วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรีธาตุ สิทธานตะ


ดังได้กล่าวมาบทความที่แล้วว่า ตรีธาตุ มี ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหยาบ ที่พอรู้เห็นได้ ที่เรียกกันว่า ลม ดี เสมหะ การที่รู้ว่า วาตะ เป็นลม ปิตตะ เป็นดี และศเลษมะ ว่า เสมหะ หรือ เสลด นั้น ถ้ารู้ให้ลึกซึ้งต่อไป ถึงลักษณะละเอียด ก็เป็นประโยชน์ ถ้ารู้แต่เพียง ลม ดี ศเลษมะ ที่มองเห็นเท่านั้น ก็เท่ากับไม่รู้อะไรเลย


ลักษณะละเอียดของ ตรีธาตุ ที่มีอยู่ในร่างกายทั่วไป เป็น ชีวทรวยะ ที่ลึกซึ้งมากเราไม่เห็น แต่สำแดงอาการให้รู้ได้ว่ามี อุปมาดั่ง เอ๊กสเรย์ (X-ray) เราไม่เห็นว่าเป็นรัศมีอะไร รู้ว่ามี แต่ไม่เห็น หรือสนามแม่เหล็กมีเส้นแรงแม่เหล็ก จะมองเห็นว่าขั้วเหมือนกันจะมีแรงผลักกันและขั้วต่างกันดูดกันฉันใด ตรีธาตุที่เป็นส่วนละเอียด (Fine หรือ Subtle) ก็ไม่เห็น แต่รู้ว่ามี ฉันนั้น
ตรีธาตุที่เป็นส่วนละเอียด
วาตะ ปิตตะ ศเลษมะ นี้ ถ้าเป็นปรกติเรียกตรีธาตุ ถ้าไม่ปรกติเรียกตรีโทษ แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด บางทีเรียกตรีโทษ ก็หมายถึงตรีธาตุ การไม่ปรกติของตรีธาตุที่เรียกว่า ตรีโทษนั้น ตรีโทษไม่ใช่โรค เป็นแต่เพียงอาการที่แสดงว่า เป็นโรค หรือไม่สบายเท่านั้น
ตัวอย่าง คนที่รู้สึกตัวเนื้อเบาหวิว รู้สึกหรือเจ็บตามข้อกระดูก ว่าเป็นอาการของวาโย หรือรู้สึกหนักตัวหนักหัว ว่าเป็นอาการของเสมหะ หรือรู้สึกร้อนตามผิวตัว ตาเหลือง ว่าเป็นอาการของปิตตะ อาการของโรคในร่างกายอาจแสดงอาการแต่เพียง วาตะ อย่างเดียว หรือ ปิตตะ อย่างเดียว หรือ ศเลษมะ อย่างเดียว หรือ ปนกันก็ได้
โบราณอาศัยตรีโทษหรือตรีธาตุเป็นหลักสำคัญ ในการดูโรคและวางยาแก้โรค เมื่อมีอาการทางไหนก็แก้ทางนั้น ทฤษฏีนี้เรียก ตรีธาตุ สิทธานตะ (The theory the of three humours of the body)
วาตะ เป็น ทรวยะ สำคัญที่สุดของตรีธาตุ เป็นเหตุให้เกิด ให้ดลใจ เป็นแหล่งกำเนิดของกำลัง การเคลื่อนไหว และกรรมต่างๆ การพูดจา การเดินของเลือดในร่างกาย การชำระภายในระบบของร่างกาย ควบคุมกรรมของอวัยวะและกล้ามเนื้อ ควบคุมมโน และ จิต (กริยาศักดิ์) ความรู้สึก ความเข้าใจ นำความรู้สึกอย่างถูกต้องของอินทรียะ คือ รูป (รูปะ) รส (รสะ) กลิ่น (คันธะ) เสียง (ศัพทะ) สัมผัส (สปรสะ)  ควบคุมระบบของร่างกายให้ดำเนินเกี่ยวข้องกันด้วยดี ช่วยประสานเนื้อหนังอวัยวะที่ชำรุดเสียหาย วายุ หรือ วาตะ ในทางโบราณมีความหมายเท่ากับระบบประสาท แต่มีนัยสูงกว่าระบบประสาทของปัจจุบัน เด็กที่เริ่มแต่ปฏิสนธิในครรภ์เจริญขึ้นโดยอิทธิพลของวาโย วาโย คุมอวัยวะร่างกายทุกส่วน ตั้งแต่ปรมาณู หรือ เซลล์ ขึ้นไปจนกระทั่งร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งตาย วาโยเป็นกำลังของชีวิต เคลื่อนไหวอยู่เสมอ สัญจลนะ จิตบังคับประสาท แต่วาโยบังคับจิตสูงขึ้นไปอีก วาตะ บังคับร่างกายทั่วไป ทางระบบประสาท (วาตะ ยนตระ ประนาลิ)  เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งกลไก หรือเครื่องจักรของร่างกาย (ตนตระ ยนตระ ธาระ)
