วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ฝ้าและสาเหตุการเกิด


เรื่องของฝ้าและสาเหตุหลักของการเกิดฝ้า
ฝ้า (Melasma) มีลักษณะเป็นจุดเป็นแผ่นเป็นปื้นสีน้ำตาล เกิดบนใบหน้าบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก จมูก เหนือริมฝีปากด้านบนและคาง
กระบวนการสร้างเม็ดสีผิว ... รู้จัก เมลานิน
สารเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีสร้างจากเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนโชต์ (melanocyte) เป็นเซลล์ที่เจริญมาจากเซลล์ระบบประสาท ซึ่งแทรกตัวอยู่ในชั้นหนังกำพร้าส่วนล่างสุด โดยเซลล์เมลาโนไซต์หนึ่งเซลล์จะแตกแขนงเป็นร่างแหเล็กๆ ยื่นไปสัมผัสเซลล์ผิวหนังประมาณ 35 เซลล์ จึงทำให้มีการผลิตเม็ดสีมารวมกันใต้ผิวหนัง มีลักษณะเป็นแผ่นปื้น ที่เรียกว่า "เป็นฝ้า" นั่นเอง
เมลานินทำหน้าที่กรองรังสีที่จะมาทำอันตรายเซลล์ผิวหนัง โดยมีความสามารถกรองรังสี UV โดยรังสี UVA ทำให้เกิดผิวสีแทน ฝ้า กระ เป็นสาเหตุเร่งการชราภาพของผิวหนัง ทำให้เกิดรอยเหี่ยวย่น ฉะนั้นเวลาซื้อกันแดดให้ดูว่าป้องกัน UVA ด้วย และ รังสี UVB ทำให้ผิวไหม้ และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง
การสร้างเม็ดสีเมลานิน(melanin pigment) ในบริเวณผิวหนังทำงานผิดปกติ และส่งเม็ดสีขึ้นมาบนผิวหนังด้านบนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ความเข้มของสีผิวไม่สม่ำเสมอและมองเห็นได้จากภายนอก โดยมีสาเหตุจากการเผชิญหน้ากับแสงแดดจัดๆติดต่อกันเป็นเวลานานและบ่อยครั้ง อนุมูลอิสระภายในร่างกายที่เพิ่มมากขึ้น การกินยาคุมกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ การได้รับรังสีUV และ UVBจากแสงแดด และมลภาวะ โดยฝ้าดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนๆ ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม และอาจมีขนาดเล็กๆ เป็นจุดไปจนถึงปื้นขนาดใหญ่ได้ หากปราศจากการดูแลรักษาที่เหมาะสม ฝ้าอาจมีสีเข้มและมีขนาดใหญ่มากขึ้นได้

พบว่าคนที่มีอายุมากกว่า 25 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นฝ้ามากขึ้น เนื่องจากกระบวนการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนังด้อยประสิทธิภาพลงทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดฝ้าได้ ด้วยการเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวและการอ่อนแอลงของผิว ทำให้กระบวนการทำงานของผิวเสียสมดุลจนนำไปสู่การผลิตเม็ดเซลล์ผิวเมลานินที่ผิดปกติ และเกิดเป็นฝ้าในที่สุด

โดยทั่วไปแล้วฝ้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่

1. ฝ้าแบบตื้น (Epidermal) จะอยู่ในระดับผิวหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) มักมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลขอบชัด เกิดได้ง่าย และสามารถรักษาให้หายได้เร็ว และอีกชนิดคือ
2. ฝ้าแบบลึก (Dermis) จะมีอาการผิดปกติ อยู่ในชั้นที่ลึกกว่าชนิดแรก โดยจะเกิด ฝ้า ในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า จะเกิดความผิดปกติในระดับชั้นผิวหนังแท้ มีลักษณะเป็นสีม่วงๆ อมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัด เหมือนเป็นจ้ำๆ รักษาได้ยากกว่า ฝ้าชนิดตื้น และไม่ค่อยหายขาด
3. แบบผสม คือมีทั้งสองแบบปนกันอยู่ในผิวเดียวกัน
การแยกชนิดของฝ้านั้นจะมีประโยชน์ ต่อการรักษา ทำให้สามารถประเมินได้ว่าจะรักษาได้ผลดีมากน้อยเพียงใด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น