วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รักษาอาการไอด้วยสมุนไพรไทยง่ายๆ


อาการไอเป็นอีกอาการหนึ่งที่มักเป็นควบคู่กับอาการอื่นๆ  และทรมานผู้ป่วยมาก ทั้งก่อให้เกิดอาการไอจนนอนไม่หลับ แต่การไอเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของปอด ที่ใช้ในการสกัดสิ่งที่บุกรุกเข้ามา จะช่วยขับสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในระบบหายใจ ซึ่งก็คือเสมหะนั่นเอง  ถ้าไอเรื้อรังไม่หายสักที ก็อาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาการไอก็มีทั้งไอแห้งและไอที่มีเสมหะ
วิธีรักษาอาการไอที่ดีที่สุดคือ การรักษาที่ต้นเหตุของการไอ แต่ไม่ใช่การกดอาการไว้ เพราะการไอจะช่วยขับเอาเสมหะ และฝุ่นละอองที่ สูดหายใจเข้าไปออกจากปอด หลอดลม และหลอดคอออกมา
เราลองมาดูว่าโบร่ำโบราณใช้ยาสมุนไพรอะไรบ้างเป็นยาแก้ไอ ซึ่งจำแนกได้  3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ขิง กระเทียม ดีปลี
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นกรด คือ รสเปรี้ยว ตามสรรพคุณยาไทย  รสเปรี้ยวบำรุงธาตุน้ำ กัดเสมหะ ฟอกโลหิต ได้แก่ มะนาว มะขามป้อม
กลุ่มที่ 3 กลุ่มสมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น เพกา มะเขือแจ้หรือมะเขือขื่น
 มะนาว เป็น ยาสมุนไพรครอบจักรวาลก็ว่าได้มีสรรพคุณมากมาย และยังเป็นสมุนไพรที่หาง่าย  แต่บางฤดูกาลก็มีราคาแพงสูงถึงลูกละ 10 บาท เมื่อมีอาการไอระคายคอมักได้รับคำแนะนำให้ฝานมะนาวเป็นชิ้นบางๆ หรือหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าชิ้นเล็กๆ จิ้มเกลือ อมทิ้งไว้สักครูแล้วเคี้ยวกลืน หรือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นผสมเกลือเล็กน้อยใช้จิบ ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ด้วย  หรือตำรับเก่าแก่ของมนุษย์ทั้งโลกใช้คือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งจิบแก้ไอ
มะขามป้อม ใช้ แก้ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ มีอาการริมฝีปากแห้ง และรู้สึกร้อนในอก ไอที่มาจากทรวงอกจนเจ็บชายโครง   หรือไอมานานแล้วไม่หาย ใช้ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่มหรือจิบ หรือใช้ผลสดต้มกับน้ำตาลทรายแดง มะขามป้อมมีรสฝาดเปรี้ยวหลังจากกลืนลงคอไปแล้วจะมีรสหวานชุ่มชื่นคอมาก
มะขาม ใช้กัดเสมหะเอามะขามเปียก 3 กรัม จิ้มเกลือรับประทาน หรือนำมะขามเปียกมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย จะได้ยาขับเสมหะที่มีรสกลมกล่อม ข้อควรระวัง มะขามเปียกมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป
ขิง รักษาอาการไอและขับเสมหะ หรือมีเสลดติดที่หลอดลมมากๆ ขิงจะช่วยให้หลอดลมขยายขึ้น   และขับของเหนียวข้นออกมาได้ง่าย  ให้ใช้เหง้าขิงสด ประมาณ 60 กรัม น้ำตาลทราย   30 กรัม ใส่น้ำ 3 แก้ว นำไปต้มให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบกินตอนอุ่นๆ หรือใช้ฝนกันน้ำมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ใช้รักษาอาการไอเรื้อรัง ให้เอาน้ำที่คั้นจากเหง้าสด ประมาณ 1 ลิตร ผสมน้ำผึ้งประมาณ 500 กรัม เคี่ยวในกระทะทองเหลือง  ทำจนน้ำระเหยไปหมด แล้วจึงเอามาปั้นเป็นเม็ดเท่าลูกพุทราจีนใช้อม
