วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรีธาตุหรือตรีโทษ(Tri dosha)

ทำความรู้จักกับตรีธาตุ
ตรีธาตุ คือ อาหารธาตุ ธารณธาตุ และ มละธาตุ ธาตุ ๓ อย่าง นี้ที่สำคัญคือ อาหารธาตุ เมื่อกินเข้าไปแล้ว เข้าไปเป็นเทหธาตุ (ธาตุในร่างกาย) ที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ วาตะ ปิตตะ และศเลษมะ (คำว่าศเลษมะ หมอโบราณอินเดียเรียก กผะ หมอโบราณไทยเราเรียก เสมหะ) โดยอัคนีกรรม (การย่อยและการเผาผลาญ Digestion และ Metabolism) หรือชีโว-รสายน (กระบวนการชีวภาพเคมี ของสิ่งมีชีวิต Bio-chemical processes) ดำเนินของร่างกาย เกิดมีขึ้นตั้งแต่ในครรภ์ คือได้อาหารจากเลือดของมารดาทางสายรก เมื่อคลอดแล้วก็ได้จากน้ำนม เมื่อโตแล้วก็ได้จากข้าวปลาอาหารต่างๆจนตลอดชีวิต
วาตะ ปิตตะ ศเลษมะ(เสมหะหรือกผะ) 
อาหารทั้งหลายที่มีอยู่ ๖ รส หรือ ฉัฐรส คือ มธุระรส (รสหวาน) อมละรส (รสเปรี้ยว) ลวนะรส (รสเค็ม) ติกตะรส (รสขม) กฏุรส (รสเผ็ดร้อน) กษายรส (รสฝาด) อาหารรสต่างๆเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้กลายสภาพเป็นวาตะ ปิตตะ และ ศเลษมะ ดังนั้นอาการเจ็บป่วยของร่างกายจึงสามารถอธิบายด้วยหลักตรีธาตุนี้ ว่ากำเริบ หย่อน หรือพิการ ในทางกลับกันเมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ วิธีการแก้ไขก็คือการใช้อาหารหรือยาที่มีรสต่างๆมารักษา การใช้ยาสมุนไพรของคนโบราณจึงคำนึงถึงเรื่องรสชาติของสมุนไพรเป็นสิ่งสำคัญ เราเรียกหลักการนี้คือ "หลักฉัฐรส"

สถานะหรือที่ตั้งสำคัญของ วาตะ ปิตตะ เศลษมะ(เสมหะหรือกผะ)


