วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

บริโภคอาหารตามคัมภีร์

การบริโภคอาหารไทยตามพระคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
ตำราแพทย์ศาสตร์สงคราะห์ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการศึกษาการแพทย์แผนไทย มีการกล่าวถึงการบริโภคอาหารไว้ในคัมภีร์วรโยคสาร ดังนี้
1. เทหะลักษณะ คือ การบริโภคอาหารตามลักษณะร่างกายของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น คนอ้วน คนผอม และคนปานกลาง คนปานกลางจะมีสุขภาพแข็งแรงกว่าคนผอมและคนอ้วน คนแต่ละลักษณะสามารถเลือกบริโภคเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงลักษณะของตนได้ เช่น
คนอ้วนที่ต้องการผอมให้เลือกรับประทานยาขนานใดขนานหนึ่งใน 4 ขนาน ซึ่งเป็นยาสำหรับลดความอ้วน และช่วยทำให้ร่างการแข็งแรงและมีกำลัง ได้แก่
ขนานที่ 1 ตรีผลา ประกอบด้วย สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม นำมาตำเป็นผง ละลายน้ำผึ้งรับประทาน
ขนานที่ 2 สมอ แห้วหมู บอระเพ็ด ตำเป็นผงละลายน้ำผึ้งรับประทาน หรือใช้กวาดคอก็ได้
ขนานที่ 3 ตรีผลา พิลังกาสา ขิงสด เกลือยะวะกาสา มะขามป้อม นำมาตำเป็นผง ละลายน้ำผึ้ง รับประทาน
ขนานที่ 4 ตรีผลา ประดู่ เจตมูลเพลิง แก่นขี้เหล็ก ขมิ้นชัน นำมาต้มแทรกน้ำผึ้งรับประทาน
คนผอมที่อยากอ้วน ให้รับประทานอาหารคือ
ขนานที่ 1 ให้นำเนื้อสัตว์ต่าง ๆ หลายชนิดมาผสม และต้มรับประทาน
ขนานที่ 2 ใช้ข้าวสารสาลีที่ใช้ต้มให้พระมหากษัตริย์เสวยมาหุงให้รับประทาน จะบำรุงเนื้อหนังให้บริบูรณ์ อวัยวะจะเจริญงอกงาม
2.อันนะปานาวิธีติกิจฉา  อาหารเป็นสิ่งที่เลี้ยงชีวิตของสัตว์โลก อาหารที่สำคัญได้แก่ ข้าวและน้ำ จะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป เช่น
ข้าวภูเขา มีรสหวานสนิท ให้ระงับลม
ข้าวปลูกในนา มีรสหวาน ให้ระงับลม และปิตตะ
ข้าวใหม่บางชนิด เช่น ข้าวกับแก้ ข้าวเดือย ข้างฟ่างเล็ก สามารถใช้บำรุงตา ระงับปิตตะและเสมหะ
ข้าวยะวะสาลี ระงับปิตตะและเสมหะ
ข้าวโคธุมะสาลี มีรสเย็นหวาน ระงับลม
ถั่วเขียว ระงับปิตตะ
ถั่วดำวานร ระงับปิตตะ ระงับเสมหะ แก้หอบ แก้ไอ แก้สะอึก
งา มีรสหวานขม ทำให้เกิดกำลัง
เมล็ดขนุน รสหวานฝาด บำรุงปัญญา ระงับปิตตะ
เมล็ดมะขาม ช่วยต่อกระดูกที่หักให้ติดกัน
เนื้อปลาช่อน บำรุงธาตุ
ตามหลักแพทย์แผนไทย พฤติกรรมหรือ อิริยาบถที่ซ้ำซากจำเจ ก็จัดเป็นเหตุของการเจ็บป่วย ซึ่งรวมเรียกว่า มูลเหตุของโรค 8 ประการได้แก่
ก.การบริโภคอาหารมากหรือน้อยเกินไป บริโภคอาหารบูดเสีย บริโภคอาหารที่ควรทำให้สุก
ข.อิริยาบถนั่ง ยืน เดิน นอน ถ้าฝืนทำมากเกินไปก็เกิดเจ็บป่วยได้
ค.อากาศร้อนเย็น อยู่กลางแดดร้อนนาน ๆ ก็ทำให้ป่วยได้
ง.การอดข้าว อดน้ำ อดนอน ฝืนนาน ๆ ก็เจ็บป่วยได้
จ.การกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ ถ้ากลั้นไม่ถ่ายก็จะทำให้เกิดโรค
ฉ.การทำงานเกินกำลัง
ช.ความโศกเศร้าและเสียใจมากเกินไปจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ก็ทำให้ป่วยได้

ซ.โทสะมาก โกรธง่ายจนไม่สามารถระงับสติอารมณ์ได้ ทำให้เครียดและละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง หรือบางครั้งอาจถึงกับทำร้ายตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น