วาตะ หรือ วายุ หรือ วาโย จึงไม่ใช่ลมอย่างที่เข้าใจกันอย่างธรรมดาสามัญ วาโยที่แล่นบังคับอยู่ในร่างกาย เราไม่รู้สึก หรือพิสูจน์ง่ายๆ อย่างลมพัดในเวหาหรือในห้อง ที่หมอโบราณเรียก วาตะ หรือ วายุ หรือ วาโย มาจาก คำว่า วา แปลว่า เคลื่อนไหว คำสามัญแปลว่า ลม คือ เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหว หมอโบราณเอาคำนี้มาใช้ในร่างกาย ว่า วาโย หรือ วายุ หรือ วาตะ มีความหมายสูงกว่าลมธรรมดา ความเข้าใจในเรื่องวาตะในร่างกาย ต้องอาศัยความรู้สึกเข้าใจอย่างลึกซึ้งเป็นความเข้าใจของ ตุรียจิต คือ จิตชั้นสูง (Super Concious State)
วายุ หรือ วาตะ นี้ ถ้าเราจะเปรียบกับลมในเวหาภายนอกร่างกาย ก็จะเห็นความสำคัญอยู่มากเหมือนกัน ว่าลมในเวหาก็มีอำนาจอย่างยิ่ง คือ การเคลื่อนหมุนของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวทั้งหลาย เป็นไปโดยอำนาจของลม และโลกเราที่หมุนหรือไหว ก็ด้วยอำนาจของลม ลมมีส่วนทำให้เกิดทองคำและแร่ธาตุต่างๆในท้องโลก วาโยในโลก จึงไม่เพียงเป็นเวหาหรือบรรยากาศ (Atmosphere) แต่เป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ (Almighty Power) วาโยในร่างกาย ก็มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ในร่างกายเช่นนั้น เราแลไม่เห็นลมในเวหาฉันใด ก็ไม่เห็นวาตะในร่างกายฉันนั้น แต่รู้ได้ด้วยอาการและด้วยความเข้าใจของจิตชั้นสูง วาโย ไม่ใช่ลมอย่างลมในเวหา แต่เป็นลมอันละเอียดอย่างยิ่งในร่างกาย วาโย ไม่ใช่ประสาท แต่เป็นกำลังของประสาท หรือลมประสาท (Nervous impulse) ที่ไหลอยู่ในสมอง เส้นประสาทและอวัยวะทั้งหลาย ลมเราไม่เห็น แต่รู้อาการแสดงของลม อาการอย่างนี้โบราณเรียกว่า อวยกะตวยะ กรรมาจะ คือ รู้แต่กรรมของมัน ส่วนตัวมันไม่เห็น อุปมาอย่างเอ๊กสเรย์ เราไม่เห็น แต่รู้ว่ามี และลมประสาท (Nerve impulse) เราไม่เห็น แต่ก็รู้ว่ามี กระนั้น

ปิตตะ เป็นผู้กำเนิดของความร้อน หรือความอบอุ่นของร่างกาย การย่อยอาหาร ความหิวกระหาย ความคิดสติปัญญา ความจำ ความละมุนละม่อมของร่างกาย ความเปล่งปลั่ง ความสดชื่นร่าเริง ผิวพรรณ ดวงตา ความกล้าหาญ อดทน ความโกรธ ความดีใจ เสียใจ ความพอใจ ความหลง (โมหะ) ความไม่หลง (อโมหะ) ปิตตะ เป็นตัวการสำคัญในการย่อยอาหารต่างๆ แล้วจำแนกออกเป็น รสธาตุ ปัสสาวะ อุจจาระ ย่อยอาหารและส่งอัคนีเพื่อเลี้ยงร่างกาย (ปาจกะปิตตะ) ทำให้ รสธาตุ และร่างกายมีสี (รชนกะปิตตะ) ทำให้เกิดความอิ่มใจ (สาธกะปิตตะ) ทำให้ดวงตา และความเห็นแจ่มใส (อาโลจกะปิตตะ) ทำให้หนังงอกงามและผิวพรรณดี (ภราชกะปิตตะ) ปิตตะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดอาหารบำรุงร่างกาย ตับ เป็นที่ตั้งสำคัญของปิตตะ ม้าม ก็เป็นส่วนของปิตตะ เป็นตำแหน่งของ รนชกะปิตตะ มีหน้าที่ควบคุมในการเกิดและการทำลาย เม็ดเลือดแดง เยื่อชั้นในลูกตา ต่อมภายในร่างกาย และอารมณ์ต่างๆก็เกี่ยวกับปิตตะ หมอโบราณที่รักษาคนเป็นโรคฟางไก่ หรือโรคราตรีอนธะ หรือโรคตาฟางกลางคืน (Night blindness) ด้วยการให้กินตับสัตว์ เช่น ยาขนาน ๑๙๘๓ ในเล่ม ๒ สรรพยาวิจารณ์นั้น ก็เพื่อให้ดวงตาได้รับปิตตะ มีวิตามิน เอ. ตรงกับปัจจุบัน ที่ให้กินตับและทำน้ำมันตับปลาต่างๆนั้น

ศเลษมะ  เสมหะ หรือกผะ  มีหน้าที่ทำให้ร่างกายนุ่มนวลละมุนละม่อม ช่วยในการให้เกิดกำลัง ความเข้มแข็ง ความอดทน ศเลษมะ มีลักษณะเหนียวอ่อนและชุ่มชื้น ทำให้ลิ้น ปาก คอ ชุ่มทำให้เกิดน้ำลาย น้ำไขข้อกระดูก ทำให้เยื่อเมือก หรือเยื่อมูก (mucous membrane) เยื่อน้ำเหลือง (Serous membrane) ชุ่ม ลื่น และถูไถ เคลื่อนไหวคล่อง
คำว่า ศเลษมะ มาจากคำ ศลิษะ กับ อาลิงคณะ แปลว่า สิ่งยึดเหนี่ยว หรือผูกพันค้ำจุนสิ่งทั้งหลายให้เข้ากัน ถ้าเราจะพิจารณาดูอวัยวะทุกอย่างในร่างกาย ที่เห็นเป็นดุ้น เช่น กระดูก หรือเป็นก้อน เป็นแผ่น เป็นมัด เป็นชิ้น เช่น กล้ามเนื้อ และเนื้อของอวัยวะทั้งหลาย ประกอบกันขึ้นด้วยปรมาณู หรือเซลล์ เป็นจำนวนมากมาย เหลือที่จะคณนา เกาะยึดรวมกันอยู่เป็นอวัยวะ เป็นพวกๆ กระทำหน้าที่ได้นั้น ปรมาณูทั้งหลาย เกาะติดกันอยู่ได้ด้วยอะไร? ปัจจุบันว่า เกาะติดกันอยู่ เพราะใยหรือเนื้อประสาน (Connective tissues) แต่ใยประสานนั้น โบราณว่า ต้องมี ศเลษมะ ศเลษมะของโบราณมีหลายลักษณะ คือใยเสลดที่ประสานปรมาณู (Connective tissues) โบราณเรียก อวลัมพกะศเลษมะ คือ ยึดไว้พยุงไว้ ศเลษมะ ทั้งหลายยังเป็นพาหนะนำอาหารเข้าเลี้ยงปรมาณูได้ด้วย ศเลษมะ มีอำนาจผูกพันอาหารต่างๆ ที่กินเข้าไป และทำให้อาหารอ่อนลงเพื่อให้ปาจกะปิตตะ ทำการย่อยได้ดี ศเลษมะที่ผูกพันอาหารนี้ เรียก กเลทกะศเลษมะ เช่น น้ำลาย เมือกต่างๆ ศเลษมะ ยังเป็นโพธกะศเลษมะ คือละลายอาหารให้ลิ้นรู้รส ที่สำคัญอย่างอื่นอีก คือผูกพันและหล่อลื่นอวัยวะที่ถูกไถกัน เช่น ระหว่างกระดูกกับกระดูก ระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก ฯลฯ เรียก ศเลษกะศเลษมะ หรือ ศเลษกะกผะ นอกจากนี้ ศเลษมะ มีหน้าที่หล่อเลี้ยงและประคับประคองมันสมอง เรียก ตรปกะ ศเลษมะ
โบราณถือว่า วาตะ ปิตตะ และ ศเลษมะ ๓ อย่างนี้ เป็น ชีวทรวยะ หรือชื่อทรัพย์ (Living matters) ที่สำคัญที่สุด ร่างกายจะปรกติสบายดี เพราะตรีธาตุที่เป็นปรกติเป็นไปพอดี คุมกันและประสานงานกันด้วยดี สมดุลกัน ถ้าตรีธาตุ ไม่สมดุล กล่าวคือ อย่างใด มากหรือน้อย หรือบกพร่อง ร่างกายไม่ปรกติ ไม่สบาย เป็นตรีโทษ หรือถึงตายฉันนั้น ตรีธาตุนี้ โดยปรกติ มักกระเดียดหรือเอนเอียงไปข้างจะเกิดโทษ คือ ไม่ค่อยปรกติอยู่เนืองๆ และมักเป็นเช่นนั้น โบราณจึงนิยมเรียกแต่อย่างเดียวว่าตรีโทษ คือ มันมักเป็นโทษ ไม่ค่อยนิยมเรียกตรีธาตุ ในการศึกษาต้องเข้าใจตรีธาตุ แต่พวกหมอเรียก ตรีโทษ คำว่า ตรีโทษ คนไทยเรียกเพี้ยนไปว่า ตรีทูต และหมายไปถึงเข้าระยะจะตาย หรือระยะรากสาด (Typhoid state) ความจริง ตรีโทษ อาจเป็นอย่างอ่อน อย่างกลาง หรือถึงตายก็ได้ แล้วแต่โทษจะมากหรือน้อย ข้อตกลงเป็นหลักวิชาของตรีโทษตามที่กล่าวมานี้ เรียก ตรีธาตุ สิทธานตะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น