วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทย (ตอนที่ ๓)

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทย ตอนที่ ๓

๔. การวินิจฉัยสมุฎฐานเหตุทางวาตะ และการวินิจฉัยเหตุทางวาตะตามหลักเส้นประธานสิบ

๔.๑ การวินิจฉัยสมุฎฐานเหตุทางวาตะ
ให้เริ่มการตรวจวินิจฉัยจากกำเดาอุ่นกายเสียก่อนเนื่องเพราะเป็นปฐมเหตุแห่งวาตะทั้งสิ้นมีวิธีการตรวจ
ดั่งต่อไปนี้
-
กำเดามักพัดขึ้นบนเสมอเป็นสัจจะธรรมชาติหนึ่ง ดังนั้นบริเวณที่มีกำเดาน้อยจึงเป็นส่วนล่างสุด ถ้านับ
กายของมนุษย์ได้แก่ เท้า ให้แพทย์ใช้สองมือจับทั้งเท้าหมายหน้าเท้าและหลังเท้าพร้อมๆกันหากร้อนมาก
สำแดงว่ามีกำเดากำเริบมาก หากร้อนน้อยถือเป็นปรกติ หากเย็นสำแดงว่ากำเดานั้นหย่อนลงแล้ว
-
จากนั้นจึงใช้ฝ่ามือวางบนช่องท้อง(กลางสะดือ) หากร้อนถือเป็นปรกติด้วยบริเวณนี้มีทั้งไฟย่อยและ
ไฟอุ่นกายประชุมกันอยู่ หากร้อนน้อยสำแดงว่ากำเดาย่อยหย่อนลง หากร้อนมากผิดปรกติเมื่อจับเทียบ
กับศีรษะสำแดงว่ากำเดาย่อยอาจกำเริบได้
-
ใช้ฝ่ามือแตะสัมผัสไล่ขึ้นบนไปเรื่อยๆผ่านแผงอก ลำคอจนถึงศีรษะ กำเดาจักต้องไล่ลำดับจากน้อย
ไปหามากจึ่งนับเป็นปรกติ หากไม่สำแดงตามนั้นแสดงว่ามีกำเดากำเริบหรือหย่อนในที่ใดที่หนึ่ง
-
ตรวจดูฝ้าและรอยแตกบริเวณขอบลิ้นและริมฝีปาก หากมีฝ้ามากขอบลิ้นแตกเป็นร่องริมฝีปากแห้ง สำแดงว่ากำเดาใดกำเดาหนึ่งกำเริบขึ้นแล้ว 
-
ตรวจดูสีของตาขาว ความสว่างใสของตาดำ หากตาขาวออกแดงออกเหลือง ตาดำหม่นเหมือนเป็นฝ้า
จางๆ สำแดงว่ากำเดาได้กำเริบขึ้นบนแล้ว
-
ให้คนไข้นอนราบลงกับพื้นห้องสักหลายอึดใจ แล้วพลิกกลับ แพทย์พึงเอามือสัมผัสที่พื้นก็จักทราบภาวะ
กำเดาอุ่นกายในขณะนั้น

เมื่อแพทย์ทราบกำเดา แพทย์จักทราบทันทีว่ามีลมกำเริบหรือหย่อน เกิดขึ้นกับคนไข้นั้น จึ่งทำการวินิจฉัย
ต่อไปว่ากองลมใดบ้างที่กำเริบหรือหย่อนโดยจักขออธิบายการวินิจฉัยทีละกองลมดังนี้

-
การวินิจฉัยจากกองลมหายใจเข้าออก หากเนินอกมีกำเดามากสำแดงว่าอาจเกิดลมดานตะคุณ(ตั้งเป็นก้อนกลางลิ้นปี่)ลมนี้จักวิ่งได้เป็นสี่เส้นทาง 
๑.วิ่งตรงขึ้นบนเข้าชิวหาสดมภ์เกิดอาการลิ้นกระด้างคางแข็งหรือกรามค้าง
