วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หทัย หมาย "ใจ"


หทัย หมาย "ใจ"
ศาสตร์อันลึกซึ้งของการแพทย์แผนไทยแต่โบราณมา

โดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย ในประเภท ก.)

หทัยในที่นี้คือใจ มิได้หมายถึงเนื้อหัวใจหรือหทยัง เมื่อเกิดสภาวะทางใจไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีจะเกิดกำเดา
หมายความร้อนขึ้น และจักเกิดลมตามมา ระบบปิตตะและระบบวาตะจะเริ่มทำงานมากขึ้นและพลุ่งขึ้นบนเป็น
แนวเส้นตรงนับแต่ช่องท้องผ่านขึ้นบนไปถึงศีรษะพัดพาระบบเสมหะหมายโลหิตังขึ้นเบื้องบน ก่อให้เกิดอาการ

๑. ไอกำเดาอุ่นกายจะมากกว่าปรกติและพลุ่งขึ้นบนจนถึงศีรษะ
๒. ลมอุทังคมาวาตาจักบังเกิดตามไอกำเดาในชั่วเวลาต่อเนื่องกันไป และพลุ่งขึ้นบน
๓. จักทำให้เกิดเป็น หทัยวาตะ พัดเข้าหทยัง ส่งผลให้ชีพจรเต้นเร็วและแรงตามสภาวะทางใจนั้น
๔. กำเดาพัดถึงศีรษะทำให้หน้าแดง ตาแดง ตาลาย ตาพร่า ศีรษะร้อน
๕. ลมอุทังคมาวาตาพัดถึงศีรษะทำให้หูดับ ลมออกหู ดันศีรษะทำให้หนักๆ
๖. เนื้อตัวจะร้อนอย่างรวดเร็วจนสภาวะทางใจนั้นดับไป
๗. โลหิตังจะพุ่งขึ้นบนอย่างรวดเร็วหากมีตะกรันแทรกในเนื้อโลหิตอาจเกิดอาการอัมพฤกษ์-อัมพาตได้
๘. หากลมอันบังเกิดวิ่งตามแนวเส้นกองสมุนาจักขึ้นถึงชิวหาสดมภ์ เกิดอัมพฤกษ์ชั่วคราว
๙. เกิดอาการหน้ามืด,ตาลาย,วิงเวียน,เป็นลม,หมดสติได้

หทัยหมายใจ สภาวะความเครียด,ความวิตกกังวล,ความหดหู่,ความเศร้า,ความเสียใจ,ความดีใจ
ความปิติ,ความโมโห,ความอิจฉาริษยา,ความอยากได้อยากมีแล้วไม่ได้,ความพลัดพรากจากกัน ฯลฯ
สภาวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดกำเดาอีกชนิดหนึ่งก็ได้เรียก "กำเดาระส่ำระส่าย" ลางทีตัวร้อน ลางทีตัวเย็น
ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวแรงเดี๋ยวอ่อนสลับกันไป ตามกำเดาที่ระส่ำนั้น แพทย์โบราณว่า หากเกิดกำเดา
ระส่ำระส่าย จักเกิดลมสวิงสวาย นอนหลับกระสับกระส่าย เป็นภาวะที่ไม่นิ่งตามสภาวะทางใจทึ่ไม่นิ่งนั้น
เกิดกำเดากำเริบ กำเดาหย่อนสลับกันไปมา และทุกอย่างจะหยุดเมื่อสภาวะทางอารมณ์คลายลงบรรเทาลง
ตำรับยารสเย็น อันปรุงขึ้นจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมและมีสรรพคุณเย็น ย่อมบรรเทาซึ่งอาการทางสภาวะ
อารมณ์ใจ ทำให้ใจสงบใจเบิกบานชื่นใจ ทำให้ใจชุ่มชื่น ที่สำคัญทำให้กำเดาอุ่นกายอันบังเกิดแต่ใจหย่อนลง
และต้องไม่ใช่ตำรับยาที่ปรุงจากสมุนไพรรสขมมากนัก ด้วยอาการที่เกิดเป็นอาการทางใจมิใช่อาการทางกาย
ต้องใช้กลิ่นหอมมาสัมผัสอาการทางใจเกิดสุนทรียทางกลิ่นสัมผัส 
นับได้ว่าแพทย์แต่โบราณมารู้จักความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ช่างล้ำลึกและชาญฉลาดยิ่งนัก นำความรู้แห่งธรรมชาติมาปรุงเป็นตำรับยาหอมบำรุงหทัยให้สดชื่นเบิกบาน รู้จักนำความหอมมาทำเป็นยา ไปจนกระทั่งแม้แต่น้ำกระสายยายังใช้น้ำลอยดอกไม้หอม น้ำดอกไม้เทศ มาผสมกับยาหรือดื่มไปพร้อมกับยา ช่างละเอียดลออยิ่งนักในภูมิรู้นี้
รสหอมเย็นไม่ได้แก้หรือบรรเทาอาการหรือโรคทางหัวใจ แต่เป็นยารักษาใจ รักษาอารมณ์ รักษาหทัย
มิให้ "หทยัง" เสื่อมไปต่างหาก ตำรับยาหอมสำหรับลมอุทังคมาวาตาและลมหทัยวาตะ จะปรุงด้วยความ ละเมียดละไมเลือกใช้แต่สมุนไพรประเภทดอกไม้เป็นส่วนมาก ของหอมบรรดามีทั้งชมดเช็ด ชมดเชียง พิมเสนในปล้องไม้ไผ่ หญ้าฝรั่น ถูกผสมผสานด้วยน้ำกระสายยาที่ปรุงจากของหอมนานาชนิดเข้าไปอีกแล้วบดจนเป็นผงละเอียดมาก ทานกับน้ำดอกไม้หอม หรือเพียงแค่ดมก็ชื่นใจแล้ว

คงปรุงตำรับยาขนานนี้ได้อย่างลำบากมากในปัจจุบันนี้ จึงขอแนะนำให้ปรุงน้ำกระสายยาทดแทนถึงแม้มีสรรพคุณไม่ทัดเทียมแต่ก็ช่วยบรรเทาได้บ้าง


ตำรับน้ำกระสายยา ดอกไม้หอม

ส่วนประกอบสมุนไพร กุหลาบมอญสด,มะลิลาหรือมะลิซ้อนสด,เกสรบัวหลวง,กระดังงาหรือการะเวกสด

(ใช้ดอกไม้หอมได้นานาชนิดแล้วแต่หาได้)

วิธีทำ นำดอกไม้แต่ละชนิดแยกชนิดกันมาลอยบนน้ำสะอาดเพียงห่างๆ ทิ้งชั่วคืนเมื่อเข้าหัวรุ่ง

นำกรองให้สะอาดแล้วผสมเข้าด้วยกัน

วิธีใช้ ใช้ทานพร้อมยาหอมเทพจิตร 


ตำรับน้ำกระสายยา บำรุงอารมณ์แห่งใจ


ส่วนประกอบสมุนไพร ขอนดอก(จากไม้พิกุลล้ม),เกสรบัวหลวง,รากระย่อมสะตุ,เกสรทั้งห้า,ใบย่านาง

ดอกขี้เหล็ก,ดอกสะเดา (แห้งหรือสดก็ได้) หากเป็นรสขมให้ใช้แต่น้อย

วิธีทำ นำลงต้มในน้ำซาวข้าวหรือน้ำสะอาดก็ได้ ให้เจือใบชาจีนไปนิดหน่อย

วิธีใช้ จิบเฉกจิบชาอุ่นๆทำให้ใจสงบนิ่ง 
**********************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น