วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประวัติการแพทย์แผนไทย(3)

สมัยรัตนโกสินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมตำราต่างๆ ครั้งใหญ่ จากหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ และหมอที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยให้ พระพงษ์อำมรินทรราชนิกูล พระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นนายกองผู้รวบรวม
ตำราแพทย์และตำรายาพระโอสถ ที่รวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ และมีการตรวจชำระอย่างดีแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวราว ๓๐ เซนติเมตร ประดิษฐานไว้ที่วัดราชโอรสาราม ใน พ.ศ. ๒๓๖๔ สองปีหลังจากอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ ที่กรุงเทพฯ จารึกตำรายาบนหินอ่อน ซึ่งประดับบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และที่ศาลารายหลังเล็กที่ปลูกติดกับกำแพงแก้ว หน้าพระอุโบสถ ยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้
ตำรายาที่จารึกไว้บนแผ่นหินอ่อน ประดับที่ผนังด้านนอกบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ

แผ่นศิลาที่จารึกตำรายา ณ วัดราชโอรสาราม

ตำราแพทย์และตำรายาพระโอสถ ที่รวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ และมีการตรวจชำระอย่างดีแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวราว ๓๐ เซนติเมตร ประดิษฐานไว้ที่วัดราชโอรสาราม ใน พ.ศ. ๒๓๖๔ สองปีหลังจากอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ ที่กรุงเทพฯ จารึกตำรายาบนหินอ่อน ซึ่งประดับบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และที่ศาลารายหลังเล็กที่ปลูกติดกับกำแพงแก้ว หน้าพระอุโบสถ ยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามครั้งใหญ่ ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบำเรอราชแพทยา พระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทำหน้าที่สืบหาตำรายา และตำราลักษณะโรคทั้งปวง มาจารึกไว้บนแผ่นศิลา ติดไว้ตามศาลาราย มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ผู้ถวายตำรับยาต้องสาบานตนว่า ยาขนานนั้น ตนได้ใช้มาและไม่ปิดบัง แล้วให้พระยาบำเรอราชแพทยาตรวจดูอีกครั้ง ถ้าเห็นว่าดี ก็ให้จารึกไว้ โดยให้จารึกชื่อเจ้าของตำรับยากำกับไว้ด้วย จารึกเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยนี้ แบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ ๔ หมวด ได้แก่
๑. หมวดเวชศาสตร์
เป็นจารึกเกี่ยวกับโรคต่างๆ ว่าด้วยสมุฏฐานของการเกิดโรค พร้อมระบุตำรับยาต่างๆ ที่ใช้แก้โรคนั้นๆ ซึ่งมีจารึกไว้ถึง ๑,๑๒๘ ขนาน
๒. หมวดเภสัชศาสตร์
เป็นจารึกว่าด้วย สรรพคุณของเครื่องยาสมุนไพรแต่ละชนิด ทั้งที่เป็นของไทยและของเทศ ส่วนที่ใช้ประโยชน์ และวิธีการใช้ประโยชน์ มีจารึกไว้ ๑๑๓ ชนิด

             การย่อยขนาดตัวยาสมุนไพร โดยใช้ครกตำและหินบดยาของโรงศิริราชพยาบาล  
 (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลศิริราช)
๓. หมวดหัตถศาสตร์ (การนวด)
เป็นจารึกแผนภาพของโครงสร้างร่างกายมนุษย์ แสดงที่ตั้งของเส้นที่ใช้นวด ๑๔ ภาพ และจารึกเกี่ยวกับการนวดแก้ขัดยอก แก้ปวดเมื่อย และแก้โรคต่างๆ อีก รวม ๖๐ ภาพ

๔. หมวดอนามัย (ฤๅษีดัดตน)
เป็นวิธีการบริหารร่างกายหรือดัดตนสำหรับแก้ปวดเมื่อย จารึกเป็นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ มี ๘๐ ท่า แต่ละท่ามีคำอธิบายประกอบ

ปัจจุบัน จารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเหล่านี้ มีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นตำรา ซึ่งยังคงใช้เป็นตำราต้นแบบ ในการศึกษาวิชาการแพทย์แผนไทย ในปัจจุบัน
 
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย / ประวัติการแพทย์แผนไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น