วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

ธาตุทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์

ธาตุวิภังค์ในพระพุทธศาสนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาเรื่อง "ธาตุวิภังคสูตร" ก็เพื่อให้พิจารณาเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตลอดจนร่างกายของเรานี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีธรรมดาไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา จึงไม่พึงยึดถือ ธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายเราจึงมิใช่ของตายตัว ไม่ใช่ของจำเพาะสำหรับตัวเรา แต่เป็นสิ่งที่ผันแปรอยู่เสมอ และเปลี่ยนที่โยกย้ายไปมาได้ 

ความจริงข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ก็ได้ทรงทราบประจักษ์แจ้งด้วยพระสัพพัญญุตญาณ จึงได้ทรงแสดงไว้ในที่หลายแห่งว่า “ปฐวีธาตุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา, อาโปธาตุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา เป็นต้น” ความที่ทรงสอนนี้เป็นพยานหลักฐานแห่งความเลอเลิศแห่งพระพุทธศาสนาซึ่งแสดงความสัจจ์จริงเหนือศาสนาอื่นซึ่งสอนไว้ว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นของ คงทนถาวร น่าสังเกตว่าในเรื่องธาตุอันเป็นส่วนประกอบของสารทั้งหลายนี้ วิทยาศาสตร์ก็เคยเข้าใจผิด อยู่ว่า สิ่งที่เรียกว่า “เอเลเม็นต์” Element หรือ “ธาตุ” นั้น เป็นสิ่งที่มีลักษณะจำเพาะอันจะเปลี่ยนแปลงต่อไปไม่ได้ เพิ่งมารู้ความจริงเมื่อไม่นานมานี้เองว่า เอเลเม็นต์หรือธาตุ ยังแยกแยะต่อไปได้เป็นประจุไฟฟ้าที่เรียกว่า โปรตรอน และ อิเล็กตรอน อีเล็กตรอนนี้ยังแยกออกไปเป็นพลังงานอีกทอดหนึ่ง พระบรม ศาสดาของเราได้แสดงหลักความจริงเรื่องนี้ไว้มากกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว

ความแปรผันแห่งธาตุ แปรสภาพจากธาตุหนึ่งไปสู่อีกธาตุหนึ่ง หรือแปรกลับมาเป็นเช่นเดิม ตัวอย่างเช่น วาโยธาตุคือออกซิเจน กับวาโยธาตุคือไฮโดรเจน รวมกันเข้ากลายเป็นอาโปธาตุ คือน้ำ H2ที่เราใช้ดื่มใช้อาบนี้ วาโยธาตุคือออกซิเจนรวมกับปฐวีธาตุคือคาร์บอน กลายเป็นคาร์บอนได้ออกไซด์  CO2 ซึ่งเป็นวาโยธาตุที่เกิดขึ้นเวลาจุดไฟหรือรวมกับ ปฐวีธาตุ คือ ธาตุเหล็ก กลายเป็นสนิมเหล็กซึ่งเป็น ปฐวีธาตุ คาร์บอนผสมกับปฐวีธาตุคือกำมะถัน กลายเป็นของเหลวคืออาโปธาตุ เรียกว่า คาร์บอนไดซัลไฟด์ เป็นตัวทำให้เกิดกลิ่นเหม็นที่เราพบในการเน่า แม้ธาตุอย่างเดียว ๆ ก็อาจแปรสภาพเป็นธาตุอื่นได้ ถ้าได้ รับการกระทำบางอย่าง เช่นการใช้ความร้อนทำให้อาโปธาตุ คือน้ำกลายเป็นวาโยธาตุคือไอน้ำ หรือ การใช้กำลังอัดทำให้วาโยธาตุคือคาร์บอนไดออกไซด์กลายเป็นอาโปธาตุ คือ คาร์บอนไดออกไซด์เหลว และอาจทำให้แปรต่อไปกลายเป็นปฐวีธาตุ คาร์บอนไดออกไซด์แข็งหรือน้ำแข็งแห้งก็ได้ ดังนี้ จึงเป็น การสมจริงตามพระพุทธวัจนะที่ว่า “ธาตุไม่เที่ยง”

ความวนเวียนไปมาแห่งธาตุพิจารณาเห็นได้จากเหตุการณ์ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “วัฏฏะแห่งธาตุ” คือ การที่สารต่าง ๆ โยกย้ายออกไปจากร่างกายของเรา แล้วก็เวียนกลับเข้ามาใหม่ เข้า ๆ ออก ๆ อยู่เช่นนี้ เรื่อยไป ตัวอย่างเช่นเนื้อหนังของเราประกอบขึ้นด้วยวัตถุประเภทเนื้อเป็นส่วนใหญ่ สิ่งสำคัญในวัตถุ ประเภทนี้คือ มูลสาร(ใช้แทนคำว่าธาตุในทางวิทยาศาสตร์)ไนโตรเจน ซึ่งประกอบเป็นเกือบทั้งหมดของเนื้อ นอกเหนือไปจากน้ำ เราได้ มูลสารไนโตรเจนนี้โดยกินเนื้อสัตว์หรือกินถั่ว สัตว์ได้ไนโตรเจนจากการกินหญ้า หญ้าหรือต้นถั่วก็ได้ไนโตรเจนมาจากดิน ดินได้ไนโตรเจนมาจากอากาศจากอุจจาระหรือปัสสาวะหรือจากซากของคนและสัตว์ ดังนั้นมูลสารไนโตรเจนที่อยู่ในร่างกายของเราในขณะนี้อาจเคยอยู่มาก่อนหลายต่อหลายครั้งแล้ว และ อาจเคยอยู่มานับครั้งไม่ถ้วนแล้วในตัวของวัวหรือควายหรือหมูหรือสัตว์อืนหรือในต้นผักต้นหญ้า นานาชนิด หรือแม้เคยอยู่ในตัวของคนที่เป็นเพื่อนเรา เป็นศัตรูของเรา หรือที่เราไม่เคยรู้จักหน้าตาเลยก็ได้

เห็นได้ว่าธาตุที่ประกอบเป็นร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นหรือสัตว์อื่นก็ดี หรือเป็นของทั้งหลายก็ดี ล้วนแต่ไม่ใช่ของคงที่หรือคงทนถาร แต่เปลี่ยนเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธาตุเป็นอนิจจังเพราะไม่คงที่ ประเดี๋ยวมากประเดี๋ยวน้อย ประเดี๋ยวมีประเดี๋ยวไม่มี, ธาตุเป็นทุกขัง เพราะทนอยู่ไม่ได้ต้องผันแปรเปลี่ยนไป ประเดี๋ยวเป็นรูปนั้นประเดี๋ยวเป็นรูปนี้ ไม่มีความถาวร, ธาตุเป็นอนัตตา เพราะมิใช่เป็นของเฉพาะตัวตนของผู้ใด ประเดี๋ยวอยู่ในตัวเรา ประเดี๋ยวอยู่ในตัวเขา ไม่เป็นไปโดยประสงค์ เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ หมุนเวียนไปตามหลักของธรรมชาติโดยสิ้นเชิง
อ้างอิง dhamma.mbu.ac.th
ที่มา : http://board.palungjit.org/f4/ที่ตั้งของธาตุ-ธาตุสมุฎฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น