วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

เภสัชกรรมไทย

เภสัชกรรมไทย

เภสัชกรรมไทยเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยทุกคนต้องมีความรู้ในด้านนี้ จึงสามารถประกอบวิชาชีพรักษาผู้ป่วยได้
ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทย ผู้เป็นแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในหลักความรู้ ๔ ประการ(กิจ ๔ ของหมอ) อันได้แก่ เภสัชวัตถุ สรรพคุณเภสัช คณาเภสัช และเภสัชกรรม

๑. เภสัชวัตถุ 
หมายถึง วัตถุนานาชนิดที่นำมาใช้เป็นยาบำบัดโรค ซึ่งอาจจำแนกตามแหล่งที่มาของวัตถุที่นำมาใช้เป็นยานั้น เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ 

พืชวัตถุ ได้แก่ พรรณพฤกษชาตินานาชนิด ทั้งประเภทต้น ประเภทเถาหรือเครือ ประเภทหัว-เหง้า ประเภทผัก ประเภทหญ้า ประเภทพืชพิเศษ (เห็ดและพืชชั้นต่ำอื่นๆ)
สัตววัตถุ ได้แก่ สัตว์นานาชนิดที่ทั้งตัว หรือเพียงบางส่วน นำมาใช้เป็นเครื่องยา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์บก หรือสัตว์อากาศ (สัตว์ที่บินได้) และ
ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องยา ทั้งที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ หรือที่ประสมขึ้น

ตำราการแพทย์แผนไทยระบุไว้ว่า สรรพวัตถุที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนเกิดแต่ธาตุทั้ง ๔ และย่อมใช้เป็นยาบำบัดโรคได้ทั้งสิ้น แต่จะมีสรรพคุณมากน้อยกว่ากันอย่างไร ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุนั้นๆ แพทย์ผู้ปรุงยาจึงต้องรู้จักตัวยาใน ๕ ประการ ได้แก่

ก. รู้จักรูปยา

คือ รู้ว่าเครื่องยาที่ใช้เป็นอะไร เป็นส่วนใดของพืช เช่น ใบ ดอก ผล เปลือก กระพี้ แก่น ราก หรือเป็นส่วนใดของตัวสัตว์ เช่น ขน หนัง เขา กระดูก กีบ นอ งา เขี้ยว ฟัน กราม ดี หรือเป็นของที่เกิดแต่ธรรมชาติ เช่น เกลือ เหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักรูปยา

ข. รู้จักสียา
คือ รู้จักสีของเครื่องยา รู้ว่าเครื่องยาอย่างนี้มีสีขาว สีเหลือง สีเขียว หรือสีดำ เช่น รู้ว่าการบูรมีสีขาว รงทองมีสีเหลือง จุนสีมีสีเขียว ฝางเสนมีสีแสดแดงหรือสีแดงแสด ยาดำมีสีดำ เหล่านี้จึงจะจัดว่า รู้จักสียา

ค. รู้จักกลิ่นยา
คือ รู้จักกลิ่นของเครื่องยา รู้ว่าอย่างนี้มีกลิ่นหอม อย่างนี้มีกลิ่นเหม็น เช่น พิมเสน หญ้าฝรั่น อำพันทอง กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก มีกลิ่นหอม ยาดำ มหาหิงคุ์ มีกลิ่นเหม็นเหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักกลิ่นยา

ง. รู้จักรสยา
คือ รู้จักรสของเครื่องยา รู้ว่ายาอย่างนี้มีรสจืด รสฝาด รสหวาน รสเบื่อเมา รสขม รสมัน รสเย็น รสเค็ม รสเปรี้ยว เช่น กำมะถันมีรสจืด เบญกานีมีรสฝาด ชะเอมมีรสหวาน เมล็ดสะบ้ามีรสเบื่อเมา บอระเพ็ดมีรสขม พริกไทยมีรสเผ็ดร้อน เมล็ดงามีรสมัน ดอกมะลิมีรสหอมเย็น เกลือมีรสเค็ม มะขามเปียกมีรสเปรี้ยว เหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักรสยา



จ. รู้จักชื่อยา
คือ รู้จักชื่อของเครื่องยา รู้ว่าชื่อยาอย่างนั้นอย่างนี้คืออะไร มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร จึงจัดว่า รู้จักชื่อยา
แพทย์ผู้ปรุงยาต้องรู้จักเภสัชวัตถุในรายละเอียดทั้ง ๕ ประการนี้  จึงจะสามารถนำเอาเครื่องยาที่ถูกต้อง ตามที่ระบุไว้ในตำรับยา มาปรุงเป็นยาแก้โรคที่ต้องการได้

๒. สรรพคุณเภสัช 

หมายถึง คุณสมบัติทางยาของเภสัชวัตถุที่กล่าวถึงข้างต้น ตามหลักวิชาเภสัชกรรมไทยระบุว่า ก่อนที่จะรู้สรรพคุณของยา จำเป็นต้องรู้รสของยาก่อน เนื่องจาก หลักวิชาการแพทย์แผนไทยกล่าวว่า รสของยาจะแสดงสรรพคุณยา ดังนั้น เมื่อรู้จักรสยาแล้ว ก็จะรู้จักสรรพคุณของยานั้นอย่างกว้างๆ ได้ ในเรื่องของรสยานี้ ตำราแบ่งออกเป็นรสประธาน ๓ รส คือ

ก. ยารสเย็น
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยเกสรดอกไม้ (ที่ไม่ร้อน) ใบไม้ รากไม้ (ที่ไม่ร้อน) สัตตเขา (เขาสัตว์ ๗ ชนิด ได้แก่ เขาวัว เขาควาย เขากระทิง เขากวาง เขาแกะ เขาแพะ และเขาเลียงผา) เนาวเขี้ยว (เขี้ยวสัตว์ ๙ ชนิด ได้แก่ เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวหมี เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมาป่า เขี้ยวปลาพะยูน เขี้ยวจระเข้ เขี้ยวเลียงผา นอแรด และงาช้าง) และของที่เผา หรือสุมให้เป็นถ่าน เมื่อปรุงเป็นยาเสร็จแล้ว จะได้ยารสเย็น ใช้แก้โรคที่เกิดจากธาตุไฟ

ข. ยารสร้อน 
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยเบญจกูล (ตัวยาที่มีรสร้อน ๕ อย่าง ได้แก่ ดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง และขิงแห้ง) ตรีกฏุก (ตัวยาที่มีรสร้อน ๓ อย่าง ได้แก่ ขิงแห้ง พริกไทย และดีปลี) หัสคุณ ขิง ข่า เมื่อปรุงเป็นยาเสร็จแล้ว จะได้ยาที่มีรสร้อน ใช้แก้โรคที่เกิดจากธาตุลม

ค. ยารสสุขุม
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยโกฐ เทียน กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก เมื่อปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยาที่มีรสสุขุม เช่น ยาหอม สำหรับแก้โรคทางโลหิต

รสประธานทั้ง ๓ รสนั้น แพทย์แผนไทยยังแบ่งย่อยออกได้เป็น ๙ รส คือ
(๑) รสฝาด สำหรับสมาน
(๒) รสหวาน สำหรับซึมซาบไปตามเนื้อ
(๓) รสเบื่อเมา สำหรับแก้พิษ
(๔) รสขม สำหรับแก้ทางโลหิต
(๕) รสเผ็ดร้อน สำหรับแก้ลม
(๖) รสมันสำหรับแก้เส้น 
(๗) รสหอมเย็น สำหรับบำรุงหัวใจ
(๘) รสเค็ม สำหรับซึมซาบไปตามผิวหนัง และ
(๙) รสเปรี้ยว สำหรับกัดเสมหะ แต่ในตำรา เวชศึกษา (ตำราหลวง) ของพระยาพิศนุประสาทเวช ได้เพิ่ม รสจืด อีก ๑ รส รวมเป็น ๑๐ รส

ตำราแพทย์แผนไทยสรุปว่า โรคที่เกิดจากปถวีธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสฝาด รสหวาน รสมัน รสเค็ม โรคที่เกิดจากอาโปธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเปรี้ยว รสเบื่อเมา รสขม ส่วนโรคที่เกิดจากวาโยธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสสุขุม รสเผ็ดร้อน โรคที่เกิดจากเตโชธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเย็น รสจืด และได้กำหนดตัวยาประจำธาตุต่างๆ ไว้ คือ ดีปลี ประจำปถวีธาตุ เถาสะค้าน ประจำวาโยธาตุ รากช้าพลู ประจำอาโปธาตุ รากเจตมูลเพลิง ประจำเตโชธาตุ และขิงแห้ง ประจำอากาศธาตุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น