส้นอกไส้ แล้วแปรเป็นลมตีขึ้นบน
จากอริยาบทนั่ง วินิจฉัยได้ดั่งนี้ กลุ่มอาการออฟฟิส ซินโดรม
จากอาชีพและครอบครัวสมุฎฐาน วินิจฉัยได้ดั่งนี้ เกิดกำเดาอุ่นกาย เกิดลมตีขึ้นบนตามมา หนักหัว
มึนหัว ปวดลมปะกัง นอนหลับยากตื่นนอนเร็ว เพลียเหนื่อย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ไม่สบายเนื้อตัว
จากอายุสมุฎฐาน วินิจฉัยได้ดั่งนี้ กองลมจักวิ่งวิปริตในช่องท้อง ท้องอืดเฟ้อเรอเปรี้ยว
นอกจากนั้นผลกระทบจากการไม่อยู่ไฟหลังคลอด จากอายุ จากอาชีพ จากอริยาบท จากธาตุปฎิสนธิ
วินิจฉัยเพิ่มเติมได้ว่า มีภาวะมดลูกหย่อนคล้อย เอียงไปด้านขวา(จากการสังเกตุไหล่ทรุดไปด้านซ้าย) มีมุตกิจ
แทรกในเนื้อประจำเดือน มีภาวะเสี่ยงปะระเมหะ(ซีส) หรือก้อนเนื้อ หรือผังผืดจับยึด เหตุที่กระทำให้ตึงคอบ่าไหล่ก็มาแต่เหตุมดลูกเคลื่อนและจากอาชีพจากอริยาบทประกอบกันไป

การสั่งวางยารักษา
รุ ตะกรันในโลหิตและน้ำเหลือง (ยาพิษพินาศ)
เถาดานในช่องท้อง จากอาการท้องผูกเรื้อรัง (ยาธรณีไหว)
กำเดาอุ่นกาย (ยาเขียวประกายพฤกษ์)
ระบบมดลูก (ยาไฟประลัยกัลป์)

ล้อม ลมบนให้ลงล้าง (ยาหอมเทพจิตรารมย์)
ลมในไส้แลนอกไส้ (ยาอากาศบริรักษ์ และยาอนันตธาตุ)
ฟอกโลหิตระดู (ยาน้ำเกลือ)
ขับลมในเส้น ในโพรงกระดูก ( ยามหาสันนิบาตุ และยามหาโมคจร)


รักษา ล้อมตับ ดับพิษตับ (ปิตตะ) ยากล่อมนางนอน
อาการเรอเปรี้ยว (วาตะ) ยาเรอเหม็นเปรี้ยว
โลหิตังแลบุพโพ (เสมหะ) ยาพิษพินาศ

บำรุง โลหิตัง แลโลหิตระดู (ยาโลหิตาธิคุณ และยาสัตรีโลหิตา,ยาจันทร์งามจรัส)
ให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทำให้ใจชุ่มชื่นขึ้น (ยาหอมกล่อมอารมณ์)
บำรุงตับให้แข็งแรง วางเป็นน้ำกระสายยาพัทธะปิตตะ

การสั่งเวชปฎิบัติ
ในขั้นตอนรุ พอกโคลนยาบริเวณท้องและศีรษะ ประมาณ 3 ครั้ง ห่างทุก 3 วัน
ในขั้นตอนล้อม เผายาบริเวณช่องท้อง ในแนวจุดเริ่มเส้นประธานสิบ ทำครั้งเดียว
พอกโคลนบริเวณศีรษะ ให้ห่างจากเผายา 1 ชม.
ในขั้นตอนรักษา นาบหม้อเกลือ 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน แล้วกระทำโกยมดลูก 3 ครั้ง
ใช้หัตถบำบัดกระจายเลือดแลลม แลเส้นเอ็นผังผืด

