วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

ขันธ์ ๕

ขันธ์ แปลว่า กอง หรือ องค์รวม (Aggregates) เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อเรียกองค์รวมแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นการตอบคำถามที่ว่า ความหมายและกำเนิดชีวิตคืออะไร ชีวิตคืออะไรปรัชญาอินเดียโบราณเชื่อว่า รูป เกิดจากการสร้างของพระเจ้า ส่วนนาม หรือจิต คือส่วนที่แยกอวตารลงมาจากจิตใหญ่ของพระเจ้า หรือ ปรมาตมัน
พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร (ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา) ซึ่งมีลักษณะแย้งทัศนะของเทวนิยม สาเหตุที่ขันธ์เป็นอนัตตา ก็เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยที่เป็นอนัตตา แนวคิดเรื่องขันธ์ ๕ ถือเป็นบทตั้งแห่งพุทธธรรม มีการพูดถึง ขันธ์ ถึง ๒๒,๖๙๕ ครั้งในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงถึงความสำคัญแห่งหัวข้อธรรมนี้
เบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่มีจริงโดยสภาวะของตน จัดเป็นปรมัตถสัจจะเช่นเดียวกับนิพพานความแตกต่างกันก็คือเบญจขันธ์เป็นสังขตธรรม แต่นิพพานเป็นอสังขตธรรม เบญจขันธ์เป็นฝ่ายสังสารวัฏ ส่วนนิพพานเป็นฝ่ายวิวัฏ อาจกล่าวได้ว่า ในพุทธปรัชญาเถรวาท ทั้งนิพพานและสังสารวัฏต่างก็เป็นสิ่งที่มีอยู่คู่ขนานกัน
ขันธ์ประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จะเห็นได้ว่าเมื่อแบ่งส่วนประกอบของชีวิตออกเป็นขันธ์ต่างๆนี้ ก็ไม่มีส่วนที่เรียกว่า วิญญาณอมตะ หรือ อาตมัน เลย
๑.    รูป (Corporeality)
เป็นองค์ประกอบฝ่ายวัตถุหรือสสารและพลังงาน ร่างกายของมนุษย์มาจากรูปนี้ รูปมี ๒๘ ประการคือ มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ ในที่นี้ มหาภูตรูป หมายถึงสิ่งที่มีคุณภาพปฐมภูมิ (Primary Qualities) ๔ ชนิด คือ (๑) ธาตุดิน เป็นสภาวะที่แผ่ไปหรือกินที่ (๒) ธาตุน้ำ เป็นสภาวะที่เอิบอาบซึมซาบ (๓) ธาตุไฟ เป็นสภาวะที่ให้ความร้อนหรืออุณภูมิ และ (๔) ธาตุลม เป็นสภาวะที่เคลื่อนไหว อุปาทายรูปหมายถึง รูปที่สืบเนื่องมาจากมหาภูตรูปมีคุณภาพทุติยภูมิ (secondary Qualities) อุปาทายรูปมี ๒๔ เช่น หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น
มีข้อสังเกตว่า รูปเป็นขณิกะคือเกิดดับทุกขณะ ไม่มีรูปใดดำรงอยู่คงที่ถาวร นอกจากนั้น แม้ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีลักษณะต่างกันก็จริงแต่ก็เกิดร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน (กลาปะ) ตลอดเวลา ไม่มีธาตุใดเกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระจากธาตุอื่น อัตราส่วนผสมของธาตุเหล่านั้น กำหนดลักษณะของผลผลิต เช่น กลุ่มที่มีธาตุดินมากจะเป็นของแข็ง กลุ่มที่มีธาตุน้ำมากจะเป็นของเหลว
๒.    เวทนา (Feeling)
ได้แก่ คุณลักษณะประการหนึ่งของจิตหรือวิญญาณ คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมจัดเวทนาเป็นเจตสิกคือ สิ่งที่ประกอบกับจิต เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ โทมนัส โสมนัส และ อุเบกขา
๓.    สัญญา (Perception)
เป็นเจตสิกเช่นกัน ทำหน้าที่กำหนดรู้ และจดจำอาการและลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์ (สิ่งที่จิตรับรู้) เช่น สี สัมผัส ลักษณะ ชื่อเฉพาะ และคุณภาพต่างๆของอารมณ์
๔.    สังขาร (Mental Formations)
ได้แก่ การปรุงแต่งจิตให้ดี และเลว หรือเป็นกลางๆ มีเจตนาเป็นตัวนำสำคัญ ถ้าเปรียบจิตเหมือนน้ำสะอาดบริสุทธิ์ สังขารก็คือสีต่างๆ ที่เจือผสมน้ำ คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมจัดสังขารเป็นเจตสิกจำนวน ๕๐ ชนิด เมื่อร่วมกับเวทนา และสัญญา จึงมีเจตสิกทั้งสิ้น ๕๒ ชนิด
๕.    วิญญาณ (Consiousness)
ได้แก่ธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมนิยมเรียกวิญญาณว่า จิต
ขันธ์ ๕ ในอภิธรรม
ขันธ์ ๕ นี้ในอภิธรรมลดลงเหลือ ๓ กลุ่ม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเทียบกันได้ดังนี้
·   วิญญาณขันธ์ได้แก่ จิต
·   เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ได้แก่ เจตสิก
·   รูปขันธ์ได้แก่ รูป
บางครั้ง ท่านย่อขันธ์ ๕ ลงเหลือ ๒ ส่วน คือ
·   เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณว่า นาม
·   รูปขันธ์ว่า รูป
ประโยชน์จากการศึกษาเรื่องขันธ์ ๕
·   เพื่อให้เข้าใจเรื่องของกายและใจว่าที่เชื่อและยึดว่าเป็นเรา เป็นกายใจเราอันเดียวกันนั้น ที่แท้เป็นขันธ์ทั้งห้า มาประชุมรวมกัน (เพราะมีเหตุปัจจัยให้มาประชุมรวมตัวกัน) ของรูปธรรมกับนามธรรม มิใช่สัตว์ตัวตนเราเขา มิใช่กายใจอันเดียวกันไปหมด อย่างที่เคยเข้าใจกัน
·   เมื่อเข้าใจความจริงของขันธ์ ๕ ก็จะเริ่มรู้เท่าทันความจริงเกี่ยวกับตัวตนของตน เริ่มเข้าใจความเกี่ยวข้องของแต่ละกองขันธ์ เข้าใจเหตุปัจจัยระหว่างกันและกันของขันธ์ทั้ง ๕ เริ่มเข้าใจเกี่ยวกับทุกข์ กฏแห่งธรรมชาติ (กฏไตรลักษณ์) เริ่มเข้าใจเกี่ยวกับกิเลส ตัณหา อุปาทาน ฯลฯ ซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจและรู้แจ้งก็จะเกิดความเบื่อหน่ายละคลายในมายาทั้งหลายเหล่านี้ เข้าใจว่าเป็นเพียงกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ที่มาประชุมกันเพราะมีเหตุปัจจัย ฯลฯ ที่เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ในแต่ละขณะๆ ก็เพราะมีเหตุปัจจัยนั่นเอง ไม่ได้มีตัวมีตนแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น