วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ฟักข้าว (Gac Fruit)


ฟักข้าว Spiny Bitter Gourd (Gac)

ฟักข้าว ชื่อสามัญที่เรียกกันโดยทั่วไปคือ แก็ก  (Gac)  ภาษาอังกฤษ Baby Jackfruit, Cochinchin Gourd, Spiny Bitter Gourd, Sweet Gourd ฟักข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng. จัดอยู่ในวงศ์แตงกว่า และวงศ์มะระ Cucurbitaceae โดยฟักข้าวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ
นอกจากนี้ฟักข้าวยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกเช่น มะข้าว (แพร่), ขี้กาเครือ (ปัตตานี), พุกู้ต๊ะ (แม่ฮ่องสอน), ผักข้าว (ตาก ภาคเหนือ) เป็นต้น 

สรรพคุณของฟักข้าว
·       ผลอ่อนและใบอ่อน(ยอด) ช่วยลดน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานได้
·       ใบฟักข้าวมีรสขมเย็น มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ตัวร้อนได้ แก้ริดสีดวง นำมาตำใช้พอกแก้อาการปวดหลังได้ แก้กระดูกเดาะ ถอนพิษอักเสบ แก้พิษ แก้ฝี แก้ฝีมะม่วงแก้หูด
·       รากช่วยถอนพิษไข้ ขับเสมหะ แก้เข้าข้อ อาการปวดตามข้อ ใช้ต้มดื่มช่วยถอนพิศทั้งปวง
·       เมล็ดช่วยแก้ท่อน้ำดีอุดตัน ขับปัสสาวะ บำรุงปอด ช่วยแก้ฝีในปอด (เมล็ด)  เมล็ดฟักข้าว สามารถนำมาใช้แทนเมล็ดแสลงใจได้ (โกฐกะกลิ้ง)

ประโยชน์ของฟักข้าว
1.            มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
2.            ช่วยในการชะลอวัย ป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ปัญหาผิวแห้งกร้าน ช่วยปกป้องผิวจาก  แสงแดด
3.            มีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอท 10 เท่า และมีไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศ 12 เท่าและมีกรดไขมันขนาดยาวประมาณร้อยละ 10 ของมวล  การกินเบตาแคโรทีนจากฟักข้าวพบว่าดูดซึมในร่างกายได้ดีเพราะละลายได้ในกรดไขมัน
4.            ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตา โรคต้อกระจก ประสาทตาเสื่อม ตาบอดตอนกลางคืน (เยื่อเมล็ด)
5.            ช่วยป้องกันโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด
6.            ช่วยป้องกันและช่วยยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด
7.            ช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
8.            งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ฟักข้าวมีโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอดส์ (HIV) และยังช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย ซึ่งได้ทำการจดสิทธิบัตรในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
9.            มีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็ง ไวรัส ช่วยยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือด และยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน
10.         ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด
11.         งานวิจัยของมหาวิทยาลับฮานอย พบว่า น้ำมันจากเยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับ
12.         ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
13.         ช่วยในการขับเสมหะ ใช้กลั้วคอช่วยลดอาการเจ็บคอ หรืออาการอักเสบที่ลำคอ
14.         เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้น หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มีโรคประจำตัวหรือร่างกายอ่อนแอ

การนำส่วนต่างๆของฟักข้าวมาใช้ประโยชน์
* รากฟักข้าว ใช้แช่น้ำหรือบดแล้วนำมาสระผม หมักผม ช่วยทำให้ผมดกดำขึ้น แก้ปัญหาผมร่วง แก้อาการคันหนังศีรษะ รังแค และช่วยฆ่าเหาได้อีกด้วย
* น้ำมันเยื้อหุ้มเมล็ดของฟักข้าว มาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางสูตรลดเลือนริ้วรอย ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนได้รับรางวัล “IFSCC Host Society Award 2011” จากงานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ
* ผลอ่อนฟักข้าว ใช้ทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น นำไปต้มหรือนึ่งจิ้มกินกับ  น้ำพริก หรือนำไปใส่แกงต่างๆ แกงส้มลูกฟักข้าว เป็นต้น ช่วยลดน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานได้
* ยอดฟักข้าวอ่อน ใช้ทำเป็นอาหารก็อร่อย (กลิ่นจะคล้ายๆกับยอดหรือใบมะระ) เมนูฟักข้าว เช่น แกงเลียง แกงส้ม ผัดไฟแดง คั่วแค ใช้ลวกหรือต้มกินกับน้ำพริก ฯลฯ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
* ผลฟักข้าว สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น น้ำฟักข้าว ฟักข้าวแคปซูล เป็นต้น
* เมล็ดแก่นำมาบดให้แห้ง ผสมน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย นำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบ อาการบวม จะช่วยรักษาอาการได้ และยังช่วยรักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ผดผื่นคันต่างๆ อาการฟกช้ำได้อีกด้วย 


น้ำฟักข้าว Gac Fruit Juice

วันนี้เรามาทำน้ำฟักข้าวกันดีกว่า เพราะฟักข้าวเป็นผลไม้มหัศจรรย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรามากมาย วิธีทำก็ง่ายค่ะ มาเริ่มกันเลย