๒. วิ่งเข้าขวาเป็นลมเสียดชายโครงขวา 
๓. วิ่งเข้าซ้ายเป็นหทัยวาตะหรือสัตถกะวาตะ 
๔.วิ่งแทงออกหลัง แล้วพัดขึ้นเบื้องบน 
ให้แพทย์กางมือออกแล้วแตะสัมผัสบริเวณกลางอก นิ้วกลางให้อยู่บริเวณ
หลอดลม นิ้วชี้กับนิ้วกลางบริเวณปอดสองข้าง นิ้วก้อยอยู่ใต้ราวนมซ้าย นิ้วโป้งอยู่ใต้ราวนมขวา ให้คนไข้
หายใจปรกติ เมื่อคนไข้หายใจเข้าและออก อากาศจักผ่านเข้ารูจมูกแล้วแปรเป็นลมผ่านตามระบบทางเดิน
หายใจเข้าศอถึงอุระท้ายที่คูถ เมื่อถึงอุระจักเข้าปอดสองข้าง ฉะนั้นจึงให้แพทย์พึ่งสังเกตุความสัมพันธ์ของ
หลอดลม,ปอด,หัวใจว่าสัมพันธ์กันไหม มีสะดุดที่ใด การหายใจหนักเบา แรงไม่แรง ลึกหรือตื้น

-
การวินิจฉัยจากกองลมแล่นทั่วกาย แบ่งเป็นสองกอง กองแรกเรียกลมกองหยาบวิ่งวนทั่วกายในช่องอวัยวะที่กลวงใหญ่ซึ่งมีกำเดาแผ่ออก ลมที่เกิดตามก็แผ่เช่นกันตามลักษณะของอวัยวะนั้น กองที่สองเรียกลมกองละเอียดวิ่งวนทั่วกายในช่องอวัยวะที่เล็กแคบ กำเดาที่ดำรงอยู่ย่อมร้อนกว่าในพื้นที่กว้าง ลมที่เกิดตามย่อมมีแรงมากกว่าละเอียดอ่อนกว่่าเช่นกัน กำเดาที่แทรกอยู่ในลมกองละเอียดจักมีมากกว่าในลมกองหยาบเสมอ ลักษณะอาการจึ่งต่างกันดังต่อไปนี้ 
อาการทางลมกองหยาบ จักเคลื่อนไหวช้า หากกำเริบจะมีลักษณะอืดพองขึ้น แล้วจึงดันขึ้นเช่นลมในลำไส้
ลมนอกลำไส้ ลมในกระเพาะอาหาร ลมในกล้ามเนื้อ ในผิวเนื้อ ในผิวกาย ในเนื้อสมอง เป็นต้น จักเกิดอาการปวด
มวล ปวดหน่วง ปวดเสียด ปวดเมื่อย ปวดแบบกว้างๆแผ่ออกตามลักษณะของลมกองหยาบนั้น 
อาการทางลมกองละเอียด จักเคลื่อนไหวเร็ว หากกำเริบจะมีลักษณะเสียดแทงไปข้างหน้าเช่น ลมกอง
สัตถกะวาตะ ลมกองสมุนา ลมกองดานตะคุณ ลมกองอัพยา ลมปะกัง ปวดร้าวในศีรษะ ปวดเสียวในกระดูก
ปวดเบ้าตา ปวดจำกัดเขตนั้นๆไม่ได้แผ่ออกเท่าลมกองหยาบ
การตรวจวินิจฉัยนั้นใช้การซักถามลักษณะอาการที่ปวดว่าปวดแบบใด เกิดที่ส่วนใดของอวัยวะ เพื่อจัก ทราบได้ว่าเป็นลมกองหยาบหรือกองละเอียด แพทย์จักได้วางยาได้อย่างถูกต้อง อีกประการหนึ่งลมแล่นทั่ว กายจักกำเริบได้ย่อมเกิดแต่กำเดาอุ่นกายกำเริบเป็นสำคัญ และมักพัดขึ้นบนทำให้เกิดลมตีขึ้นเบื้องสูง เกิดอาการความดันโลหิตสูง กองชีพจรจักเต้นเร็วแรง มีอาการทางกองลมตีขึ้นบน แต่หากกำเดาอุ่นกายหย่อนลมแล่นทั่วกายจักหย่อนตามเกิดกองลมพัดลงล่าง ความดันโลหิตจะลงต่ำ กองชีพจรจะเต้นอ่อนเบา และมีอาการของกองลมนี้จักปรากฎขึ้น

