วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไตรสิกขา



ไตรสิกขา ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
หลังจากมีการให้ทาน ถือศีล และศึกษาธรรมะเป็นรากฐานแล้ว ขั้นต่อไปคือไตรสิกขานี้มีไว้เพื่อดับทุกข์
ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ในหนังสือ คู่มือมนุษย์ (สนพ.สุขภาพใจ, ๒๕๔๙ หน้า ๑๓ ๔๔ และ ๑๐๑ ๑๓๐) ว่า เมื่อมีศีลธรรมดีแล้ว ปัญหายังคงมีเหลืออยู่ว่า คนนั้นยังไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นจากการเบียดเบียนของกิเลสโดยเฉพาะคือ   โลภะ โทสะ โมหะเรื่อง ศีล และ ธรรม ทั้งหมดนี้ มีความมุ่งหมายให้เกิดผลเพียงเป็นอยู่อย่างสงบเรียบร้อยของสังคมทั่วไป และเป็นความผาสุกขั้นต้นๆ อันเป็นวิสัยของปุถุชน   มิได้หมายสูงพ้นขึ้นไปถึงการดับทุกข์ หรือตัดกิเลสเด็ดขาดสิ้นเชิง จนเป็นพระอริยเจ้าพระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติให้คนไปไกลกว่าเรื่องศีลธรรม ไปไกลจนถึงกับสามารถกำจัดความหม่นหมองทุกชนิด ที่เหลือวิสัยที่ศีลธรรมจะกำจัดได้ เช่น ความยุ่งยากใจเป็นส่วนตัว ความทุกข์ในใจอันเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และกิเลสชั้นละเอียด ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่ศีลธรรมทั้งหลายจะช่วยกำจัดให้ได้ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องปฏิบัติตามหลัก ไตรสิกขา อันประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งสรุปโดยย่อได้ดังนี้
               คำ สิกขา เป็นภาษาบาลี เป็นคำเดียวกับคำ ศึกษา ในภาษาสันสกฤต คำ ศึกษา ในทางธรรม ไม่ได้หมายถึงการเล่าเรียน ท่องตำราความรู้อย่างที่เข้าใจกันในทางโลก แต่หมายถึงการลงมือปฏิบัติที่เป็นการอบรมกาย วาจา ใจ โดยตรง คือ อบรมตนเองให้เปลี่ยนจากลักษณะหนึ่งไปสู่อีกลักษณะหนึ่ง ตามที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป
               คำ ไตร แปลว่า สาม ไตรสิกขา ประกอบด้วย สิกขา ๓ ได้แก่ สีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา  บางทีก็ใช้คำว่า ศีล-สมาธิ-ปัญญา   ไตรสิกขานี้มีไว้เพื่อดับทุกข์
               สีลสิกขา เป็นสิกขาชั้นแรกสุด สีลสิกขา แปลว่า สิ่งที่ควรศึกษาหรือควรอบรมที่เป็นชั้นศีล  แม้จะมีการจำแนกไว้เป็น  ศีล ๕  ศีล ๘  หรือ ศีล ๒๒๗  และอื่น ๆ อีกเป็นอันมากก็ตาม  แต่รวมใจความแล้ว  ก็อยู่ตรงที่เป็นการปฏิบัติเพื่อความปรกติสงบเรียบร้อย  ปราศจากโทษชั้นต้นๆ  ที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา ทั้งที่เกี่ยวกับสังคม หรือส่วนตัว หรือสิ่งของต่างๆ  ที่จำเป็นแก่การเป็นอยู่   ศีลช่วยให้คนอยู่อย่างผาสุก ไม่มีเรื่องรบกวน แต่อานิสงส์ที่สำคัญที่สุดของศีลอยู่ที่การเป็นบาทฐานที่งอก ที่เกิด ที่เจริญสมาธิ   สีลสิกขาจึงเป็นการตระเตรียมเบื้องต้นให้เป็นผู้อยู่ในโลกด้วยลักษณะที่สะอาดบริสุทธิ์ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดสมาธิในขั้นต่อไปได้ง่าย ถ้ามีเรื่องรบกวนมากก็ยากที่จะเกิดสมาธิ
               สมาธิสิกขา เป็นสิกขาชั้นที่ ๒ ที่สูงขึ้นไปอีก  ได้แก่การที่ผู้นั้นสามารถบังคับจิตใจของตัวไว้ได้ ในสภาพที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดตามที่ตนต้องการ   คำ สมาธิ ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป คือ ความตั้งใจมั่นแน่วแน่  เป็นจิตที่สงบ  แต่สมาธิโดยสมบูรณ์หมายถึง การทำจิตนั้นให้เหมาะสมแก่การงานของจิต เป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้อยู่ในลักษณะที่พร้อม  ที่มีสมรรถภาพถึงที่สุดในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางจิต  ข้อหลังนี้เป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ   ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงลักษณะของจิตด้วยคำอีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำสำคัญที่สุด  คือคำว่า  กมฺมนิโย  แปลว่า  สมควรแก่การทำงาน   