วิธีทำน้ำฟักข้าว Gac Fruit Juice

1.       นำผลฟักข้าวสุกมาปลอกเปลือก แล้วผ่าครึ่ง คว้านเอาเมล็ดสีแดงออก


2.       แยกเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงออกจากเมล็ดก่อน โดยวิธีขยำแยกเยื่อหุ้มออกจากเมล็ด แต่วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือใช้ตะกร้อตีไข่ ใส่น้ำแล้วตีให้เยื่อหุ้มออกจากเมล็ด ข้อควรระวังอย่าทำให้เมล็ดแตกเป็นอันขาดเพราะจะทำให้ขมจนดื่มไม่ลงเลยทีเดียว 
3.       ส่วนเนื้อของผลหั่นเป็นชิ้นเล็ก เติมน้ำสะอาด เข้าเครื่องปั่นให้ละเอียด (เนื้อจะทำให้น้ำฟักข้าวเนียนนุ่มน่ารับประทานและทำหน้าที่แทนเจลลาตินให้น้ำเป็นวุ้นเข้มข้น)

4.       นำเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงที่เราคั้นออกมา เทลงโถปั่นเข้าด้วยกันกับเนื้อ
5.       นำฟักข้าวที่ละเอียดดีแล้วไปผสมกับน้ำผลไม้กลิ่นแรง เช่น เสาวรส สับปะรด ฝรั่ง หรือมะนาวเพิ่มเพื่อรสชาติ เนื่องจากน้ำฟักข้าวมีกลิ่นเหม็นเขียวนิดๆและรสขมเล็กน้อย อาจรับประทานยากกว่าน้ำผลไม้ทั่วไป การนำไปผสมกับน้ำผลไม้อื่นจะช่วยให้รสชาดอร่อย วันนี้ใช้น้ำเสาวรสค่ะ ทำให้ได้คุณค่าสารอาหารเพิ่มมากขึ้นด้วย
6.        ละลายน้ำตาลทรายแดงกับน้ำเปล่า ในหม้อให้หมดก่อน แล้วเติมส่วนผสมจากข้อ 5 ลงไปคนให้เข้ากันกับน้ำละลาย นำไปเคี่ยวด้วยไฟปานกลาง ช้อนฟองทิ้ง ในขณะที่ต้มคนบ่อย ๆ นะคะให้เดือดไปเรื่อยๆ ไฟไม่ต้องแรง เติมเกลือเล็กน้อย

7.       เมื่ออุณหภูมิได้ที่แล้วนำไปลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วด้วยน้ำ โดยนำน้ำใส่กาละมังแล้วนำหม้อต้มไปแช่และกวนไปด้วยให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นน้ำเย็นได้ยิ่งดี เหตุผลเพื่อรักษาคุณภาพ กลิ่นและรสชาติของผลไม้ไว้ให้ได้มากที่สุด
8.       กรองแล้วบรรจุขวดปิดฝาให้สนิท นำเข้าตู้เย็น ให้เย็นจัดจะอร่อย ชื่นใจมาก 


ข้อควรระวัง ควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นตลอดเวลา หรือให้อยู่ในความเย็น เก็บไว้ทานได้ ประมาณ 15-20 วัน ไม่เสียรสชาดค่ะ
หมายเหตุ: สาเหตุที่ต้มก็เพราะนอกจากจะเป็นการฆ่าเชื้อที่เป็นอันตรายต่อทางเดินอาหารแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของไลโคปีนด้วย ซึ่งร่างกายจึงจะสามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

เราจะได้ประโยชน์จากสารอาหารในฟักข้าวอย่างเต็มที่ จำเป็นต้องนำฟักข้าวไปผ่านความร้อนค่ะ ทำให้เราสามารถย่อยสารอาหารได้อย่างดีที่สุด

จะแปลกกว่าผักผลไม้ชนิดอื่น เพราะส่วนใหญ่โดนความร้อนแล้วจะสูญเสียวิตามินไปแต่ฟักข้าวต้องผ่านความร้อนถึงจะย่อยสลายและดูดซึมได้นะ!!!
และที่สำคัญ น้ำฟักข้าวจะอุดมไปด้วยสารอาหารเข้มข้นมาก ควรดื่มไม่เกินวันละ 1-2 แก้วก็เพียงพอแล้ว

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

เกลอ 3 คน



ชายคนหนึ่งมีเพื่อนเกลออยู่ 3 คน 

เกลอคนที่ 1 เขารักมาก ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเกลอคนนี้ 
เกลอคนที่ 2 เขารักรองลงมาจากคนแรก 
เกลอคนที่ 3 เขาไม่สนใจ และไม่เคยทำอะไรเพื่อเกลอผู้นี้เลย 


ต่อมาในไม่ช้า เขาก็ได้ตายลง ความที่จิตเขาผูกพันอยู่กับเกลอคนที่หนึ่ง เขาจึงไปหา แต่เกลอคนนี้ไม่ไยดีเขาเลย เขาพูดด้วยก็ไม่ยอมเจรจาตอบ เขารู้สึกเสียใจมาก และนึกเสียดายว่า ขณะที่มีชีวิตอยู่ เขาไม่ควรทุ่มเทเพื่อเกลอคนนี้ 

จากนั้นเขาจึงไปหาเกลอคนที่ 2 
เกลอผู้นี้ดีกว่าเกลอคนแรกตรงที่ตามไปส่งเมื่อเขาเดินทางไปปรโลก แต่ส่งเพียงครึ่งทางก็กลับ 


