วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

แสลงโรค


แสลงโรค ฉบับการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม 
บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)
คำว่า "แสลง" ว่ากันตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลได้ความว่า " ไม่ถูกกับโรค " สิ่งใดบ้างที่ขัดกับโรคสิ่งนั้นเรียก "แสลงโรค" อาหารแสลงโรค อากาศแสลงโรค อาชีพแสลงโรค อริยาบทแสลงโรค เป็นต้น เมื่อแสลงแล้วจึงสำแดงปรากฎอาการออกมา กินอาหารผิดสำแดง อยู่ในสภาพอากาศที่ผิดสำแดง ประกอบอาชีพผิดสำแดง มีอริยาบทผิดสำแดง
อาหารแสลงโรค กินมากแล้วผิดสำแดง 
เราต้องกินอาหารทุกวัน หากอดอาหารเพียงไม่กี่วันถึงแก่ชีวิตได้ อาหารให้ทั้งคุณและโทษ แล้วเราจะกิน อย่างไรไม่ก่อให้เกิดโทษ อาหารเป็นหนึ่งในอุทริยังซึ่งยังประกอบไปด้วยน้ำและอากาศ ผ่านระบบอันตัง(ทางเดินอาหาร) สำเร็จเป็นกรีสังมิใช่หมายเพียงอาหารเก่าแต่หมายปฎิกูลทั้งปวงอันเกิดเป็นของเสีย
๑ กินแสลงกับอายุ
วัยเด็กหากกินเย็นขม ร่างกายเย็นไปทำให้ไม่สบาย ด้วยเป็นวัยที่เสมหะกำเริบได้ง่าย
วัยกลางหากกินเผ็ดร้อน จะยิ่งป่วยเพราะร้อนเป็นปรกติอยู่แล้ว ด้วยเป็นวัยปิตตะกำเดา
วัยผู้ใหญ่หากกินเย็นขม ยิ่งทำให้เกิดลมหย่อน ด้วยเป็นวัยแห่งวาตะหย่อนได้ง่าย
๒ กินแสลงกับธาตุ
ธาตุปฎิสนธิดิน แสลงรสเปรี้ยว ทำให้น้ำมาก รสขม ทำให้ดินเย็น รสเมาเบื่อเป็นพิษ รสร้อน ทำให้ดินมีกำเริบ
ธาตุปฎิสนธิน้ำ แสลงรสเปรี้ยว,หวาน,มัน,เค็ม ทำให้น้ำกำเริบ
ธาตุปฎิสนธิลม แสลงรสขมทำให้เกิดลม,เปรี้ยว,หวาน,มัน,เค็ม ทำให้ลมเคลื่อนไหวช้า
ธาตุไฟ แสลงรสร้อน
๓ กินแสลงอาการ
อาการทางปิตตะกำเริบ แสลงรสร้อน
อาการทางปิตตะหย่อน แสลงรสเปรี้ยว,หวาน,มัน,เค็ม,ขม ทำให้น้ำกำเริบ
อาการทางวาตะกำเริบ แสลงรสร้อน เพราะยิ่งทำให้เกิดลมกล้าขึ้นไปอีก
อาการทางวาตะหย่อน แสลงรสขม เพราะยิ่งทำให้ลมหย่อนมากขึ้น
อาการทางเสมหะกำเริบ แสลงรสเปรี้ยว,หวาน,มัน,เค็ม, แลขม
อาการทางเสมหะหย่อน แสลงรสร้อน ยิ่งทำให้เสมหะงวดเข้า
๔ กินแสลงอาชีพ/อริยาบท 
ยืนมาก,เดินมาก อาหารรสร้อนเกินไปอาจแสลงได้เพราะมีลมพัดกล้าเป็นปรกติอาชีพแลอริยาบทนี้ นั่งมาก,นอนมาก อาหารรสเปรี้ยว,หวาน,มัน,เค็ม,แลขม เพราะมีลมพัดหย่อนเป็นปรกติน้ำมากเป็นธรรมดา แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น การกินแสลงกับอาการนั้นสำคัญที่สุด ด้วยเป็นการเจ็บป่วยไม่สบายมีการผิดไปของตรีธาตุ แพทย์จักวางอาหารแสลงแจ้งแก่ผู้ไข้ไปตามสมุฎฐานที่แพทย์ได้วินิจฉัยแล้วนั้น

อุทริยังหมาย อาหารเป็นธาตุดิน น้ำเป็นธาตุน้ำ อากาศเป็นธาตุลม ไปประมวลผลในกายผสมกับธาตุไฟที่มีอยู่ในกายแต่เดิม ก่อให้เกิดเป็นพลังงานขับเคลื่อนอวัยวะน้อยใหญ่ให้ดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปรกติธรรมดา หากสัดส่วนของอุทริยังผิดไปจากอายุ,จากธาตุ,จากอาการ ย่อมก่อให้ตรีธาตุนั้นผิดสำแดงแสดงเป็นอาการปรากฎ กรีสังหมาย ปฎิกูลอันเกิดแต่การทำงานของธาตุดินเป็นของเสีย ร่างกายต้องขับออก เช่น อุจจาระ,ปัสสาวะ,ระดู,ขี้หู,ขี้ตา,ขี้เหงื่อ,ขี้ไคล,ขี้มูก,ตะกรันในโลหิต เช่นตะกรันน้ำตาล หรือน้ำมัน เป็นต้น ฯลฯ แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการแห่งโรคได้จากกรีสัง แลหากอุทริยังผิดไปจากธาตุ,อายุ,อาการ ย่อมสำแดงผลเป็น กรีสังให้แพทย์วินิจฉัย
แพทย์พึงวางอาหารให้แก่ผู้ไข้มิให้แสลงมิใช่วางแต่ตำรับยารักษาเท่านั้น ให้ยึดหลักตรีธาตุกำเริบ,หย่อนจากอาการปรากฎ ใช้หลักรสบอกสรรพคุณวางอาหารแสลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น