วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทย(ตอนนที่ ๑)

ลม/วาตะ/วาโย ในการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม ว่าด้วยสมุฏฐานเหตุ และการรักษา

"ปิตตะ" หมายระบบแห่งความร้อนนั้นเป็นจุดตั้งต้นทำให้เกิด"วาตะ" ระบบแห่งลมที่วิ่งหมุนเวียนภายในกายนั้นแล
และมีกฎแห่งวาตะที่สัมพันธ์กับปิตตะอยู่ ๒ ประการที่เป็นปรกติธรรมชาติดั่งนี้
๑. หากปิตตะนั้นกำเริบเมื่อใด จักทำให้วาตะกำเริบตาม แลเสมหะจักหย่อน
๒. หากปิตตะนั้นหย่อนเมื่อใด จักทำให้วาตะหย่อนตาม แลเสมหะจักกำเริบ
จากกฎดังกล่าวกระทำให้แพทย์แผนไทยนำมาวินิจฉัยอาการที่ทำให้เกิดโรคต่างๆได้ โดยวินิจฉัยจากปิตตะเพื่อจักทราบว่าวาตะนั้นว่ากำเริบหรือหย่อน ในทางกลับกันจักวินิจฉัยจากอาการทางวาตะเพื่อจักทราบว่าเกิดแต่ปิตตะใดเป็นเหตุ
เพื่อให้เข้าใจในเรื่องของ "วาตะ" อย่างแจ้งชัดแพทย์แผนไทยจะต้องทราบความหมายของคำว่า วาตะ,วาโย,ลม เสียก่อนว่าโบราณท่านหมายต่างกัน

๑. ความหมายและกำเนิดแห่งธาตุลม ในทางการแพทย์แผนไทย
๑.๑ วาตะ มิได้หมายเพียงแค่ลม แต่หมายถึงระบบแห่งลมที่โคจรหมุนเวียนภายในร่างกาย มีลักษณะไหลไปไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทำหน้าที่พัดพาน้ำ (ระบบเสมหะ) ให้เคลื่อนตามไป ลมนั้นกำเนิดเกิดได้เพราะมีไฟ และมีกำเดาแห่งไฟเกิดขึ้นก่อน ลมจึงเกิดขึ้นตามมาเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติปรกตินั้น ดังนั้นปิตตะ (ระบบแห่งความร้อน) จึงเป็นปฐมเหตุให้เกิดวาตะ (ระบบแห่งลม) ตามมาเสมอ
๑.๒ วาโย คือ ลักษณะแห่งลมที่หยาบและปราณีตต่างกัน เกิดแต่ลักษณะแห่งกำเดาที่มีไฟต่างกัน และมีลักษณะต่างกันตามลักษณะแห่งอวัยวะที่ไฟนั้นอยู่ เช่น ลำไส้ใหญ่น้อยหรือกระเพาะอาหารที่กลวงเป็นช่องใหญ่ ไฟอุ่นกายและไฟย่อยจึงมีลักษณะเป็นกำเดาที่แผ่ออกตามลักษณะแห่งอวัยวะนั้น ลมที่เกิดตามกำเดาก็เช่นกันจะมีลักษณะแผ่ออกตามเรียก "ลมกองหยาบ"
เส้นเลือดฝอย เส้นประสาทสมอง มีลักษณะเป็นเส้นฝอยเล็กๆ ละเอียดมาก ไฟอุ่นกายที่ดำรงอยู่จะมีกำเดาที่สูงด้วยพื้นที่แคบเล็ก ลมที่เกิดตามกำเดาจึงแรงและละเอียดตาม ลักษณะกำเดาลมที่เกิดนั้นเรียก "ลมกองละเอียด" ดังนั้นลมละเอียดจึงมิจำเป็นต้องมาจากลมหยาบเสมอไป เกิดต่างกันที่ตามลักษณะแห่งอวัยวะนั้นๆ
๑.๓ ลม เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยการสัมผัส มีร้อนมีเย็น เหตุเพราะในลมนั้นมีกำเดาแทรกอยู่ เพราะและลมนั้นเกิดแต่กำเดาเสมอ ลักษณะแห่งลมจะพัดไหลหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา หาหยุดนิ่งไม่ มีทั้งสิ้น ๖ กอง ดังนี้
หากลมกำเดานั้นร้อน จักพัดขึ้นบนเรียก "ลมพัดขึ้นเบื้องบน"
หากลมกำเดานั้นร้อนไม่มาก จักพัดลงล่างเรียก "ลมพัดลงล่าง"
หากลมนั้นเกิดตามแต่ไฟย่อยอาหาร จักเรียกว่า "ลมวิ่งในลำไส้"
หากลมนั้นเกิดแต่ไฟย่อยหรือไฟอุ่นกายและกระจายออกในช่องท้องจักเรียกว่า "ลมวิ่งนอกลำไส้"
หากลมนั้นเกิดแต่ไฟอุ่นกายหรือไฟระส่ำระส่ายหรือไฟแก่ชรา จักเรียกว่า "ลมแล่นทั่วกาย"
หากลมนั้นมาจากการหายใจเข้า-ออกจักเรียกลมนั้นว่า "ลมหายใจเข้าออก"