คงมีแต่เกลอคนที่ 3 เท่านั้นที่ติดตามเขา และร่วมเดินทางไปกับเขาตลอดเส้นทาง ไม่เคยทอดทิ้งเขาแม้แต่เพียงอึดใจเดียว

หลังอ่านจบแล้วขอถามนะว่า รู้ไหมว่า เกลอคนที่ 1, 2 และ 3 เป็นใครกันบ้าง 

เกลอคนที่ 1 คือทรัพย์สมบัติ 
เพราะเวลาเรามีชีวิตอยู่ เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แต่พอเราตาย มันกลับไม่ไปกับเรา แถมเวลาเราพูดด้วย มันก็ไม่พูดกับเรา

เกลอคนที่ 2 คือ ลูกเมีย ญาติพี่น้อง
เพราะพอเราตาย เขาก็ทำบุญให้เรา ทำศพให้ แปลว่าเขาไปส่งเราแค่ครึ่งทาง

เกลอคนสุดท้าย คือ บุญกับบาป เมื่อเราตายไป เราไม่สามารถเอาอะไรไปด้วยได้ ยกเว้นเพียงแต่บุญกับบาปเท่านั้นที่ติดตามเราไป เพราะฉะนั้น เราต้องเอาใจใส่เกลอคนที่ 3 ให้มากโดยเฉพาะคนที่ชื่อ นายบุญ ส่วนนายบาป เราต้องหนีให้ไกล อย่าได้เอาไปเป็นเพื่อนร่วมทางโดยเด็ดขาด จำไว้ว่าใครที่มัวหลงใหลเอาใจแต่เกลอคนที่ 1 จึงเป็นคนโง่ 
หลังอ่านจบแล้วได้แง่คิดอะไรบ้างไหม?  

From :: FFmail 

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

อาหารต้องห้าม(อาหารแสลง)....

อาหารต้องห้าม(อาหารแสลง)....ในเวลาที่ไม่ควรกินเพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี

4 เมนู อาหารต้องห้ามที่ไม่ควรทานตอนเช้า  เพราะมีแคลอรี่สูง สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพควรหลีกเลี่ยงอาหาร ทั้ง 4 อย่างนี้ ซึ่งใครๆก็ชอบและคิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกอย่างก็สะดวกรวดเร็วสำหรับอาหารเช้าที่เร่งรีบไปดูกันเลยดีกว่าว่าจะมีอาหารอะไรบ้าง
1.ขนมปังปิ้งทา Chocolate Spread
โฆษณากันมากกับรสชาติที่หวานของ เฮเซลนัท และ โกโก้ แต่ขอบอกน่ะค่ะ ชอบมากๆ อร่อยมากๆ แต่ก็ต้องตกใจกับปริมาณแคลอรีที่เราทานเข้าไป  Chocolate Spread เพียง 2 ช้อนโต๊ะบนขนมปังปิ้ง 1 แผ่น แคลอรี่ก็พุ่งถึง 200 แคลอรี่แล้ว ทางที่ดีให้เปลี่ยนเป็นแยมผลไม้ดีกว่า เพื่อสุขภาพด้วย
 2.ซีเรียลใส่นม
ที่เป็นอาหารเช้าของเด็กๆหลายๆ คนที่ชื่นชอบเลยน่ะ นักวิจัยเค้าพบว่า เกือบ 100% ของซีเรียลไม่ได้ผลิตจากโฮลเกรนแท้ 100 % ตามที่เขียนใว้ข้างกล่อง เพราะมันมีส่วนผสมแป้งกับน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ประโยชน์ที่ร่างกายได้รับและเอามาใช้ได้จริงๆ นั้นมาจากนมซะมากกว่า
3.Health Bars
ที่อัดแน่นไปด้วยธัญพืช ที่เค้าว่ากันกินแล้วจะได้พลังงานที่สูง ไขมันต่ำ แต่รู้กันไหมว่าอาหารจำพวกนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของความหวานเพราะมีส่วนประกอบ ของน้ำตาลอย่างน้อย 3 ชนิดขึ้นถ้าเราหยิบ Health Bars กินเป็นอาหารเช้าเท่ากับเราเอาน้ำตาลเข้าปากไปตั้ง 30 กรัมเลยน่ะ
4.แฮม.เบคอน.ใส้กรอก
ที่กล่าวมามันเป็นสุดยอดของอร่อยเลย  ส่วนมากแล้วคนส่วนมากจะชอบทานเนื้อหมูแปรรูปพวกนี้กันมากโดยเฉพาะเวลาไป ทานบุพเฟ่ต์มักจะนิยมทานกันมาก จึงมาเตือนให้ลดความชอบลงหน่อยจะดีมากเลย เพราะการงดปริมาณเนื้อหมูแปรรูปทุกๆ 100 กรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 20 %  ให้เราหันมาดูสุขภาพกัน ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อตัวเอง   ยุคนี้สุขภาพต้องมาก่อน ผู้หญิงห้ามหยุดสวยต่ะ
credit : thaibright.blogspot.com

