วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรคป่วง



 โรคป่วง
โรคป่วง เป็นชื่อโรคตั้งแต่สมัยโบราณ อาการของป่วง คล้ายโรคอหิวาตกโรคแต่ไม่ติดต่อ เพราะมีอาการถ่ายอย่างรุนแรงและอาเจียน คนไข้อาจตายได้เพราะเสียน้ำในร่างกายมากเกินไป

อาการของโรค ตำราวิชาหมอโบราณว่าไว้ ให้หมอพิจารณาถึงรู้พิจารณาดูโดยกิริยา อาการไข้มีมาต่างๆกัน อย่าสำคัญว่าปีศาจ เหตุคือ ธาตุผิดสำแดง หมายถึงคนกินอาหารไม่เลือกและไม่เคยกับธาตุ โบราณเรียกว่าผิดสำแดงหรือแสลง เรียกง่ายๆ ก็อาหารเป็นพิษ หรืออาหารใหม่พิการ มีอาการทำให้ปวดท้อง ลงท้องเป็นน้ำ มีลมออกบ้าง ริมฝีปากซีดขาว ขอบตาซีด เสียงแหบ อาจเป็นตะคริวปลายมือและเท้า อาการเบากว่าอหิวาตกโรค เพราะน้ำอาหารที่ย่อยแล้วที่อยู่ในต่อมที่เก็บดูดไว้มิได้ถ่ายออกมาด้วย แต่เป็นเสมหะจึงเป็นพิษ ตามผิวกระเพาะอาหาร และลำไส้ไม่มีตัวโรคที่ทำให้ติดต่อ โรคป่วงไม่ติดต่อ เมื่อลงท้องมากอาการเป็นตะคริวจะจับปลายมือปลายเท้า คือ มีอาการเกร็งมาก เจ็บปวดและเข้าท้องด้วยก็ได้ อาการลงท้องมาก อาเจียนมาก โบราณเรียกว่า สันนิบาตสองคลอง คือ ทั้งลงและ ทั้งราก



การรักษา  ถ้าอาเจียนให้จิบยาหม้อแก้อาเจียนบ่อยๆ  ช่วยให้ลำไส้เป็นปกติได้ดีด้วยและถ้ามีอาการเป็นตะคริวต้องใช้ความอบอุ่นเข้าช่วย เช่น ถุงน้ำร้อนหรือขวดน้ำร้อน ก้อนอิฐเผาไฟห่อผ้าพออุ่นๆ วางตรงที่เป็นตะคริว
ให้ยารสร้อน อย่าให้กินของเย็นทุกชนิด อาหารที่มีรสหวาน รสเปรี้ยว  หรือให้จิบน้ำขิงบ่อยๆ ให้ยาแก้ป่วง ถ้ากำลังคนไข้ไม่ดี อ่อนเพลียมาก ลงท้องมาก ควรนำส่งโรงพยาบาล เพราะ อาจกินอาหารมากเกินไป อาหารไม่ย่อย เกิดโทษเป็นโรคแทรกถึงตายก็เคยมี
ยาหม้อแก้อาเจียนมีตัวยาดังนี้
แก่นสน จันทน์เทศ เทพชาโร ขิงแห้ง แห้วหมู ลูกผักชี มะตูมอ่อน รากช้าพลู หญ้าตีนนก รากแฝกหอม หัวหอม หัวตะไคร้ ผลยอเผาไฟพอสุก หนักสิ่งละ 15 กรัม หรือพอสมควร
ตัวยาทั้งหมดรวมกันต้มให้เดือดจิบบ่อยๆ
ยาหม้อแก้ป่วงมีตัวยาดังนี้
กำมะถันเหลือง ผิวส้มโอ รากต่อไส้ รากหวายลิง นมจาก เอาน้ำหนักเท่าๆกันตัวยาทั้งหมดรวมกัน ต้มให้เดือด กินครั้งละ 3-4 ช้อนโต๊ะ ทุก 2-3 ชั่วโมง
ยาแก้สันนิบาตสองคลองในคัมภีร์ฉันทศาสตร์
อนึ่งยามีแก้ต้นสันนิบาต สองคลองธาตุระส่ำระสาย ประคำดีควายเอาแต่เนื้อ ชั่งอย่าเผื่อสองบาทเผา เมล็ดมะกอกเล่าเอาตำลึง เผาแล้วจึ่งตำบด ใบทองหลางสดใบมนแท้ ใส่ลงแต่พอควร สีดำนวลอย่าให้เขียว บดทีเดียวปั้นแท่งไว้ กินเมื่อใดจึ่งละลาย น้ำกระสาย อีกที กะปิดีเท่าเมล็ดบัว เผาไฟทั่วสุกโชน หัวหอมโทนสามศีร์ษะ ถั่วเขียวกะสามหยิบงาม ข้ออ้อยสามเอาที่แดง ใส่ไฟแรงต้มกระสาย น้ำละลายยากิน สามถ้วยรินหายขาด
คัมภีร์ฉันทศาสตร์ กล่าวถึง ตำราป่วง ๘ ประการมีดังนี้