๒. มูลเหตุแห่งอาการทางลม ๖ กอง
๒.๑ ลมหายใจเข้าและออก เกิดแต่ระบบอุระเสมหะหรือระบบทางเดินหายใจทำงานนำพาอากาศเมื่อหายใจเข้า และนำพาลมเมื่อหายใจออก
หากมีอาการทางศอเสมหะหรืออุระเสมหะจักทำให้เกิดศอเสลดและอุระเสลด ส่งผลโดยตรงต่อลมหายใจเข้าออก ทำให้กำเริบ หย่อน หรือพิการไป
หากอากาศภายนอกร้อนกำเดาจักมาก หากอากาศภายนอกเย็นกำเดาจักน้อย จักมีผลต่อลมหายใจเข้าเป็นลมร้อนและลมเย็น หากลมร้อนจักขึ้นบนอาจกำเริบได้ หากลมเย็นจักลงล่างอาจกำเริบได้เช่นกัน
เมื่อหายใจนำอากาศเข้า กลายเป็นลมหายใจเข้า เข้าสู่ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ และเมื่อหายใจออก เป็นลมจากคูถเสมหะ ผ่านอุระเสมหะ ขึ้นศอเสมหะ ออกนาสิก
เหตุต้นจากศอ,อุระ,คูถ เหตุตามคือลมหายใจเข้าออก งงอ่ะ
นอกจากนั้นลมหายใจเข้าออกยังเป็นเชื้อให้กำเดาที่คงอยู่แรงขึ้น ลมร้อนเพิ่มกำเดาอุ่นกาย ลมเย็นลดกำเดาอุ่นกาย
๒.๒ ลมแล่นทั่วกาย เกิดแต่ลมหายใจเข้าออกและไฟสี่กองเป็นเหตุต้นให้เกิด
หากเหตุต้นปรกติลมจะแล่น ในกายเป็นปรกติสุข
หากเหตุต้นหย่อนลมแล่นทั่วกายจะหย่อนตาม และหากเหตุต้นกำเริบลมแล่นทั่วกายจะกำเริบตามทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน
๒.๓ ลมพัดขึ้นบน เป็นลมที่มีกำเดาอยู่มากจึงพัดขึ้นบนตามธรรมชาติปรกติของกำเดา เกิดแต่ลมหายใจเข้าออก ลมแล่นทั่วกาย และไฟสี่กองเป็นเหตุต้น
หากมีปริมาณมากเกินไป ลมจะกำเริบพัดขึ้นบนเร็วและแรง เป็นลมตีขึ้นบนจนถึงศีรษะก่อให้เกิดอาการตามมามากมายและโดยมากจะเป็นอาการอันตราย เช่น ลมปะกัง ลมอัมพฤกษ์ ลมอัมพาต ความดันเลือดตีขึ้นบน เป็นต้น
หากมีปริมาณน้อยเกินไป ลมจะไปดันโลหิตังให้น้อยตาม ทำให้โลหิตังไม่สามารถหล่อเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืดตาลาย วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม หรือเกิดภาวะเนื้อตัวเย็นลงก่อนหมดสติ เป็นต้น
๒.๔ ลมพัดลงล่าง เป็นลมที่มีกำเดาอยู่น้อย จึงพัดลงล่างตามธรรมชาติปรกติของกำเดา เกิดแต่ลมหายใจเข้าออก ลมแล่นทั่วกาย และไฟสี่กองเป็นเหตุต้น มีหน้าที่นำพาเสมหะกองอาโป ๑๒ ให้ลงไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนล่างทั้งหมด
หากการไหลพัดลงของลมพัดลงล่างหย่อนเมื่อใด กระทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เหน็บชา ตะคริว ปวดขัดตามข้อเข่าข้อกระดูก ขาอ่อนแรง เป็นต้น
๒.๕ ลมพัดในลำไส้น้อยใหญ่ เกิดแต่กองลมทั้งสี่ ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก ลมแล่นทั่วกาย ลมพัดขึ้นบน และลมพัดลงล่าง และไฟสี่กอง ซึ่งกองไฟที่สำคัญที่สุดคือไฟย่อยเกิดเป็นกำเดาย่อย เกิดตามด้วยลมพัดในไส้ 
ลมพัดในลำไส้น้อยใหญ่มีหน้าที่ช่วยคลุกเคล้า และช่วยนำพาอุทริยัง (อาหารใหม่) เคลื่อนไปตามระบบ และยังช่วยเพิ่มกำลังของไฟย่อย ทำให้กำเดาย่อยมีกำลังใช้ในการเผาผลาญอุทริยังได้มากขึ้น นอกจากนี้ลมในลำไส้ใหญ่ยังช่วยนำพากรีสัง (อาหารเก่า) ให้เคลื่อนออกจากระบบด้วย 
๒.๖ ลมพัดนอกลำไส้น้อยใหญ่ เกิดแต่ไฟสี่กอง กองลมหายใจเข้าออก ลมแล่นทั่วกาย และลมพัดลงล่าง ซึ่งเป็นกองลมสำคัญที่สุด มีหน้าที่พัดพาน้ำโลหิตัง น้ำเหลือง น้ำระดู น้ำปัสสาวะ น้ำกาม น้ำไขข้อ กระทำให้ธาตุน้ำและธาตุดินในช่องท้องทำงานเป็นปรกติได้ นอกจากนี้ลมพัดนอกลำไส้น้อยใหญ่ยังเกิดจากการทำงานของอวัยวะในช่องท้อง เช่น ลมกำเดาที่เกิดจากการทำงานของตับ ไต ม้าม เป็นต้น แต่เกิดอยู่นอกลำไส้น้อยใหญ่


โดย .. นายแพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา ลำดับชั้นที่ ๖ ในสายราชสกุลแพทย์แผนไทย " ทินกร "
ตอนที่๑
**********************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น