และนี่คืออาหารที่ไม่ควรกินในตอนบ่าย เพราะจะทำให้ง่วงนอน ยิ่งทานอาหารกลางวันมาจนหนังท้องตึง หนังตาก็อยากจะหย่อน และมาเจออาหาร 4 เมนูนี้เข้าไปอีกหลับคาโต๊ะทำงานแน่นอน ถ้าไม่อยากง่วงก็ควรงดอาหารเหล่านี้นะคะ
   ช็อกโกแลต นอกจากจะอร่อยแบบไม่มีลิมิตแล้ว ช็อกโกแลตยังมีสาร Phenylethylamine อยู่เพียบ และจะทำให้คุณง่วงนอนได้ในทันทีทันใด นี่ยังไม่นับน้ำตาลและไขมันอีกมหาศาล
   ขนมปังขาวและข้าวขาว ในแป้งขัดสีจะมีคาร์โบไฮเดรตชนิดเร่งด่วน ซึ่งจะเข้าสู่ตับอ่อนได้ทันที จากนั้นตับอ่อนก็จะหลั่งอินซูลินออกมา ทำให้เลือดมีน้ำตาลเพิ่มขึ้น ทีนี้สมองเราก็จะเบลอ .. เคลิ้ม และหลับ....
   ผลิตภัณฑ์นม  ไม่ว่าจะเป็นนมเปรี้ยว โยเกิร์ตหรือชาใส่นม เนื่องจากโปรตีนในนมจะหลั่งกรดอะมิโนออกมา และเมื่อร่างกายมีกรดมากเกินไปเราก็จะง่วงนอน
   กล้วย  กล้วยเป็นอาหารแก้เครียด เพราะมันอุดมไปด้วยฮอร์โมนเซโรโทนินและนอร์เอพินฟริน ซึ่งทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา แต่ในสถานการณ์นี้ ความสุขที่คุณได้รับจะมาพร้อมความทุกข์ ถ้าเจ้านายผ่านมาเห็นตอนคุณหลับคาโต๊ะทำงาน
ที่มา http://women.thaiza.com/อาหารต้องห้าม-ในยามบ่าย/


ส่วนอาหารเย็นที่ไม่ควรกิน เพราะจะทำให้มีปัญหากับการนอน และต้องงดการทานอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้ 

1) แอลกอฮอลล์ แม้ว่าการดื่มเเอลกอฮอลล์(เช่นไวน์ )ก่อนนอน จะทำให้มึ
น ง่วง ได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีผลได้ไม่นานนัก หลังจากเคลิ้มหลับไม่นานนักคุณภาพการนอนจะเลวร้ายมาก จะตื่นบ่อยๆกลางดึก หลับได้ไม่ลึก ไม่สนิท จนตื่นนอนมาด้วยความอ่อนล้า 

2) อาหารรสจัด รสเผ็ด ก่อนนอน มีผลให้คุณภาพการนอนลดลงอย่างเห็นได้ชัด (สังเกตูจากคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมการทดลอง คือ คลื่นสมองในขณะหลับ หดสั้นลง) 

3) อาหารมีไขมันสูง ไขมันเป็นอาหารที่ย่อยยาก ใช้เวลาย่อยนาน การทานก่อนนอนจึงทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงาน เอ็นไซม์ ในกระบวนการย่อยและดูดซึมในขณะนอนหลับ รบกวนคุณภาพการนอน หรือต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆกลางดึก 

4) กาแฟ ควรงดกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน(น้ำอัดลมและชาก็มีคาเฟอีน) 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน



เรื่องที่ 4 ของอาหารต้องห้าม คือ "อาหารที่ไม่ควรกินตอนท้องว่าง"
คุณทราบไหมว่า...เมื่อท้องของคุณว่างแล้วคุณรับประทานอาหารเข้าไป อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคุณได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรับประทานอาหาร ควรเลือกชนิดของอาหารเสียก่อน อาหารที่ไม่ควรรับประทาน ขณะท้องว่างมีชนิดใดบ้างเรามาดูกัน.... 

กล้วย แม้จะเป็นผลไม้ที่พกแมกนีเซียมมาเพียบ แต่เวลาท้องว่าง ร่างกายจะดูดซึมแมกนีเซียมได้ดีเกินไป เป็นผลร้ายต่อหลอดเลือดหัวใจ ดีไม่ดีหลอดเลือดเปราะขึ้นมาเราจะแย่

กระเทียม จะเข้าไปทำปฎิกิริยากับเยื่อบุกระเพาะอาหาร ถ้าทานพร้อมอาหารอื่นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าในลำไส้ไม่มีตัวช่วยเลย ไม่นานโรคกระเพาะได้ถามหาแน่

ชาแก่จัด สังเกตไหมว่าดื่มชาตอนท้องว่างแล้ว คุณมักใจสั่น มือสั่น ไม่มีแรง นั่นเพราะคุณถูกสารเทนนินที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว เล่นงานเข้าแล้ว

ผัก การรับประทานผักอย่างเดียวขณะท้องว่างจะทำให้กระเพาะอาหารเกิดอาการผิดปกติ

นมและนมถั่วเหลือง แม้ว่านมถั่วเหลืองจะอุดมไปด้วยโปรตีน แต่จะเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อกระเพาะอาหารมีสารอาหารประเภทแป้งอยู่ด้วย ดังนั้นในขณะที่ท้องว่างจึงไม่ควรรับประทาน

เหล้า หากดื่มเหล้าในขณะท้องว่างจะไปกระตุ้นเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้

