วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย

ประวัติความเป็นมา

สมาคมเภสัชและอายุรเวชแห่งประเทศไทย ได้รับการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ในชื่อว่า สมาคมเภสัชกรรมไทยโบราณแห่งประเทศไทยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ร้านไทยวัฒนาโอสถ(ข้างโรงไฟฟ้าวัดเลียบ) มีหมอแดง  ตันเวชกุล เป็นนายกสมาคมฯคนแรก และจดทะเบียนย้ายสำนักงานแห่งใหญ่ของสมาคมไปที่วัดสามพระยา เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จากพระธรรมปัญญาบดี เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ต่อมาท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ฯ” (ฟื้น ชุตินธโร ป.ธ.๙) 

ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ มีท่าน ขุนโสภิตบรรณลักษณ์” (นายอำพล กิตติขจร) เป็นนายกสมาคมฯ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย  ทางสมาคมฯ ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาส ด้วยดีตลอดมาเกือบ ๔๐ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ประมาณช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ คณะกรรมการสงฆ์ของวัดสามพระยา ได้เชิญคณะกรรมการของสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมรับทราบ นโยบายของทางวัดว่า ไม่ประสงค์ให้สมาคมฯ ดำเนินกิจการในวัดสามพระยาต่อไป ท่านพันตรีเฉลิม พงษ์สนิท นายกสมาคมฯ ในเวลานั้น ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการและลูกศิษย์ เพื่อหาสถานที่แห่งใหม่ ปรากฏว่าได้ย้ายไปบ้านของลูกศิษย์ คือคุณพอฤดี พันธุพงษ์ ที่ซอยรามอินทรา ๓๙ เป็นที่ตั้งของสมาคมฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จดทะเบียนเป็นสำนักงานของสมาคมฯ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และในปีพ.ศ.๒๕๔๕ ได้จัดงานครบรอบ ๕๐ ปีของสมาคมฯ 

ในปีพ.ศ.๒๕๔๖ ได้ย้ายที่ทำการสมาคมฯ ไปที่ซอยรามอินทรา ๑๔ เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบเกินไป อยู่ในอาคารแห่งนี้ได้ประมาณ ๔ ปี ก็ถูกขอคืนพื้นที่ จึงย้ายที่ตั้งสำนักงานสมาคมไปที่ซอยวิภาวดี ๘๔ โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.วีรวรรณ เหวียนระวี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ อยู่ได้ไม่ถึง ๑ ปี ก็ถูกขอคืนพื้นที่อีก 

ปัจจุบันนี้ด้วยพระเมตตาธรรมของเจ้าอาวาสวัดธาตุทอง พระรัตนมงคลโมลี ได้อนุญาต ให้สมาคมฯ ใช้อาคารชื่อ ศาลาคุณพ่อจี้ค้อ คุณแม่ซิวเซี้ยม เป็นสถานที่ตั้งสมาคมเภสัชและอายุรเวชแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ และได้จัดงานฉลองครบรอบ ๖๐ ปี สมาคมฯ ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ปัจจุบันสมาคมฯ มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ ๖๒ แล้ว นายกสมาคมฯ คือ คุณสาวิตรี  ศิริวุฒิ

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หมอพื้นบ้าน

หมอชาวบ้านฟื้นตำนานสุขภาพวิถีไทย
                กว่า 100 ปีที่ผ่านมาที่การแพทย์แผนตะวันตก เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบสุขภาพของคนไทย และเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายให้การแพทย์สมัยใหม่แผ่ขยายครอบคลุมไปทั้งประเทศ ด้วยการโฆษาประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อนานาชนิด รวมทั้งฝังรากของการแพทย์ตะวันตกเข้าสู่สถาบันการศึกษา หมอ ยา และองค์ความรู้ของการรักษาแบบตะวันตกรวมกับกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกราก จึงได้สั่นคลอนความศรัทธา ของ การแพทย์พื้นบ้านซึ่งเป็นรากเหง้าของ การแพทย์แผนไทย.ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของ หมอพื้นบ้าน ซึ่งเคยเป็นที่พึ่งพาด้านสุขภาพของคนทั้งแผ่นดินมาหลายชั่วอายุคน ถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียง ภูมิปัญญาเถื่อน จากพระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พศ. 2466 ทำให้หมอพื้นบ้านทั่วแผ่นดิน ต้องกลาย เป็น หมอเถื่อนหมอพื้นบ้านต้องหลบซ่อนและปกปิดตัวเอง และบางคนถึงขั้นเผาตำราทิ้งเพื่อให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านซึ่งเป็นต้นทุนด้านสุขภาพของชาวไทย ที่เชื่อมร้อยเข้ากับการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งความสัมพันธ์ใกล้ชิดของคนในชุมชน กำลังถูกทำลังถูกทำลายล้างด้วยกระแสบริโภคนิยมของระบบการแพทย์เชิงเดี่ยว การแย่งชิงภูมิปัญญาสมุนไพรไทย และผลประโยชน์ที่ทับซ้อนจากบริษัทยาข้ามชาติ รวมทั้งระบบนิเวศที่ถูกทำลายทำให้สมุนไพรนับหมื่นชนิดต้องสูญพันธุ์ไปจากผืนป่า
การถ่ายทอดวิชาการแพทย์พื้นบ้านที่คนรุ่นใหม่ตีค่าเป็นเพียง วิชาที่งมงาย ไม่สามารถสร้างรายได้เป็นเม็ดเงินเต็มไม้เต็มมือ ทำให้พลเมืองหมอพื้นบ้านที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยเพียงสามหมื่นกว่าคนในขณะนี้ อาจเป็นหมอพื้นบ้านรุ่นสุดท้าย และองค์ความรู้ของชาติซึ่งเป็นภูมิปัญญาด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ผ่านการพิสูจน์ผลของการรักษามาหลายชั่วอายุคน ก็กำลังจะตายไปพร้อมกับอายุขัยของหมอพื้นบ้านเหล่านี้


*************************************************

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธาตุกรรมฐาน ตามพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค..(ตอน ๒)


(ต่อ)...

เมื่อพระโยคีนั้นพึงกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ เมื่อเธอนึกใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นอยู่บ่อยๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล

ก็เมื่อพระโยคีใดเจริญอยู่แม้อย่างนี้ กรรมฐานไม่สำเร็จ พระโยคีนั้นต้องเจริญ โดยแยกพร้อมทั้งลักษณะ จะเจริญอย่างไร ? คือพึงกำหนดผมเป็นต้นตามนัยที่กล่าวแล้วในนัยก่อน แล้วจึงกำหนดว่า สิ่งซึ่งมีลักษณะกระด้างในผม จัดเป็นปฐวีธาตุ พึงกำหนดว่า สิ่งซึ่งมีลักษณะเอิบอาบในปฐวีธาตุนั้นเอง จัดเป็นอาโปธาตุ

พึงกำหนดว่าสิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นจัดเป็นเตโชธาตุ พึงกำหนดว่าสิ่งซึ่งมีลักษณะพัดไปมาจัดเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดธาตุ ๔ ในส่วนหนึ่งๆ ในบรรดาส่วนทั้งปวงด้วย ประการฉะนี้ เมื่อพระโยคีนั้นกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ เมื่อเธอนึกใฝ่ใจถึงธาตุเหล่านั้นบ่อยๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

การกำหนดธาตุโดยอาการต่างๆ ก็อีกนัยหนึ่ง พึงกำหนดธาตุโดยอาการแม้เหล่านี้ คือ :-

๑. โดยอรรถแห่งคำ
๒. โดยเป็นกอง
๓. โดยแยกละเอียด
๔. โดยลักษณะเป็นต้น
๕. โดยสมุฏฐาน
๖. โดยเป็นสภาพต่างกันและเหมือนกัน
๗. โดยอาการที่แยกและไม่แยก
๘. โดยเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้
๙. โดยภายในภายนอกแปลกกัน
๑๐. โดยประมวล
๑๑. โดยปัจจัย
๑๒. โดยไม่ใส่ใจกัน
๑๓. โดยแยกกันโดยปัจจัย

ในอาการเหล่านั้น พระโยคีเมื่อใฝ่ใจโดยอรรถแห่งคำ พึงใฝ่ใจโดยอรรถแห่งคำด้วยสามารถที่ต่างกันและเสมอกันอย่างนี้ว่า ชื่อว่าดิน เพราะแผ่ไป ชื่อว่าน้ำ เพราะเอิบอาบให้ชุ่มอยู่ หรือให้เต็มอยู่ ชื่อว่าไฟ เพราะอบให้ร้อน ชื่อว่าลม เพราะพัดให้ไหว แต่ว่าโดยไม่ต่างกันชื่อว่าธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์และเป็นที่อัดทุกข์ไว้

พึงทราบวินิจฉัยโดยเป็นกองดังต่อไป นี้ ปฐวีธาตุนี้ใด ท่านแสดงโดยอาการ ๒๐ โดยนัยเป็นต้นว่า ผม ขน และอาโปธาตุนี้ใด ท่านแสดงโดยอาการ ๑๒ โดยนัยเป็นต้นว่า ดี เสลด ในธาตุเหล่านั้น เพราะ –

ที่มีสมมุตุว่าผมได้ เพราะประชุมธรรม ๘ ประการ คือ สี กลิ่น รส โอชา และธาตุทั้ง ๔ เพราะแยกสิ่งเหล่านั้นจากกันเสีย ย่อมไม่มี

สมมุติว่า ผม
เหตุนั้น คำว่าผม เป็นเพียงสักแต่ว่ากองแห่งธรรมทั้ง ๘ คำว่าขนเป็นต้น ก็เช่นกัน

อนึ่ง ในส่วนเหล่านี้ส่วนใดมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ส่วนนั้นจัดว่า เป็นกองแห่งธรรม ๑๐ รวมทั้งชีวิตินทรีย์และภาวะเข้าด้วย ทั้งยังนับว่าปฐวีธาตุ อาโปธาตุ ด้วยอำนาจที่มา พึงใฝ่ใจโดยเป็นกองอย่างนี้

