วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประวัติการแพทย์แผนไทย(4)



        ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ มีพระราชประสงค์ ที่จะพัฒนาการแพทย์แบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้ก้าวหน้าทันสมัย และมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๑๓ สองปีหลังขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระตำราแพทย์แผนไทยให้ตรงกับของดั้งเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ กระจัดกระจาย และคัดลอกกันมาจนผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิมมาก และจดเป็นหลักฐานไว้ในหอพระสมุดหลวง ตำราที่ชำระแล้วนี้เรียกว่า ตำราเวชศาสตร์ ฉบับหลวง ในสมัยนั้น หมอฝรั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมิชชันนารี ได้เข้ามาตั้งโรงพยาบาลแผนตะวันตกกันมาก และได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวซึ่งทรงโปรดการแพทย์แบบดั้งเดิม ได้มีพระราชหัตถเลขาแสดงความห่วงใยไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ความตอนหนึ่งว่า
"...ขอเตือนว่าหมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทสูญหรือหาไม่ หมอไทควรจะไม่ให้มีต่อไปภายหน้า หรือควรมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเองสมัคกินยาไท แลยังวางใจหรืออุ่นใจในหมอไทมาก ถ้าหมอไทจะรักษาแบบฝรั่งหมด ดูจะเยือกเย็นเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระเหนสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันอายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่จน เหนหมอไทหมดดอก คนภายหน้าจะพอใจอย่างฝรั่งกันทั่วไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เป็นแต่ลองเตือนดูตามหัวเก่าๆ ทีหนึ่งเท่านั้น..."

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแพทย์แผนไทยเจริญก้าวหน้ามาก ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบัน เรียกกันทั่วไปว่า โรงพยาบาลศิริราช) ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อเป็นสถานพยาบาลและบำบัดโรค ทั้งแบบแผนเดิม และแบบแผนตะวันตก จัดตั้งโรงเรียนแพทยากรขึ้น และจัดพิมพ์ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งมีเนื้อหาของแพทย์แผนเดิมและแพทย์แผนตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ เพื่อใช้ในโรงเรียน แต่จัดพิมพ์ได้เพียง ๓ เล่มเท่านั้นก็ล้มเลิกไป ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนแพทยากรขึ้นเป็น โรงเรียนราชแพทยาลัย และยังคงให้เปิดสอนการแพทย์ทั้ง ๒ แบบ คือ แผนเดิม และแผนตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ กรมพยาบาลได้จัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์ เป็นเล่มๆ ต่อจากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ที่ยกเลิกไป โดยการรวบรวมตำราทั้งแผนโบราณ ที่ตรวจสอบแล้ว เช่น คัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์ธาตุอภิญญา คัมภีร์ธาตุบรรจบ ตำราแพทย์ฝรั่งที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน และในปีเดียวกันนี้ มีการผลิตยาตำราหลวงเป็นครั้งแรก  จำนวน ๘ ขนาน



พระยาประเสริฐศาสตร์   ธำรง (หมอหนู)

ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ มีการจัดพิมพ์ ตำราแพทย์ศาสตร์วรรณา โดย พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หมอหนู) ได้รวบรวม และเรียบเรียงจากพระคัมภีร์โบราณ ที่ตรวจสอบแล้วหลายเล่ม

 พระยาพิศนุประสาทเวช (หมอคง  ถาวรเวท)

 และตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง มี ๒ เล่ม โดย พระยาพิศนุประสาทเวช (หมอคง) ได้รวบรวม และเรียบเรียงจากตำราแพทย์ไทยโบราณหลายเล่ม ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวงทั้ง ๒ เล่มนี้ รัฐประกาศให้ใช้เป็นตำราหลวง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๑ พระยาพิศนุประสาทเวชเห็นว่า ตำรานี้ยากแก่การศึกษา จึงคัดเอาเฉพาะที่จำเป็น แล้วเขียนขึ้นใหม่ให้ง่ายขึ้น จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ให้ชื่อว่า ตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป หรือ ตำราเวชศึกษา ต่อมาได้มีประกาศให้ใช้ตำราทั้ง ๓ เล่มนี้ เป็นตำราหลวงเช่นกัน ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ หลังจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว ๕ ปี จึงมีการยกเลิกการสอนแพทย์แผนไทยในโรงเรียนราชแพทยาลัย และยกเลิกการจ่ายยาไทย ให้ผู้ป่วยในโรงศิริราชพยาบาล ต่อมามีการออก พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ ซึ่งทำให้การแพทย์แผนไทย พ้นจากระบบการแพทย์ของประเทศไทย และการแพทย์แบบตะวันตก เข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช การแพทย์แผนโบราณได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาในทุกๆ ด้าน และเรียกชื่อใหม่ว่า "การแพทย์แผนไทย" แทน "การแพทย์แผนโบราณ" จนคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒ พร้อมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงาน เรียกว่า "สถาบันการแพทย์แผนไทย" ขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว  ต่อมา มีการจัดระบบการบริหารจัดการ ภายในกระทรวงสาธารณสุขใหม่ โดยได้จัดตั้งกรมใหม่ขึ้น "กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก" ขึ้น และได้ให้สถาบันการแพทย์แผนไทย มีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมดังกล่าว ทำให้การแพทย์แผนไทยได้รับการฟื้นฟู คุ้มครอง ส่งเสริม จนก้าวหน้าขึ้น ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ขอขอบคุณ ขอมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น