น้ำตาลหรืออาหารหวาน ไม่ควรรับประทานอาหารหวานหรือน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เพราะหากรับประทานขณะท้องว่างจะทำให้โปรตีนรวมตัวกับน้ำตาลส่งผลต่อการดูดซึมโปรตีนทุกชนิดและลดสมรรถภาพการทำงานของระบบหมุนเวียนเลือดและไต

ลูกพลับ ไม่ควรรับประทานลูกพลับในขณะที่ท้องว่าง เพราะกระเพาะอาหารจะหลั่งกรดเกลือออกมามาก หากไปรวมตัวกับยางและสารแขวนลอยในลูกพลับแล้วจะทำให้เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ และเป็นแผลในกระเพาะอาหาร แต่การกินผลไม้ตอนท้องว่าง จะได้ประโยชน์มากกว่ากินพร้อมหรือหลังอาหาร เพราะผลไม้มีกากใยและย่อยง่ายกว่าอาหาร จะช่วยเรื่องขับถ่าย และร่างกายจะได้รับวิตามินเต็มที่ เวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ควรจะกินผลไม้หรือดื่มน้ำผลไม้ คือ ช่วงเช้าของทุกวัน ตั้งแต่ตอนตื่นจนถึงเที่ยง ผลไม้บางชนิดก็มีกรดช่วยย่อยเช่น สับปะรด มะละกอเป็นต้น สามารถทานหลังอาหารเพื่อช่วยย่อยได้ สรุปผลไม้ส่วนใหญ่ทานตอนท้องว่างจะได้ประโยชน์มาก ยกเว้นลูกพลับค่ะ 

นอกจากนั้น ยังไม่ควรอาบน้ำและออกกำลังกายด้วยเช่นกัน เพราะการอาบน้ำและการออกกำลังกายในขณะที่ท้องว่างจะทำให้เกิดอาการช็อกเนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่าย 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

เภสัชกรรมไทย(ต่อ)

๓. คณาเภสัช 
หมายถึง หมู่ยา กลุ่มยา เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์ของไทย ในการจัดตัวยา หรือเภสัชวัตถุรวมกันไว้เป็นกลุ่มเป็นหมู่เป็นพวก เพื่อสะดวกในการจดจำ หรือสะดวกในการเขียนสูตรยา ตัวยาที่เข้าพวกกันนั้น ต้องมีรสและฤทธิ์ไปในทางเดียวกัน อาจเสริมฤทธิ์กัน ไม่ต้านกัน และใช้ในปริมาณเท่ากัน โดยอาจผูกชื่อเรียกเฉพาะ แต่เป็นที่เข้าใจกัน ในหมู่ผู้ที่ศึกษาวิชาการแพทย์แผนไทย เช่น ตรีผลา หมายถึง สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม หรือเรียกเป็นชื่อกลางๆ ของตัวยาที่อยู่ในหมู่นั้น เช่น ตรีสมอ หมายถึง สมอไทย สมอพิเภก และสมอเทศ คณาเภสัชแบ่งออกเป็น ๓ พวกใหญ่ๆ ได้แก่ จุลพิกัด พิกัดยา หรือพิกัดตัวยา และมหาพิกัด 

ก. จุลพิกัด 
เป็นการจำกัดตัวยาไว้น้อยชนิด โดยมากเป็น ๒ ชนิด แต่ที่เป็น ๑ หรือ ๓ ชนิดก็มี ตัวยาแต่ละอย่างใช้ในน้ำหนักเท่ากัน โดยพิกัดนี้มีชื่อร่วม หรือเหมือนกัน อาจแบ่งได้เป็น ๕ ประเภท คือ  

(๑) ประเภทต่างถิ่นที่เกิด  
(๒) ประเภทต่างสี  
(๓) ประเภทต่างขนาด 
(๔) ประเภทต่างเพศ  
(๕) ประเภทต่างรส 

ข. พิกัดยา หรือ พิกัดตัวยา 
เป็นการจำกัดตัวยาไว้โดยใช้ชื่อเดียวกัน ใช้ในขนาดเท่าๆ กัน (เสมอภาค) เพื่อสะดวกแก่ผู้ตั้งตำรา ผู้คัดลอกตำรับยา และแพทย์ผู้ปรุงยา โดยมีชื่อเป็นคำศัพท์บ้าง มีชื่อโดยตรงของตัวยาบ้าง แบ่งเป็น ๗ ประเภท รวม ๘๑ พิกัด ตัวอย่างเช่น พิกัดเทวคันทา พิกัดตรีกฏุก พิกัดจตุวาตผล พิกัดเบญจโลกวิเชียร พิกัดโหราพิเศษ พิกัดโกฐทั้งเจ็ด พิกัดเทียนทั้งเก้า พิกัดเทศกุลาผล 

ค. มหาพิกัด  
เป็นการจำกัดตัวยาหลายๆ อย่างไว้เป็นหมู่เป็นพวกเดียวกัน แต่กำหนดส่วน หรือปริมาณโดยน้ำหนักของยาไว้มากน้อยต่างกัน ตามสมุฏฐานแห่งโรค โดยที่สัดส่วนของตัวยาทั้งหลาย จะเปลี่ยนไปตามรสประธานที่ต้องการ ซึ่งรสประธานของยานั้น จะขึ้นอยู่กับสมุฏฐานแห่งโรคว่า เกิดจากอะไร 

