วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทย (ตอนที่ ๒)

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทย ตอนที่ ๒.
๓. ลักษณะแห่งอาการในแต่ละกองลม

๓.๑ อาการจากกองลมหายใจเข้าและออก
๑. หทยังจะเต้นถี่เร็วแรงหนัก ชีพจรเต้นหนักแรง ดั่งเช่นเมื่อเหนื่อยหอบ กำเดาอุ่นกายจัก
กำเริบ ลมตีขึ้นบนกำเริบตาม และโลหิตจะตีขึ้นบนมากขึ้นตามแรงลมที่ตีขึ้นบนนั้น
๒. เกิดจากอาการทางศออุระหย่อนหรือกำเริบ ทำให้ต้องมีการหายใจหนักแรงขึ้น แต่ลมหายใจเข้า
ออกจะหย่อนลง ทำให้หทยังทำงานมากขึ้นมีอาการเหนื่อยหอบตามมา
๓. เกิดจากการหย่อนของเส้นลมอิทาหรือปิงคลา ทำให้นาสิกทำหน้าที่หย่อนตาม ต้องหายใจมากขึ้น
กระทบต่ออุระส่งผลต่อหทยัง
๔. หากอากาศจากการหายใจเข้ามาก ลมมากตาม ทำให้ไฟกำเริบ ร่างกายจักขับน้ำออกเพื่อลดไฟ
และยังไปกระทบต่ออุระทำให้หทยังทำหน้าที่มากขึ้น รวมถึงในยามอากาศร้อนก็สำแดงอาการ
แบบนี้เช่นกันแล
๕. หากอากาศจากการหายใจเข้าน้อย ลมน้อยตาม ทำให้ไฟหย่อน น้ำจะเข้ามาแทนที่ เกิดภาวะบวม
น้ำที่ศอและอุระ กระทบต่อหทยัง รวมถึงในยามอากาศเย็นก็จักสำแดงอาการนี้เช่นกัน

๓.๒ อาการจากลมแล่นทั่วกาย
๑. หากไฟกำเริบ ลมแล่นทั่วกายจักกำเริบตาม เกิดอาการลมตีขึ้นเบื้องสูง และหากหย่อนจักเกิด
ลมพัดลงล่างกำเริบ ผลักเสมหะและตะกรันลงล่าง ขาจะบวมหรือมีผื่นแดงขึ้นตามขาจนถึงข้อเท้า
๒. หากลมแล่นทั่วกายกำเริบจักผลักดันโลหิตังตีขึ้นบน เกิดภาวะความดันโลหิตสูง
๓. หากลมแล่นทั่วกายหย่อน โลหิตังจักขึ้นบนได้น้อย เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
๔. หากลมหายใจเข้าออกมาก ลมแล่นทั่วกายจักมากตาม เกิดไฟกำเริบเกิดลมตีขึ้นบนกำเริบตามในที่สุด
๕. หากลมหายใจเข้าออกหย่อน ลมแล่นทั่วกายจักหย่อนตาม เกิดไฟธาตุหย่อนลมตีลงล่างจักกำเริบ

๓.๓ อาการจากลมตีขึ้นเบื้องสูง
๑. จักเริ่มเกิดที่ลมกองสมุนา (เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้ว) พัดขึ้นบนเข้าลิ้นปี่ทำให้แน่นหน้าอก
๒. อาจเกิดเป็นลมดานตะคุณ (ตั้งอยู่กลางอก) พัดเข้าชายโครงขวามีอาการเสียดชายโครงขวา
แต่หากพัดเข้าชายโครงซ้ายจักเข้าหทยังทำให้หัวใจทำงานหนักอาจเกิดภาวะหทัยวาตะร่วมด้วย
๓. ลางครั้งอาจเกิดภาวะลมจุกคอ กระทบต่อลมหายใจเข้าออกทำให้หย่อน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
๔. เมื่อพัดถึงศีรษะจักเกิดอาการหน้ามืด ตาลาย เวียนศรีษะ ทรงตัวไม่อยู่ คล้ายจะเป็นลม หูอื้อ ตาลาย
๕. อาจเกิดเป็นอาการลมปะกัง ปวดศีรษะข้างเดียว คลื่นไส้อาเจียรผะอืดผะอม หรือมีอาการลมปะกัง
ออกตา ตาพร่ามัวปวดกระบอกตาก็ได้ เข้าต้อหินต้อลมในท้ายสุด
๖. ลมตีขึ้นเบื้องบนอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เพราะพัดพาโลหิตังขึ้นบน กองชีพจร
จักเต้นแรงเร็ว หทยังจะทำงานหนัก
๗. ลมกองสมุนาจะไล่ตีขึ้นบนกลายเป็นลมชิวหาสดมภ์ ขึ้นบนจนถึงศีรษะเกิดอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต
๘. ลมกองสมุนาอาจแทงออกหลังเข้าจุดอัพยา(อยู่แนวสะดือด้านหลังแนบชิดกับกระดูกสันหลัง)แล้ว
วิ่งขึ้นบนเป็นลมตีขึ้นเบื้องสูงเกิดอาการอัมพฤกษ์-อัมพาตได้เช่นเดียวกัน
๙. หากมีอาการลมตีขึ้นเบื้องบนอยู่เนืองๆจะกระทบต่อระบบสมองและเส้นประสาทสมอง(กระทบธาตุดิน)

