วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หน้าหนาวกับสาวผิวแห้ง

 
  
     อากาศแห้ง และเย็นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการผิวแห้ง เพราะจะดึงเอาความชุ่มชื้นออกไปจากผิว  ไม่ว่าจะเป็นหน้าหนาว หรือการใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผิวแห้งได้เช่นกัน สิ่งที่ทำให้อาการผิวแห้งคันเลวร้ายขึ้นไปอีกคือ การอาบน้ำอุ่นจัดในหน้าหนาว ซึ่งจะยิ่งทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื่นอย่างมาก วิธีการแก้ไขคือคุณจะต้องไม่เปิดแอร์เย็นเกินไป และไม่อาบน้ำร้อนที่ร้อนจนเกินไป นอกจากนี้คุณควรใช้โลชั่น น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงาทาผิวอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ 

ข้อเสียของผิวแห้ง
คนที่ผิวแห้งก็มีปัญหาเช่นกัน คือการเกิดริ้วรอย แก่เร็ว เป็นไฝ ฝ้า กระ ได้ง่าย รวมทั้งทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ชั้นในของผิวหนังได้ง่าย เกิดการระคายเคือง การแพ้ได้ง่าย  หรืออาจจะแห้งจนเกิดอาการคันหรือแห้งรุนแรงมากจนมีปัญหาอื่นเช่นโรคผิวหนังติดเชื้อก็ได้

วิธีการป้องกันผิวแห้งตามวิถีไทยในหน้าหนาว มักจะมีตำรับอาหารเฉพาะ ส่วนใหญ่การรับประทานอาหารที่มีไขมันอยู่บ้าง เช่น  ข้าวหลาม รำหมกกล้วย ข้าวปุ๊กหรือข้าวตำงา บัวลอยไข่หวาน หรือเป็นอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม เพื่อที่ต่อมไขมันจะได้มีการขับน้ำมันธรรมชาติมาเคลือบผิวไว้ ไม่ให้แห้งแตก น้ำมันธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจะสามารถเคลือบผิวได้ดี ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีความมันอยู่บ้างนับว่าเป็นประโยชน์ต่อสาวผิวแห้ง
 มีข้อแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอกตามแบบฉบับวิถีไทย
สมัยก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแตก ภูมิปัญญาไทยจะใช้น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันงา รวมทั้งน้ำมันหมูมาทาผิวเพื่อไม่ให้ผิวแตกในหน้าหนาว ปัจจุบันนิยมใช้ครีม โลชั่น แต่ถ้าอากาศหนาวมาก หรือความชื้นสัมพัทธ์ต่ำมาก ต้องใช้น้ำมันทาเหมือนในอดีต หรือต้องใช้เนื้อครีมหรือโลชั่นที่มีความเข้มข้นขึ้น หรือใช้ทั้งสองอย่างผสมกัน รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่แรงเกินไปในการทำความสะอาดผิว และไม่แนะนำให้มีการล้างหน้า ล้างมือบ่อยเกินไปในหน้านี้ ซึ่งในรายของผู้สูงวัยอาจใช้มะขามเปียกอาบน้ำแทนการใช้สบู่
เยื่อบุทางเดินหายใจเป็นช่องทางที่ร่างกายสัมผัสกับอากาศภายนอก มีเพียงชั้นเซลล์ที่มีความเปียกชุ่มกันอยู่เท่านั้น บริเวณชั้นเซลล์เหล่านี้มีเซลล์ที่ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องไม่ให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง เพราะจะทำให้เชื้อโรค ฝุ่นละออง เข้าสู่เซลล์ได้ง่าย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การที่ไม่ให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้งต้องดื่มน้ำมากๆ และรับประทานสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เพื่อช่วยขับเสมหะให้มาเคลือบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจไว้ให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ
พอถึงหน้าหนาว คนสมัยก่อนจึงนิยมให้รับประทานตำรับอาหารที่มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้มดอกแค แกงบอน เป็นต้น รวมทั้งถ้ามีอาการไอ จะนิยมทำยาแก้ไอจากผลไม้สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งในฤดูกาลนี้จะมีมะขามป้อมและสมอไทยออกมาพอดี สภาพที่อากาศเย็น จะส่งผลให้ธาตุไฟภายในร่างกายแปรปรวน ทำให้การย่อยอาหาร การไหลเวียนของเลือด ซึ่งต้องการธาตุไฟไปใช้ต้องบกพร่องไป ทำให้เกิดอาการท้องอืดอาหารไม่ย่อย หอบหืดกำเริบ เกิดอาการหนาวใน เป็นต้น ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนในหน้าหนาว เพื่อช่วยเพิ่มธาตุไฟให้กับร่างกาย เช่น ข้าวหมาก พืชในตระกูลขิงข่า พืชผักที่มีรสร้อน เช่น พริก ดีปลี พริกไทย ตะไคร้ ใบกะเพรา เป็นต้น


การดูแลสุขภาพในฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ร้อนและปรุงเสร็จใหม่ๆ ควรมีรสเปรี้ยวอมขมเล็กน้อย และรสเผ็ด เช่น แกงส้มดอกแค แกงขี้เหล็ก แกงป่า สะเดาน้ำปลาหวาน และน้ำพริก เพราะธรรมชาติจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรในฤดูต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ในฤดูหนาว มักจะมีสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น สะเดา ซึ่งมีรสขม เมื่อกินแล้วจะช่วยแก้ไข้ ทำให้เจริญอาหาร ขี้เหล็กมีสรรพคุณช่วยระบายและช่วยให้หลับสบาย ดอกแคแก้ไข้หัวลม ฉะนั้นควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านที่มีอยู่ตามฤดูกาล มีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด
************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น