วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทันตะ(ฟัน)

กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาเบื้องต้น กับการเรียนแพทย์แผนไทย(ทันตะ)




๔. ทันตะ คือฟันอย่างหนึ่ง เขี้ยวอย่างหนึ่ง กรามอย่างหนึ่ง รวมเรียกว่าฟัน เป็นฟันน้ำนม 20 ซี่ พอหมดฟันน้ำนมก็เป็นฟันแท้ 32 ซี่ มีหน้าที่ ใช้บดอาหารใหม่หรืออุทริยังให้เข้าไปสู่อันตัง(ระบบทางเดินอาหาร) จัดอยู่ในระบบการย่อยอาหาร
หากฟันแข็งแรงกระดูกแข็งแรง หากฟันอ่อนบางกระดูกอ่อนบาง ฟันดีท้องดี ฟันเสียท้องผูก เหงือกแดงฟันสวยเลือดนั้นดีนัก เหงือกซีดฟันซีดเลือดน้อยไม่ดียิ่ง ฟันดี อันตังทำงานดี กายแข็งแรง กรีสัง(อาหารเก่า)เหลือน้อย ฟันไม่ดี 
อันตัง(ลำไส้ใหญ่)สกปรกตะกรัน(สิ่งสกปรก)มาก กายป่วยด้วยกรีสังมากนัก
ฟันนั้นจัดเป็นปราการด่านแรกที่ตั้งมั่นอยู่ในช่องปากมีน้ำลายเป็นสิ่งที่ให้ความชุ่มชื้นแพทย์ไทยว่าไว้ฟันแลช่องปากครบองค์ตรีธาตุ ๓ ประการ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ปิตตะ(ไฟ)คือความร้อนในช่องปาก วาตะ(ลม)เกิดแต่ไฟวิ่งวนในช่องปากส่วนที่เป็นช่องโพรงว่างนั้น เสมหะ(น้ำ)คือน้ำลายให้ความชุ่มชื้นไม่แห้งเหือด หากไฟมากเกิน ลมก็มากเกินตาม น้ำลายจักแห้งเหือด หากไฟน้อยลง ลมก็น้อยลงตาม น้ำลายจักเฟื่องขึ้นมาก ไฟมากฟันแห้งฟันกรอบ ไฟน้อยฟันชุ่มฟันชื้น น้ำลายมากช่องปากชุ่มไป สกปรกเฉกน้ำเสียขังแฉะ น้ำลายน้อยช่องปากแห้งเชื้อเข้าง่าย จะเห็นได้ว่าไฟมากไปน้อยไป น้ำมากไปน้อยไปล้วนไม่ดีทั้งสิ้น
หากช่องปากร้อนหมอไทยให้กินยาเขียวยาขมช่วยทำให้ปากชุ่มชื้นขึ้นน้ำลายจักบังเกิด เป็นแผลร้อนในแลกระหายน้ำบ่อย กินน้ำเท่าใดก็มิอิ่มควรทำดั่งนี้ หากปากเย็นปากชื้นน้ำลายมาก หมอไทยให้กินเครื่องยารสร้อน ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เครื่องแกงไทยเป็นต้น ร้อนมาเย็นไป เย็นมาร้อนไป เป็นการรักษาสมดุลภาวะในช่องปาก
หากฟันเสียสมดุล :-
กำเริบ (ทำงานมากเกินไป) หินปูนเกาะ ฟันเก เลือดออกตามไรฟัน
หย่อน (ทำงานน้อยเกินไป) เคลือบฟันบาง เสียวฟัน ฟันเปราะ หัก
พิการ (สูญเสียหน้าที่)มีอาการ
1. รำมะนาด เหงือกบวม เหงือกร่น
2. ปวดฟัน แมงกินฟัน ฟันผุ
3. ปวดรากฟัน ฟันตาย ฟันคุด
4. ฟันโยกคลอน ฟันหลุด