๓.๔ อาการลมพัดลงล่าง
๑. จักเกิดอาการลมเหน็บชาลงปลายเท้า ตามด้วยลมตะคริวจับเข้าตามน่องหรือโคนขา ขาจะอ่อนแรง
๒. ข้อเข่าจักบวมเข้าจับโปงน้ำหรือจับโปงแห้ง 
๓. จักเกิดอาการรองช้ำได้ในท้ายที่สุด
๔. โลหิตังจะไหลเวียนลงล่างน้อย ขาจะอ่อนแรง ปวดเมื่อยขา แข้งขาขัดเคลื่อนไหวไม่สะดวก
๕. ปัสสาวะมาก ไตทำงานมาก ขาบวม

๓.๕ อาการลมพัดในลำไส้ใหญ่น้อย
๑. จักเกิดอาการท้องอืดเฟ้อจนเรอเหม็นเปรี้ยว(กรดไหลย้อน) จากนั้นจะเข้าเขตกระษัยท้น,ล้น,จุก
เสียด,กระษัยปู ตามลำดับขั้นตอนของโรคต่อไป ทั้งหมดเหตุเกิดแต่ลมร้อน(จากไฟย่อย)เกิดกำเดา
ย่อย ลมพัดในไส้จึ่งกำเริบตามมา
๒. หากกำเดาย่อยหย่อน ลมพัดในไส้จะหย่อนตาม อาหารใหม่เหลือจากการย่อยตกค้างเป็นอาหารเก่า
ในลำไส้ใหญ่ สะสมนานเข้าเกิดเป็นกล่อนเถา
๓. ลมพัดในไส้หากกำเริบอาจแปรขึ้นบนเป็นลมตีขึ้นบนได้ ส่งผลให้เกิดอาการลมขึ้นเบื้องสูงตามมา
๔. ลมพัดในไส้หากหย่อนอาจทำให้ลมนอกไส้หย่อนตาม ส่งผลทำให้ลมพัดลงล่างหย่อนด้วย
๕. หากเกิดภาวะกำเดาระส่ำระส่ายอาจส่งผลทำให้ลมพัดในไส้นอกไส้กำเริบก็ได้หย่อนก็ได้ตามปัจจัย
ความเครียดความวิตกกังวล อันส่งผลให้เกิดกำเดานั้น (ความวิตกกังวลส่งผลต่อระบบการย่อยและ
ระบบทางเดินอาหาร)

๓.๖ อาการลมพัดนอกลำไส้ใหญ่น้อย
๑. หากลมพัดนอกลำไส้กำเริบ จะส่งผลทำให้เกิดอาการท้องอืด มวลท้อง เสียดท้องซ้ายหรือขวา
๒. หากลมพัดนอกลำไส้หย่อน จะส่งผลทำให้ลมพัดลงล่างหย่อนตาม จะมีอาการใดอาการหนึ่งของ
กองลมพัดลงล่างเกิดขึ้นได้
๓. หากมีอาการทางพัทธะปิตตะกำเริบหรือหย่อน จะส่งผลโดยตรงต่อกองลมพัดในไส้และนอกไส้ทันที
๔. หากมีอาการทางธาตุดินที่ตั้งอยู่ในช่องท้องเช่น ตับ ไต ลำไส้ ม้าม ไต ต่อมเพศชาย ต่อมเพศหญิง ไม่ว่ากำเริบ,หย่อน จักส่งผลให้เกิดกำเริบ หย่อนของกองลมในลำไส้-นอกลำไส้ตามมาในที่สุด
๕. หากไฟกองแก่ชราหย่อนมากก็ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้กองลมพัดนอกลำไส้หย่อนตาม
โดย .. นายแพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา
*************************************************** 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น