วาตะ ปิตตะ ศเลษมะ มี ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหยาบที่เห็นได้ (Gross) กับลักษณะละเอียดที่เห็นไม่ได้ (Subtle) 
1. ตรีธาตุในลักษณะหยาบ  ชี้ให้เห็นชัดได้คืออวัยวะทางเดินอาหารเป็นสำคัญ (Alimentary canal) โบราณเรียกว่า มหาโศรต (คือ ทางใหญ่) หรือ อาหารโศรต นับแต่ปากลงไป จนสุดทวารหนัก
มหาโศรต แบ่งเป็น 3 ภาค เรียกว่า ไตรวิภาค ภาคบน เช่น ที่ปาก เป็นศเลษมะสถานะ คือที่ตั้งสำคัญของเสมหะ ภาคกลาง เช่น ตอนต้นลำไส้ เป็นปิตตะสถานะ ภาคปลาย คือ ลำไส้เล็กลงไป เป็นวาตะสถานะ อาหารทั้ง ๖ รส ที่กินเข้าไป จะถูกตรีธาตุ (คือ ศเลษมะ ปิตตะ และวาตะ) ย่อยตามภาคต่างๆนั้นแล้ว ตรีธาตุกลับดูดเข้าไปเลี้ยง สัปตธาตุ หรือ ธารณธาตุ คือ ธาตุที่ทรงไว้ซึ่งร่างกาย (Tissues)  การแปรธาตุจากอาหาร โดยการย่อยอาหารตามภาคของมหาโศรต เป็น อัคนีกรรม (Digestion และ Metabolism)โดยอำนาจของชีโว-รสายนดำเนิน (Bio-chemical processes)  แห่งธรรมชาติของร่างกาย ดั่งตัวอย่างเทียบได้กับทางแผนปัจจุบัน ดังนี้
เมื่อกินอาหารเคี้ยวอยู่ในปาก และลงไปในกระเพาะอาหาร ตอนนี้ ศเลษมะสถานะ จะทำการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล และตามลงไปย่อยจนในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารเคลื่อนไปถึงมหาโศรตตอนกลาง คือ ต้นลำไส้เล็ก จะถูกน้ำดีในส่วน ปิตตะสถานะ ย่อยไขมันให้เป็นกรดไขมัน (Fatty acids) และเมื่ออาหารเคลื่อนไปถึงลำไส้ตอนปลาย ถูก วาตะ ในวาตะสถานะย่อย แล้วดูดเข้าเลี้ยงร่างกายทั่วไป เปลี่ยนสภาพเป็น วายุ หรือ วาโย คือ วาตะ ที่เห็นไม่ได้
 2. ตรีธาตุในลักษณะละเอียด เป็นสิ่งที่ละเอียดมากแปรสภาพผิดไปจากธาตุแบบหยาบ ยกตัวอย่างเช่นน้ำปกติเป็นของเหลว ถูกความเย็นจัด กลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อถูกความร้อนก็กลายเป็นไอ มองไม่เห็น เย็นมากก็กลายเป็นน้ำอีก กระบวนการนี้ไม่อาจมองเห็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่รู้ว่ามันมีอยู่จริง  วาตะเปรียบเสมือนกระแสประสาท ซึ่งมองไม่เห็นแต่ก็รู้ว่ามีอยู่จริง ปิตตะก็เปรียบเหมือนความร้อน มองไม่เห็นแต่ก็รู้ว่ามีอยู่จริง เสมหะก็เปรียบเสมือนความเย็น และสิ่งที่แทรกซึมคอยหล่อลื่นระบบต่างๆของร่างกายไม่ให้ฝืดเคือง
ไม่ว่าโรคใด ๆ ก็ตาม แม้แต่แผนปัจุบันที่มีการค้นคว้ามาใหม่ แผนโบราณเข้ามาจัดอยู่ในตรีธาตุหรือตรีโทษทั้งหมด ไม่ว่าโรคใดๆก็ตามก็จะหนีไม้พ้น 3 สิ่งนี้คือ  วาตะ ปิตตะ และศเลษมะ


การที่ตรีธาตุออกมารับและย่อยแล้วดูดเอาอาหารเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายนั้น เป็นไปตามปรกติ แต่บางทีตรีธาตุบางอย่าง ออกมากเกินปรกติ เช่น เวลาให้กินยาอาเจียน ให้กินยาถ่าย ศเลษมะจะออกมาก ทำให้อ้วกและท้องเดิน หรือเวลามีเชื้อโรคบางอย่างเข้าลำไส้ มีอาการท้องเดินมาก เนื่องจากศเลษมะออกมาก เพื่อขับถ่ายเอาพิษและเชื้อโรคออก
ตามปรกติ ตรีธาตุ ปนกัน และคุมกันอย่างใกล้ชิด ทางโบราณถือว่า ร่างกายจะเป็นสุขสบายก็เพราะ วาตะ ปิตตะ และ ศเลษมะ ๓ อย่างนี้ คุมกันดี เป็นไปพอดี สมดุลยภาพ ถ้าคราวใด ธาตุใดกำเริบ หรือหย่อน ไม่สมดุล ก็เกิดโทษ ถ้าธาตุทั้ง ๓ สมดุล เรียกตรีธาตุ เป็นปรกติ ถ้าไม่สมดุล เรียก ตรีโทษ ธาตุอะไรกำเริบ หรือหย่อน หรือไม่ปรกติ ต้องแก้ไขธาตุนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น