ฟันพิการในคัมภีร์ต่างๆ
คัมภีร์โรคนิทาน : หักถอนแล้วก็ดี ยังอยู่ก็ดี ย่อมเป้นประเพณีสืบกันมา ถ้าเจ็บในไรฟัน ในรากฟัน ในเหงือก ก็ให้แก้ในทางรำมะนาดนั้นเถิด
คัมภีร์สุมฏฐานวินิจฉัย : ให้เจ็บปวดฟกบวมเป็นกำลัง ถึงฟันหลุดแล้วก็ดี มักเป็นไปตามประเพณีสังสารวัฏ ให้เจ็บฟันและไรฟัน เหงือก ตลอดสมอง ถ้าฟันยังมิหลุดมิถอน ก็ให้แก้ตามกระบวนรำมะนาดนั้นเถิด
คัมภีร์ธาตุวิภังค์ : ให้เจ็บไรฟัน บางทีให้เป็นรำมะนาด บางทีให้เป็นโลหิตออกตามไรฟัน ให้ฟันหลุด ฟันคลอน

 (4 photos)
ขอบคุณข้อมูลจาก อ.คมสัน ทินกร ณ อยุธยา
หนังสือประกอบการเรียนเวชกรรมไทยของกระทรวงสาธารณสุข
            #########################################

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เล็บ(นขา)

กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาเบื้องต้นกับการเรียนแพทย์แผนไทย(ต่อ)

๓. นขา (เล็บ) คือส่วนที่งอกอยู่ที่ปลายนิ้วมือ และปลายนิ้วเท้า เป็นส่วนสุดท้ายที่กำเดาจะไปถึง เล็บมีหน้าที่ให้ความแข็งแรงและปกป้องปลายนิ้ว ช่วยหยิบจับสิ่งของจึงต้องได้รับการปกป้อง ที่สำคัญยังสามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยได้ โบราณว่าหากเปลือกนอกดีหรือไม่ดีจะสำแดงถึงภายในได้ เล็บชายนั้นหนากว่าเล็บหญิง เล็บเท้าจะหนากว่าเล็บมือ เล็บเปราะเล็บแข็ง ดูภาวะความเสื่อมไปของกระดูกภายใน และสีของเล็บบอกความสมบูรณ์แห่งโลหิต ดอกเล็บบอกภาวะตะกรันภายใน
ลักษณะและสีเล็บช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่นเล็บมักเป็นรูปช้อนในผู้ป่วยโรคหัวใจเรื้อรังเป็นต้น(ไปดูที่เล็บมือกับสุขภาพ)
เล็บที่ปกติสมบูรณ์ต้องแข็งแรง ยืดหยุ่น มีสีชมพูอ่อนๆแสดงว่าโลหิตดี ผิวบนจะงามเรียบเกลี้ยงโค้งเล็กน้อย ปราศจากจุดด่างดำ ตำหนิใดๆ
หากเสียสมดุล :-
กำเริบ(ทำงานมากเกินไป) เล็บแข็งเปราะหักง่าย ไม่ยืดหยุ่น เป็นเล็บคุด
หย่อน(ทำงานน้อยเกินไป) เล็บบางเปราะ ฉีกขาดง่าย กระดูกอ่อนบางด้วย สีซีด
พิการ(สูญเสียหน้าที่)มีอาการ
1. เจ็บช้ำเลือดช้ำหนอง ให้เจ็บปวดเป็นกำลัง
2. เป็นหนองติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา
3. โคนเล็บฟกบวม เป็นตะมอยดาวหัวเดือน กลางเดือน บางทีให้ เขียว ดำ ห้อเลือด เจ็บที่โคนเล็บ เล็บหลุด

เล็บพิการในคัมภีร์ต่างๆ
คัมภีร์โรคนิทาน : ให้ต้นเล็บช้ำ เขียวดำ บางทีให้ฟกบวม เป็นหัวเดือนหัวดาว บางทีให้ขบเล็บช้ำ เป็นหนอง เจ็บปวด ยิ่งนัก
คัมภีร์สุมฏฐานวินิจฉัย : ให้ต้นเล็บเจ็บช้ำดำเขียว บางทีให้ฟกบวม คือเป็นตะมอยหัวดาวหัวเดือน กลางเดือน บางทีให้เจ็บช้ำเลือดช้ำหนอง ให้เจ็บปวดเป็นกำลัง
คัมภีร์ธาตุวิภังค์ : ให้เจ็บต้นเล็บ ให้เล็บเขียว เล็บดำช้ำโลหิต เจ็บเสียว ๆ นิ้วมือ นิ้วเท้า

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ว่าด้วยเรื่องของขน(โลมา)