-
การวินิจฉัยจากกองลมตีขึ้นเบื้องสูง อาการจากระบบปิตตะกำเริบไม่ว่าจะเป็น พัทธะปิตตะ อพัทธะปิตตะ
จากไฟสี่กอง ล้วนมีอาการลมตีขึ้นบนตามมาทั้งสิ้น โดยเริ่มจาก นับจากเหนือสะดือขึ้นไปสองนิ้วจักพบก้อนลมประมาณปลายนิ้วก้อยเคลื่อนได้เรียก "กองสมุนา" ให้กดด้วยนิ้วโปงไปที่จุดนี้สักอึดใจแล้วถอนนิ้วออกหากคนไข้
รู้สึกเหมือนมีลมวิ่งขึ้นบนสำแดงว่าอาจมีอาการแน่นลิ้นปี่หน้าอกตามมา หากรู้สึกลมนั้นวิ่งแทงออกหลังจักเข้า
"ลมกองอัพยา"    อาจมีอาการปวดหลังบริเวณนั้น ลมทั้งสองกองนี้จักพัดขึ้นบนเสมอถ้าเป็นกองสมุนาจะพัดเป็น
แนวตรงจนถึง "ลมกองชิวหาสดมภ์" เข้าเขตอัมพฤกษ์-อัมพาต เช่นเดียวกับกองลมอัพยา (แต่ไปด้านหลัง)เข้า
แนบติดกับกระดูกสันหลังแล้ววิ่งขึ้นบนดุจเดียวกัน 
ในอีกประการหนึ่งหากคนไข้มีภาวะท้องอืดให้แพทย์ตรวจตามแนวลมนี้เช่นกันเพราะเมื่ออืดจักตามด้วยเฟ้อ
จนเรอมีภาวะของลมตีขึ้นบนทั้งสิ้น และหากคนไข้มีภาวะกำเดาอุ่นกายกำเริบก็มักเกิดอาการลมตีขึ้นบนตามมา
เช่นกัน ที่สำคัญลมกองนี้มักเป็นเหตุต้นแห่ง "กองลมหทัยวาตะ" และอาจเกิดเป็น "กองลมสัตถะกะวาตะ" ในที่สุด
จักสังเกตุได้ว่าลมกองตีขึ้นบนล้วนเป็นลมอันตรายแพทย์จักรีบรักษาก่อนอาการอื่นใด ลมกองนี้โดยแท้แล้วคือลม
แล่นทั่วกายที่พัดขึ้นบนมีกำเดาแทรกอยู่สูง ทำหน้าที่หนึ่งคือพัดพาโลหิตังให้ขึ้นบนร่วมกับหทยังที่ทำหน้าที่สูบฉีด
โลหิตไปหล่อเลี้ยงสมองและร่างกาย หากลมกองนี้กำเริบย่อมพัดโลหิตให้เร็วและแรงเกิดเป็นภาวะเลือดตีขึ้นบน
(ความดันโลหิตสูง)ตามมา และหากมีตะกรันแทรกอยู่ในเนื้อโลหิตอาจเกิดการอุดตันที่สมองเป็นอัมพฤกษ์-
อัมพาต(ซึ่งเป็นลมตีขึ้นบนกองหนึ่ง) ขอลำดับอาการจากกองลมตีขึ้นเบื้องสูงดังต่อไปนี้
กองสมุนา------(กองลมอัพยา)----กองลมแน่นอก------(กองลมแนบกระดูกสันหลัง)------กองลมจุกคอ-----กองลมชิวหาสดมภ์------กองลมเสียดชายโครงขวา------กองลมเสียดชายโครงซ้าย------กองลมหทัยวาตะ------กองลมสัตถะกะวาตะ------กองลมเข้ากำด้นต้นคอ------กองลมแน่นเข้าบ่าไหล่ออกแขน------กองลมขึ้นศีรษะ------กองลมปะกัง
