วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประวัติการแพทย์แผนไทย(1)

ประวัติการแพทย์แผนไทย

การศึกษาเพื่อให้เห็นภาพการแพทย์ของคนไทยในสมัยโบราณนั้น อาจศึกษาได้จาก หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีเหลือตกทอด มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์ของราชสำนัก หลักฐานเหล่านี้ สะท้อนภาพรวมของการแพทย์ ในแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี
สมัยอยุธยา

ทำเนียบศักดินาของกรมหมอนวดใน "กฎหมายตราสามดวง"

ช่วงก่อนสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๗๙๒ ถึงราวพ.ศ. ๑๙๙๘ ไม่มีจารึก ตำรา หรือเอกสารโบราณ เหลือตกทอดมาให้ได้ศึกษาเรียนรู้การแพทย์แผนไทย ในสมัยนั้น อย่างไรก็ดี มีหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เห็นภาพ ในบางแง่มุมของการแพทย์ในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ทำเนียบศักดินา ใน
"กฎหมายตราสามดวง" ที่ตราขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีการระบุศักดินาของข้าราชการพลเรือน ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นกรมต่างๆ หลายกรม เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรม และตำแหน่งข้าราชการระดับอื่นๆ ที่มีศักดินาลดหลั่นกันไป ดังปรากฏอยู่ในข้อความนี้
"…ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ นา ๒๐๐๐ พระศรีมโหสถ ราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหน้า นา ๑๖๐๐ เจ้ากรมหมอนวด ซ้าย ขวา หลวงราชรักษา หลวงราโช นาคล ๑๖๐๐ ออกพระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย นา ๑๔๐๐…"

ทั้งนี้ ตำแหน่ง
"ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ" ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโรงพระโอสถ เป็นผู้ที่ถือศักดินาสูงสุดในบรรดาข้าราชการฝ่ายหมอหลวง แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญ ของแพทย์ปรุงยา ซึ่งทำหน้าที่ทั้งเสาะหา รวบรวม และดูแลรักษาเครื่องยาสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งการปรุงยาหลวง และประสานงานกับหมอในกรมอื่นๆ นอกจากนี้กรมหมอนวดก็เป็นกรมที่มีความสำคัญด้วย เนื่องจาก "การนวด" เป็นการบำบัดโรคพื้นฐานในสมัยนั้น ในเรื่องนี้ เดอ ลาลูแบร์ (de la Loube`re) ราชทูตชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า "...ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญการในทางนี้ ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ และใช้เท้าเหยียบๆ..."


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย / ประวัติการแพทย์แผนไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น