ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ มีพระราชประสงค์ ที่จะพัฒนาการแพทย์แบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้ก้าวหน้าทันสมัย และมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๑๓ สองปีหลังขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระตำราแพทย์แผนไทยให้ตรงกับของดั้งเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ กระจัดกระจาย และคัดลอกกันมาจนผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิมมาก และจดเป็นหลักฐานไว้ในหอพระสมุดหลวง ตำราที่ชำระแล้วนี้เรียกว่า ตำราเวชศาสตร์ ฉบับหลวง ในสมัยนั้น หมอฝรั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมิชชันนารี ได้เข้ามาตั้งโรงพยาบาลแผนตะวันตกกันมาก และได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวซึ่งทรงโปรดการแพทย์แบบดั้งเดิม ได้มีพระราชหัตถเลขาแสดงความห่วงใยไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ความตอนหนึ่งว่า
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแพทย์แผนไทยเจริญก้าวหน้ามาก ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบัน เรียกกันทั่วไปว่า โรงพยาบาลศิริราช) ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อเป็นสถานพยาบาลและบำบัดโรค ทั้งแบบแผนเดิม และแบบแผนตะวันตก จัดตั้งโรงเรียนแพทยากรขึ้น และจัดพิมพ์ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งมีเนื้อหาของแพทย์แผนเดิมและแพทย์แผนตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ เพื่อใช้ในโรงเรียน แต่จัดพิมพ์ได้เพียง ๓ เล่มเท่านั้นก็ล้มเลิกไป ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนแพทยากรขึ้นเป็น โรงเรียนราชแพทยาลัย และยังคงให้เปิดสอนการแพทย์ทั้ง ๒ แบบ คือ แผนเดิม และแผนตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ กรมพยาบาลได้จัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์ เป็นเล่มๆ ต่อจากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ที่ยกเลิกไป โดยการรวบรวมตำราทั้งแผนโบราณ ที่ตรวจสอบแล้ว เช่น คัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์ธาตุอภิญญา คัมภีร์ธาตุบรรจบ ตำราแพทย์ฝรั่งที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน และในปีเดียวกันนี้ มีการผลิตยาตำราหลวงเป็นครั้งแรก จำนวน ๘ ขนาน
พระยาประเสริฐศาสตร์ ธำรง (หมอหนู)
ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ มีการจัดพิมพ์ ตำราแพทย์ศาสตร์วรรณา โดย พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หมอหนู) ได้รวบรวม และเรียบเรียงจากพระคัมภีร์โบราณ ที่ตรวจสอบแล้วหลายเล่ม
พระยาพิศนุประสาทเวช (หมอคง ถาวรเวท)
และตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง มี ๒ เล่ม โดย พระยาพิศนุประสาทเวช (หมอคง) ได้รวบรวม และเรียบเรียงจากตำราแพทย์ไทยโบราณหลายเล่ม ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวงทั้ง ๒ เล่มนี้ รัฐประกาศให้ใช้เป็นตำราหลวง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๑ พระยาพิศนุประสาทเวชเห็นว่า ตำรานี้ยากแก่การศึกษา จึงคัดเอาเฉพาะที่จำเป็น แล้วเขียนขึ้นใหม่ให้ง่ายขึ้น จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ให้ชื่อว่า ตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป หรือ ตำราเวชศึกษา ต่อมาได้มีประกาศให้ใช้ตำราทั้ง ๓ เล่มนี้ เป็นตำราหลวงเช่นกัน ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ หลังจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว ๕ ปี จึงมีการยกเลิกการสอนแพทย์แผนไทยในโรงเรียนราชแพทยาลัย และยกเลิกการจ่ายยาไทย ให้ผู้ป่วยในโรงศิริราชพยาบาล ต่อมามีการออก พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ ซึ่งทำให้การแพทย์แผนไทย พ้นจากระบบการแพทย์ของประเทศไทย และการแพทย์แบบตะวันตก เข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช การแพทย์แผนโบราณได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาในทุกๆ ด้าน และเรียกชื่อใหม่ว่า "การแพทย์แผนไทย" แทน "การแพทย์แผนโบราณ" จนคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒ พร้อมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงาน เรียกว่า "สถาบันการแพทย์แผนไทย" ขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อมา มีการจัดระบบการบริหารจัดการ ภายในกระทรวงสาธารณสุขใหม่ โดยได้จัดตั้งกรมใหม่ขึ้น "กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก" ขึ้น และได้ให้สถาบันการแพทย์แผนไทย มีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมดังกล่าว ทำให้การแพทย์แผนไทยได้รับการฟื้นฟู คุ้มครอง ส่งเสริม จนก้าวหน้าขึ้น ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ขอขอบคุณ ขอมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย / ประวัติการแพทย์แผนไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น