สิวนั้นสามารถรักษาได้
ในทางการแพทย์แผนไทย มีแนวคิดว่า สิวเกิดจากปิตตะพิการ “แล้วปิตตะคืออะไร” ปิตตะ คือ ความร้อน
เป็นสิ่งที่ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ความหิวความกระหาย ความเปล่งปลั่ง สดชื่น
เมื่อกระทำโทษจะทำให้เกิดอาการหลาย ๆ รูปแบบ รวมถึงทำพิษให้โลหิตพิการ
เกิดการอักเสบ ส่งผลให้เกิดฝีหนอง หรือสิวหนองชนิดต่าง ๆ
ดังนั้นหลักการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย คือ ปรับปิตตะหรือความร้อนภายในร่างกาย
แล้วจะมีวิธีรักษาได้อย่างไรได้บ้าง? การรักษาสิวต้องควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยน การใช้ชีวิตประจำวันของเราด้วย
1. รับประทานสมุนไพรที่มีรสชาติขม เย็น หรือจืด ในทางการแพทย์แผนไทย
อาหารและสมุนไพรรสขมเย็น หรือจืด มีคุณสมบัติในการรักษาโรคทางปิตตะ
สามารถระงับธาตุไฟในร่างกายได้ มีสรรพคุณในการระงับน้ำเหลืองเสียต่าง ๆ
ที่ไหลออกจากร่างกายได้ แก้โลหิตพิการ ตัวอย่างเช่น บอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก
กระดอม ฯลฯ แต่สมุนไพรบางชนิดอาจเป็นพิษเมื่อรับประทานเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นการรับประทานผักผลไม้ที่มีรสขม
เย็น หรือจืดที่หาได้ง่ายจึงเป็นหนทางที่ปลอดภัยกว่า เช่น ฟัก บวบ มะระ ย่านาง
บัวบก เห็ด ยอดสะเดา เป็นต้น หรือรับประทานเป็นผักหลาย ๆ ชนิดจิ้มน้ำพริกรับประทานจะดีมาก
2. ขับถ่ายทุกวัน
การขับถ่ายไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะหรืออุจจาระ เป็นการนำความร้อนส่วนเกินออกจากร่างกาย
ดังนั้นผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ จะมีปัญหาความร้อนอยู่ภายใน ส่งผลให้เกิดสิวได้
การขับถ่ายเป็นประจำทุกวันจึงช่วยให้ปิตตะของร่างกายสมดุล แนะนำให้รับประทานอาหารรสหวานที่มีฤทธิ์ระบาย
เช่น น้ำลูกพรุน องุ่น กล้วย มะละกอ ส้มหวานต่างๆ แก้วมังกร เป็นต้น
3. นอนหลับให้เพียงพอ
หลายคนยังเข้าใจผิดในเรื่องของการนอน ถ้าคุณนอนตีหนึ่งตีสองแล้วมาตื่นตอนเที่ยงวันเป็นการนอนที่ผิด
ร่ายกายของคนเราจะมีการฟื้นฟูสภาพร่างกาย คล้าย ๆ กับการชาร์ตแบตเตอร์รี่ร่างกาย โดยปกติคนเราจะหลับได้ดีในภาวะที่มืดสนิท
โดยเฉพาะในช่วงสี่ทุ่ม-ตีสอง ถ้าเราได้หลับสนิทในช่วงเวลานี้ ร่างกายก็จะได้พักผ่อนและฟื้นฟูสภาพร่างกายได้เต็มที่
สามารถกำจัดพิษในร่างกายได้สมบูรณ์ ทำให้ธาตุไฟในร่างกายไม่กำเริบ สังเกตได้ว่าคนที่ชอบนอนดึก
มักมีภาวะร้อนใน หรือแผลในปากบ่อยๆ
4. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
หลายคนคงได้ยินเรื่องการดื่มน้ำว่าควรดื่มน้ำเยอะๆ อย่างน้อยวันละ 7-8 แก้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่หลายคนเข้าใจผิดมักจะดื่มน้ำทีเดียวครั้งละมาก
ๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะร่างกายเรามีการรักษาสมดุลของปริมาณน้ำ การดื่มน้ำมากเกินไปในแต่ละครั้งก็จะทำให้ร่างกายปัสสาวะบ่อยขึ้น
ร่างกายขับน้ำออกโดยไม่ทันได้ดูดซึมเข้าร่างกายอย่างเต็มที่ และที่ร้ายกว่านั้น
คือ การดื่มน้ำเยอะ ๆ ในมื้อของอาหาร จะมีผลทำให้น้ำย่อยเจือจาง ทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย
ท้องอืด การขับถ่ายผิดปกติ และส่งผลต่อธาตุไฟในร่างกายภายหลัง
ดังนั้นเราควรดื่มน้ำพอดับกระหาย เน้นจิบบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงน้ำเย็น หรือน้ำอัดลม
5. ออกกำลังกาย ออกกำลังกายให้เหงื่อออกบ้าง เน้นการเดิน โยคะ หรือฤๅษีดัดตน
เพราะไม่กระทบการเทือนต่อร่างกายมากเกินไป แพทย์แผนไทย
ถือว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ต้องทะนุถนอม
6. รักษาความสะอาดของผิวกาย ใบหน้า เสื้อผ้าและเครื่องใช้ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวและใบหน้าของตนเอง อย่าล้างหน้าบ่อยเกินไป
เพราะอาจทำให้ผิวแห้งและขาดความชุ่มชื้น หมั่นซักทำความสะอาดเสื้อผ้า หมอน
และที่นอน
7. ปรับสภาพจิตใจ การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ก็ช่วยปรับสภาวะปิตตะในร่างกายได้
เช่น การเล่นสนุกสนานกับเด็ก ๆ คุยกับเพื่อนที่ถูกคอ
ดมกลิ่นอาหารดีๆที่กำลังหุงต้ม พยายามรื่นเริงกับสิ่งที่ทำให้เบิกบานใจ เช่น
เครื่องแต่งกายสวยๆ ดอกไม้ อัญมณีต่างๆ อาบน้ำเย็นที่มีกลิ่นหอมชื่นใจ ฟังดนตรี
ดูมโหรีที่ไพเราะ นั่งชมวิวทิวทัศน์ มีลมพัดเอื่อยๆ
รวมความคือการรักษาโรคปิตตะต้องใช้ความเย็น ความสนุก ความแจ่มใส
ความพอใจและความร่าเริง แม้จะมียาที่มีสรรพคุณดีเพียงใด การปฏิบัติตัวของเราก็สำคัญมากเช่นกัน
การที่ปิตตะกระทำโทษนั้นตามโบราณได้บอกไว้อีกว่า
เกิดจากการรับประทานของเผ็ดจัด รับประทานเกลือมาก อาหารไม่ย่อย ตากแดดมาก เสพกามคุณมาก
กินอาหารบางอย่างที่เป็นพิษกับปิตตะเช่น นมข้น สุรา หรือของรสเปรี้ยว ดังนั้นอาหารหรือพฤติกรรมเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยง
ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้เรื่องสิวก็จะไม่เป็นปัญหากับเราอีกต่อไป
ขอขอบคุณ
แหล่งที่มาของข้อมูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น