คำนี้เป็นคำสุดท้ายที่ทรงแสดงลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ    คำว่า  สมาธิ  แปลว่าจิตตั้งมั่นก็จริง  แต่ต้องหมายถึงตั้งมั่นในลักษณะที่พร้อมที่จะปฏิบัติงาน  ไม่ใช่ตั้งมั่นในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติงานใดๆ  คือสงบนิ่งเงียบอยู่เฉยๆ   ผู้ที่พอใจที่จะยึดถือความหมายเป็นความสงบเงียบนั้น ก็เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิสงบเงียบ  ไม่มีอะไรรบกวนแล้ว  ในขณะนั้นย่อมรู้สึกเป็นความสุขอย่างยิ่ง ก็เลยเกิดชอบความสุขชนิดนั้น  เลยรักการทำสมาธิในทางนั้น   ไม่ได้พอใจสมาธิในลักษณะที่จะปรับปรุงจิตให้เหมาะสมที่จะทำการพิจารณาหรือค้นคว้าสืบไป ด้วยเหตุนี้  นักสมาธิส่วนใหญ่  จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของความสุขอันเกิดจากความสงบของจิต  แล้วก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น  ไม่สามารถทำสมาธิของตนให้สูงขึ้นไป  จนถึงกับเป็นพื้นฐานหรือเป็นบาทฐานของการเจริญปัญญา  อันจะทำให้เข้าถึงความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง(พระนิพพาน)ได้  มิหนำซ้ำ  ยังจะตกอยู่ในลักษณะของความหลง  คือหลงเอารสแห่งความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น  ทำให้ไม่ก้าวหน้าไปจนถึงปัญญาชนิดที่จะตัดตัณหาหรืออุปาทานได้   สมาธิสิกขานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จิตตสิกขา”  แปลว่า  สิ่งที่ควรศึกษาหรืออบรมในทางจิต
               ปัญญาสิกขา  เป็นสิกขาชั้นที่ ๓ เป็นการฝึกฝนอบรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุด   คนเราตามปรกติรู้อะไรตามที่เข้าใจเอาเอง  ไม่ใช่ตามที่เป็นจริง พุทธศาสนาจึงมีระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่าปัญญาสิกขา เป็นส่วนสุดท้ายสำหรับจะได้ฝึกฝนอบรมให้เกิดความเห็นแจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง   “ความเห็นแจ้งนี้หมายถึงสิ่งที่บุคคลได้ซึมซาบมาแล้วด้วยการผ่านสิ่งนั้นๆ มาแล้วด้วยตนเอง หรือมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้น  ไม่ใช่ด้วยเหตุผล   คำปัญญาสิกขาในพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้หมายถึงปัญญาที่เป็นไปตามอำนาจเหตุผล อย่างที่ใช้กันในวงการศึกษา   การพิจารณาทางปัญญาตามสิกขาข้อนี้จึงจำเป็นต้องใช้สิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลัง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เรื่องที่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้จิตใจของเราเกิดความสลด สังเวช เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้จริง   หากใช้หลักเหตุผลมาวินิจฉัย ก็จะได้แต่ ความเข้าใจอยู่นั่นเอง   คำ ความเข้าใจ จึงต่างจากคำ ความเห็นแจ้ง   ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ปฏิบัติในทางปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนาจึงไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการใช้เหตุผลมากเหมือนกับการศึกษาในศาสตร์ต่างๆ แต่อาศัยความรู้สึกในใจจริงๆ ที่เคยมี เคยเป็น เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลังเป็นสำคัญ   หากแม้จะมีการเทียบเคียงด้วยเหตุผลบ้าง ก็ใช้เหตุผลโดยเอาสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลังนั้นมาเป็นเหตุผล ไม่ใช่เหตุผลจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์   การเห็นแจ้งจึงเป็นปัญญาที่ออกผลแก่จิตใจในขณะนั้นๆ ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่จะต้องเก็บสะสมไว้มากๆ เรื่อยๆไป  คนจึงไม่อาจพ้นทุกข์ด้วยลำพังความเข้าใจ จะพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยความเห็นแจ้ง
               อนึ่ง ปัญญา กับ สมาธิ นั้นสัมพันธ์กัน นั่นคือ สมาธิช่วยให้เกิดปัญญา ขณะเดียวกันปัญญาก็ช่วยให้เกิดสมาธิ. สาธุ
ที่มา:http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480353

1 ความคิดเห็น: