วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เกลือในตำรายาไทย


สาระน่ารู้เรื่องเกลือในตำรายาไทย

              รสเค็มที่ได้จากเกลือ นับเป็นรสที่มีมายาวนานคู่โลกก็ว่าได้ เพราะเกลือได้มาจาก 2 แหล่ง คือ เกลือสินเธาว์และเกลือทะเล 

              ในตำรายาไทยแล้วมีความเกี่ยวข้องกับเกลือเยอะมาก  ถือเป็นตัวยาหนึ่งที่สำคัญ ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ได้กล่าวถึงการทำเกลือไว้ มีทั้งหมด 5 แบบ คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และ เกลือวิก เกลือแต่ละชนิดเกิดจากกระบวนการปรุงที่แตกต่างกัน เรียกว่าเกลือสะตุ โดยจะเอาเกลือจากเกลือทะเลมาทำ โดยกล่าวว่า เอาเกลือธาระหรือเกลือทะเลมาบดให้ละเอียด ใส่ในหม้อดินใหม่ เติมน้ำท่าพอสมควร นำไปต้มให้แห้งปิดฝาหม้อ แล้วนำไปสุมด้วยไฟแกลบจนหม้อแดง ทิ้งไว้ให้เย็นก็ได้เกลือที่จะนำมาทำการสะตุ
               การสะตุเกลือทั้ง 5 แตกต่างกันไปตรงเครื่องปรุงในการสะตุ และเมื่อสะตุแล้วจะได้ลักษณะและสรรพคุณเกลือที่แตกต่างกัน คือ
    เกลือสินเธาว์ จะกวนกับน้ำนมโค คือ เอาเกลือมา 1ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาน้ำนมโคเท่ากับเกลือ 1 ส่วน   ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือสินเธาว์ สีขาวนม มีรสเค็มมัน สรรพคุณ ทำลายพรรดึก แก้ระส่ำระสายและแก้สมุฏฐานตรีโทษ แก้นิ่ว
    เกลือวิก เอาเกลือกวนกับสุราหรือเหล้าขาว คือเอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาสุราเท่ากับเกลือ 1ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือวิก รสเค็มร้อน  สรรพคุณ แก้อภิญญาณธาตุ แก้โรคในท้อง ไส้พองท้องใหญ่ ทำกายให้ชุ่มชื่น
    เกลือพิก เอาเกลือกวนกับน้ำผึ้ง คือ เอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาน้ำผึ้งเท่ากับเกลือ 1 ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือน้ำผึ้งรสเค็มหวาน สรรพคุณ ทำเสียงให้ไพเราะ ชุ่มคอ แก้ไอ
    เกลือฝ่อ เอาเกลือกวนในน้ำมันเปรียงและน้ำมันงา เอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาน้ำมันงาและน้ำมันเปรียงเท่ากับเกลือ 1 ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือฝ่อรสเค็มมัน สรรพคุณ แก้เสียดท้อง บำรุงไฟธาตุ แก้กุมารโรคและพรรดึก แก้มูกเลือด
    น้ำมันเปรียง คือ ไขมันที่อยู่ในกระดูกของโค แคะเอาออกจากระดุกมาใช้เคี่ยวทำน้ำมันแล้วก็นำมาสะตุกับเกลือ
    เกลือสมุทรี หรือเกลือสมุทรี เอาเกลือที่เตรียมไว้ลงกวนกับน้ำเยี่ยววัว คือ เอาเกลือมา 1 ส่วน แบ่งออกเป็น ส่วน เอาน้ำมูตรโคเท่ากับเกลือ 1 ส่วน ลงกวนให้ได้ 3 วันให้แห้ง จะได้เกลือสมุทรี รสเค็มฉุนร้อน สรรพคุณ แก้ระส่ำระสาย กระทำอาหารให้งวด เจริญธาตุทั้ง 4 แก้พรรดึก แก้ดีเดือด แก้เสมหะพิการ บำรุงน้ำเหลือง
    นอกจากนี้ ยังมีเกลือที่เรียกว่าเกลือตัวผู้และเกลือตัวเมีย  คนที่ไม่รู้เรื่องเกลือก็คงงงเหมือนกัน แล้วเกลือตัวผู้กับเกลือตัวเมียมันต่างกันอย่างไร ในตำรายากล่าวไว้ว่า เกลือตัวผู้  เม็ดเกลือจะมีรูปร่างลักษณะเป็นเม็ดยาวแหลม ชาวนาเกลือจะใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ นำไปผสมน้ำมะนาวจะแก้ไอได้ดี หรือใช้อุดฟันแก้ปวดก็ได้ ส่วน เกลือตัวเมีย เม็ดเกลือจะมีรูปร่างลักษณะแบนเป็นเหลี่ยม ประโยชน์ของเกลือตัวเมียสามารถใช้ได้สารพัดประโยชน์ ใช้บริโภค ใช้ดองผัก ดองปลา ทำน้ำปลา และใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
   ** สรุปว่าเกลือตัวผู้กับเกลือตัวเมีย หรือเรียกว่าเกลือทั้งสองนั้นจะต่างกันตรงผลึกของเกลือนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น