วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประวัติการแพทย์แผนไทย(2)

เครื่องยาของ "ยาทิพกาศ" ซึ่งเป็นยาช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์ของบรรพบุรุษไทย คือ "ตำราพระโอสถพระนารายณ์" ตำรานี้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์ จะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ในการคัดลอกชื่อสมุนไพร หรือคำราชาศัพท์บางคำผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่า ตำรานี้ น่าจะรวบรวมขึ้นในราวรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หรืออย่างช้าก็ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยสรุปหลักวิชาการแพทย์แผนไทยในยุคนั้นไว้อย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความยิ่ง ภาษาที่ใช้ก็ไพเราะ สละสลวย ใช้การอุปมาอุปไมยอันทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ดังข้อความที่คัดมาดังนี้
"….อยํ กาโย อันว่ากายเราท่านทั้งหลายนี้ เหตุธาตุทั้ง ๔ เป็นที่ตั้งแห่งกาย แลอายุ ถ้าธาตุทั้ง ๔ มิได้บริบูรณ์เมื่อใด สมุฏฐานก็จะแปรไปให้กำเนิดแก่โรคเมื่อนั้น เวชโช อันว่าแพทย์ผู้พยาบาลไข้สืบไปเมื่อน่า จงพิจารณาให้แจ้งไปในปฐมธาตุทั้งหลาย อันจะแปรปรวนพิการกำเริบตามฤดูเดือนวันเวลาอายุที่อยู่ที่เกิดก่อน จึงจะรู้กำเนิดไข้ แล้วให้รู้สรรพคุณยา เเลรศยา ทั้ง ๙ ประการก่อน จึงประกอบยา วางยา ถ้าวางยาชอบโรคๆ นั้นกลัวยาดุจกาเห็นธนู ถ้ามิดังนั้น ดุจดังหมู่เนื้อเห็นพระยาไกรสรสีหราช ก็จะปลาศหนีไปโดยเร็ว ถ้าดูโรคมิถูกวางยาผิด ดังอสรพิศม์อันบุคคลเอาไม้ไปรันลงที่ขนดหาง โรคคือโทโส จะกำเริบขึ้นกลมทั่วสรรพางค์กาย มรณํ อันว่าความตาย ภวิสสติ ก็จะมี ทุวํ แท้จริง ถ้าไข้ในคิมหันต์ โลหิตมีกำลัง วสันต์ วาโยมีกำลัง เหมันต์ เสมหะมีกำลัง กล่าวไว้ดังนี้พอประมาณ วิตถารแจ้งอยู่ในฤดู ๖ คัมภีร์มหาโชติรัตแลโรคนิทานนั้นแล้ว"

จากตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้เอง ทำให้เรารู้ว่า มีคัมภีร์อย่างน้อย ๒ เล่ม คือ คัมภีร์มหาโชติรัต (ตำราเกี่ยวกับโรคสตรี) และคัมภีร์โรคนิทาน (ตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของโรค) มีใช้กันอยู่แล้วอย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยาตอนปลาย และคัมภีร์ทั้ง ๒ เล่มนี้ ยังคงเป็นตำราการแพทย์แผนไทยโบราณ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ใช้ศึกษากันในปัจจุบัน
ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วย ความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ และยาแก้ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วย ตำรับยาที่มีชื่อเรียก และส่วนที่ ๓ ว่าด้วยตำรับยาน้ำมันและยาขี้ผึ้ง มีตำรับยาบันทึกไว้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๘๑ ตำรับ บางตำรับ ระบุชื่อแพทย์ผู้ประกอบยา ตลอดจนวันเดือนปีที่ปรุงยาถวาย ซึ่งทั้งหมด เป็นยาที่ปรุงถวายในช่วงปีที่ ๓ ถึงปีที่ ๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๐๒ - ๒๒๐๔) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ มีการระบุชื่อแพทย์ที่ประกอบยาถวาย ๙ คน ในจำนวนนี้เป็นหมอชาวต่างชาติ ๔ คน คือ หมอจีน ๑ คน (ขุนประสิทธิโอสถจีน) หมอแขก ๑ คน (ออกประสิทธิสารพราหมณ์เทศ) และหมอฝรั่ง ๒ คน (พระแพทย์โอสถฝรั่ง และเมสีหมอฝรั่ง) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมทางการแพทย์ของต่างประเทศ ที่เข้ามามีบทบาท และผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย มีการใช้เครื่องยาเทศ ในยาเกือบทุกตำรับ ที่บันทึกไว้ในตำรา พระโอสถพระนารายณ์ เช่น โกฐต่างๆ เทียนต่างๆ โหราต่างๆ ชะมดเชียง โกฐสอเทศ น้ำดอกไม้เทศ ยิงสม (โสม) อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่รู้จักเลือกใช้เครื่องยาดีของต่างประเทศ ประยุกต์เข้ากับของพื้นบ้านที่มีอยู่แล้ว ในท้องถิ่น เช่น ยาขนานที่ ๔๓ ชื่อ "ยาทิพกาศ" เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง ตำราบันทึกยาขนานนี้ไว้ดังนี้
"….ยาทิพกาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกัญชา ๑๖ ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสายกินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแลฯ…."

ยาทิพกาศขนานนี้เข้าเครื่องยา ๙ สิ่ง เป็นของพื้นบ้านไทย ๕ สิ่ง ได้แก่ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน ฝิ่น และใบกัญชา เข้าตัวยาเทศ ๔ สิ่ง ได้แก่ ยาดำ เทียนดำ การบูร และพิมเสน ตัวยาเทศทั้ง ๔ สิ่งนี้เป็นของต่างชาติ ที่แพทย์ไทยโบราณนำมาผสมผสานในตำรับยาไทย ยาดำ (aloe) ได้มาจากทวีปแอฟริกา เทียนดำ (black cumin) มาจากอินเดีย และเปอร์เซีย การบูร (camphor) มาจากญี่ปุ่นและแถบชายฝั่งตะวันออกของจีน และพิมเสน (Borneo camphor) ได้มาจากรัฐตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เอกสารและหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งตำราสรรพวิชา ถูกทำลาย หรือไม่ก็สูญหายไปมาก ผู้ทรงความรู้จำนวนมากหากไม่ล้มหายตายจากไป ก็หนีภัยสงคราม หรือถูกจับเป็นเชลยศึก แม้ภายหลังการกอบกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕) หรือกระทั่งในช่วงต้นของการสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยขึ้นมาใหม่ ให้รุ่งเรืองเทียบเท่าครั้งกรุงศรีอยุธยาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น