๔. เภสัชกรรม (การปรุงยา หรือการประกอบยา) 
หมายถึง การผสมตัวยาหรือเครื่องยาตั้งแต่ ๒ ชนิดขึ้นไปเข้าด้วยกัน ตามที่กำหนดไว้ในตำรับยา โดยในการปรุงยา แพทย์ต้องพิจารณาเรื่องสำคัญ ๓ เรื่อง คือ

ก. พิจารณาลักษณะของตัวยา
ต้องพิจารณาว่า ในตำรับยาให้ใช้ส่วนใดของตัวยา เช่น พืชวัตถุ อาจใช้ส่วนเปลือกต้น ราก หรือดอก สัตววัตถุ อาจใช้กระดูก กระดอง หนัง หรือดี และธาตุวัตถุ อาจดิบ หรือต้องสะตุ (การทำให้เป็นผงบริสุทธิ์ด้วยการใช้ความร้อนจัด) หรือต้องแปรสภาพก่อน นอกจากนี้ ตัวยาในตำรับยาอาจให้ใช้สด หรือแห้ง อ่อนหรือแก่ เนื่องจากสรรพคุณจะแตกต่างกัน เช่น ขิงสด ขิงแห้ง ลูกสมออ่อน ลูกสมอแก่ ตัวยาบางอย่างต้องแปรสภาพก่อน จึงจะใช้ผสมยาได้ เช่น หอยมุก บัลลังก์ศิลา (ปะการังแดง) กระดูก เขี้ยว เขา หากยังไม่แปรสภาพ สรรพคุณจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตัวยาบางอย่างมีฤทธิ์แรง ก็ต้อง
"ฆ่า" ฤทธิ์เสียก่อน เช่น เมล็ดสลอด ยางสลัดได ชะมดเช็ด ทั้งนี้วิธีการแปรสภาพ หรือ "ฆ่า" ตัวยาที่มีฤทธิ์แรงนั้น มีวิธีทำที่แตกต่างกันไป

ข. พิจารณาขนาดของตัวยา
ต้องทราบว่าในตำรับนั้นให้ใช้ตัวยาในปริมาณสิ่งละเท่าใด โดยโบราณกำหนดไว้เป็นมาตราน้ำหนัก ได้แก่ ชั่ง (๑ ชั่ง เท่ากับ ๒๐ ตำลึง คิดเป็นน้ำหนักในมาตราเมตริก ๑,๒๑๖ กรัม) ตำลึง (๑ ตำลึง เท่ากับ ๔ บาท) และบาท (๑ บาท เท่ากับ ๔ สลึง คิดเป็นน้ำหนัก ในมาตราเมตริก ๑๕ กรัม) หรือเป็นมาตราตวง ซึ่งหน่วยที่ใช้มากในตำราพระโอสถพระนารายณ์คือ 
"ทะนาน" โดยทั่วไปปริมาตร "๑ ทะนาน" เท่ากับปริมาตรของกะโหลก (มะพร้าว) ที่บรรจุเบี้ย (ที่ใช้เป็นเงินตรา) ได้เต็มตามจำนวนที่กำหนด เช่น "ทะนาน ๕๐๐" เป็นปริมาณที่บรรจุเบี้ยได้ ๕๐๐ เบี้ย "ทะนาน ๘๐๐" เป็นปริมาณที่บรรจุเบี้ยได้ ๘๐๐ เบี้ย โดยทั่วไป ปริมาตรที่นิยมใช้กันมาก ในสมัยโบราณ คือ "ทะนาน ๕๐๐" นอกจากนั้นหากในตำรับยาไม่ได้ระบุขนาดของตัวยาแต่ละตัวไว้ ก็ให้ถือว่า ใช้ขนาดเท่ากัน (โบราณเรียก "เสมอภาค")

ค. พิจารณาวิธีการปรุงยา
วิธีการปรุงยาตามแบบแผนไทยโบราณนั้น ตามตำราเวชศึกษา อาจแบ่งเป็นวิธีต่างๆ ได้ ๓ แบบ คือ แบบที่แบ่งเป็น ๒๓ วิธี แบบที่แบ่งเป็น ๒๔ วิธี และแบบที่แบ่งเป็น ๒๕ วิธี

วิธีปรุงยาแบบ ๒๓ วิธี ได้แก่  
(๑) ยาตำเป็นผงแล้ว ปั้นเป็นลูกกลอนกิน 
(๒) ยาตำเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียดละลายน้ำกระสายต่างๆ กิน 
(๓) ยาสับเป็นท่อนเป็นชิ้น บรรจุลงในหม้อ เติมน้ำ ต้ม รินแต่น้ำกิน  
(๔) ยาดอง แช่ด้วยน้ำท่าหรือน้ำสุรา แล้วรินแต่น้ำกิน 
(๕) ยาแช่กัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ แล้วหยดลงเติมน้ำตามส่วน ดื่มกิน 
(๖) ยาเผาให้เป็นด่าง เอาด่างแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำด่างนั้นกิน  
(๗) ยาเผาหรือสุมไฟให้ไหม้ตำเป็นผง บดให้ละเอียด ละลายน้ำกิน  
(๘) ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ แล้วเอาน้ำเหงื่อนั้นกิน 
(๙) ยาประสมแล้ว ห่อผ้าหรือบรรจุลงในกลัก เอาไว้ใช้ดม 
(๑๐) ยาประสมแล้ว ตำเป็นผง กวนให้ละเอียด ใส่กล้อง เป่าทางจมูกและในคอ
(๑๑) ยาหุงด้วยน้ำมัน เอาน้ำมันใส่กล้อง เป่าที่บาดแผล  
(๑๒) ยาประสมแล้ว ติดไฟ ใช้ควัน ใส่กล้อง เป่าบาดแผลและฐานฝี  
(๑๓) ยาประสมแล้วมวนเป็นบุหรี่ หรือยัดกล้องสูบ สูบเอาควัน
(๑๔) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอมหรือบ้วนปาก  
(๑๕) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอาบ 
(๑๖) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่  
(๑๗) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำชะ 
(๑๘) ยาประสมแล้ว ต้มเอาไอรม 
(๑๙) ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาสุม  
(๒๐) ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาทา 
(๒๑) ยาประสมแล้ว ทำเป็นลูกประคบ
(๒๒) ยาประสมแล้ว ใช้เหน็บทวารหนัก 
(๒๓) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวนทวารหนัก

สำหรับวิธีการปรุงยาแบบ ๒๔ วิธีนั้น เพิ่ม 
"ยาพอก" เข้ามาเป็นวิธีที่ ๒๔ ยาพอกนั้นเตรียมได้โดยการเอาตัวยาต่างๆ มาประสมกัน แล้วตำให้แหลก พอกไว้บริเวณที่ต้องการ ส่วนตำราที่ให้วิธีการปรุงยาแบบโบราณเป็น ๒๕ วิธีนั้น เพิ่ม "ยากวาด" เข้ามาเป็นวิธีที่ ๒๕

โดยสรุปแล้ว แพทย์แผนไทยต้องมีความรู้ในหลักวิชาเภสัชกรรมไทย ซึ่งครอบคลุมความรู้ทั้ง ๔ ด้าน คือ เภสัชวัตถุ สรรพคุณเภสัช คณาเภสัช และเภสัชกรรม จึงจะปรุงยาที่มีคุณภาพดี มีประสิทธิผล และปลอดภัย 

ที่มาของข้อมูล -สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

เภสัชกรรมไทย

เภสัชกรรมไทย

เภสัชกรรมไทยเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยทุกคนต้องมีความรู้ในด้านนี้ จึงสามารถประกอบวิชาชีพรักษาผู้ป่วยได้
ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทย ผู้เป็นแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในหลักความรู้ ๔ ประการ(กิจ ๔ ของหมอ) อันได้แก่ เภสัชวัตถุ สรรพคุณเภสัช คณาเภสัช และเภสัชกรรม

๑. เภสัชวัตถุ 
หมายถึง วัตถุนานาชนิดที่นำมาใช้เป็นยาบำบัดโรค ซึ่งอาจจำแนกตามแหล่งที่มาของวัตถุที่นำมาใช้เป็นยานั้น เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ 

พืชวัตถุ ได้แก่ พรรณพฤกษชาตินานาชนิด ทั้งประเภทต้น ประเภทเถาหรือเครือ ประเภทหัว-เหง้า ประเภทผัก ประเภทหญ้า ประเภทพืชพิเศษ (เห็ดและพืชชั้นต่ำอื่นๆ)
สัตววัตถุ ได้แก่ สัตว์นานาชนิดที่ทั้งตัว หรือเพียงบางส่วน นำมาใช้เป็นเครื่องยา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์บก หรือสัตว์อากาศ (สัตว์ที่บินได้) และ
ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องยา ทั้งที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ หรือที่ประสมขึ้น

ตำราการแพทย์แผนไทยระบุไว้ว่า สรรพวัตถุที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนเกิดแต่ธาตุทั้ง ๔ และย่อมใช้เป็นยาบำบัดโรคได้ทั้งสิ้น แต่จะมีสรรพคุณมากน้อยกว่ากันอย่างไร ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุนั้นๆ แพทย์ผู้ปรุงยาจึงต้องรู้จักตัวยาใน ๕ ประการ ได้แก่

ก. รู้จักรูปยา

คือ รู้ว่าเครื่องยาที่ใช้เป็นอะไร เป็นส่วนใดของพืช เช่น ใบ ดอก ผล เปลือก กระพี้ แก่น ราก หรือเป็นส่วนใดของตัวสัตว์ เช่น ขน หนัง เขา กระดูก กีบ นอ งา เขี้ยว ฟัน กราม ดี หรือเป็นของที่เกิดแต่ธรรมชาติ เช่น เกลือ เหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักรูปยา

ข. รู้จักสียา
คือ รู้จักสีของเครื่องยา รู้ว่าเครื่องยาอย่างนี้มีสีขาว สีเหลือง สีเขียว หรือสีดำ เช่น รู้ว่าการบูรมีสีขาว รงทองมีสีเหลือง จุนสีมีสีเขียว ฝางเสนมีสีแสดแดงหรือสีแดงแสด ยาดำมีสีดำ เหล่านี้จึงจะจัดว่า รู้จักสียา

ค. รู้จักกลิ่นยา
คือ รู้จักกลิ่นของเครื่องยา รู้ว่าอย่างนี้มีกลิ่นหอม อย่างนี้มีกลิ่นเหม็น เช่น พิมเสน หญ้าฝรั่น อำพันทอง กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก มีกลิ่นหอม ยาดำ มหาหิงคุ์ มีกลิ่นเหม็นเหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักกลิ่นยา