กระเทียม ใช้ กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากัน ตำละเอียดละลายกับน้ำอ้อยสด คั้นน้ำจิบแก้ไอขับเสมหะและทำให้เสมหะแห้งหรือคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติม เกลือใช้จิบหรือกวาดคอก็ได้ กระเจี๊ยบแดง  ใช้กลีบเลี้ยงดอกสดหรือแห้งประมาณ 1-2 กรัมมือต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลและเหลือใช้จิบบ่อยๆ ช่วยให้ชุ่มชื้นคอ ดีปลี  ใช้แก้อาการไอมีเสมหะ ควรใช้ดีปลีประมาณครึ่งผล ตำละเอียดเติมน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย  กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
ดีปลี รสเผ็ดร้อนมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ใช้ผลแก่ของดีปลีประมาณ 1/2-1 ผล ฝนกับน้ำมะนาว เติมเกลือนิดหน่อย กวาดลิ้นหรือจิบ บ่อยๆ
มะแว้ง ต้น/เครือ ปัจจุบันมะแว้งได้รับการพัฒนาจากองค์การเภสัชกรรม ผลิตและจำหน่ายยาอมมะแว้ง  สรรพคุณช่วยแก้ไอและชุ่มคอ แต่เราสามารถใช้ในรูปของอาหารและยาได้ โดยใช้ผลสดตำกับน้ำพริกหรือใช้รับประทานเป็นผักเคียงกับน้ำพริก ถือเป็นการใช้ในรูปแบบอาหารเป็นยา  หรือใช้ผลมะแว้งเครือ/ต้นสด 5-6 ผล ล้างให้สะอาดเคี้ยวอมไว้ กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายทิ้ง  หรือใช้ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ เวลาไอ
เพกา เมล็ดเพกาเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งใน "น้ำจับเลี้ยง" ของคนจีน ใช้ดื่มแก้ร้อนใน เมล็ดเพกามีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ และขับ เสมหะ โดยใช้เมล็ดเพกาประมาณ 1/2-1 กำมือ (หนัก 1.5-3 กรัม) ต้มกับน้ำประมาณ 300 มิลลิลิตร ตั้งไฟอ่อนๆ ต้มให้เดือดนานประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้ดื่มเป็นยาวันละ 3 ครั้ง
มะเขือแจ้หรือมะเขือขื่น อาจ ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะเรามักจะบริโภคมะเขือเปราะมะเขือยาวมากกว่า  มะเขือแจ้เมื่อผลแก้จัดมีสีเหลือง นิยมทานกับน้ำพริก ก่อนเอามาทานจะเอามาแช่น้ำเกลือก่อนเพื่อให้กรอบและทานง่าย ถ้าไอเรื้อรังยาวนานหรือไอถึงขั้นปัสสาวะรด ใช้ยาตัวนี้โดยเอารากมาล้างให้สะอาดแช่น้ำฝนหรือน้ำต้มสุกใช้ดื่ม วันแรกอาจดูเหมือนดื่มน้ำเปล่า  แต่พอวันที่ 2-3 ตัวยาจะมีรสขมขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจลดปริมาณน้อยลง และจะช่วยให้อาการไอมานานนับเดือนนั้นหายเป็นปลิดทิ้ง
สับปะรด  แก้ไอในอาการคอแห้งคั้นเอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อยจิบ หรือทานทั้งผลก็ได้ สับประรดมีรสเปรี้ยวอมหวานช่วยให้ชุ่มคอ 
รับมือกับอาการไออย่างง่ายๆ ไม่ต้องวิตกกังวลมาก และยังมีอาการและโรคอื่นๆ  ที่มาพร้อมกับไอคือ อาการคัดจมูก ถ้าไม่มีวิกวาโปรับ ก็ใช้หอมแดงทุบพอบุบๆ  ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าบางๆ วางไว้ใกล้หมอนจะช่วยลดอาการทรมานจากการคัดจมูกลงได้  ในพื้นที่ที่ห่างไกลยาและหมอแล้ว ยาสมุนไพรมีความจำเป็นมาก เพราะหาได้ง่ายตามท้องถิ่น  และพร้อมหยิบใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายๆ เพียงเราเรียนรู้คุณค่าและวิธีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง.

สำหรับการคัดจมูก ให้ใช้น้ำมันยูคาลิปตัส (ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป) หยดลงหมอนคะ หรือไม่ก็ใช้หอมแดงทุบห่อด้วยผ้าบางๆ วางไว้ใกล้หมอน เวลานอน แค่นี้ก็ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นแล้วละค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น