วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การแพทย์แผนไทย


การแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine) 

การแพทย์แผนไทย หรือ การแพทย์แผนโบราณ เป็นความพยายามจะอธิบายภาวะต่างๆที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสภาวะปกติ และสภาวะที่ผิดปกติ(เป็นโรค) โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่างๆในร่างกายเข้ามาอธิบาย ผสมผสานองค์ความรู้จากอินเดีย พุทธศาสนา และองค์ความรู้ที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง
กระบวนการทางการแพทย์แผนไทย จะเกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และหมายรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย ประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา
การแพทย์แผนไทยอาจจะไม่มีองค์ความรู้ด้านกลไกการเกิดโรค และเทคนิคทางศัลยกรรมมากนัก แต่ต้องมีองค์ความรู้ด้านกลวิธีทางคลินิก เช่น การซักประวัติ และการรักษาด้วยยา เพียงแต่ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก (Evidence-based clinical knowledge) ซึ่งก็มาจากกฎข้อบังคับตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ที่ว่า "มิให้แพทย์แผนไทยกระทำการอันเป็นวิทยาศาสตร์ใด ๆ" นั่นเอง ทำให้ไม่สามารถมีการตั้งสมมติฐานและวิจัยได้อย่างเต็มที่
ความหมายการแพทย์แผนไทย
การแพทย์แผนไทย หมายถึง ปรัชญา องค์ความรู้ และวิถีปฏิบัติ เพื่อการดูแลสุขภาพ และการบำบัดรักษาโรค ความเจ็บป่วยของคนไทย แบบดั้งเดิม สอดคล้องกับขนบธรรมเนียบวัฒนธรรมไทย และวิถีชีวิตคนไทย โดยวิธีการปฏิบัติของการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วยการใช้สมุนไพร หัตถบำบัด การรักษากระดูกแบบดั้งเดิม การใช้พุทธศาสนา หรือพิธีกรรม เพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต ธรรมชาติบำบัด ซึ่งได้จากการสั่งสม ถ่ายทอดประสบการณ์อย่างเป็นระบบ โดยการบอกเล่า การสังเกต การบันทึก และการศึกษาผ่านสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทย
ภูมิปัญญาในการแพทย์แผนไทย
การแพทย์แผนไทย เป็นการแพทย์แบบองค์รวม มีองค์ความรู้ ครอบคลุมการบำบัดรักษาโรคอย่างครบถ้วน คือ
·         รู้การเกิดของโรค รู้สาเหตุของโรคจากปัจจัยต่างๆ
·         รู้จักโรค ทราบถึงอาการโรค และชื่อสมมติของโรคตามอาการ
·         รู้จักยารักษาโรค ทราบถึงสรรพคุณและวิธีปรุงยา
·         รู้วิธีรักษาโรค ทราบว่ายาชนิดใด วิธีรักษาแบบใด เหมาะสำหรับโรคใดๆ
ความรู้ทั้ง 4 จึงเป็น หลักปฏิบัติในการวิเคราะห์ และบำบัดรักษาโรคของคนไทย
การบำบัดโรคแผนไทย
การบำบัดโรคตามแพทย์แผนไทย มักใช้วิธีการหลายวิธี เพื่อให้ผลรักษาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เช่น  
·         การใช้สมุนไพร
·         การนวดและการบริหารร่างกาย
·         การใช้พิธีกรรมความเชื่อ
ความแตกต่างระหว่างการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนไทยประยุกต์
การแพทย์แผนไทย กับ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ นั้นมีความแตกต่างกันชัดเจน คือ การแพทย์แผนไทย จะเน้นการวินิจฉัย การรักษา และการจ่ายยา ด้วยหลักการของการแพทย์แผนไทย และจ่ายยาด้วยสมุนไพร แต่มีข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบตะวันตก  ส่วนการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นหลักสูตรที่ต้องร่ำเรียนหลักวิชาการทางการแพทย์แผนตะวันตก สามารถใช้เครื่องมือทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้บางอย่าง (ตามที่ข้อกฎหมายกำหนด) รวมถึงวินิจฉัยตามหลักการแพทย์ แต่ขั้นตอนในการรักษาต้องรักษาด้วยยาแผนไทยเท่านั้น  และที่สำคัญการสอบใบประกอบโรคศิลปะจะต้องขึ้นทะเบียนกันคนละสาขากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น