วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รสและสรรพคุณของสมุนไพร


" รสชาติบอกสรรพคุณ สรรพคุณบอกรสชาติ "
กลไกการออกฤทธิ์ของรสสมุนไพร
ในแบบฉบับแห่งการแพทย์แผนไทยแต่ดั้งเดิม
( ตอนที่๑.) รสฝาด,หวาน,มัน

รสชาติของสมุนไพรแต่ละชนิดบ่งบอกถึงสรรพคุณแห่งสมุนไพรชนิดนั้น ในขณะเดียวกันหากเรารู้สรรพคุณ
ของสมุนไพรชนิดนั้น เราก็จะบอกได้ทันทีว่าสมุนไพรชนิดนั้นมีรสใดโดยไม่ต้องชิม ภูมิปัญญานี้ช่างวิเศษนักใช้
ประโยชน์ได้หลายสถานดังนี้
๑. รู้รส รู้สรรพคุณ รู้สรรพคุณ รู้รส รู้หนึ่งสิ่งรู้อีกสิ่ง ไม่รู้สองสิ่ง ไม่รู้สิ่งใดเลย
๒. เมื่อรู้สรรพคุณ ทำให้แพทย์นำมาปรุงเป็นตำรับยาได้
๓. รู้คุณแห่งรส ย่อมรู้โทษแห่งสรรพคุณของรสนั้น รสสมุนไพรแสลงอาการหรือโรค
๔. รู้สรรพคุณ ย่อมรู้ว่าสมุนไพรนั้นชอบกับโรคและอาการใด โดยพิจารณาจากรส
๕. รู้รส รู้สรรพคุณ รู้อาหารแสลงโรค รู้อาหารผิดสำแดง รู้อาหารชอบกับโรค
ในทางคัมภีร์การแพทย์แผนไทยบ่งบอกเพียงสรรพคุณเภสัช แต่มิได้แจ้งว่าเภสัชนั้นมีสรรพคุณวิธีเช่นไร
เพื่อให้บังเกิดผลนั้นตามมาภายหลัง คือบอกแต่ผล มิได้บอกเหตุแห่งผลนั้น แพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง
ศึกษาเหตุที่ทำให้เกิดผลของรสสมุนไพรนั้นมิใช่ทราบเพียงแต่ผลโดยไม่เข้าใจเหตุ เพราะเมื่อไม่ทราบก็จักปรุง
ตำรับยาตามผลของสมุนไพรนั้น โดยขาดสาระแห่งเหตุทำให้ประสิทธิภาพแห่งตำรับยาเกิดประสิทธิผลได้น้อย
ปัจจุบันเราเรียกเหตุแห่งผลนั้นว่า "กลไกการออกฤทธิ์" ของรสซึ่งก่อให้เกิดสรรพคุณตามมา จักขออรรถาธิ
บายเหตุแห่งรสดังต่อไปนี้

รสฝาด
กลไกการออกฤทธิ์ ฝาด มีลักษณะรสที่แห้งเฝื่อนขื่นแต่ไม่ขม ทำให้เสมหะที่กำเริบงวดลง เมื่อเสมหะแห้งจักเกิดกำเดาตามมา ทำสิ่งที่เปียกให้แห้งลง ฝาดจึงทำให้น้ำแห้ง เกิดไฟเกิดลมตามมา

สรรพคุณ ฝาดจึงมีลักษณะสมานเสมหะที่กำเริบ ปิตตะที่หย่อนมากขึ้น ลมที่หย่อนจะเพิ่มขึ้น 
ประโยชน์ สมานเสมหะ ปิดบาดแผลทั้งภายในและภายนอก ที่มีบุพโพเสียบังเกิด ใช้ปิดโลหิตเน่าร้าย ปิดระดูที่มีมากเกิน ปิดศอ,อุระ,คูถเสมหะที่กำเริบบังเกิดเสลด
สมานปิตตะ ปิดไข้เพื่อดี ไข้เพื่อเสมหะ และไข้เพื่อลม 
สมานวาตะ ปิดลมที่หย่อนจากเหตุที่น้ำกำเริบ

โทษ กับอาการหรือโรคที่ทำให้ เสมหะกำเริบ ปิตตะหย่อน วาตะหย่อน

รสหวาน 
กลไกการออกฤทธิ์ หวาน มีลักษณะรสที่ชุ่มเย็น ทำให้เกิดเสมหะ โบราณว่าหวานทำให้เกิดโลหิต และ
โลหิตนั้นไปหล่อเลี้ยงมังสะ หมายที่อวัยวะภายในและภายนอก หรือหวานนั้นทำให้เกิดพลังงาน และพลังงานไปหล่อเลี้ยงมังสะอีกที รสหวานจึงไม่ได้บำรุงเนื้อแต่ทำให้เกิดพลังงานไปบำรุงเนื้อต่างหาก

สรรพคุณ หวานบำรุงธาตุดิน ๒๐ ส่วนด้วยเสมหะโลหิตัง และเมื่อระบบปิตตะกำเริบนั้นเสมหะจะหย่อนไปวาตะจะกำเริบตาม แต่รสหวานจะไปช่วยทำให้เกิดเสมหะผ่อนกำเดาของระบบปิตตะลง วาตะจึงหย่อนตาม ลมจึงหย่อนลงในที่สุด

ประโยชน์ บำรุงเสมหะ ด้วยกลไกความชุ่มเย็น ลดกำเดาอันเกิดแต่ภาวะระบบปิตตะกำเริบ ลดลมอันเกิดแต่ภาวะระบบวาตะกำเริบจากระบบปิตตะที่กำเริบอยู่ก่อน

โทษ แสลงกับอาการเสมหะกำเริบทุกชนิด แสลงกับอาการทางระบบปิตตะหย่อน
แสลงกับอาการทางวาตะหย่อนกระทำให้กองลมลงล่างหย่อนตาม

รสมัน
กลไกการออกฤทธิ์ มัน มีลักษณะรสที่เหนียวหนึบยึดติด ดั่งคำที่ว่า "กินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน"มีภาวะเชื่อมติดสิ่งที่แตกร้าว,เปราะหัก,เสื่อมไป เช่นกระดูกร้าว,กระดูกเสื่อม ผังผืด,เส้นเอ็น,กล้ามเนื้อ ที่ขาดออกขยายออกหรือเสื่อมไป

สรรพคุณ เชื่อมประสานธาตุดิน ๒๐ ส่วน ที่ประกอบไปด้วย กระดูก,กล้ามเนื้อ,เส้นเอ็น,ผังผืด เยื่อกระดูกและกระดูก แต่กระทำให้ธาตุน้ำข้นหนืด ธาตุไฟจักกำเริบได้

ประโยชน์ ธาตุดิน เชื่อมประสานให้ยึดเกาะกัน
ธาตุน้ำ ทำให้น้ำหนืดข้นขึ้น หากน้ำนั้นใสไปไม่บริบูรณ์
ธาตุลม ทำให้เกิดลมแล่นทั่วกายมากขึ้นจากธาตุไฟที่มากขึ้น
ธาตุไฟ ทำให้ไฟมากขึ้น ด้วยเหตุที่เสมหะข้นขึ้น

โทษ แสลงกับอาการทางไฟธาตุนั้นกำเริบ
แสลงกับอาการทางธาตุน้ำที่มีความหนืดข้นอยู่แล้ว แสลงกับอาการทางธาตุลม ที่ระบบวาตะกำเริบอยู่


โดย อ.คมสัน ทินกร ณ อยุธยา


**************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น