แน่นท้องเสียดท้อง------ปวดหลังช่วงกลาง------แน่นหน้าอก------ลมแน่นคอจุกคอ------ลิ้นกระด้างคางแข็ง------ปวดเสียดตามแนวกระดูกสันหลัง------จากกลางหลังถึงต้นคอ------เสียดชายโครงขวา------เสียดชายโครงซ้าย------แน่นหัวใจ------เสียดหัวใจ------ปวดต้นคอ------ปวดร้าวบ่าไหล่------ปวดหัว,มึนหัว,หนักๆในหัว,เวียนหัว,ทรงตัวไม่อยู่,ตาพร่าตาลาย,หูอื้อ,หูดับ,หน้ามืด,คล้ายจะเป็นลม,เป็นลมหมดสติ------ปวดหัวข้างเดียว-------ปวดเบ้าตา------ต้อลมต้อกำเดาต้อกระจก

-
การวินิจฉัยจากกองลมพัดลงล่าง อาการทั้งหมดสืบเนืองจากการที่ปิตตะกำเดาหย่อนลง มักเกิดแต่ผู้สูง
อายุเหตุเพราะปิตตะมักถอยลงเสื่อมลง,ผู้มีอริยาบทนั่งมากนอนมาก,ผู้มีอาชีพที่เคลื่อนไหวน้อย,ผู้มีธาตุปฎิสนธิ
ธาตุน้ำ,ผู้ที่ใช้ชีวิตในห้องปรับอากาศนานๆ,มักเกิดเมื่ออากาศภายนอกหนาวเย็น,โรค/อาการที่ติดเตียงทำให้
เคลื่อนไหวได้จำกัด จักเห็นได้ว่าสมุฎฐานเหตุเหล่านี้กระทำให้ปิตตะกำเดาหย่อนลง แพทย์จึงสามารถวินิจฉัย
ได้จากเหตุดังกล่าวว่าน่าจะมีโอกาสเกิดสมุฎฐานดั่งนี้ "ปิตตะกำเดาหย่อน วาตะกองลงล่างหย่อน เสมหะจัก กำเริบได้ " กองเสลดในศอ,อุระ,คูถอาจจักกำเริบได้ เกิดเสลดในลำคอในอก หรือเช่นผู้ป่วยทางตับหากเกิดภาวะตับหย่อน กำเดาย่อยหย่อนตาม ลมกองลงล่างก็จักหย่อนในที่สุด ท้องจะป่องพองด้วยลมเย็นแข้งขาจะบวมน้ำ 

-
การวินิจฉัยจากกองลมพัดในลำไส้ ลมในลำไส้เป็นลมร้อน ฉะนั้นบริเวณท้องเมื่อแพทย์สัมผัสจักต้องอุ่นร้อนที่สุดเมื่อเทียบกับบริเวณหน้าอก สำแดงว่ากำเดาพัดเป็นปรกติ หากท้องร้อนน้อยสำแดงว่าลมพัดในลำไส้อาจพัด
หย่อนตามกำเดาที่หย่อน คือไฟย่อยและไฟอุ่นกายเป็นเหตุ หรือในทางตรงกันข้ามหากท้องป่องพองลมเคาะฟัง
แล้วมีเสียงโปร่งๆมีลมอัดอยู่ภายใน สำแดงว่ากำเดาอาจกำเริบ ทำให้เกิดลมพัดในไส้กำเริบตามมาในที่สุด ทั้งสองลักษณะมิว่าจะหย่อนจะกำเริบล้วนนำพาอาการท้องอืดมาทั้งสิ้นแต่ต่างกันที่ลมหย่อนจะเฟ้อลงล่างเกิดเป็นลมพัดลงล่าง ลมกำเริบจะเฟ้อขึ้นบนเป็นลมพัดขึ้นบน จนออกอาการเรอลงท้ายที่เหม็นเปรี้ยวในที่สุด เฉกเช่นเดียวกันหาก
