วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

มาตรฐานหมอแผนไทย

มาตรฐานด้านเวชกรรม
ผู้ที่จะเป็นหมอรักษาโรคด้วยทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ เบื้องต้นคือ
1.1 ต้องมีความรู้ ความเข้าใจทฤษฎีการแพทย์แผนไทย และความสามารถนะทฤษฎีการแพทย์แผนไทยมาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคได้
1.2 ต้องมีความรู้ในคัมภีร์เวชศึกษาว่าด้วยกิจของแพทย์ 4 ประการ
1) รู้ที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค
2) รู้ชื่อโรค
3) รู้ยาต่างๆ สำหรับรักษาโรค
4) รู้ว่ายาชนิดใดใช้รักษาโรคอะไร
1.3 ต้องมีความรู้เรื่องคัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัยแตกฉานและแม่นยำ เพื่อนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีลักษณะอาการ ระบุชัดเจน ที่บ่งบอกถึงการเสียสมดุลของร่างกายและสามารถจดจำเข้าใจในโรคที่มีสาเหตุการเกิดโรคและวิธีการรักษาที่แน่นอนเช่น เริม ไข้หวัด โรคกระเพาะ เป็นต้น
1.4 ต้องมีความรู้ในคัมภีร์ต่างๆ ที่กล่าวถึงธาตุทั้ง 4 คือ ดิน (ปถวีธาตุ) , น้ำ (อาโปธาตุ), ลม (วาโยธาตุ) , ไฟ (เตโชธาตุ) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของร่างกาย เมื่ออยู่ในลักษณะสมดุลก็จะไม่เกิดโรค แต่ถ้าเมื่อใดที่ร่างการเสียสมดุลเกิด

กำเริบ (การเพิ่มขึ้นของคุณลักษณะแห่งธาตุนั้นๆ ในร่างกาย)
หย่อน (การลดลงของคุณลักษณะแห่งธาตุนั้นๆ)
พิการ (การเปลี่ยนแปลงผิดปกติไปจากธรรมดาของธาตุนั้นๆ)
จะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญแสดงลักษณะ ออกทางอาการและความรู้สึกของคนไข้ที่ สำคัญดังนี้ เป็นอย่างน้อย เช่น
- หอบหืด , หายใจไม่อิ่ม , ใจสั่น , เหนื่อยง่าย , อ่อนเพลีย , นอนไม่หลับ , ง่วงผิดปกติ , กระวนกระวาย , อารมณ์แปรปรวน , ซึมเศร้า , หวาดกลัว , คลุ้มคลั่ง , วิตกกังวล , ตึงเครียด , ความจำเสื่อม , หลงลืมง่าย , หน้ามืดวิงเวียน , เป็นลม, คลื่นไส้ , อาเจียน , เบื่ออาหาร , เรอ , สะอึก , แน่นท้อง , ท้องผูก , ท้องอืด , ท้องเดิน , อุจจาระเป็นเลือด
ตามัว , ตาฟางกลางคืน , ตาเจ็บ , ตาแดง , ตาอักเสบ , ปวดตา , เคืองตา , เกล็ดกระดี่ขึ้นตา , หูตึง , ปวดหู หูอื้อ , คันจมูก , น้ำมูกไหล , เจ็บคอ , เสียงแหบ , เลือดกำเดาออก, ปวดฟัน , ปวดหัว , ปวดตามข้อ , ปวดกระดูก , เป็นเหน็บชา , ปวดหลัง , ปวดเมื่อยตามร่างกาย , กล้ามเนื้ออ่อนแรง , อัมพาตสั่น , ชักกระตุก ,ไข้ , ซีด , บวม , อ้วน , ผอม , น้ำหนักลด , ตัวเหลือง , ตาเหลือง , ปัสสาวะเหลือง , ปัสสาวะแสบขัด, ผิวหนังเป็นแผล , เป็นหนอง , ฝื่น , พุพอง , คัน , ชา , แสบร้อนตามผิวหนัง , ผมร่วง , อื่นๆได้แก่ ตกขาว , ประจำเดือนผิดปกติ , ปวดประจำเดือน , การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกาย , สมอง , จิตไม่เป็นไปตามวัย
เมื่อทราบอาการดังกล่าวแล้ว สามารถแยกแยะได้ว่าเกิดจากการเสียสมดุลแบบใด ธาตุทั้ง 4 เป็นอย่างไร และสรุปได้ว่าสามารถรักษาได้หรือไม่ และอะไรควรส่งต่อแพทย์แผนปัจจุบัน
1.5 ขั้นตอนในการให้บริการการรักษาด้วยทฤษฎีการแพทย์แผนไทย
ในการให้บริการการรักษาด้วยทฤษฎีการแพทย์แผนไทยมีความจำเป็นต้องดำเนินการ ซักประวัติและการตรวจร่างกายให้ครอบคลุมดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
1) การซักประวัติ
 ซักประวัติและตรวจร่างกายทั่งไป (ดูแบบการซักประวัติทั่วไปในภาคผนวก)

 ซักประวัติตามพระคัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัย สำหรับคนไข้ใหม่เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์สาเหตุของโรค

 ซักประวัติสมุฎฐานธาตุเจ้าเรือน (ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ) สมุฎฐานโรคและการดำเนินของโรค (ตามตารางดูจากภาคผนวก)

2) การสรุปและการวิเคราะห์ผลการวินิจฉัยโรคดังนี้
ในบางโรคและบางอาการได้มีการวินิจฉัยและตั้งชื่อโรคแล้ว โดยดูจากลักษณะที่ชัดเจน สามารถรักษาได้โดยวิเคราะห์จากลักษณะอาการความเจ็บป่วย , ชื่อโรคและวิธีการรักษาที่ชัดเจน
แพทย์แผนไทย ต้องมีความรู้ในเรื่องสมุฎฐาน หรือสาเหตุการเกิดโรคแบบองค์รวมโดยซักประวัติและศึกษาผู้ป่วยอย่างละเอียด และต้องสามารถสรุปได้ว่ามีธาตุอะไรหย่อน กำเริบ พิการ โดยสามารถแบ่งโรคได้เป็นสองกลุ่ม คือ
2.1) กลุ่มโรคที่วิเคราะห์จากลักษณะการเสียสมดุลของร่างกาย หย่อน กำเริบ พิการ ในกลุ่มอาการที่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ เช่น หายใจไม่อิ่ม ,เหนื่อยง่าย , อารมณ์แปรปรวน, เครียด และมีอาการต่างๆ ที่ไม่ชัดแจ้งอื่นๆ แล้ว แนะนำให้บำรุงสุขภาพด้วยอาหารสมุนไพร การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ และหากมีการเสียสมดุลหลายๆธาตุ ก็สามารถปรุงยามหาพิกัดรักษาผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ยังต้องมีความชำนาญในการใช้ยาเบญจกูล , ตรีผลา , ตรีกฎุก , ตรีสาร ได้เป็นอย่างน้อย
2.2) สามารถจำลักษณะอาการของโรคต่างๆ ซึ่งมีการตั้งชื่อโรค และวิธีการรักษาเฉพาะโรคไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น
- ลมปะกัง , ลมปลายปัตฆาต , ลำบอง , จับโปง ,นิ้วไกปืน , ไหล่ติด
- ไข้หวัด , คออักเสบ , โรคกระเพาะ , ท้องเดิน , ท้องผูก , ริดสีดวงทวาร , กลาก , เกลื้อน , ผิวหนังอักเสบ , ไฟไหม้น้ำร้อนลวก , ลมพิษ , พยาธิบางชนิด
- อาการต่างๆ เช่น อาการปวดศีรษะ , ปวดหลัง , อาเจียน , ไอ , ปวดเข่า , ปวดท้อง
2.3) การให้การรักษาคนไข้
เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นลักษณะเจ็บป่วยที่ชัดเจนมีสาเหตุของโรคและวิธีการรักษาที่แน่นอนแล้วให้ใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
(1) เลือกใช้ยารักษาตามอาการของคนไข้ ตามรสและสรรพคุณ เช่น ยารสขม ใช้รักษาอาการไข้ , ยารสเผ็ดร้อน ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม เป็นต้น
(2) แนะนำการปรับพฤติกรรมในการดำรงชีวิต และอาหารตามธาตุ
2.4) เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นลักษณะอาการที่ไม่ระบุชัดเจน มีอาการมากกว่า 1 อาการ ไม่ทราบสาเหตุและวิธีการรักษาที่แน่นอน ให้ใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