ว่าด้วยเรื่องโลมา (ขน) ธาตุดินอีกประการหนึ่ง มีชื่อเรียกมากมายเช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวด เครา ขนจมูก ขนหู ขนรักแร้ แทบจะเรียกได้ว่าร่างกายของเราปกคลุมไปด้วยขน
โลมา หรือขน คือ เส้นที่งอก ปรากฎขึ้นทั่วกาย (ยกเว้นเส้นผมบนศรีษะ) มากบ้างน้อยบ้าง ตามกำเดาระคะที่เกิด ทำหน้าที่เพิ่มราคะจริตใช้ในการสืบเผ่าพันธุ์ นอกจากนั้นยังปกป้องกำเดาจากภายนอก รักษาไว้ซึ่งกำเดาอุ่นกายภายใน
หากเสียสมดุล :-
กำเริบ(ทำงานมากเกินไป) เหงื่อไหลเยิ้ม
หย่อน(ทำงานน้อยเกินไป) เหงื่อออกน้อยหรือไม่มีเหงื่อ
พิการ(สูญเสียหน้าที่)มีอาการ
- เจ็บตามผิวหนัง เจ็บตามรูขุมขน ขนลุกขนพองทั้งตัว
- รูขุมขนอักเสบเช่น เป็นสิว หรือรูขุมขนอุดตันทำให้หนังเหมือนมีหนาม(ต่อมขนคุด)
- ติดเชื้อแบคทีเรียหรือเกิดไร โลน
- ขนร่วง ขนดกผิดปกติ


วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ว่าด้วยเรื่อง เกศา (เส้นผม)



กายวิภาคในแบบแพทย์แผนไทย ร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ ๔ มี "ธาตุดิน" 20 ส่วน และ "ธาตุน้ำ" 12 ส่วน รวมกันได้ 32 ส่วน ประกอบรวมกันเข้ากลายเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบแห่งอวัยวะคือครบ 32 ประการ แต่ยังมีอีก 10 ส่วนที่ใช้ในการขับเคลื่อนอวัยวะนั้นคือ ส่วนของลม 6 ส่วน และไฟ 4 ส่วน รวมเป็นกายธรรมดาแห่งมนุษย์ครบ 42 ประการ
ธาตุดิน(ปถวีธาตุ) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเป็นของแข็งมีความคงรูป เป็นอวัยวะต่างๆ   ธาตุดินภายใน คือ อวัยวะต่าง ๆ ๒๐ ประการ ตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยนั้น ถือว่า ธาตุดินเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแกร่งที่สุดของร่างกาย ชีวิตอยู่ได้ด้วยสิ่งสำคัญพื้นฐานนี้ เป็นตัวยึดเหนี่ยวให้ร่างกายทรงไว้ซึ่งรูปร่าง
ธาติดิน 20 ส่วนมีดังนี้
๑.      เกศา คือผม ที่เป็นเส้นงอกอยู่บนศีรษะ ทำหน้าที่ปกป้องกำเดาจากภายนอกเพราะกำเดาภายในสูงสุดสถิตที่ศีรษะเพื่อไม่ให้กำเดาสูงเกินไปกระทบต่ออวัยวะภายในนอกจากนั้นยังเพื่อรักษากำเดาภายในมิให้ระเหยออกไปหากกระทบต่ออากาศภายนอกที่เย็นกว่า ป้องกันการกระทบกระเทือนของสมอง เป็นทางออกของไขมันและเหงื่อ ผมดกหนาธาตุดิน ผมหยาบแห้งธาตุไฟ ผมเส้นเล็กนิ่มธาตุลม ผมมันวาวธาตุน้ำ
กำเริบ(ทำงานมากเกินไป) หนังศีรษะเป็นมันเยิ้ม
หย่อน(ทำงานน้อยเกินไป)  หนังศีรษะแห้งและคัน
พิการ (สูญเสียหน้าที่) 
·      ทำให้มีอาการเจ็บตามหนังศีรษะ
·      มีอาการผมร่วง ผมบาง-หงอกหรือเป็นรังแค คัน ติดเชื้อรา เหา
·      เส้นผมหัก นั้นเป็นอาการรุนแรงของ ความผิดปกติของเส้นผม อาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์ หรือใช้เครื่องสำอางมากเกินไป ทำให้เส้นผมเปราะบาง หักและไม่ยาว

สาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารหรือยาที่ไม่ควรแก่ธาตุ พฤติกรรมชอบดึง-ถอน เป็นโรค หรือไม่ดูแลรักษาเส้นผม
*************************************