เกิดอาการทางพัทธะปิตตะหรืออพัทธะปิตตะกำเริบหรือหย่อนก็จักมีอาการทางกองลมพัดในลำไส้กำเริบหรือหย่อน
เป็นอาการตาม ท้องอืดที่ผู้คนทั่วไปเห็นเป็นอาการสามัญ แต่สำหรับแพทย์แผนไทยนั้นมิใช่เลย เหตุเพราะต้นเหตุ
อาจบังเกิดจากอาการของปถวีธาตุภายในไม่ว่าจะเป็นตับ,กระเพาะอาหาร,ลำไส้ใหญ่น้อยเป็นต้นซึ่งจักต้องรีบแก้ไขไปที่ต้นเหตุของอาการท้องอืดไม่ใช่ไปรักษาเพียงอาการท้องอืดสามัญนั้น เช่นเดียวกันหากลมพัดในไส้หย่อนต้นทางมาจากไฟย่อยหย่อนอาหารย่อยไม่หมดไปตกค้างในลำไส้ใหญ่พอกพูนเป็นตะกรันในลำไส้และเมื่อลมหย่อน
ในลำไส้ใหญ่ก็จักเกิดอาการท้องผูกจากการหย่อนนั้นตามมา มักเกิดแต่อายุสมุฎฐานเข้าปัจฉิมวัย ไฟธาตุหย่อนลง
เป็นปรกติ เกิดแต่อาชีพนั่ง อริยาบทนั่งนอน ธาตุน้ำเป็นเจ้าเรือน เป็นต้น แต่หากคนไข้มีธาตุเจ้าเรือนเข้าไฟ วัย
เป็นไฟ,ลม อาชีพเดินมากยืนมาก อริยาบทไม่อยู่นิ่งเคลื่อนไหวเร็วแคล่วคล่อง มีวิตกจริตเป็นอาจิณ คนไข้เหล่านี้มักมีไฟย่อยไฟอุ่นกายสูง มักเกิดอาการลมพัดในลำไส้กำเริบเกิดต่อเป็นอาการลมพัดขึ้นบนตามมาในที่สุด
ที่สำคัญลมกองสมุนาซึ่งเป็นหนึ่งในลมอันตรายมักเกิดร่วมกับลมพัดในลำไส้กำเริบเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้ง
แห่งกองลมนี้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับกองลมพัดในลำไส้นั่นเอง กองสมุนานั้นเป็นฐานให้เกิดลมอันตรายอื่นๆตามมา
มากมายนัก ดังนั้นเมื่อแพทย์พบอาการท้องอืดเฟ้อจนเรอเปรี้ยวจากลมร้อนพึ่งกดตรวจหาไปที่กองสมุนาโดยทันที 
และหากมีลมกองสมุนาและลมกองพัดในไส้แพทย์จักต้องตรวจต่อไปจนถึงลมแน่นอก,ลมจุกคอ,ลมหทัยวาตะ,
ลมตีขึ้นบนเพราะอาจเป็นอาการต่อกันของลักษณะลมร้อนนั้น

-
การวินิจฉัยจากกองลมพัดนอกลำไส้ ให้วินิจฉัยเริ่มจากอาการทางพัทธะปิตตะและอพัทธะปิตตะกำเริบ
หรือหย่อนไหม ธาตุดินในช่องท้องเช่นตับ,ไต,ไส้,ม้าม,ต่อมเพศ มีกำเริบ หย่อน พิการไหม เพราะหากมีย่อมส่ง
ผลต่อกำเดา และส่งผลต่อลมกองนี้ในที่สุด ให้กำเริบหรือหย่อนตามกำเดาที่เกิดก่อนนั้นเป็นเหตุต้น ในทางตรง
ข้ามกันหากมีภาวะลมพัดนอกลำไส้กำเริบหรือหย่อนด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ย่อมกระทบต่อธาตุดินที่ตั้งอยู่ในช่องท้องฉันนั้นเช่นกัน แพทย์จึ่งวินิจฉัยได้เป็นสองทางแล้วแต่เหตุปลายที่เกิด ลักษณะอาการทางลมกองนี้มี
๑. หากหย่อนอาจส่งผลให้เกิดคูถเสลดมากในช่องท้อง กระทบให้เกิดคูถเสมหะกำเริบตาม
๒. หากหย่อนจะส่งผลให้โลหิตังไปเลี้ยงอวัยวะส่วนล่างได้น้อย เกิดเหน็บชา ตะคริว ขาอ่อนแรง
๓. หากหย่อนเส้นเอ็น,ผังผืด,กระดูก,กล้ามเนื้อ,น้ำไขข้อ จักมีโลหิตังไปหล่อเลี้ยงน้อยลงทำให้เกิดอาการขัด แข้งขัดขาเคลื่อนไหวไม่สะดวก หนักขา เกิดจับโปงน้ำ,แข้งขาปวดบวมเท้าบวม,รูมาติค,รูมาตอย,เก้าท์กำเริบ
๔. หากหย่อนจะปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อยเพราะปัสสาวะไม่สุด
๕. หากหย่อนจักกระทบต่อไตสะสมตะกรันทำให้เกิดนิ่วในระบบไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะได้
๖. หากหย่อนระดูจะไหลออกไม่สะดวกไม่หมดไหลไม่มากเกิดการสะสมของตะกรันโลหิตระดูในเพศหญิง สำหรับเพศชายน้ำกามจะไหลไม่แรง จักมีตะกรันไปสะสมในต่อมลูกหมากนานวันเข้าต่อมลูกหมากจักโตบวม
๗. หากหย่อนจักเกิดภาวะไส้เลื่อนในเพศชายลงถุงอัณฑะได้ หากมีภาวะลมกองนี้บ่อยครั้ง
๘. หากหย่อนจักทำให้ม้ามชื้นกระทบต่อระบบเสมหะในช่องคูถทำให้กำเริบ
๙. หากหย่อนจักทำให้การขับเคลื่อนของเสียจากตับไม่ดี เกิดการสะสมของตะกรันตีกลับเข้าโลหิต
๑๐. หากกำเริบจากกำเดาลมร้อนจะผลักลงล่างทำให้เกิดกำเดาสูงที่ส่วนล่าง ขาร้อนเท้าร้อน
๑๑. เสมหะลงล่างทั้งหมดจักหย่อนเกิดอาการดังต่อไปนี้
-
จับโปงแห้ง,ปวดเมื่อยแข้งขาเข้าตามแนวเส้นสัณฑฆาต,ปัตฆาต,รัตฆาต,เส้นตึง,เส้นปีนกัน
เกิดการรัดตัวของเส้น,น้ำไขข้อแห้ง,กระดูกแห้งเปราะ,จะเกิดภาวะของเส้นเอ็น,ผังผืด,กล้ามเนื้อ ด้วยโลหิตัง อันหล่อเลี้ยงนั้นน้อยลงความร้อนกำเดาสูงขึ้นมีภาวะแห้งนำ
-
ปัสสาวะน้อยลง และร้อน เกิดตะกรันปัสสาวะสะสมในระบบไต,ระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดนิ่วในวันหน้า
-
ระดูจะแห้งไปนานวันเข้าเกิดโลหิตระดูสุจริตโทษหรือทุจริตโทษ
โดย .. นายแพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น