ผลของการรักษา
จากการวางยาแลการเวชปฎิบัติ ใช้เวลาประมาณ ๒ เดือน ผลของการรักษา ผู้ไข้มีปิตตะลดลง
วาตะปรกติ เสมหะบริบูรณ์ หน้าตาแจ่มใส รอยฝ้าบนใบหน้าจางลง รูปร่างสมวัยสมอายุ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
แพทย์ยังวางยาตามอาการให้ผู้ไข้วางยาตนเองตามอาการเมื่อเกิด
เมื่อเกิดกำเดาอุ่นกาย (ยาแดงดับพิษ)
เมื่อเกิดลมในไส้ อาหารไม่ย่อย (ยาอากาศบริรักษ์)
เมื่อเหนื่อยเพลีย (ยาหอมภูลประสิทธิ์ และยาหอมมหาสีสว่าง)
เมื่อวิตกกังวล นอนหลับยาก (ยาหอมกล่อมอารมณ์)
พร้อมวางยาบำรุงโลหิต บำรุงผิว ต่อเนื่องไปอีกสักหนึ่งเดือน (ยาโลหิตาธิคุณ และยาจันทร์งามจรัส)

ผู้ทำการรักษา คณะแพทย์แลผู้ช่วยแพทย์ คลินิกหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร สาขาบ้านอารีย์ กรุงเทพมหานคร

การเรียนแพทย์ไทย

ประเด็นสำคัญของการเรียนรู้แพทย์แผนไทย

๑. ตำรายา ตำราแพทย์ ทั้งหมดคือขุมทรัพย์ อ่านให้มาก แค่อ่านมิต้องเข้าใจ หากจะเข้าใจให้เกิดขึ้นเองเพียงแค่อ่าน

๒. ให้เข้าใจธรรมชาติสรรพรสของสรรพคุณที่กลไกการออกฤทธิ์ มิใช่ผลสรรพคุณแห่งรส

๓. จักรวาลแห่งแพทย์แผนไทย คือ ตรีธาตุ

๔. หลักแห่งการวินิจฉัยคือองคาพยพ หมายการเชื่อมสอดประสานกันแห่งตรีธาตุ ที่กำเริบ หย่อน พิการไป

๕. ปรัชญาการแพทย์แผนไทยนั้น กล่าวว่า เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดจักกระทบต่ออีกสิ่งทำให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งไปสัมพันธ์กับอีกสิ่ง

๖. ให้เข้าใจกลไกการทำงานของตรีธาตุที่ก่อให้เกิดอาการจักนำรสประธานของตำรับยานั้นมารักษาได้

๗. ในตำรับยาทุกตำรับ สามารถแยกตรีธาตุออกมาได้เสมอ

๘. ในทุกๆอาการแห่งโรคประกอบไปด้วยตรีธาตุเสมอ

๙. คัมภีร์ทุกเล่มจึ่งบอกอาการมิได้บอกโรค

๑๐. แพทย์ไทยมิได้หาโรคดั่งเช่นการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์ไทยหาตรีธาตุจากอาการต่างหาก

๑๑. อาชีพของเราช่างประเสริฐนัก เป็นที่เคารพของผู้ไข้ทั้งปวง ความรู้ของเราเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย ความไข้หาย ความไข้ตาย อยู่ที่เราทั้งสิ้น เราพึงตระหนักไว้เสมอว่า เรานั้นยืนอยู่บนทางสองแพร่ง จักขึ้นสวรรค์ จักลงนรก อยู่ที่เราทั้งสิ้นทั้งปวง จำไว้นะหมอ

สรรพคุณเภสัช


เข้าใจสรรพคุณเภสัช ในแบบที่สอนกันต่อๆมาเข้าใจที่การออกฤทธิ์ มิใช่ เข้าใจที่ผลสรรพคุณบทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)


สรรพคุณเภสัชเป็นองค์ความรู้อันเนื่องด้วยเครื่องยา หมายพืช,สัตว์,ธาตุ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องยานำไป ตั้ง เป็นยาตำรับใช้รักษาอาการของโรค แพทย์จักตั้งยาได้ก็ต่อเมื่อมีองค์รู้เหล่านี้ประกอบกับมีทักษะเข้าใจในอาการของโรคต่างๆอยู่ก่อนแล้ว
การจักเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในสรรพคุณของเครื่องยานั้น แต่เก่าก่อนมาบรรดาครูบาอาจารย์ท่านมิได้ อรรถาธิบายเพียงสรรพคุณของเครื่องยาเท่านั้น ท่านยังสอนให้เข้าใจว่ารสแต่ละรสของเครื่องยาไปกระทำต่อตรีธาตุหมาย ปิตตะ/วาตะ/เสมหะ อย่างไร เพราะแพทย์แผนไทยรักษาอาการทางปิตตะ,วาตะ,เสมหะที่กำเริบ,หย่อน พิการไป ทำให้ธาตุดินกระทบกำเริบ,หย่อน,พิการตามมา เครื่องยาทุกตำรับจึงประกอบไปด้วยสรรพคุณทางตรีธาตุครบถ้วนทุกๆตำรับ
ส่วนผลของรสที่ไปกระทำต่อตรีธาตุเป็นเพียงปลายทางของสรรพคุณเท่านั้น ครูอาจารย์ท่านสั่งสอนศิษย์ที่กลไกของการออกฤทธิ์ทำให้เกิดผลสรรพคุณตามมาซึ่งจักทำให้ศิษย์เข้าใจอย่างลึกซึ้งได้มากกว่ารู้เพียงแค่ผลปลายทางเท่านั้น

จักขออรรถาธิบายขยายความตามลำดับรสแห่งเครื่องยาดั่งนี้
๑. รสหลักฝาด มีรสรองอีก๙รสประกอบไปด้วย รสฝาดฝาด,รสฝาดหวาน,รสฝาดมัน,รสฝาดเค็ม,รสฝาดเปรี้ยว,รสฝาดขม,รสฝาดเมาเบื่อ,รสฝาดร้อน,รสฝาดหอมเย็น
สรรพคุณหลักของรสฝาด คือ สมานภายใน/ภายนอก
กลไกของรสฝาด กระทำให้เสมหะงวดเข้า สมานในปิตตะ,วาตะแลเสมหะ
สรรพคุณรองของรสหลักฝาด จักผันแปรไปตามรสรองนั้น แต่สรรพคุณสมานของรสหลักยังเป็นใหญ่
๒. รสหลักหวาน มีรสรองอีก ๙ รสเช่นเดียวกับรสรองของรสฝาด
สรรพคุณหลักของรสหวาน คือ ซาบเนื้อ บำรุงเนื้อ หมายที่อวัยวะน้อยใหญ่
กลไกของรสหวาน จักทำให้เกิดพลังงานเพื่อนำไปสร้างมังสะให้บริบูรณ์
สรรพคุณรองของรสหลักหวาน จักผันแปรสรรพคุณรองไปตามรสรองที่เปลี่ยนไป
๓. รสหลักมัน มีรสรองอีก ๙ รสเช่นเดียวกัน
สรรพคุณหลักของรสมัน คือ ซาบเส้นเอ็น
กลไกของรสมัน จักไปเชื่อมประสานกระดูก,เยื่อในกระดูก,เส้นเอ็น,ผงผืด,กล้ามเนื้อ
๔. รสหลักเค็ม มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสเค็ม คือ ซาบผิว หมายอวัยวะภายในภายนอก บำรุงเตโชธาตุ
กลไกของรสเค็ม จักทำให้เสมหะแห้ง เกิดปิตตะกำเดาตามมา
๕. รสหลักเปรี้ยว มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสเปรี้ยว กัดเสมหะ บำรุงโลหิต
กลไกของรสเปรี้ยว กระทำให้เสมหะชุ่ม ไปละลายเสลดของเสมหะ
๖. รสหลักขม มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสขม แก้ไข้ บำรุงน้ำดี
กลไกของรสขม จักทำให้เสมหะเพิ่มขึ้นไปดับปิตตะที่กำเริบ ทำให้วาตะกลับมาปรกติได้
๗. รสหลักเมาเบื่อ มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสเมาเบื่อ แก้พิษ หมายพิษไข้เพื่อดี ไข้เพื่อลม ไข้เพื่อเสมหะ ไข้พิษทั้งปวง
กลไกของรสเมาเบื่อ จักเข้าไปทำลายพิษในปิตตะ/วาตะ/เสมหะ ด้วยความแรงของโอสถสารเมาเบื่อนั้น
๘. รสหลักร้อน มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสร้อน ขับลม
กลไกของรสร้อน จักเข้าไปเพิ่มกำเดาทำให้เกิดลมตามมาไปผลักลมที่กำเริบออกไป
๙. รสหลักหอมเย็น มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสหอมเย็น บำรุงหัวใจ
กลไกของรสหอมเย็น เป็นกลิ่นสุคนธ์บำบัด หมายหทัยคือใจคืออารมณ์ ให้ชุ่มชื่นในใจ มิใช่ไปบำรุงหทยังหมายเนื้อหัวใจ

การจักปรุงตำรับยาจึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ของกลไกการออกฤทธิ์ของเครื่องยา "มิใช่" ไปใช้องค์รูู้ของ
ผลสรรพคุณ การอ่านตำรับยาก็เช่นกัน "มิใช่" เพียงอ่านสรรพคุณเภสัช แต่ต้องไปเข้าใจกลไกลการออกฤทธิของเภสัชนั้นๆต่างหาก โบราณท่านสอนสั่งกันมาเยี่ยงนี้
เพื่อความเข้าใจใน รสสรรพคุณ ผู้ศึกษาจำต้องเรียนรู้ในสองสิ่


๑. เข้าใจในกลไกการออกฤิทธ์ของรสสมุนไพรทั้ง ๘๑ รส
๒. เข้าใจในผลสรรพคุณจากกลไกการออกฤิทธ์ของรสสมุนไพรทั้ง ๘๑ รสนั้น
โบราณท่านช่างละเอียดลออยิ่งนัก ความรู้ทางเภสัชนั้นมีมากมายมหาศาลและจำเป็นยิ่งสำหรับแพทย์ที่จักต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งอย่างถูกต้องตามวิธีเรียนรู้แต่โบราณคือ "เข้าใจที่การออกฤิทธ์ของสรรพคุณ มิใช่เข้าใจที่ผลของสรรพคุณ"


วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

"นาคราชคืนชีพ"

"นาคราชคืนชีพ"
ในองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย
บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา
"นาคราชคืนชีพ" เป็นคำใหม่ที่เพิ่งปรากฎขึ้นและไว้เรียกกล่าวขานกันหมาย ความอ่อนแออ่อนตัวของอวัยวะเพศชายนั้นได้กลับคืนความแข็งแรงขึ้นโดยผ่านกรรมวิธีหัตถบำบัด เป็นที่นิยมเป็นที่ต้องการของชายสูงวัยหรือผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ จากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่เข้าข่ายโบราณโรค(โรคเรื้อรัง) เช่น
เบาหวานหรือโรคไตเป็นต้น หรือกระษัยความเสื่อมไปจากอายุ จากอาชีพ จากความวิตกกังวล จากความกลัวล้วนเป็นเหตุให้เกิดอาการดังกล่าว



"นวดกระษัย" เป็นคำเก่าที่ใช้กันมานานและไว้เรียกกล่าวขานกันหมาย การใช้หัตถบำบัดทำให้เลือดลมไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนล่างใด้ดีขึ้น อันมีเหตุจากโบราณโรค ทำให้ปัสาสวะขัด ปวดหน่วงลงล่าง ปัสสาวะหยดปัสสาวะสุดเหมือนไม่สุด จึงใช้หัตถบำบัดเข้าช่วยไปพร้อมกับการวางยารักษา ผลข้างเคียงของการนวดกระษัยยังทำให้การแข็งตัวของอวัยวะเพศดีขึ้นด้วยตามมา
เป้าหมายหลักของการนวดกระษัยนั้นแพทย์แผนไทยแต่โบราณมาถือเป็นการเวชปฎิบัติแขนงหนึ่ง มิได้ตั้งแต่ในด้านการแข็งตัวของอวัยวะเพศเท่านั้น ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากการรักษา 

ส่วนนาคราชคืนชีพเป้าประสงค์ต่างกันไป เป็นไปซึ่งบำบัดอาการอ่อนตัวแต่ประการเดียวเท่านั้น โดยมิได้ไปรักษาที่ต้นเหตุอันทำให้เกิดอาการอ่อนตัว การแข็งตัวที่เกิดขึ้นจักเป็นเพียงแค่ชั่วคราวแล้วจักกลับมาอ่อนตัวอีก ด้วยมิได้ไปรักษาที่ต้นทางแห่งอาการนั้น ผลที่ได้จากการนวดนาคราชคืนชีพอาจทำให้การแข็งตัวดีขึ้น การหลั่งเร็วจักดีขึ้น ขนาดของอวัยวะเพศอาจเพิ่มขึ้น แต่ทุกสิ่งเป็นไปแบบไม่เสถียรแค่ชั่วคราว แล้วทุกสิ่งจะกลับมาเป็นดั่งเดิม ซึ่งมิได้มีประโยชน์อันใดเลย เพราะเหตุต้นยังดำรงอยู่อย่างครบถ้วน

ธรรมชาติการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายนั้นเป็นด้วยปัจจัยหลายประการดั่งนี้
๑. เกิดแต่ไฟกามระคะทำให้เกิดความร้อนแลเกิดลมไปดันให้โลหิตไหลเข้าไปในอวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว
๒. เข้ายามสามท้ายต่อยามหนึ่งต้น นับเวลาประมาณ ๐.๐๐๕ - ๘.๐๐ น. เป็นยามวาตะหมายลมต่อเสมหะหมายน้ำ เกิดลมลงล่างไปดันโลหิตให้ไหลเข้าอวัยวะเพศเกิดการแข็งตัวแม้ไม่มีไฟกามราคะบังเกิดขึ้น
๓. อายุสมุฎฐานเริ่มแต่ปฐมวัยตอนปลายต่อเข้ามัชฌิมวัย นับอายุเริ่มเข้า ๑๕ ไปจนอายุ ๓๒ ระบบปิตตะทำงานมากเข้าวัยเจริญพันธ์ การแข็งตัวจักดีตามธรรมชาตินั้น
๔. เป็นไปตามกฎแห่งการสืบเผ่าพันธ์ เป็นปรกติของสรรพสัตว์ทั้งปวง
แต่หากธรรมชาติดังกล่าวมิได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ปรกตินั้นย่อมหมายถึงเกิดความผิดไปของตรีธาตุคือปิตตะ วาตะ เสมหะ อาจกำเริบ หย่อน เกิดโรคภัยไข้เจ็บส่งผลให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวแม้จักมีไฟกามราคะบังเกิดขึ้นก็ตาม แพทย์จักทำการรักษาให้ต้นโรคนั้นหายเสียก่อน ธรรมชาติปรกติจักคืนกลับมาเอง โดยอาจใช้การนวดกระษัยเข้าบำบัดร่วมประกอบกันไป 

หากอายุเริ่มเข้าเกณฑ์ปัจฉิมวัย เกิดกระษัยหรือความเสื่อมปรากฎชัด การแข็งตัวอาจน้อยลงเป็นไปตามกฎแห่งสังขารปรกติ แม้เกิดไฟกามราคะขึ้นแล้ว การแข็งตัวอาจไม่เกิดขึ้นตาม แพทย์จักพึ่งรักษากระษัยที่เกิดขึ้นให้บรรเทาลงเป็นไปที่ต้นเหตุนั้น แล้วจึงใช้เวชปฎิบัติหัตถบำบัด นวดกระษัยเข้าช่วยต่อไป






จักเห็นได้ว่าหมอไทยมิได้ กระทำนาคราชคืนชีพ แต่กระทำนวดกระษัยเพื่อบำบัดโรคต่างหาก ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติปรากฎขึ้นทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ในสมัยโบราณการศึกสงครามการกวาดต้อนพลเมือง แลจำนวนประชากรก็มีน้อยนัก จำต้องเพิ่มจำนวนประชากร หมอไทยเองจึงต้องคิดค้นหาวิธีสนองตอบความต้องการของสังคมในยุคนั้น เกิดเป็นเป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้ผู้ชายที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะอายุมากน้อยเท่าใด ผลิตประชากรเพิ่มให้ได้ หมอโบราณจึงคิดทั้งตำรับยาทั้งการเวชปฎิบัติเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลนั้น  
นาคราชคืนชีพจึงบังเกิดขึ้น ด้วยความจำเป็นของสังคมแต่หมอกระทำด้วยวิธีนวดกระษัยประกอบกับการวางยารักษาหากผู้ไข้มีโรคภัยมาเบียดเบียน หากไม่มีโรคภัยหมอจะวางยากระตุ้นความต้องการ วางยาเสริมความแข็งแรง เกิดเป็นตำรับยาอายุวัฒนะขึ้นมากมายสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

ในฐานะแพทย์แผนไทย หมอจักบำบัดรักษาไปที่ต้นโรคเสมอแม้ผู้ไข้ต้องการเพียงประสงค์เดียวคือให้อวัยวะเพศแข็งตัวก็ตามที เพื่อให้ผู้ไข้ไม่มีพยาธิมาเบียดบัง เพื่อให้ผู้ไข้แข็งแรงสมบูรณ์ตามหน้าที่แห่งแพทย์ตามจริยธรรม
แห่งแพทย์แผนไทยแต่โบราณนานมา