(1)ใช้ยาปรับธาตุ (เบญจกูล) ก่อน ถ้าอาการที่ปรากฏดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่ชัดเจนให้เพิ่มยาปรับธาตุตามฤดูกาลด้วย เช่น ตรีผลา (ฤดูร้อน), ตรีกฎุก (ฤดูฝน) , ตรีสาร (ฤดูหนาว) ซึ่งมีรายละเอียดการใช้ยาปรับธาตุตามการคูณธาตุในภาคผนวก
(2) แนะนำอาหารตามธาตุ ดังต่อไปนี้
- ธาตุดิน ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสฝาด รสหวาน รสมัน รสเค็ม เช่น ฝรั่งดิบ , หัวปลี , กล้วย , มะละกอ , เผือก , มัน , ถั่วพู , กะหล่ำปลี เป็นต้น
- ธาตุน้ำ ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะเขือเทศ , ส้มโอ , สับปะรด , มะนาว , ส้มเขียวหวาน , ยอดมะขามอ่อน
- ธาตุลม ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น กะเพรา , โหระพา , ตะไคร้ , ข่า , กระเทียม , ขึ้นฉ่าย , ขิง , ยี่หร่า ฯลฯ
- ธาตุไฟ ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสขม , รสเย็น , รสจืด เช่น สะเดา , แตงโม , หัวผักกาด , ฟักเขียว , แตงกวา , คะน้า , บวบ, มะเขือ ฯลฯ
3) ข้อควรคำนึงในการรักษาผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่มีโรคร้ายแรงที่ไม่สามารถรักษาได้ แพทย์แผนไทยต้องสามารถแยกแยะได้ว่าโรคอะไรควรส่งต่อแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ความดันโลหิตสูงมาก หัวใจเต้นผิดปกติ หอบเหนื่อย ไอมีเสมหะเป็นเลือด เป็นหนองและไข้สูง การติดเชื้อ เช่น ฝีขนาดใหญ่ ฝีภายใน ปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องข้างขวา (ไส้ติ่งอักเสบ) มดลูกอักเสบ นิ้วขนาดโต ปวดหลังมาก กระดูกงอ กระดูกเสื่อม กระดูกหักผ่านข้อ กระดูกหักแผลเปิด การช็อกจากการขาดน้ำรุนแรง การตกเลือด เลือดออกทางช่องคลอด หรือมีหนองออกมาจากช่องคลอด ส่วนโรคมะเร็ง โรคเอดส์ เบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ควรให้โอกาสผู้ป่วยได้เลือกและควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อความชัดเจนส่วนการเลือกการแพทย์แผนไทย นั้นควรเป็นลักษณะความร่วมมือกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะบางโรคแพทย์แผนปัจจุบันสามารถรักษาให้หายขาดได้ แผนโบราณอาจส่งเสริมทำให้การักษามีผลดียิ่งขึ้น ไม่สมควรทำในลักษณะชวนเชื่อให้ผู้ป่วยมาเลือกการแพทย์แผนโบราณเพียงอย่าง เดียว อย่างไรก็ตามหากทางโรงพยาบาลชุมชนสนใจที่จะวิจัยการรักษาโรคเรื้อรัง เหล่านี้ด้วยการแพทย์แผนไทย สามารถใช้แบบฟอร์มการเก็บข้อมูลผู้ป่วยได้โดยประยุกต์จากแบบฟอร์มในภาคผนวก
4) การประเมินผลการรักษา
4.1) ประเมินจากการตรวจร่างกายทางเวชกรรม โดยการนัดคนไข้
4.2) บันทึกประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาไว้ใน OPD CARD ทุกครั้งเพื่อใช้ในการประเมินผลการรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น