ง. รู้จักรสยา
คือ รู้จักรสของเครื่องยา รู้ว่ายาอย่างนี้มีรสจืด รสฝาด รสหวาน รสเบื่อเมา รสขม รสมัน รสเย็น รสเค็ม รสเปรี้ยว เช่น กำมะถันมีรสจืด เบญกานีมีรสฝาด ชะเอมมีรสหวาน เมล็ดสะบ้ามีรสเบื่อเมา บอระเพ็ดมีรสขม พริกไทยมีรสเผ็ดร้อน เมล็ดงามีรสมัน ดอกมะลิมีรสหอมเย็น เกลือมีรสเค็ม มะขามเปียกมีรสเปรี้ยว เหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักรสยา



จ. รู้จักชื่อยา
คือ รู้จักชื่อของเครื่องยา รู้ว่าชื่อยาอย่างนั้นอย่างนี้คืออะไร มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร จึงจัดว่า รู้จักชื่อยา
แพทย์ผู้ปรุงยาต้องรู้จักเภสัชวัตถุในรายละเอียดทั้ง ๕ ประการนี้  จึงจะสามารถนำเอาเครื่องยาที่ถูกต้อง ตามที่ระบุไว้ในตำรับยา มาปรุงเป็นยาแก้โรคที่ต้องการได้

๒. สรรพคุณเภสัช 

หมายถึง คุณสมบัติทางยาของเภสัชวัตถุที่กล่าวถึงข้างต้น ตามหลักวิชาเภสัชกรรมไทยระบุว่า ก่อนที่จะรู้สรรพคุณของยา จำเป็นต้องรู้รสของยาก่อน เนื่องจาก หลักวิชาการแพทย์แผนไทยกล่าวว่า รสของยาจะแสดงสรรพคุณยา ดังนั้น เมื่อรู้จักรสยาแล้ว ก็จะรู้จักสรรพคุณของยานั้นอย่างกว้างๆ ได้ ในเรื่องของรสยานี้ ตำราแบ่งออกเป็นรสประธาน ๓ รส คือ

ก. ยารสเย็น
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยเกสรดอกไม้ (ที่ไม่ร้อน) ใบไม้ รากไม้ (ที่ไม่ร้อน) สัตตเขา (เขาสัตว์ ๗ ชนิด ได้แก่ เขาวัว เขาควาย เขากระทิง เขากวาง เขาแกะ เขาแพะ และเขาเลียงผา) เนาวเขี้ยว (เขี้ยวสัตว์ ๙ ชนิด ได้แก่ เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวหมี เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมาป่า เขี้ยวปลาพะยูน เขี้ยวจระเข้ เขี้ยวเลียงผา นอแรด และงาช้าง) และของที่เผา หรือสุมให้เป็นถ่าน เมื่อปรุงเป็นยาเสร็จแล้ว จะได้ยารสเย็น ใช้แก้โรคที่เกิดจากธาตุไฟ

ข. ยารสร้อน 
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยเบญจกูล (ตัวยาที่มีรสร้อน ๕ อย่าง ได้แก่ ดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง และขิงแห้ง) ตรีกฏุก (ตัวยาที่มีรสร้อน ๓ อย่าง ได้แก่ ขิงแห้ง พริกไทย และดีปลี) หัสคุณ ขิง ข่า เมื่อปรุงเป็นยาเสร็จแล้ว จะได้ยาที่มีรสร้อน ใช้แก้โรคที่เกิดจากธาตุลม

ค. ยารสสุขุม
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยโกฐ เทียน กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก เมื่อปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยาที่มีรสสุขุม เช่น ยาหอม สำหรับแก้โรคทางโลหิต

รสประธานทั้ง ๓ รสนั้น แพทย์แผนไทยยังแบ่งย่อยออกได้เป็น ๙ รส คือ
(๑) รสฝาด สำหรับสมาน
(๒) รสหวาน สำหรับซึมซาบไปตามเนื้อ
(๓) รสเบื่อเมา สำหรับแก้พิษ
(๔) รสขม สำหรับแก้ทางโลหิต
(๕) รสเผ็ดร้อน สำหรับแก้ลม
(๖) รสมันสำหรับแก้เส้น 
(๗) รสหอมเย็น สำหรับบำรุงหัวใจ
(๘) รสเค็ม สำหรับซึมซาบไปตามผิวหนัง และ
(๙) รสเปรี้ยว สำหรับกัดเสมหะ แต่ในตำรา เวชศึกษา (ตำราหลวง) ของพระยาพิศนุประสาทเวช ได้เพิ่ม รสจืด อีก ๑ รส รวมเป็น ๑๐ รส

ตำราแพทย์แผนไทยสรุปว่า โรคที่เกิดจากปถวีธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสฝาด รสหวาน รสมัน รสเค็ม โรคที่เกิดจากอาโปธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเปรี้ยว รสเบื่อเมา รสขม ส่วนโรคที่เกิดจากวาโยธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสสุขุม รสเผ็ดร้อน โรคที่เกิดจากเตโชธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเย็น รสจืด และได้กำหนดตัวยาประจำธาตุต่างๆ ไว้ คือ ดีปลี ประจำปถวีธาตุ เถาสะค้าน ประจำวาโยธาตุ รากช้าพลู ประจำอาโปธาตุ รากเจตมูลเพลิง ประจำเตโชธาตุ และขิงแห้ง ประจำอากาศธาตุ