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า โดยแยกละเอียด ดังต่อไปนี้ ก็ปฐวีธาตุที่ป่นเป็นชนิดเล็กอย่างยิ่ง เป็นดุจธุลีละเอียด อันพระโยคีกำหนดอยู่โดยอย่างกลางในสรีระนี้พึงมีประมาณได้ทะนานหนึ่ง ปฐวีธาตุนั้นอันอาโปธาตุประมาณกึ่งแต่ทะนานนั้นยึดไว้แล้วอันเตโชธาตุนี้เลี้ยงรักษาแล้ว อันวาโยธาตุพัดให้หวั่นไหวแล้ว จึงไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย ปฐวีธาตุนี้ เมื่อไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย ย่อมเข้าถึงการกำหนด เป็นเพศหญิงเพศชายเป็นต้นเป็นอเนก และประกาศความผอมอ้วนสูงต่ำแข็งแรงและอ่อนแอเป็นต้น

ฝ่ายอาโปธาตุในร่างกายนี้ ถึงความเป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบตั้งอยู่ในดินอันไฟตามรักษา อันลมพัดให้เคลื่อนไหว จึงไม่เรี่ยรายกระจัดกระจาย เมื่อไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย จึงแสดงอาการที่เป็นต่างกันโดยความเป็นเพศหญิงเพศชายเป็นต้น และประกาศความเป็นผู้ผอมอ้วนสูงต่ำแข็งแรงและอ่อนแอเป็นต้น

ส่วนเตโชธาตุในร่างกายนี้ มีอาการร้อนอ้าว มีลักษณะร้อนอ้าวสำหรับย่อยสิ่งที่รับประทานและสิ่งที่ดื่มเป็นต้น ตั้งอยู่ในดินอันน้ำยึดไว้ อันลมพัดให้เคลื่อนไหวย่อมยังกายนี้ให้อบอุ่น และนำมาซึ่งวรรณสมบัติแก่กายนั้น อนึ่ง กายนี้อันเตโชธาตุนั้นให้อบอุ่นแล้วย่อมไม่แสดงอาการเน่า

ก็วาโยธาตุในสรีระนี้ซ่านไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ มีลักษณะเบ่งขึ้นและให้ไหวได้ ตั้งอยู่ในดินอันน้ำยึดไว้ อันไฟตามรักษา ย่อมยังกายนี้ให้เคลื่อนไหวได้

อนึ่ง กายนี้อันธาตุลมนั้นอุ้มแล้วจึงไม่ซวนเซไป ตั้งอยู่ตรง ๆ ได้อาศัยวาโยธาตุอื่นอีกพัดสม่ำเสมอ แล้ว ย่อมแสดงวิญญัติในอิริยาบถคือ เดิน ยืน นั่ง นอน ย่อมคู้เข้าเหยียดออก ยังมือและเท้าให้เคลื่อนไหวได้ ยนต์คือธาตุนี้เช่นเดียวกับรูปกล มีมายา สำหรับล่อลวงชนพาลโดยความเป็นหญิงและชายเป็นต้น เป็นไปอยู่ดังแถลงมานี้ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยละเอียด ดังบรรยายมานี้แล

พึงทราบวินิจฉัยในมาติกาว่า โดยลักษณะเป็นต้นว่า พระโยคีนึกถึงธาตุทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า ปฐวีธาตุมีลักษณะอย่างไร ? มีอะไรเป็นรส ? มีอะไรเป็นเครื่องปรากฏ ? ดังนี้แล้ว พึงใส่ใจโดยลักษณะเป็นต้นอย่างนี้ว่า ปฐวีธาตุมีลักษณะแข้นแข็งมีการตั้งอ ยู่เป็นรส มีการรับไว้เป็นเครื่องปรากฏ อาโปธาตุ มีความหลั่งไหลเป็นลักษณะ มีการพอกพูนเป็นรส มีการยึดไว้เป็นเครื่องปรากฏ เตโชธาตุ มีความร้อนเป็นลักษณะ มีการให้อบอุ่นเป็นรส มีการเพิ่มให้ถึงซึ่งความอ่อนนุ่มเป็นเครื่องปรากฏ วาโยธาตุมีการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะมีการเบ่งขึ้นได้เป็นรส มีการยักย้ายเป็นเครื่องปรากฏ

ในมาติกาว่าโดยสมุฏฐาน พึงทราบวินิจฉัยว่า ส่วน ๓๒ มีผมเป็นต้นเหล่านี้ใด ท่านแสดงแล้วด้วยสามารถแสดงปฐวีธาตุ เป็นต้นโดยพิสดาร ในส่วนเหล่านั้น ส่วน ๔ เหล่านี้ อาหารใหม่ อาหารเก่า หนอง มูตร มีฤดูเป็นสมุฏฐานแล ส่วน ๔ เหล่านี้ คือ น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก มีฤดูและจิตเป็นสมุฏฐาน ไฟซึ่งเป็นตัวย่อยอาหารที่บริโภคเป็นต้น มีกรรมเป็นสมุฏฐานแล ลมหายใจออกเข้ามีจิตเป็นสมุฏฐาน ที่เหลือนอกนั้นทั้งหมด มีสมุฏฐาน ๔ พึงใฝ่ใจโดยสมุฏฐาน ด้วยอาการอย่างนี้

ในมาติกาว่าโดยเป็นสภาพต่างกันและเหมือนกัน พึงทราบวินิจฉัยว่า ธาตุทั้งหมดต่างกันโดยลักษณะของตนเป็นต้น คือปฐวีธาตุก็มีลักษณะ รส และการปรากฏอันหนึ่งต่างหาก อาโปธาตุเป็นต้นก็มีลักษณะ, รส และอาการปรากฏอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

ก็ธาตุเหล่านี้แม้จะเป็นสภาพต่างกัน ด้วยสามารถลักษณะเป็นอย่างนี้ก็ดี และด้วยสามารถแห่งสมุฏฐาน มีกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นต้นก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยสามารถเป็นรูป, มหาภูต, ธาตุ, ธรรม และเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น

จริงอยู่ ธาตุทุกอย่างชื่อว่าเป็นรูป เพราะไม่ต้องลักษณะจำต้องอวด

ชื่อว่ามหาภูตรูป เพราะเหตุมีความปรากฏ โดยความเป็นของใหญ่เป็นต้น

ก็ในคำว่า มีความปรากฏเป็นของใหญ่เป็นต้น อธิบายว่า ก็ธาตุเหล่านี้ ท่านเรียกว่ามหาภูต เพราะเหตุเหล่านี้ คือ –

๑. เพราะความปรากฏเป็นของใหญ่
๒. เพราะความเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต
๓. เพราะจำต้องบริหารมาก
๔. เพราะมีวิการมาก
๕. เพราะเป็นของมีจริงโดยความเป็นของใหญ่

ในอาการเหล่านั้น คำว่าเพราะความปรากฏเป็นของใหญ่ คือธาตุนี้เป็นธรรมชาติปรากฏเป็นของใหญ่ ทั้งในสันดานที่ไม่มีใจครอง ทั้งในสันดานที่มีใจครอง

บรรดาสันดานทั้ง ๒ เหล่านั้น ความเป็นของปรากฏความเป็นของใหญ่แห่งมหาภูตเหล่านั้น ในสันดานที่ไม่มีใจครอง ข้าพเจ้าอธิบายมาแล้วแล ในพุทธานุสตินิเทศโดยนัยเป็นต้นว่า

แผ่นดินนี้ ท่านคำนวณแล้ว โดยกำหนดส่วนหนาได้เท่านี้
คือ ๒ แสน กับอีก ๔ หมื่นโยชน์ ฯ

ฝ่ายในสันดานที่มีใจครอง เป็นสภาพปรากฏเป็นของใหญ่จริงด้วยสามารถ สรีระแห่งปลา, เต่า, เทวดา, มานพ, อสูรเป็นต้น สมดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีอัตภาพยาวประมาณตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ดังนี้เป็นต้น

ธาตุ ๔ เป็นมหาภูต

ในมาติกาว่า เพราะเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต มีวินิจฉัยว่า ก็ธาตุเหล่านี้ตัวเองเป็นของไม่เขียวเลย แต่แสดงอุปาทายรูปที่เขียวได้ ตัวเองเป็นสภาพไม่เหลือง แต่แสดงอุปาทายรูปที่เหลืองได้ ตัวเองเป็นสภาพไม่แดงแต่แสดงอุปาทายรูปที่แดงได้ ตัวเองเป็นภาพไม่ขาวเลย แต่แสดงอุปาทายรูปที่ขาวได้ เปรียบดุจนักเล่นกลแสดงน้ำซึ่งไม่ใช่แก้วมณีแท้ๆให้เป็นแก้วมณีได้ แสดงก้อนดินซึ่งไม่ใช่ทองจริงๆให้เป็นทองได้ และเหมือนอย่างตัวเองไม่ใช่ยักษ์ไม่ใช่นกก็แสดงเป็นยักษ์เป็นนกบ้าง เพราะเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเป็นเหมือนมหาภูตนักเล่นกล

อนึ่ง เปรียบดุจมหาภูตมียักษ์เป็นต้น เข้าสิงผู้ใดภายในภายนอกผู้นั้น อันมหาภูตเหล่านั้น จะเข้าไปได้ก็หาไม่ และมหาภูตเหล่านั้นจะไม่สิงผู้นั้นตั้งอยู่ก็หาไม่ ฉันใดแม้มหาภูตเหล่านี้ก็ฉันนั้น อันกันและกันย่อมเข้าได้ เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ภายในภายนอกของกันและกันก็หาไม่ และมหาภูตรูปเหล่านี้ มิใช่จะไม่อาศัยกันและกันตั้งอยู่ก็หาไม่ฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง ธาตุชื่อว่าเป็นมหาภูต แม้เพราะเป็นธรรมชาติที่เสมอกับมหาภูตมียักษ์เป็นต้นโดยความเป็นฐานะที่ไม่ควรคิด

อนึ่ง เปรียบดุจมหาภูต กล่าวคือยักษิณี ปกปิดภาวะอันน่ากลัวของตนไว้ โดยการปลอมแปลงสีและสัณฐานที่น่าพึงใจ ลวงสัตว์ทั้งหลาย ฉันใด แม้มหาภูตรูปเหล่านี้ก็ฉันนั้น ปิดลักษณะตามธรรมดาของตัว อันต่างด้วยอาการมีอาการที่ตนเป็นของแข้นแข็งเป็นต้น ด้วยผิวพรรณที่น่าพึงใจ ด้วยสัณฐานแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ที่น่าพึงใจ และด้วยการกระดุกกระดิกได้แห่งมือเท้าและนิ้วที่น่าพึงใจในสรีระหญิงและชายเป็นต้น ลวงพาลชนอยู่มิให้เห็นความเป็นจริงของตน เพราะเหตุนั้น จึงเชื่อว่ามหาภูตแม้เพราะเป็นของเสมอกับมหาภูต คือนางยักษิณีเพราะเป็นสภาพที่ลวง

ในคำว่า เพราะจำต้องบริหารมาก มีอธิบายว่า เพราะเป็นสิ่งที่จำต้องรักษาด้วยปัจจัยเป็นอันมาก จริงอยู่ มหาภูตเหล่านี้เป็นแล้ว คือเป็นไปแล้วด้วยปัจจัยทั้งหลายมีเครื่องกิน และเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นเป็นอันมาก เพราะจำต้องนำเข้าไปทุก ๆ วัน เหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูตอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นมหาภูต แม้เพราะเป็นภูตที่จำต้องบริหารมาก

จริงอยู่ มหาภูตเหล่านี้ ที่เป็นอุปาทินนกะก็ดี อนุปาทินนกะก็ดี ย่อมเป็นภูตมีวิการมาก ในภูต ๒ ชนิดนั้น อาการที่วิการมากของอนุปาทินนกะ ย่อมปรากฏในเมื่อกลาปะย่อยยับ ของอุปาทินนกะปรากฏในเวลาธาตุกำเริบ ความจริงเป็นเช่นนั้น

เมื่อโลกไหม้อยู่ด้วยความร้อนแห่งเปลวไฟ เปลวไฟพุ่ง

ขึ้นแต่ภาคพื้น ลุกขึ้นจนกระทั่งพรหมโลก ฯ เมื่อใด โลก

จักฉิบหายด้วยน้ำอันกำเริบแล้ว เมื่อนั้นจักรวาลประมาณ

แสนโกฏิหนึ่ง จะละลายชั่วประเดี๋ยว เมื่อใดโลกจักฉิบหาย

ด้วยธาตุลมกำเริบ เมื่อนั้นจักรวาลประมาณแสนโกฏิหนึ่ง

จักวอดวายชั่วประเดี๋ยว กายถูกงูปากไม้กัด ย่อมแข็งกระด้าง

ฉันใด เพราะปฐวีธาตุกำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงู

ปากไม้ฉันนั้น กายถูกงูปากเน่ากัด ย่อมเน่าเปื่อยฉันใด

เพราะอาโปธาตุกำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากเน่า

ฉันนั้น กายถูกงูปากไฟกัด ย่อมร้อนกลุ้มฉันใด เพราะ

เตโชธาตุกำเริบ กายนั้นเป็นดังอยู่ในปากงูปากไฟ ฉันนั้น

กายถูกงูปากศัสตรากัด ย่อมขาดไปฉันใด เพราะวาโยธาตุ

กำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากศัสตรา ฉันนั้น

ภูตมีวิการมาก ดังนี้ เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหาภูต

ในคำว่า เพราะเป็นของมีอยู่โดยความเป็นของใหญ่ ก็ภูตเหล่านี้ชื่อว่าเป็นของใหญ่ เพราะจำต้องประคับประคองด้วยความพยายามอย่างใหญ่ และชื่อว่ามีจริง เพราะมีอยู่โต้ง ๆ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นของมีจริงโดยความเป็นของใหญ่

ธาตุเหล่านี้แม้ทั้งหมด ชื่อว่าเป็นมหาภูต เพราะเหตุมีความเป็นของปรากฏโดยความเป็นของใหญ่เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธาตุทุกอย่างไม่ล่วงลักษณะธาตุไปได้ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเพราะเป็นฐานแห่งทุกข์ และเพราะอัดทุกข์ไว้

และชื่อว่า ธรรม เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนและเข้าไปทรงอยู่ได้ชั่วขณะอันสมควรแก่ตน

ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป
ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าน่าพรั่นพรึง
ชื่อว่า มิใช่ตน เพราะอรรถว่าไม่มีสาระ

ตามนัยนี้ แม้ธาตุทุกอย่างชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยสามารถที่เป็นรูป เป็นมหาภูต เป็นเหตุ เป็นธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นต้น พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยต่างกันและเหมือนกัน โดยอาการอย่างนี้

ในข้อมาติกาว่า โดยอาการที่แยกจากกันและไม่แยก พึงทราบวินิจฉัยว่าธาตุเหล่านี้ทั้งหมด พอเกิดร่วมกันเท่านั้น ก็ไม่แยกกันตามส่วนแม้ในกลาปะ ๘ ล้าน เป็นต้น ซึ่งมีในที่สุดแห่งกลาปะทั้งหมด เฉพาะอันหนึ่ง ๆ แต่ชื่อว่าแยกจากกันโดยลักษณะ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยอาการที่แยกจากกัน และไม่แยกจากันโดยอาการอย่างนี้

ในข้อมาติกาว่า โดยเข้ากันได้และไม่ได้ มีวินิจฉัยว่า ในบรรดาธาตุเหล่านี้ แม้จะไม่แยกจากกันอย่างอธิบายมาแล้วก็ดี ธาตุ ๒ ตอนต้น ชื่อว่าสภาคคือเข้ากันได้ เพราะเป็นของหนักเหมือนกัน ธาตุตอนหลังก็จัดเป็นสภาคกันเหมือนกัน เพราะเป็นของเบาแต่ธาตุตอนต้นกับธาตุตอนหลัง และธาตุตอนหลังกับธาตุตอนต้น จัดเป็นวิสภาคกัน คือเข้ากันไม่ได้ เพราะข้างฝ่ายหนึ่งหนักฝ่ายหนึ่งเบา พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยเข้ากันได้และไม่ได้โดยอาการอย่างนี้

ในข้อมาติกาว่า โดยภายในและภายนอกแปลกกัน พึงทราบวินิจฉัยว่าธาตุภายใน ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณวัตถุและวิญญัติและอินทรีย์ เป็นสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับอิริยาบถ มีสมุฏฐาน ๔ ธาตุภายนอกมีประการผิดตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยธาตุภายในและภายนอกแปลกกัน ดังบรรยายมานี้

ในข้อมาติกาว่า โดยประมวล พึงทราบวินิจฉัยว่า ปฐวีธาตุมีธรรมเป็นสมุฏฐาน รวมเป็นอันเดียวกันกับธาตุนอกจากนี้ ซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะไม่มีความต่างกันโดยสมุฏฐาน ที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ร่วมเป็นอันเดียวกับธาตุซึ่งมีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐานดุจกัน พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยรวมกัน ดังบรรยายมานี้

ใน ข้อมาติกาว่า โดยปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยว่า ปฐวีธาตุอันน้ำยึดไว้ อันไฟตามรักษาไว้ อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งมหาภูตทั้ง ๓ อาโปธาตุตั้งอาศัยดิน อันไฟตามรักษา อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นเครื่องยึดแห่งมหาภูตทั้ง ๓ เตโชธาตุตั้งอาศัยดิน อันน้ำยึดไว้ อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นเครื่องอบอุ่นแห่งมหาภูตทั้ง ๓ วาโยธาตุตั้งอาศัยดิน อันน้ำยึดไว้ อันไฟให้อบอุ่น เป็นปัจจัยเป็นเหตุให้เคลื่อนไหวแห่งมหาภูตทั้ง ๓ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยเป็นปัจจัย ดังบรรยายมานี้

ในข้อมาติกาว่า โดยไม่รู้จักกัน พึงทราบวินิจฉัยว่า ในบรรดาธาตุทั้ง ๔ นี้ ปฐวีธาตุย่อมไม่รู้สึกว่า เราคือปฐวีธาตุ หรือว่าเราเป็นที่ตั้งเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้ง ๓ แม้ธาตุ ๓ นอกนี้ก็ไม่รู้สึกว่า ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งของพวกเรา ในธาตุทั้งปวงมีนัยเช่นเดียวกันนี้ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยไม่รู้จักกัน ดังบรรยายมานี้

ในข้อมาติกาว่า โดยวิภาคของปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยว่า ก็ปัจจัยของธาตุมี ๔ คือ กรรม จิต อาหาร ฤดู ในปัจจัยทั้ง ๔ นั้น กรรมนั่นแหละย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน มิใช่ปัจจัยอื่นมีจิตเป็นต้น ส่วนจิตเป็นต้นย่อมเป็นปัจจัยแม้แห่งทั้งธาตุทั้งหลายที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน มิใช่ปัจจัยนอกนี้

อนึ่ง กรรมย่อมเป็นตัวชนกปัจจัย คือปัจจัยที่บันดาลให้เกิดแห่งธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นอุปนิสสยปัจจัยโดยอ้อมแห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ จิตย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้ง หลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจฉาชาตปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ อาหารย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน เป็นอาหารปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ ฤดูย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลาย ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน เป็นอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ

มหาภูตมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยของมหาภูตทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานบ้าง ที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐานบ้าง มหาภูตที่มีจิตเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐานก็ดี ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้งหลาย ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน ที่มีกรรมเป็นต้นเป็นสมุฏฐานบ้างเช่นกัน

ในบรรดาปัจจัยทั้ง ๔ เหล่านั้น ปฐวีธาตุ มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัย แห่งธาตุนอกนี้ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ด้วยสามารถสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งธาตุนอกนี้ และด้วยสามารถเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งธาตุนอกนี้ แต่มิใช่เป็นปัจจัย ด้วยสามารถเป็นตัวบันดาลให้เกิด คือ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตที่มีสันตติ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นที่พำนัก และมิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถชนกปัจจัย

ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ฝ่ายอาโปธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ด้วยสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเครื่องยึดไว้ มิใช่ด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย คือเป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ที่มีสันตติ ๓ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นเครื่องยึดไว้ มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นตัวชนกปัจจัย

ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ส่วนเตโชธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเครื่องให้อบอุ่น มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย คือย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตนอกนี้ ซึ่งมีสันตติ ๓ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยเท่านั้น มิใช่ด้วยสามารถเป็นเครื่องให้อบอุ่น มิใช่ด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย

ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ส่วนวาโยธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเหตุเคลื่อนไหว มิใช่ด้วยสามารถชนกปัจจัย คือเป็นปัจจัยแห่งมหาภูต ซึ่งมีสันตติ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยเท่านั้น มิใช่ด้วยสามารถเป็นเหตุเคลื่อนไหว มิใช่ด้วยสามารถชนกปัจจัย แม้ในปฐวีธาตุเป็นต้น ซึ่งมีจิตและอาหารและฤดูเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ก็มีนัยนี้เหมือนกัน ก็แหละ บรรดาธาตุเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้นดังพรรณนามานี้ ธาตุ ๓ อาศัยธาตุ ๑ เป็นไปโดยอาการ ๔ อย่าง ธาตุ ๑ อาศัยธาตุ ๓ และธาตุ ๒ อาศัยธาตุ ๒ ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๖ อย่าง

จริงอยู่ ในปฐวีธาตุเป็นต้น ธาตุ ๓ อาศัยธาตุ ๑ ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๔ อย่าง อย่างนี้คือ ธาตุ ๓ อาศัยธาตุ ๑

อนึ่ง ในปฐวีธาตุเป็นต้น ธาตุ ๑ อาศัยธาตุ ๓ ธาตุนอกนี้ ตามนัยนี้ ธาตุอันเดียว อาศัยธาตุอื่น ๓ จึงเป็นไปโดยอาการ ๔ อย่าง

อนึ่ง ธาตุ ๒ ข้างปลายอาศัยธาตุ ๒ ข้างต้น และธาตุ ๒ ข้างต้นอาศัยธาตุ ๒ ข้างปลาย ธาตุที่ ๒ และธาตุที่ ๔ อาศัยธาตุที่ ๑ และที่ ๓ ธาตุที่ ๑ ที่ ๓ อาศัยธาตุที่ ๒ และที่ ๔ ธาตุที่ ๒ ที่ ๓ อาศัยธาตุที่ ๑ และที่ ๔ และธาตุที่ ๑ และธาตุที่ ๔ อาศัยธาตุที่ ๒ และที่ ๓ ตายนัยนี้ ธาตุ ๒ อาศัยธาตุ ๒ ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๖ อย่าง

ในธาตุเหล่านั้น ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยแห่งการยันในเวลาก้าวไปและถอยกลับเป็นต้นปฐวีธาตุนั้นและประสมกับอาโปธาตุอันอาโปธาตุซึมซาบแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการให้ดำรงมั่น ฝ่ายอาโปธาตุประสมกับปฐวีธาตุย่อมเป็นปัจจัยแห่งอันมิให้กระจัดกระจาย และเตโชธาตุ ประสมกับวาโยธาตุย่อมเป็นปัจจัยแห่งอันยกขึ้น ฝ่ายวาโยธาตุประสมกับเตโชธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการเดินและวิ่งได้เร็ว พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยวิภาคของปัจจัยดังบรรยายมานี้

ก็แม้ เมื่อพระโยคีใฝ่ใจด้วยสามารถอรรถวิเคราะห์เป็นต้นอย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏโดยเป็นส่วนหนึ่ง ๆ เมื่อท่านรำพึงและใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นบ่อย ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ อุปจารสมาธินี้นั้นถึงความนับว่าจตุธาตุววัฏฐาน เพราะเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งญาณที่กำหนดธาตุ ๔

อานิสงส์การกำหนดธาตุ ๔

ก็แหละ พระโยคีผู้หมั่นประกอบจตุธาตุววัฏฐานนี้ใด ย่อมหยั่งลงสู่ความเป็นของเปล่า ย่อมเพิกถอนความสำคัญหมายว่าสัตว์ พระโยคีนั้นไม่ถึงความกำหนดแยกว่าเนื้อร้ายและยักษ์และผีเสื้อน้ำเป็นต้น เพราะเป็นผู้เพิกถอนสัตตสัญญาเสียได้ จึงเป็นผู้ทนต่อภัยน่าพึงกลัว ทนต่อความยินดียินร้าย ไม่ถึงความสงบและความอึดอัดใจ ในเพราะอารมณ์ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา ก็แลท่านย่อมเป็นผู้ที่มีปัญญามาก มีพระนิพพานเป็นที่สุด มิฉะนั้นก็เป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

นักปราชญ์ พึงส้องเสพธาตุววัฏฐาน ที่พระโยคี

ผู้ประเสริฐเพียงดังสีหะเคยเล่นมาแล้ว อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ เป็นนิตย์เทอญ

นิเทศแห่งการเจริญจตุธาตุววัฏฐาน ยุติเพียงเท่านี้

ที่มา วิสุทธิมรรค เล่ม ๒ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๑๑ สมาธินิเทศ

ธาตุกรรมฐาน ตามพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค..



...ภิกษุ ในพระธรรมวินัยนี้ กำหนดอาการที่กระด้างในส่วน ๒๐ ว่า ปฐวีธาตุ กำหนดอาการที่เอิบอาบได้แก่น้ำ ซึ่งถึงความซึมแทรกในส่วน ๑๒ ว่า อาโปธาตุ กำหนดไฟที่ให้ย่อยในส่วน ๔ ว่า เตโชธาตุ กำหนดการกระพึดพัดในส่วนทั้ง ๖ ว่า วาโยธาตุ เมื่อเธอกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุย่อมปรากฏ เมื่อรำพึงในใจถึงธาตุเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วแล

ก็เมื่อพระโยคีใดเจริญอยู่อย่างนี้กรรมฐานไม่สำเร็จ พระโยคีนั้นพึงเจริญโดยจำแนกออกไปพร้อมทั้งเครื่องปรุง คืออย่างไร ? คือภิกษุนั้นไม่พึงยังอุคคหโกศลโดยส่วน ๗ และมนสิการโกศลโดยส่วน ๑๐ ซึ่งกล่าวไว้แล้วในกายคตาสติกัมมัฏฐานนิเทศนั้น ทั้งหมดไม่ให้บกพร่อง ทำการสาธยายด้วยวาจาโดยอนุโลมและปฏิโลม ทำตจปัญจกะเป็นต้นให้เป็นเบื้องต้น แล้วพึงทำวิธีดังที่กล่าวแล้วในกรรมฐานนั้นทั้งหมด

แต่ที่แปลกกันมีอย่างนี้ คือในกายคตาสตินั้น แม้ใฝ่ใจผมเป็นต้นด้วยอำนาจสี, สัณฐาน, ทิศ, โอกาส, ปริจเฉทแล้ว พึงตั้งใจกำหนดด้วยสามารถความเป็นของปฏิกูลอีก แต่ในที่นี้พึงตั้งใจด้วยสามารถความเป็นธาตุ

เพราะเหตุนั้น พึงใฝ่ใจผมเป็นต้นอย่างละ ๕ ๆ ด้วยสามารถสีเป็นต้น แล้วจึงยังมนสิการให้เป็นไปอย่างนี้ในอวสาน ใจความว่า