ป่วงงูบิดตัวเสมอเพราะปวดท้องมาก ตาปรอย อาเจียนและท้องเดินบ่อยไม่หยุดจนร่างกายซูบซีด อาการรุนแรง มักไม่รอด 

ป่วงน้ำท้องเดินเป็นน้ำและอาเจียนรุนแรง ผิวหนังซีดเหี่ยว รู้สึกหนาวแต่ตัวอุ่น ตัวเหลือง ตาเหลือง 

ป่วงลมมีลมเสียดแทงมาก เสียดที่สีข้าง ท้องเดินไม่มาก แน่นจุกอก อาเจียนเป็นน้ำลายร้อน ร้อนกระวนกระวาย ตาแดง

ป่วงลิงยิงฟันกอดอกซ่อนมือดุจลิง หาวเรอ คางสั่น แน่นหน้าอกจุกเสียด ท้องเดิน คลื่นเหียนอาเจียน ริมฝีปากเขียว ขอบตาซูบซีด มีกิริยาดุจลิง เกินสี่ยาม รักษายาก 

ป่วงลูกนกท้องเดินอาเจียนมาก ให้ขนลุก ปวดท้อง ท้องลั่น หาวเรอมิเสื่อมสร่าง หายใจไม่สะดวก มีอาการดุจลูกนก ล่วงยามสี่ตกสันนิบาต 

ป่วงเลือดถ่ายเป็นเลือด เลือดออกตลอด หอบเหนื่อย บ่นเพ้อ นัยน์ตาซึมผิวกายเหลือง หงอยเงื่อง เหมือนเป็นไข้สันนิบาต 

ป่วงศิลารักษายาก ทั้งลงทั้งรากแล้วเมื่อยแข้งขา เสียดขึ้นหน้าอก มือเท้าฟกบวมกดแล้วบุ๋ม อาการหยุดสักพักแล้วกลับคลื่นเหียน อาเจียนลมเปล่า พูดสียงเบา กลอกหน้าตา ไม่รู้รสอาหาร ลิ้นไก่หด พูดล่อแล่ หมดสติในที่สุด

ป่วงโกฐเกิดเพราะโทษลมกษัยกล่อน ทั้งลง และอาเจียนร้อนทั้งลำคอ มือเท้าฝ่อซีดเหี่ยว เสโทเหนียวกายเป็นเหน็บ  ต้นเล็บคล้ำโลหิต 

และยังมีป่วง ๑๒ ประการในคัมภีร์ปฐมจินดา

ป่วง ๗ ในคัมภีร์โรคนิทาน

คัมภีร์อติสาร กล่าวถึง ป่วง ๕ ประการ คือปัสสยาวาตอติสาร เกิดแต่กองอชิน ดุจกินยารุ กินอาหารไม่อยู่ท้อง อาเจียนสีเขียวเหลือง สมมุติว่า ป่วง 5 ประการ คือ ป่วงน้ำ, ลม, หิน, สุนัข, และป่วงวานร  

เห็นได้ว่าโรคป่วงมีมานานและได้มีการกล่าวถึงในหลายคัมภีร์ ฉะนั้นผู้เป็นแพทย์จำเป็นต้องแยกให้ออกในเรื่องโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร กับอาหารเป็นพิษเพื่อจะได้ทำการรักษาได้ถูกต้องต่อไป

1 ความคิดเห็น: