วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การดูแลสุขภาพในฤดูฝน


การดูแลรักษาสุขภาพในฤดูฝน (วสันตฤดู)
วสันตฤดู หรือฤดูฝน เริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ (วันเข้าพรรษา) ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) รวมเวลา ๔ เดือน ปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๓ ก.ค. ๕๖ ๑๗ พ.ย. ๕๖ เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว มีความชื้นสูง บางครั้งมีความหนาวเย็นผสมด้วย ทำให้ร่างกายมีความร้อนและความชื้นสะสมสูงขึ้น อากาศถูกแทรกด้วยไอน้ำมากขึ้น การหมุนเวียนของเลือดลมในร่างกายไม่เป็นปกติ ทำให้สมุฏฐานวาโย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิกัดกุจฉิสยาวาตา (ลมพัดในท้องแต่อยู่นอกลำไส้) พลอยหวั่นไหวกำเริบขึ้น การเกิดโรคมักเกิดเนื่องจากวาโยธาตุกำเริบหรือพิการ จากการกินอาหารผิดสำแดง จำพวกเปียกชื้นชุ่มมัน(อาหารหวานและมันจัด) ดังนั้น การป้องกันรักษาสุขภาพในหน้าฝนจึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น
๑. หลีกเลี่ยงมูลเหตุที่ทำให้เกิดโรค ๘ ประการได้แก่ 

๑.๑ อาหาร เช่น กินมากหรือน้อยเกินไป อาหารบูดเสีย รสแปลก ไม่ตรงเวลา เป็นต้น 
๑.๒ อิริยาบถ  ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
๑.๓ ความร้อนและเย็น มากเกินไป                                                                                                                     

๑.๔ อดนอน อดข้าว อดน้ำ 
๑.๕ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ 
๑.๖ ทำงานเกินกำลัง 
๑.๗ ความเศร้าโศกเสียใจ 
๑.๘ มีโทสะเป็นนิจ  
๒.   ไม่ควรกรำแดดกรำฝน ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อับชื้น ที่มีละอองฝน ที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
๓. เมื่อร่างกายเปียกชื้น ควรอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้ง อย่าสวมเสื้อผ้าเปียกชื้น หรือชุ่มเหงื่อ
๔. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสแสลงกับโรคลม เช่น รสเย็น รสเมาเบื่อ รสขม รสหอมเย็น และอาหารที่ย่อยยาก เป็นต้น
๕.   ควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน และควรนำรสอาหารและยาตามอายุสมุฏฐานมาร่วมพิจารณาด้วย ดังนี้
๕.๑ ปฐมวัย (แรกเกิด 16 ปี) สมุฏฐานเสมหะ  ควรให้อาหารรสเปรี้ยว ขม หวาน และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสมัน มีแป้งมาก หรืออาหารที่ย่อยยาก สำหรับอาหารรสหวานนั้น ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เกิดลมได้ จึงควรให้พอประมาณ
๕.๒ มัชฌิมวัย ( 16-32 ปี) สมุฏฐานดีและโลหิต ควรให้อาหารรสเผ็ดร้อน ขม เปรี้ยว ฝาด เค็ม ทั้งนี้ในวัยกลางคนเป็นวัยที่มีความร้อนสูง การใช้อาหารรสเผ็ดร้อน จึงไม่เหมาะสำหรับมื้อกลางวัน ในฤดูฝนอาจให้ในมื้อเช้าและในมื้อเย็น 
๕.๓ ปัจฉิมวัย ( 32 ปีขึ้นไป) สมุฏฐานลมกำเริบเสมหะและเหงื่อแทรก ควรให้อาหารรสเผ็ดร้อน หอมเย็น ขม เค็ม ฝาด ทั้งนี้ในผู้สูงอายุ อาหารหลักเกือบทุกมื้อในหน้าฝน ควรมีรสเผ็ด หอมร้อน ขม ร่วมด้วยเสมอ เพื่อช่วยการย่อยอาหารและการขับถ่าย (ในมื้อเย็นไม่ควรกินอาหารพวกแป้งและไขมัน อาหารย่อยยาก อาหารที่มีรสเย็น หรือผลไม้บางชนิด เช่น กล้วยหอม ทุเรียน มะม่วง เป็นต้น) ส่วนอาหารรสหอมร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา ฯลฯ เป็นอาหารจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุในมื้อเย็น เพื่อช่วยย่อยอาหาร ขับลม บำรุงธาตุ และทำให้เลือดลมเดินสะดวก

อาหารที่เหมาะสำหรับฤดูฝน
พืชผัก ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย แมงลัก สะระแหน่ ช้าพลู ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชีฝรั่ง ผักชีหอม ผักชีลาว โหระพา หอม กระเทียม ใบมะกรูด พริกไทย พริกหยวก พริกชีฟ้า ผักหูเสือ ผักแพรว หมุย (สมัด) ดอกกะทือ ดอกกระเจียว ใบมะตูม ผักไผ่ หน่อไม้ งา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เปราะหอม ผักแขยง กุยฉ่าย
ผลไม้ ได้แก่ ทะเรียน ละมุด ลำไย ลิ้นจี่ (ผลไม้ตามฤดูกาล)

การปรุงอาหารควรปรุงให้ครบถ้วน ไม่ควรใช้แต่รสใดรสหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่เน้นส่วนปรุงหลักตามฤดูกาล

นอกจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแล้ว ยังมีโรคที่มักระบาดในฤดูฝน เช่น โรคฉี่หนู โรคทางเดินอาหาร ท้องอืด จุกเสียดแน่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย เป็นต้น


**อธิบายการเกิดโรคทางแพทย์แผนไทย...... จากฤดูกระทบ

ในวสันต์ฤดู ( เดือน ๘ เดือน ๑๒) การเกิดโรคจะเกิดจากวาตะสมุฏฐาน โรคลมกำเริบ จากการกินอาหารผิดสำแดง จำพวกเปียกชื้นชุ่มมัน (อาหารหวานและมันจัด) ทำให้มีอาการผอมเหลือง เป็นไข้ครั่นตัว เมื่อธาตุลมกำเริบ ทำให้ธาตุไฟกำเริบด้วย ทำให้น้ำดีพิการ หายใจสั้น ท้องลั่นโครกคราก แดกขึ้นลง ให้หาวเรอจากลมอุทธังคมาวาตากำเริบ ให้เกิดอาการวิงเวียน ลมขึ้นสู่เบื้องสูง  ทำให้มีอาการลมตีขึ้นสู่เบื้องบน คือ หู จมูก ปาก อาจทำให้มีเลือดออกจากอาเจียนทางปาก หรือเลือดออกทางจมูกและหูได้ จากโทษของลม

ส่วนยารักษาโรคในฤดูนี้ ชื่อยาฤทธิเจริญ มีตัวยาดังนี้ คือ 

แฝกหอม พริกไทย เปราะหอม หัวแห้วหมู ว่านน้ำ ดีปลี เสมอภาค รากกระเทียมหนักเท่ายาทั้งหลาย บดทำผง ใช้น้ำร้อนเป็นกระสายยา
ขอขอบคุณ ภาพจากอินเตอร์เน็ต
 AU Kanchana : Ayurvedic Association of Thailand


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น