๑. ปฐวีธาตุ

๑. ชื่อว่าผมเหล่านี้ เกิดที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะ พึงกำหนดในผมเหล่านั้นว่า เมื่อหญ้ากุณฐะ หญ้าที่แข็งเกิดบนยอดจอมปลวก จอมปลวกหารู้ไม่ว่า หญ้ากุณฐะเกิดบนเรา แม้หญ้ากุณฐะก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดบนจอมปลวก ฉันใด หนังหุ้มกะโหลกศีรษะก็เช่นกัน หารู้ไม่ว่าผมเกิดในเรา แม้ผมก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดบนหนังหุ้มกะโหลกศีรษะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่า ผมทั้งหลาย ชื่อว่า ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๒. ขนเกิดในหนังหุ้มสรีระ พึงกำหนดในขนเหล่านั้นว่า เมื่อหญ้าแพรกเกิด ในสถานที่บ้านร้าง สถานที่บ้านร้างหารู้ไม่ว่าหญ้าแพรก เกิดที่เรา แม้หญ้าแพรกก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดในสถานที่บ้านร้าง ฉันใด หนังหุ้มสรีระก็เช่นกัน หารู้สึกไม่ว่าขนเกิดในเรา แม้ขนก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดในหนังหุ้มสรีระ ธรรมเหล่านี้เว้นเล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าขนทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๓. เล็บเกิดที่ปลายนิ้วมือ พึงกำหนดในเล็บนั้นว่า เมื่อเด็กเอาไม้เรียวแทงเมล็ดมะทรางเข้าไปแล้วเล่นอยู่ ไม้เรียวหารู้ไม่ว่าเมล็ดมะทรางตั้งอยู่ในเรา แม้เมล็ดมะทรางก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ที่ปลายไม้เรียว ฉันใด นิ้วมือทั้งหลายก็เช่นกัน ย่อมไม่รู้ว่าเล็บเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเล็บทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๔. ฟันเกิดที่กระดูกคาง พึงกำหนดในฟันนั้นว่า เมื่อซี่ไม้ที่พวกนายช่างเอายางเหนียวชนิดใดชนิดหนึ่งติดตั้งไว้บนครกหิน ครกหารู้ไม่ว่าซี่ไม้ตั้งอยู่บนเรา แม้ซี่ไม้ก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนครกดังนี้ ฉันใด กระดูกคางก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าฟันเกิดในเรา แม้ฟันก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่กระดูกคาง ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าฟันทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ คือส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๕. หนังตั้งหุ้มอยู่ทั่วสรีระ พึงกำหนดในหนังนั้นว่า เมื่อพิณใหญ่หุ้มด้วยหนังโคอ่อน พิณใหญ่หารู้ไม่ว่าหนังโคอ่อนหุ้มเราไว้ แม้หนังโคอ่อนก็หารู้ไม่ว่า เราหุ้มพิณใหญ่ไว้ ฉันใด สรีระก็หารู้ไม่ว่าหนังหุ้มเราไว้ แม้หนังก็หารู้ไม่ว่าเราหุ้มสรีระไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าหนัง ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๖. เนื้อตั้งฉาบร่างกระดูก พึงกำหนดในเนื้อนั้นว่า เหมือนเมื่อฝาถูกฉาบด้วยดินเหนียวหนา ฝาหารู้ไม่ว่าเราอันดินเหนียวฉาบทาแล้ว แม้ดินเหนียวหนาก็หารู้ไม่ว่าเราฉาบทาแล้ว ฉันใด ร่างกระดูกก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าเราอันเนื้อมีประเภท ๙๐๐ ชิ้นฉาบแล้ว แม้เนื้อก็หารู้ไม่ว่าเราฉาบร่างกระดูกไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเนื้อ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๗. เอ็นตั้งรึงรัดกระดูกในภายในอยู่ พึงกำหนดในเอ็นนั้นว่า เหมือนเมื่อไม้ฝาอันบุคคลมัดแล้วด้วยเถาวัลย์ ไม้ฝาหารู้ไม่ว่าเราอันเถาวัลย์รัด แล้ว แม้เถาวัลย์ก็หารู้ไม่ว่า เรารัดไม้ฝาแล้ว ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าเอ็นรัดรึงเราไว้ แม้เอ็นทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่าเรารัดกระดูกไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเอ็น ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มี เจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๘. ในจำพวกกระดูกทั้งหลาย กระดูกส้นเท้ายกกระดูกข้อเท้าทูนไว้ กระดูกข้อเท้ายกกระดูกแข้งทูนไว้ กระดูกแข้งยกกระดูกขาทูนไว้ กระดูกขายกกระดูกสะเอวทูนไว้ กระดูกสะเอวยกกระดูกสันหลังทูนไว้ กระดูกสันหลังยกกระดูกคอทูนไว้ กระดูกคอยกกระดูกศีรษะทูนไว้ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า พึงกำหนดในกระดูกเหล่านั้นว่า ในบรรดาเครื่องก่อที่สำเร็จด้วยอิฐ ไม้หรือโคมัยเป็นต้น สัมภาระตอนล่าง ๆ หารู้ไม่ว่า เรายกสัมภาระข้างบน ๆ ทูนไว้ แม้สัมภาระข้างบน ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่เหนือสัมภาระตอนล่างๆ ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น คือ กระดูกส้นเท้าก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกข้อเท้าทูนไว้ กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกแข้งทูนไว้ กระดูกแข้งก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกขาทูนไว้ กระดูกขาก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกสะเอวทูนไว้ กระดูกสะเอวก็หารู้ไม่เรายกกระดูกสันหลังทูนไว้ กระดูกสันหลังก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกคอทูนไว้ กระดูกคอก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกศีรษะทูนไว้ กระดูกศีรษะก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่นบกระดูกแข้ง กระดูกแข้งก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ากระดูก ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๙. เยื่อในกระดูก ตั้งอยู่ภายในแห่งกระดูกนั้น ๆ พึงกำหนดในเยื่อนั้นว่าในวัตถุเป็นต้นว่า ยอดหวายที่บุคคลผู้หนึ่งใส่เข้าไปภายในปล้องไม้ไผ่เป็นต้น ปล้องไม้ไผ่ก็หารู้ไม่ว่ายอดหวายเป็นต้นเขาใส่เข้าแล้วในเรา แม้ยอดหวายเป็นต้นก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในปล้องไม้ไผ่เป็นต้น ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น ก็หารู้ไม่ว่าเยื่ออยู่ในภายในเราทั้งหลาย แม้เยื่อก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ภายในกระดูก ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเยื่อในกระดูก ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งในเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๐. ไตคลุมเนื้อหัวใจ เส้นเอ็นใหญ่ที่ออกจากลำคออันมีโคน ๆ เดียว ไปได้หน่อยหนึ่งแล้วแยกออกเป็น ๒ รัดรึงไว้ ตั้งคลุมเนื้อหัวใจไว้ พึงกำหนดในไตนั้นว่า ในผลมะม่วง ๒ ผลที่ขั้วติดกัน ขั้วหารู้ไม่ว่าเรายึดมะม่วง ๒ ผลไว้ แม้มะม่วง ๒ ผลก็หารู้ไม่ว่าขั้วยึดเราไว้ ฉันใด เส้นเอ็นใหญ่ก็ฉันนั้น ก็หารู้ไม่ว่าเรายึดไตไว้ แม้ไตก็หารู้ไม่ว่า เส้นเอ็นใหญ่ยึดเราไว้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไตดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๑. หัวใจอยู่อาศัยท่ามกลางหลืบแห่งกระดูกอกในภายในสรีระ พึงกำหนดในหัวใจนั้นว่า ในชิ้นเนื้อตั้งอาศัยอยู่ที่ภายในหลืบท้องกะทะเก่า หลืบท้องกะทะเก่าหารู้ไม่ว่าชิ้นเนื้อต้องอาศัยเราอยู่ แม้ชิ้นเนื้อก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอาศัยอยู่ในหลืบท้องกระทะเก่าอยู่ ฉันใด ภายในหลืบกระดูกอกก็หารู้ไม่ว่า หัวใจตั้งอาศัยเราอยู่ แม้หัวใจก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยภายในกระดูกอกอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าหัวใจ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๒. ตับตั้งอาศัยข้างขวาในระหว่างนมทั้ง ๒ ในภายในสรีระ พึงกำหนดในตับนั้นว่า ในก้อนเนื้อทั้งคู่ที่ติดอยู่ที่ข้างกระเบื้องหม้อ ข้างกระเบื้องหม้อหารู้ไม่ว่า ก้อนเนื้อทั้งคู่ติดแล้วในเรา แม้ก้อนเนื้อทั้งคู่ก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่ที่ข้างกระเบื้องหม้อฉันใด ข้างขวาระหว่างนมก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ตับตั้งอาศัยเราอยู่ แม้ตับก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยข้างขวาในระหว่างนมอยู่ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าตับ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๓. บรรดาพังผืดทั้งหลาย พังผืดที่ปกปิดตั้งหุ้มหัวใจและไตอยู่ พังผืดที่ไม่ปกปิดรวบรัดเนื้อภายใต้หนัง ในสรีระทั้งสิ้น พึงกำหนดในพังผืดนั้นว่า ในเนื้อที่บุคคลเอาผ้าเก่าห่อไว้ เนื้อหารู้ไม่ว่า เราถูกผ้าเก่าพันไว้ แม้ผ้าเก่าก็หารู้ไม่ว่า เราพันเนื้อไว้ฉันใด ไตและหัวใจและเนื้อในสรีระทั้งสิ้น ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า พังผืดปกปิดเราไว้ แม้พังผืดก็หารู้ไม่ว่า เราปกปิดไตหัวใจและเนื้อในสรีระทั้งสิ้นไว้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าพังผืด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๔. ม้ามตั้งอาศัยข้างที่สุดแห่งกระพุ้ง ท้องในข้างซ้ายแห่งหัวใจ พึงกำหนดในม้ามนั้นว่า ในก้อนโคมัยตั้งอาศัยที่สุดฉาง ข้างที่สุดฉางก็หารู้ไม่ว่า ก้อนโคมัยตั้งอาศัยเราอยู่ ก้อนโคมัยก็หารู้ไม่ว่า เราแนบติดข้างที่สุดฉางอยู่ฉันใด ข้างที่สุดกระพุ้งท้องก็หารู้ไม่ว่า ม้ามแนบเราอยู่ แม้ม้ามก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งแนบข้างที่สุดแห่งกระพุ้งท้องอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและ พิจารณากันและกัน ชื่อว่าม้าม ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๕. ปอดตั้งห้อยปกอยู่เบื้องบนหัวใจและ ตับ ในระหว่างนมทั้ง ๒ ในภายในสรีระ พึงกำหนดในปอดนั้นว่า ในรังนกที่ห้อยอยู่ในฉางเก่า ภายในฉางเก่าหารู้ไม่ว่า รังนกห้อยอยู่ในเรา แม้รังนกก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ภายในฉางเก่า ฉันใด ภายในสรีระก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าปอดห้อยอยู่ในเรา แม้ปอดก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ภายในสรีระเห็นปานนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจ และพิจารณากันและกัน ชื่อว่าปอด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนเฉพาะตัวในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๖. ไส้ใหญ่ตั้งอยู่ภายในสรีระ มีหลุมคอและเวจมรรคเป็นที่สุด พึงกำหนด ในไส้ใหญ่นั้นว่า ฉันเดียวกับซากงูที่เขาตัดศีรษะวางขดไว้ในรางเลือด รางเลือดหารู้ไม่ว่า ซากงูตั้งอยู่ในเรา แม้ซากงูก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในรางเลือดฉันใด ภายในสรีระก็หารู้ไม่ว่า ไส้ใหญ่ตั้งอยู่ในเรา แม้ไส้ใหญ่ก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ภายในสรีระฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไส้ใหญ่ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๗. ไส้น้อยพันขนดไส้ใหญ่ ๒๑ ขนด ตั้งอยู่ในระหว่าง ๆ ไส้ใหญ่นั้น ๆ พึงกำหนดในไส้น้อยนั้นว่า ในเชือกเล็กที่ร้อยขนดสำหรับเช็ดเท้า ขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าหารู้ไม่ว่า เชือกน้อยตั้งร้อยรัดเราไว้ แม้เชือกน้อยก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งร้อยยึดขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าไว้ฉันใด ไส้ใหญ่ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าไส้น้อยร้อยรัดเราไว้ แม้ไส้น้อยก็หารู้ไม่ว่า เราร้อยรัดไส้ใหญ่ไว้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไส้น้อย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระ้ด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๘. อาหารใหม่ ได้แก่ของรับประทานของเคี้ยวของลิ้ม ซึ่งอยู่ในท้อง พึงกำหนดในอาหารใหม่นั้นว่า ในรากสุนัข อันตั้งอยู่ในรางสุนัข รางสุนัขหารู้ไม่ว่า รากสุนัขอยู่ในเรา แม้รากสุนัขก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในรางสุนัขฉันใด ท้องก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า อาหารใหม่อยู่ในเรา แม้อาหารใหม่ก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในท้อง ธรรมเหล่านี้ เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าอาหารใหม่ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๑๙. อาหารเก่าตั้งอยู่ในที่สุดไส้ใหญ่ อันเป็นเช่นเดียวกับปล้องไม่ไผ่ยาว ประมาณ ๘ นิ้ว กล่าวคือกระเพาะอาหารเก่า พึงกำหนดในอาหารเก่านั้นว่า ในดินเหลืองละเอียด ซึ่งบุคคลขยำใส่ในปล้องไม้ไผ่ ปล้องไม่ไผ่ก็หารู้ไม่ว่า ดินเหลืองอยู่ในเรา แม้ดินเหลืองก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไม้ไผ่ฉันใด กระเพาะอาหารเก่าก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าอุจจาระอยู่ในเรา แม้อุจจาระก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระเพาะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าอุจจาระ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๒๐. มันสมองอยู่ในภายในกระโหลกศีรษะ พึงกำหนดในมันสมองนั้นว่าในก้อนแป้งที่เขาใส่ในกะโหลกน้ำเต้าเก่า กะโหลกน้ำเต้าเก่าหารู้ไม่ว่าก้อนแป้ง อยู่ในเรา แม้ก้อนแป้งก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกะโหลกน้ำเต้าฉันใด ภายในกะโหลกศีรษะก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่ามันสมองอยู่ในเรา แม้มันสมอง ก็หารู้ไม่ว่าอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ามันสมอง ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ

๒. อาโปธาตุ

๒๑. บรรดาดีทั้งหลาย ดีไม่เป็นฝักซาบซ่านตั้งอยู่ทั่วสรีระ ซึ่งเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์ ดีที่เป็นฝักอยู่ในฝักดี พึงกำหนดในดีนั้นว่า น้ำมันที่ซึมซาบขนม ขนมหารู้ไม่ว่า น้ำมันซึมซาบเราอยู่แล้ว แม้น้ำมันก็หารู้ไม่ว่า เราซึมซาบขนมอยู่แล้ว ฉันใด สรีระก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าดีไม่เป็นฝักซึมซาบเราอยู่ แม้ดีที่ไม่เป็นฝักก็หารู้ไม่ว่าเราซึม ซาบสรีระอยู่ ในรังบวบขมซึ่งเต็มด้วยน้ำฝน รังบวบขมหารู้ไม่ว่า น้ำฝนอยู่ในเรา แม้น้ำฝนก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในรังบวบขม ฉันใด ฝักดีก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าดีที่เป็นฝักอยู่ในเรา แม้ดีที่เป็นฝักก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในฝักดี ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าดี ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๒. เสลดประมาณเต็มบาตรหนึ่ง ตั้งอยู่ในกระพุ้งท้อง พึงกำหนดในเสลดนั้นว่า ในบ่อน้ำครำซึ่งเกิดเป็นฟองเป็นฝาฟอดในเบื้องบน บ่อน้ำครำหารู้ไม่ว่าฟองฝาตั้งอยู่ในเรา แม้ฟองฝาก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในบ่อน้ำครำ ฉันใด กระพุ้งท้องก็หารู้ไม่ว่าเสลดอยู่ในเรา แม้เสลดหารู้ไม่ว่า เราอยู่ในพื้นท้อง ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเสลด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๓. หนองไม่มีโอกาสที่อยู่เป็นนิจ โลหิตตั้งห้อขึ้นในส่วนแห่งสรีระใด ๆ อันตอหรือหนามตำ หรือเปลวไฟเป็นต้นลวกแล้ว หรือฝีและต่อมเป็นต้น ย่อมเกิดในส่วนแห่งสรีระใด หนองก็ตั้งขึ้นในส่วนแห่งสรีระนั้น ๆ พึงกำหนดในหนองนั้นว่า ในต้นไม้มียางไหลออกแล้ว ด้วยสามารถถูกฟันด้วยขวานเป็นต้น ส่วนที่ถูกฟันเป็นต้นแห่งต้นไม้ หารู้ไม่ว่ายางตั้งอยู่ในเรา แม้ยางก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ใส่วนที่ถูกฟันเป็นต้นแห่งต้นไม้ฉันใด ส่วนแห่งร่างกายที่ถูกตอและหนามเป็นต้นทิ่มตำก็หารู้ไม่ว่าหนองตั้งอยู่ในเรา แม้หนองก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในส่วนเหล่านั้นฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าหนองดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๔. บรรดาเลือดทั้งหลาย เลือดที่ฉีดซ่านไปตั้งอยู่ทั่วสรีระทั้งสิ้นดุจดี เลือดที่ขังเต็มพื้นล่างแห่งฐานเป็นต้น มีประมาณเต็มบาตรหนึ่ง ยังม้าม หัวใจ ตับ ปอด ให้ชุ่มอยู่ ในเลือด ๒ ชนิดนั้น เลือดที่ฉีด มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับดีไม่มีฝักนั่นเอง ฝ่ายเลือดอีกชนิดหนึ่งพึงกำหนดว่า ในน้ำอันบุคคลรดแล้วที่กระเบื้องผุเก่ายังก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นในภายใต้ให้ชุ่มอยู่ ก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นหารู้ไม่ว่า เราอันน้ำให้เปียกชุ่มอยู่ แม้น้ำก็หารู้ไม่ว่า เรายังก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นให้ชุ่มอยู่ ฉันใด ที่เป็นส่วนภายใต้แห่งตับหรือม้ามเป็นต้นหารู้ไม่ว่าเลือดอยู่ในเราหรือยังเราให้ชุ่มอยู่ แม้เลือดก็หารู้ไม่ว่า เรายังส่วนใต้แห่งตับให้เต็มแล้ว ยังม้ามเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเลือด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๕. เหงื่อตั้งอยู่เต็มช่องขุมผมและขน และหลั่งออกในเวลาร้อนอบอ้าวเพราะไฟ เป็นต้น พึงกำหนดในเหงื่อนั้นว่า ในกำแห่งก้านบัว ภิส มุฬาล กุมุท ซึ่งพอยกขึ้นแล้วจากน้ำ ช่องในกำบัวมีนามว่า ภิส เป็นต้นหารู้ไม่ว่าน้ำหลั่งออกจากเรา แม้เหงื่อก็หารู้ไม่ว่า เราหลั่งออกจากช่องแห่งขุมผมและขนฉันนั้น ธรรมเหล่านี้ เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและ กัน ชื่อว่าเหงื่อ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๖. มันข้นได้แก่มันที่แข้น สำหรับคนอ้วนแผ่ไปตั้งอยู่ทั่วสรีระ สำหรับคนผอมตั้งอาศัยเนื้อแข้งเป็นต้น พึงกำหนดในมันข้นนั้นว่า ในกองเนื้อบุคคลปิดไว้ด้วยผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้น กองเนื้อหารู้ไม่ว่า ผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้นอาศัยปิดเราไว้ แม้ผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้นก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยกองเนื้ออยู่ฉันใด เนื้อในสรีระทั้งสิ้นหรือที่แข้งเป็นต้นก็หารู้ไม่ว่ามันข้นอาศัยเราตั้งอยู่ ทั้งมันข้นก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยเนื้อในสรีระทั้งสิ้น หรือที่แข้งเป็นต้นตั้งอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ามันข้นดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นยางแข้น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๗. น้ำตาในเวลาที่เกิด ย่อมขังเต็มกระบอกตาหรือหลั่งไหลออกมา พึงกำหนดในน้ำตานั้นว่า ฉันเดียวกับเต้าเมล็ดตาลอ่อนซึ่งเต็มด้วยน้ำ เต้าเมล็ดตาลอ่อนหารู้ไม่ว่า น้ำอยู่ในเรา แม้น้ำในเต้าเมล็ดตาลอ่อนก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในเต้าเมล็ดตาลอ่อนฉันใด กระบอกตาก็หารู้ไม่ว่า น้ำตาอยู่ในเรา แม้น้ำตาก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระบอกตาฉันนั้นธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจาร ณากันและกัน ชื่อว่าน้ำตา ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๘. มันเหลวได้แก่มันใส ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝ่ามือ หลังมือ หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก และจงอยบ่า ในเวลาที่ร้อนอบอ้าวเพราะไฟเป็นต้น พึงกำหนดในมันเหลวนั้นว่า ในน้ำข้าวซึ่งใส่น้ำมันลงไป น้ำข้าวหารู้สึกไม่ว่า น้ำมันท่วมเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็หารู้สึกไม่ว่า เราท่วมน้ำข้าวตั้งอยู่ฉันใด ประเทศมีฝ่ามือเป็นต้น หารู้ไม่ว่า มันเหลวท่วมทับเราตั้งอยู่ แม้มันเหลวก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมทับประเทศมีฝ่ามือเป็นต้นตั้งอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและ พิจารณากันและกัน ชื่อว่ามันเหลว ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๙. น้ำลาย เมื่อปัจจัยซึ่งก่อให้เกิดน้ำลายเห็นปานนั้นมีอยู่ หลั่งลงมาจากกระพุ้งแก้มทั้งสอง แล้วตั้งอยู่ที่พื้นลิ้น พึงกำหนดในน้ำลายนั้นว่า ในหลุมใกล้ฝั่งแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำไหลมามิได้ขาด พื้นหลุมหารู้ไม่ว่าน้ำตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนพื้นหลุม ฉันใด พื้นลิ้นก็หารู้ไม่ว่า น้ำลายลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำลายก็หารู้ไม่ว่า เราหลั่งลงมาจากกระพุ้งแก้มทั้งสองตั้งอยู่ในที่พื้นลิ้นฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าน้ำลาย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๓๐. น้ำมูกในเวลาที่เกิด ย่อมยังจมูกให้เต็มอยู่หรือหลั่งออก พึงกำหนดในน้ำมูกนั้นว่า ช้อนเต็มด้วยนมส้มเน่า ช้อนหารู้ไม่ว่านมส้มเน่าตั้งอยู่ใน เรา แม้นมส้มเน่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในช้อนฉันใด ช่องจมูกก็หารู้ไม่ว่า น้ำมูกตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำมูกก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในช่องจมูกนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าน้ำมูก ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น จัดเป็นอาโปธาตุ

๓๑. ไขข้อ ยังกิจคือการหยอดที่ต่อแห่งกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จ ตั้งอยู่ในที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง พึงกำหนดในไขข้อนั้นว่า ในเพลาอันนายช่างหยอดแล้วด้วยน้ำมัน เพลาหารู้ไม่ว่า น้ำมันหยอดทาเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็หารู้ไม่ว่า เราหยอดทาเพลาตั้งอยู่ ฉันใด ที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง ก็หารู้ไม่ว่าไขข้อหยอดทาเราตั้งอยู่ แม้ไขข้อก็หารู้ไม่ว่า เราหยอดทาที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง ตั้งอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใสใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไขข้อ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๓๒. มูตรตั้งอยู่ในภายในกระเพาะเบา พึงกำหนดในมูตรนั้นว่า ในหม้อเนื้อห่างที่บุคคลคว่ำปากไว้ในน้ำครำ หม้อเนื้อก็หารู้ไม่ว่ารสแห่งนำครำตั้งอยู่ในเรา แม้รสแห่งน้ำครำก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในหม้อเนื้อห่าง ฉันใด กระเพาะเบาหารู้ไม่ว่า มูตรตั้งอยู่ในเรา แม้มูตรก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในกระเพาะเบาฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ามูตร ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๓. เตโชธาตุ

พระโยคีครั้นยังมนสิการให้เป็นไปในผมเป็นต้น อย่างนี้แล้วพึงยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งเตโชธาตุทั้งหลายอย่างนี้ว่า สิ่งใดเป็นเหตุให้กายอบอุ่น สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อนผะผ่าว จัดเป็นเตโชธาตุ สิ่งใดเป็นเหตุให้คร่ำคร่า ฯลฯ เป็นเหตุให้ไหม้ ฯลฯ เป็นเหตุให้ของกิน – ของดื่ม – ของเคี้ยว – ของลิ้มย่อยโดยชอบ สิ่งนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อน จัดเป็นเตโชธาตุ

๔. วาโยธาตุ

แต่นั้นพึงกำหนดลมที่พัดขึ้นเบื้องบนด้วยสามารถลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำด้วยสามารถลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดอยู่ในท้องด้วยสามารถลมพัดอยู่ในท้อง ลมพัดอยู่ในไส้ ด้วยสามารถลมพัดอยู่ในไส้ ลมพัดตามร่างกายด้วยสามารถลมพัดตามร่างกาย ลมหายใจออกเข้าด้วยสามารถลมหายใจออกเข้า แล้วจึงยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งวาโยธาตุ อย่างนี้ว่า ชื่อว่าลมพัดขึ้นเบื้องบน คือส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการให้เคลื่อนไหว จัดเป็นวาโยธาตุ ชื่อว่าลมพัดลงเบื้องต่ำ ฯลฯ ชื่อว่าลมพัดอยู่ในท้อง ฯลฯ ชื่อว่าลมพัดอยู่ตามลำไส้ ฯลฯ ชื่อว่าลมพัดอยู่ตามร่างกาย ฯลฯ ชื่อว่าลมหายใจเข้าออก คือส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการเคลื่อนไหว จัดเป็นวาโยธาตุ

เมื่อพระโยคีนั้นมีมนสิการเป็นไปอย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏ เมื่อเธอนึกถึงใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นบ่อย ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิด ตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล

ก็เมื่อพระโยคีได้เจริญอย่างนี้ กรรมฐานไม่สำเร็จ พระโยคีนั้นพึงเจริญโดยย่อพร้อมทั้ง ลักษณะ เจริญอย่างไร ? คือต้องกำหนดว่า สิ่งที่มีลักษณะกระด้างในส่วน ๒๐ จัดเป็นปฐวีธาตุ สิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบในส่วน ๒๐ เหล่านั้น จัดเป็นอาโปธาตุ สิ่งที่มีลักษณะให้อบอุ่น จัดเป็นเตโชธาตุ สิ่งที่มีลักษณะพัดไปมา จัดเป็นวาโยธาตุ

พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบ ในส่วน ๑๒ ว่าเป็นอาโปธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นในส่วน ๑๒ นั้นว่าเป็นเตโชธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะพัดไปมาในส่วน ๑๒ เหล่านั้น ว่าเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะกระด้างในส่วน ๑๒ เหล่านั้น ว่าเป็นปฐวีธาตุ

พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นในส่วนทั้ง ๔ ว่าเป็นเตโชธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะพัดไปมาอันเตโชนั้นไม่แยกแล้ว ว่าเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะกระด้างว่าเป็นปฐวีธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบ ว่าเป็นอาโปธาตุ

พึงกำหนดสิ่งซึ่งมีลักษณะพัดไปมา ในส่วนทั้ง ๖ ว่าเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดสิ่งซึ่งมีลักษณะกระด้างในส่วนเหล่านั้นว่าเป็นปฐวีธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะซึมซาบว่าเป็นอาโปธาตุ พึงกำหนดสิ่งซึ่งมีลักษณะอบอุ่น ว่าเป็นเตโชธาตุ

มีต่อ ตอน ๒...

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตำรับยาลูกทุ่ง




ยาที่ใช้บำบัดรักษาโรค โดยไม่ต้องรับประทานแต่พอสังเขป ยาขนานต่างๆ นี้ ได้ผ่านการทดสอบในการรักษาและนับว่าได้ผลดี ตัวยาเป็นสมุนไพรหรือของประเภทพื้นบ้านชนบท มิใช่ยาประเภทในกรุง (บางกอก) จะเรียกตำรับยาลูกทุ่งก็ได้

ประเภทที่ ๑ เป็นยาใช้พอก
โรคที่เหมาะกับยาพอกได้แก่ ฝีหัวเล็ก ฝีหัวใหญ่ ฝีเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งมักจะเป็นโรคที่เกิดแก่ประชาชนในภูมิภาคแถบร้อน ฝีบางชนิด ก็มีพิษร้ายแรง คนเจ็บจะมีอาการตัวร้อน เป็นไข้เนื่องจากพิษอักเสบของฝี ฝีบางชนิดร้ายแรงมากได้แก่ฝีที่ขึ้นตรงจุดที่รวมของเส้นประสาท หรือ ณ เส้นโลหิตใหญ่ เช่น ฝีที่ขึ้นตรงแสกหน้า ริมฝีปาก ตีนผมตรงก้านคอด้านหลัง ฝีมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ผู้ไม่รู้ไปแกะไปบ่ง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แพทย์โบราณเรียกฝีชนิดนี้ว่า “สกัดออก”
วิธีการรักษา ฝีที่เป็นพิษ ใช้ถั่วเขียวดิบแช่น้ำให้อ่อนตัว แล้วมาบดผสมกีบเปลวหมู เอามาพอกแล้วเอาออกพอกเช่นนี้ไม่เกิน ๓ ครั้ง ก็จะหาย
วิธีการรักษา ฝีทั่วไป ใช้รากเจ็ดมูลเพลิงแดงสดๆ หนึ่งกำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียค ถ้ารากเจ็ดมูลเพลิงแห้งให้แช่น้ำสะอาดเสียก่อน ตำให้ละเอียด เอามาผสมปูนกินกับหมาก แต่ไม่ใช่ปูนผสม แล้วหยดน้ำผึ้งลงไป เอามาพอกฝี แล้วเปลี่ยนยาใหม่ให้หยดน้ำผึ้งทุกครั้ง
โรคบวมตามเส้น เคล็ด ขัดยอกจากการหกล้ม
วิธีรักษา ใช้ขิงสดตำให้ละเอียด ถ้าเป็นขิงแห้ง ให้แช่น้ำล้างเสียก่อนตำ แล้วมาผสมน้ำตาลทรายขาว พอกตรงที่บวม เคล็ด ขัด ยอก อาการปวดจะหาย
โรคปวดบวมเกิดจากถูกของมีคมแทง เช่นถูกหนามตำ ลวดแทง วิธีรักษา ใช้ใบก้างปลา เนื้อปลาร้า (ปลากระดี่) ยาดำ มาตำผสมกันแล้วจะดูดของมีคมออก

ประเกทที่ ๒ เป็นยาใช้ทาหรือสูญ (ทาด้วยใช้เวทมนต์คาถาประกอบ)
โรคฝีมีวิธีการรักษาอีกชนิดหนึ่ง แพทย์แผนโบราณจะใช้ปูนกินกับหมากแต่ไม่ผสมสีเสียดละลายน้ำ แล้วมาทาบริเวณหัวฝี เขียนตัวอักขระ ๙ ญ แล้วเสกด้วยคาถา โอม สะละโย สวาทะ สวาหาย วะ นี่เป็นครั้งที่ ๑ ส่วนครั้งที่ ๒ เสกปูน ทาที่เสาเรือนด้านทิศตะวันตก
ในเวลาเย็น ใช้ตะปูตอกตรงจุดเริ่มอักขระ ๙ แล้วเสกคาถาประกอบ ฝีจะยุบโดยหัวฝีไม่แตก
โรคผิวหนัง เรียกว่าโรคเมืองร้อน ได้แก่ งูสวัด เริม พญานาคราช งูสวัดและพญานาคราชมักจะขึ้นกลางตัว เม็ดจะผุดขึ้นเรื่อยๆ จนรอบตัว และเมื่อรอบตัวเมื่อใด เป็นอันตราย

วิธีรักษา วิธีที่ ๑ เอาต้นกระดาษแดงมาฝาน เอาน้ำยางจากต้น มาแตะที่ปูนขาว แล้วทาตรงเม็ดงูสวัด ฯลฯ เม็ดจะไม่ลุกลามต่อไป และจะยุบหาย
วิธีที่ ๒ เอาแป้งข้าวหมากมาป่น ผสมกับเหล้าโรงทา
โรคเลือดออกตามไรฟัน
วิธีรักษา ใช้หนังวัวเผาให้ดำ ผ้าสักหลาดเก่าๆ จะเป็นหมวก เสื้อก็ได้ รองให้เป็นเถ้าในบวม ใบบอน มาย่างให้กรอบ เอาตัวยาทั้ง ๔ มาบดให้เข้ากัน แล้วใช้สำลีชุบน้ำ แตะยาแล้วทาตรงไรฟัน เลือดจะหยุด เมื่อเลือดหยุดแล้วเลือดจะคั่งที่เหงือก ให้เอาถั่วเขียวต้ม ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วเอาน้ำถั่วเขียวมาอบ บ้วนทิ้งหลายๆ ครั้ง เหงือกจะหายบวม

ประเภทที่ ๓ เป็นยาใช้รม
โรคบาดทะยักทุกชนิด
วิธีรักษา ให้เอามหาหิงค์หนัก ๕ บาท ใส่หม้อ ใส่นํ้าต้มจนเดือดแล้วใช้กวนมหาหิงค์ รมที่ตรงแผล แผลจะเปิด มีนํ้าหนองไหลออกมา อาการปวดจะหาย
โรคเลือดกำเดาออกไม่หยุด
วิธีรักษาวิธีที่ ๑ ใช้สำลีจากเม็ดฝ้ายที่พันพลู มามวนใบตองแห้งแบบจีบพลู แล้วจุดสำลี อบสำลีข้างที่มีไฟ เอามวนใบตองอีกข้างหนึ่งใส่ในช่องจมูกแล้วค่อยๆ เป่าควันเข้าช่องจมูก ทำเช่นนี้ทั้งสองข้างถ้าเลือดกำเดาออกทั้งสองข้าง เลือดกำเดาจะหยุด
วิธีรักษาวิธีที่ ๒ ใช้ใบพลูกินกับหมาก ตะคั้นใส่น้ำเล็กน้อยหยอดในช่องจมูก
โรคลมเกิดกับสตรีภายหลังการคลอด โบราณเรียกว่า เลือดกะทำ จะเป็นลมจับหัวใจไม่รู้สึกตัว
ศรีษะตก ปากอ้า
วิธีการรักษา ห้ามจับคนไข้นอน ให้นั่ง เอาเหล็กที่เป็นสนิม จะเป็นมีด ขวาน อะไรก็ได้ใส่เตาเผาไฟจนลุกแดง แล้วดึงออกมา วางไว้ตรงหน้าคนไข้ เอาน้ำส้มสายชู พรมบนเหล็กแดงๆ เกิดไอระเหยจากเหล็ก ให้ควันเข้าทางปาก จมูกคนไข้ ไม่นานจะฟื้น น้ำมูก น้ำลาย จะไหล เพื่อมิให้ควันกระจายไปที่อื่นๆ ควรใช้ผ้าคลุมศรีษะคนไข้ เวลาพรมน้ำส้มสายชู

ประเภทที่ ๔ เป็นยาใช้แช่
โรคประเภทเหน็บชา ตะคริว เหงื่อออกตามง่ามมือง่ามเท้า
วิธีการรักษา ให้เอาไพลสด มะพร้าวขูด การะบูน ต้นผักเสี้ยนผีทั้งต้น เกลือ ใบขี้เหล็ก ปูนขาวสิ่งละเท่าๆ กัน เอามาตำให้ละเอียด ใส่น้ำแล้วต้มให้เดือด ยกลงมาพออุ่นๆ แช่อวัยะส่วนที่เป็นเหน็บชา ตะคริว ฯลฯ

ประเภทที่ ๕ เป็นยาสุม
โรคเลือดออกทางจมูกไม่หยุด เนื่องจากเส้นโลหิตฝอยในสมองแตก
วิธีการรักษา ใช้เหง้าต้นกล้วยน้ำหว้าที่ทิ้งไว้จนเน่า
ใบผักบุ้ง ใบตำลึง ใบบรเพ็ด ว่านหางตะเข้ ไส้ฟัก (แดง)
ส่วนละเท่าๆ กัน ตำให้ละเอียด ผสมดินประสิว ใช้สุมศีรษะ ก่อนสุมให้เอาน้ำซาวข้าวโกรกผมให้เปียก แล้วเอาผ้าโพกศีรษะไว้จึงเอายาสุมศีรษะโลหิตจะหยุด

ประเภทที่ ๖ เป็นยาเป่า เพื่อให้ควันรักษาโรค
โรคมะเร็งไร หรือโรคคันตามง่ามมือง่ามเท้า
วิธีการรักษา เอาต้นสะแกแสง ต้นแสลงใจ มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ขมิ้นชันสดตำ ตากแดดให้แห้ง ยาฉุน ตัวยาทั้ง ๔ อย่าง ส่วนละเท่าๆ กัน เคล้าให้เข้ากัน เอากระบอกไม้ไผ่ มาเจาะรูตรงข้อ ไม้ไผ่ เอายาใส่กระบอก แล้วเอาถ่านสุกใส่ลงบนยา แล้วเอายาใส่ทับลงบนถ่านอีกครั้งหนึ่ง แล้วเป่าที่ปากกระบอก พ่นควันที่มะเร็งหรือที่ง่ามมือง่ามเท้า

ประเภทที่ ๗ เป็นยาปิดแผล
โรคหน่อชนิดต่างๆ เกิดที่ฝ่าเท้า ทำให้เจ็บปวดมาก โรคนี้มักเกิดกับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วิธีการรักษา เอากระสอบข้าวที่ปูไว้หน้าบ้านสำหรับเช็ดเท้ากระสอบนี้ทิ้งไว้นานๆ ยิ่งดีเอากระสอบวางลงบนแผ่นสังกะสีเผาจนเป็นเถ้า ให้ได้หนักประมาณ ๑๐ บาท เอากำมะถันเหลืองตำป่นหนัก ๕ บาท มาเคล้ากับขี้เถ้ากระสอบ ใส่ในภาชนะเคลือบ แล้วเอาน้ำมันเครื่องยนก์เก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้วมาผสม ใช้สำลีชุบยาปิดที่แผล จะดูดเอาหัวหน่อออก จะหายปวด

ประเภทที่ ๘ ใช้สารปรอทรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด โดยวิธีไสยศาสตร์
วิธีการรักษา สารปรอทรับประทานไม่ได้ แต่อาจนำมารักษาโรคได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งหมอรักษาจะต้องใช้เวทมนต์ช่วยให้คนไข้อธิษฐานในใจขอให้เจ้ากรรมนายเวร อโหสิ-กรรมให้ในอดีต แล้วช่วยนำสารปรอทเข้าไปที่แผลหรือก้อนเนื้อร้าย หมอจะเอาปรอทมาเสก แล้วเทลงบนฝ่ามือคนไข้ ปรอทจะค่อยๆ สลายตัวเข้าไปในฝ่ามือคนไข้จนหมด คนไข้จะรู้สึกมีอาการตอดตุบๆ ที่ตรงแผลหรือเนื้อร้าย จะต้องรักษาวิธีนี้จนกว่าจะหายคือแผลจะแห้งหรือก้อนเนื้อร้ายจะยุบหาย

โรคมะเร็งจะหายหรือไม่ อยู่ที่คนไข้มีจิตศรัทธาและเวทมนต์อันขลังของหมอ ประกอบด้วยคุณธรรมของหมอ ผู้มุ่งจะช่วยคนไข้ให้หายจากโรคภัย
ที่มา: คุณหมอเจริญ พงษ์มาลา
โครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทย


ไหล่ติด เจ็บไหล่


เจ็บไหล่..ไหล่ติด..ข้อไหล่ติดแข็ง


• อาการข้อไหล่ติด หรือข้อไหล่ติดแข็ง มักพบหลังจากมีการเจ็บของข้อไหล่ ซึ่งอาจเจ็บปวดอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน เมื่ออาการเจ็บทุเลาลง จะตามมาด้วยการยกแขนได้ไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งจะรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่นหยิบของจากหิ้งสูง รูดซิปเสื้อหรือกระโปรงซึ่งอยู่ด้านหลัง หรือดึงกระเป๋าใส่เงินจากกระเป๋าหลังของกางเกง แต่ถ้าท่านได้รู้จักปฏิบัติตนตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บหัวไหล่ในช่วงแรก โดยไม่ปล่อยปละละเลยจะทำให้อาการไม่ลุกลามจนเป็นมาก และต้องเสียเงินเสียเวลาเพื่อรักษาอาการข้อไหล่ติดแข็ง

• ขั้นตอนของการเกิดข้อไหล่ติดแข็ง
>> ระยะที่หนึ่ง : ระยะเจ็บไหล่มีอาการดังนี้
๑. เจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ แขน
๒. เจ็บทั่วไปบริเวณหัวไหล่ แต่ ไม่มีจุดกดเจ็บที่แน่นอน
๓. มีกล้ามเนื้อเกร็งตัว (muscle spasm)
๔. เจ็บมากขึ้นในเวลากลางคืน หรือเมื่ออยู่นิ่งๆ

>> ระยะที่สอง : ระยะข้อไหล่ติด มีอาการดังนี้
๑. อาการเจ็บไหล่ เจ็บแขนลดลง
๒. เพิ่มอาการติดขัด และจำกัด การเคลื่อนไหวของหัวไหล่
๓. อาการเจ็บตอนกลางคืนและ ตอนอยู่นิ่งๆ ลดลง
๔. รู้สึกเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหว ช่วงสุดท้ายของแขนข้างนั้น

>> ระยะที่สาม : ระยะฟื้นตัวมีอาการดังนี้
๑. อาการเจ็บลดลงเรื่อยๆ
๒. แขนข้างที่เจ็บจะเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ
๓. การฟื้นตัวจะหายเองได้แต่มักจะเคลื่อนไหวแขนได้ไม่สุดเหมือนที่เคยทำได้

• สำหรับวิธีรักษาภาวะไหล่ติดในปัจจุบัน ข้อมูลทางวิชาการระบุไว้ว่า มีวิธีการรักษาภาวะไหล่ติดที่นิยมใช้กันอยู่ 4 วิธี ได้แก่
๑. การทำกายภาพบำบัด นักกายภาพจะพยายามยืดไหล่และหมุนขยับส่วนที่ติด ซึ่งกระบวนการบำบัดจะเจ็บมาก 90% ของผู้ป่วยจะเลิกรักษาเนื่องจากไม่สามารถทนต่ออาการเจ็บระหว่างบำบัด
๒. การบริหารบริเวณหัวไหล่ เช่น ท่าไต่กำแพง มักไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากเมื่อผู้ป่วยทำด้วยตัวเองจนถึงตำแหน่งที่หัวไหล่ติด ผู้ป่วยจะไม่ทำต่อเนื่องจากเจ็บมาก
๓. การฉีดยาสเตียรอยด์ที่ข้อไหล่และการรับประทานยาเป็นการบรรเทาปวด และ
๔. การผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีค่ารักษาค่อนข้างสูงมาก (ราคาหลักแสนบาท)

• สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดข้อไหล่ติดยังไม่ทราบแน่ชัด การเกิดข้อไหล่ติดมักจะเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ หลายโรค ที่พบบ่อยคือ ในคนที่มีอาการอัมพาตครึ่งซีก อาการเจ็บข้อไหล่ (ขัดยอกหัวไหล่) ถ้ารีบแก้ไขตั้งแต่แรกเป็นจะไม่ลุกลาม แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว ในทิศทางที่เจ็บ อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไหล่ติด ไปจนถึงข้อไหล่ติดแข็งได้ในที่สุด

• การฟื้นตัวจากอาการไหล่ติด ถ้าปฏิบัติตนเองจะต้องทราบและเข้าใจหลักการ คือพยายามยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่ และเพิ่มการเคลื่อนไหว ของข้อไหล่ ซึ่งท่าบริหารเหล่านี้จะสามารถยืดได้ด้วยตัวท่านเอง โดยใช้สภาพแวดล้อม เช่น บันได ฝาห้อง คานโหน ช่วยในการทำกายบริหาร จะต้องยืดทีละน้อยและมีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อย และควรทำทุกวันในช่วงแรก ถ้าท่านกลัวเจ็บและไม่เข้าใจหลักการในท่าบริหารหัวไหล่ จะใช้เวลานานหลายเดือนที่จะทุเลาจากอาการไหล่ติด แต่ถ้าทำแล้วเจ็บมากติดต่อกันหลายวัน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียด
ข้อมูล หมอชนาณัติ แสงอรุณ