ในทางแพทย์แผนไทยกำหนดไว้ว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 หากธาตุใดธาตุหนึ่งทำหน้าที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป จะทำให้เสียสมดุลและเกิดการเจ็บป่วยขึ้น สาเหตุที่ทำให้ธาตุทำหน้าที่ผิดปกติเป็นเพราะ ไม่สามารถปรับตัวตามสภาพภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ซึ่งแต่ละครั้งจะมีผลโดยตรงกับธาตุที่เป็นองค์ประกอบในร่างกาย เช่น
ฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม) ความร้อนของฤดูจะมาทำให้ธาตุไฟกำเริบ และส่งผลให้ไปกระทบธาตุดินและธาตุน้ำ เป็นเหตุให้มีอาการตัวร้อน ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ควรใช้ยาหรือรับประทานอาหารที่มีรสขม เปรี้ยว และจืดเพื่อรักษาสุขภาพ
ผักพื้นบ้านและผลไม้ที่ควรรับประทานได้แก่ มะระขี้นก ฮ้วนหมู ผักเฮือด ส้มป่อย ผักกูด ผักปลัง ตำลึง ชะอม มะขาม ผักหวาน เป็นต้น ผลไม้ได้แก่ แตงโม ส้ม สัปปะรด เป็นต้น รวมทั้งน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวและรสเย็น จะช่วยคลายร้อนได้
ผักพื้นบ้านและผลไม้ที่ไม่ควรรับประทานในฤดูร้อน ได้แก่ ผักรสร้อน รสเผ็ดร้อน และรสมัน เพราะจะทำให้ธาตุไฟกำเริบมากยิ่งขึ้น เป็นผลเสียกับสุขภาพ เช่น ลำไย ขนุน ทุเรียน เป็นต้น
ฤดูฝน (เดือนมิถุนายน-กันยายน) เมื่อฝนตกลงมาทำให้อากาศเย็น ส่งผลให้ธาตุลมในร่างกายผิดปกติทำให้เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นหวัด ท้องอืดเฟ้อ และเป็นไข้หวัดได้
ผักพื้นบ้านที่ควรรับประทานควรมีรสเผ็ดร้อนและรสสุขุม ได้แก่ ยอดพริก โหระพา แมงลัก หูเสือ ผักไผ่ พลูคาว ขิง ข่า กระทือ ผักคราด กระเจียว ผักแพว เป็นต้น
ฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-มกราคม) ความหนาวเย็นทำให้เกิดผลกระทบกับธาตุน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดอาการมึนศีรษะ น้ำมูกไหล ผิวหนังแห้ง ขยับร่างกายไม่สะดวก ท้องอืด
ผักพื้นบ้านที่ควรรับประทานควรมีรสขม เผ็ดร้อนและเปรี้ยว ผักส่วนใหญ่จะมีให้รับประทานคล้ายกับฤดูฝน เช่น ข่าอ่อน กระชาย พริกไทย ยอดพริก ขมิ้นผักไผ่ ผักแพว
ปกติที่กล่าวเป็นตัวอย่างจะมีมากและแตกยอดในฤดูกาลที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นการสะดวกที่จะหามารับประทานได้ง่าย และผักที่เก็บมาสามารถรับประทานได้ทันที เพื่อจะได้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าผักที่มาค้างไว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น