วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

สรรพคุณเภสัช


เข้าใจสรรพคุณเภสัช ในแบบที่สอนกันต่อๆมาเข้าใจที่การออกฤทธิ์ มิใช่ เข้าใจที่ผลสรรพคุณบทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)


สรรพคุณเภสัชเป็นองค์ความรู้อันเนื่องด้วยเครื่องยา หมายพืช,สัตว์,ธาตุ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องยานำไป ตั้ง เป็นยาตำรับใช้รักษาอาการของโรค แพทย์จักตั้งยาได้ก็ต่อเมื่อมีองค์รู้เหล่านี้ประกอบกับมีทักษะเข้าใจในอาการของโรคต่างๆอยู่ก่อนแล้ว
การจักเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในสรรพคุณของเครื่องยานั้น แต่เก่าก่อนมาบรรดาครูบาอาจารย์ท่านมิได้ อรรถาธิบายเพียงสรรพคุณของเครื่องยาเท่านั้น ท่านยังสอนให้เข้าใจว่ารสแต่ละรสของเครื่องยาไปกระทำต่อตรีธาตุหมาย ปิตตะ/วาตะ/เสมหะ อย่างไร เพราะแพทย์แผนไทยรักษาอาการทางปิตตะ,วาตะ,เสมหะที่กำเริบ,หย่อน พิการไป ทำให้ธาตุดินกระทบกำเริบ,หย่อน,พิการตามมา เครื่องยาทุกตำรับจึงประกอบไปด้วยสรรพคุณทางตรีธาตุครบถ้วนทุกๆตำรับ
ส่วนผลของรสที่ไปกระทำต่อตรีธาตุเป็นเพียงปลายทางของสรรพคุณเท่านั้น ครูอาจารย์ท่านสั่งสอนศิษย์ที่กลไกของการออกฤทธิ์ทำให้เกิดผลสรรพคุณตามมาซึ่งจักทำให้ศิษย์เข้าใจอย่างลึกซึ้งได้มากกว่ารู้เพียงแค่ผลปลายทางเท่านั้น

จักขออรรถาธิบายขยายความตามลำดับรสแห่งเครื่องยาดั่งนี้
๑. รสหลักฝาด มีรสรองอีก๙รสประกอบไปด้วย รสฝาดฝาด,รสฝาดหวาน,รสฝาดมัน,รสฝาดเค็ม,รสฝาดเปรี้ยว,รสฝาดขม,รสฝาดเมาเบื่อ,รสฝาดร้อน,รสฝาดหอมเย็น
สรรพคุณหลักของรสฝาด คือ สมานภายใน/ภายนอก
กลไกของรสฝาด กระทำให้เสมหะงวดเข้า สมานในปิตตะ,วาตะแลเสมหะ
สรรพคุณรองของรสหลักฝาด จักผันแปรไปตามรสรองนั้น แต่สรรพคุณสมานของรสหลักยังเป็นใหญ่
๒. รสหลักหวาน มีรสรองอีก ๙ รสเช่นเดียวกับรสรองของรสฝาด
สรรพคุณหลักของรสหวาน คือ ซาบเนื้อ บำรุงเนื้อ หมายที่อวัยวะน้อยใหญ่
กลไกของรสหวาน จักทำให้เกิดพลังงานเพื่อนำไปสร้างมังสะให้บริบูรณ์
สรรพคุณรองของรสหลักหวาน จักผันแปรสรรพคุณรองไปตามรสรองที่เปลี่ยนไป
๓. รสหลักมัน มีรสรองอีก ๙ รสเช่นเดียวกัน
สรรพคุณหลักของรสมัน คือ ซาบเส้นเอ็น
กลไกของรสมัน จักไปเชื่อมประสานกระดูก,เยื่อในกระดูก,เส้นเอ็น,ผงผืด,กล้ามเนื้อ
๔. รสหลักเค็ม มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสเค็ม คือ ซาบผิว หมายอวัยวะภายในภายนอก บำรุงเตโชธาตุ
กลไกของรสเค็ม จักทำให้เสมหะแห้ง เกิดปิตตะกำเดาตามมา
๕. รสหลักเปรี้ยว มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสเปรี้ยว กัดเสมหะ บำรุงโลหิต
กลไกของรสเปรี้ยว กระทำให้เสมหะชุ่ม ไปละลายเสลดของเสมหะ
๖. รสหลักขม มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสขม แก้ไข้ บำรุงน้ำดี
กลไกของรสขม จักทำให้เสมหะเพิ่มขึ้นไปดับปิตตะที่กำเริบ ทำให้วาตะกลับมาปรกติได้
๗. รสหลักเมาเบื่อ มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสเมาเบื่อ แก้พิษ หมายพิษไข้เพื่อดี ไข้เพื่อลม ไข้เพื่อเสมหะ ไข้พิษทั้งปวง
กลไกของรสเมาเบื่อ จักเข้าไปทำลายพิษในปิตตะ/วาตะ/เสมหะ ด้วยความแรงของโอสถสารเมาเบื่อนั้น
๘. รสหลักร้อน มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสร้อน ขับลม
กลไกของรสร้อน จักเข้าไปเพิ่มกำเดาทำให้เกิดลมตามมาไปผลักลมที่กำเริบออกไป
๙. รสหลักหอมเย็น มีรสรองอีก ๙ รส
สรรพคุณหลักของรสหอมเย็น บำรุงหัวใจ
กลไกของรสหอมเย็น เป็นกลิ่นสุคนธ์บำบัด หมายหทัยคือใจคืออารมณ์ ให้ชุ่มชื่นในใจ มิใช่ไปบำรุงหทยังหมายเนื้อหัวใจ

การจักปรุงตำรับยาจึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ของกลไกการออกฤทธิ์ของเครื่องยา "มิใช่" ไปใช้องค์รูู้ของ
ผลสรรพคุณ การอ่านตำรับยาก็เช่นกัน "มิใช่" เพียงอ่านสรรพคุณเภสัช แต่ต้องไปเข้าใจกลไกลการออกฤทธิของเภสัชนั้นๆต่างหาก โบราณท่านสอนสั่งกันมาเยี่ยงนี้
เพื่อความเข้าใจใน รสสรรพคุณ ผู้ศึกษาจำต้องเรียนรู้ในสองสิ่


๑. เข้าใจในกลไกการออกฤิทธ์ของรสสมุนไพรทั้ง ๘๑ รส
๒. เข้าใจในผลสรรพคุณจากกลไกการออกฤิทธ์ของรสสมุนไพรทั้ง ๘๑ รสนั้น
โบราณท่านช่างละเอียดลออยิ่งนัก ความรู้ทางเภสัชนั้นมีมากมายมหาศาลและจำเป็นยิ่งสำหรับแพทย์ที่จักต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งอย่างถูกต้องตามวิธีเรียนรู้แต่โบราณคือ "เข้าใจที่การออกฤิทธ์ของสรรพคุณ มิใช่เข้าใจที่ผลของสรรพคุณ"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น