วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สรุปการนวดและเส้นประธาน๑๐

หลักพื้นฐานการนวดไทย
พื้นฐานการนวดไทย ซึ่งผู้ที่จะเป็นหมอนวดต้องทราบและต้องทำการศึกษาก่อนที่จะทำการนวดฉะนั้นผู้นวดต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ ดังนี้
1. ต้องรู้กายวิภาคศาสตร์ หมายถึง ต้องรู้ว่ารูปร่างหน้าตาและตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้าไม่รู้อาจทำให้การนวดผิดพลาดและเป็นอันตรายได้
2. ต้องรู้สรีรวิทยา หมายถึง ต้องรู้หน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ว่าทำงานได้แค่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะข้อต่อและกล้ามเนื้อ การเรียนรู้ให้เข้าใจถึงสภาพ และหน้าที่ของระบบต่าง ๆ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ะทำให้เราปฏิบัติต่อร่างกายตนเองและผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง เพื่อการศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกายแต่ละส่วน เราจำเป็นต้องแบ่งร่างกายออกเป็นระบบต่าง ๆ และระบบที่เกี่ยวข้องกับการนวดมากที่สุด ได้แก่ ระบบกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบการหายใจ
ลักษณะการนวดแบบไทย
การนวดแบบไทยหรือการนวดแผนไทยเดิมนั้น สามารถแยกรายละเอียดลักษณะการนวดได้ดังนี้
การกด การกดมักใช้หัวแม่มือกดลงที่ส่วนของร่างกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ให้เลือดถูกขับออกจากหลอดเลือดที่บริเวณนั้น และเมื่อลดแรงกดลงเลือดจะพุ่งมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น เพื่อให้ระบบการไหลเวียนของเลือดทำหน้าที่ได้ดี ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เร็วขึ้น
ข้อเสีย ของการกด คือ ถ้ากดนานเกินไปหรือหนักเกินไปจะทำให้หลอดเลือดเป็นอันตรายได้ เช่น ทำให้เส้นเลือดฉีกขาด เกิดรอยช้ำเขียวบริเวณที่กดนั้น
การคลึง การคลึง คือ การใช้หัวแม่มือ นิ้วมือหรือสันมือออกแรงกดให้ลึก ถึงกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไปมาหรือคลึงเป็นวงกลม
ข้อเสีย ของการคลึงคือ การคลึงที่รุนแรงมากอาจทำให้เส้นเลือดฉีกขาดหรือถ้าไปคลึงที่เส้นประสาทบางแห่ง ทำให้เกิดความรู้สึกเสียวแปลบ ทำให้เส้นประสาทอักเสบได้
การบีบ การบีบเป็นการจับกล้ามเนื้อให้เต็มฝ่ามือแล้วออกแรงบีบที่กล้ามเนื้อ เป็นการเพิ่มการการไหลเวียนของเลือดมายังกล้ามเนื้อ ช่วยให้หายจากอาการเมื่อยล้า การบีบยังช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ด้วย
ข้อเสีย ของการบีบเช่นเดียวกับการกด คือ ถ้าบีบนานเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อช้ำ เพราะเกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดภายในกล้ามเนื้อนั้น
การดึง การดึงเป็นการออกแรงเพื่อที่จะยึดเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อหรือพังผืดของข้อต่อที่หดสั้นเข้าให้ออก เพื่อให้ส่วนนั้นทำหน้าที่ได้ตามปกติ ในการดึงข้อมักจะได้ยินเสียงลั่นในข้อซึ่งแสดงว่าการดึงนั้นได้ผลและไม่ควรดึงต่อไปอีก สำหรับกรณีที่ไม่ได้ยินเสียงก็ไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดเสียง เสียงลั่นในข้อเกิดจากอากาศที่ซึมเข้าข้อต่อถูกไล่ออกมาจากข้อต่อ ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งให้อากาศมีโอกาสซึมเข้าสู่ข้อต่ออีก จึงเกิดเสียงได้
ข้อเสีย ของการดึง คือ อาจทำให้เส้นเอ็นหรือพังผืดที่ฉีกขาดอยู่แล้วขาดมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรทำการดึงเมื่อมีอาการแพลง ของข้อต่อในระยะเริ่มแรก ต้องรอให้หลังการบาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 14 วัน จึงทำการดึงได้
การดัด
เป็นการออกแรงเพื่อให้ข้อต่อที่ติดขัดเคลื่อนไหวได้ตามปกติ การดัดต้องออกแรงมาก และค่อนข้างรุนแรง ก่อนทำการดัดควรจะศึกษาเปรียบเทียบช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่จะทำการดัดกับข้อต่อปกติ ปกติจะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วยด้วย โดยถือว่าเด็กย่อมมีการเคลื่อนไหวของข้อต่อดีกว่าผู้ใหญ่
ข้อเสีย ของการดัด คือ อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบๆข้อต่อนั้น หรือ กรณีทำการดัดคอในผู้สูงอายุ ซึ่งมีกระดูกค่อนข้างบาง การดัดที่รุนแรงอาจทำให้กระดูกหักได้
ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตม กล้ามเนื้ออ่อนแรงไม่ควรทำการดัด เพราะอาจทำให้ข้อต่อเคลื่อนออกจากเดิม หรือกรณีข้อเท้าแพลง ไม่ควรทำการดัดทันที อาจทำให้มีอาการอักเสบและปวดมากขึ้น 
การตบตีหรือการทุบการสับ การตบตีหรือการทุบการสับเป็นการออกแรงกระตุ้นกล้ามเนื้ออย่างเป็นจังหวะ เรามักใช้วิธีการเหล่านี้กับบริเวณหลังเพื่อช่วยอาการปวดหลัง ปวดคอ หรือช่วยในการขับเสมหะเวลาไอ
ข้อเสีย ของการตบตี คือ การทำให้กล้ามเนื้อชอกช้ำและบาดเจ็บได้
การเหยียบ การเหยียบเป็นวิธีที่นิยมทำกันโดยให้เด็กหรือผู้อื่นขึ้นไปเหยียบหรือเดินอยู่บนหลัง
ข้อเสีย ของการเหยียบ คือ เป็นท่านวดที่มีอันตรายมากเพราะจะทำให้กระดูกสันหลังหักและอาจทิ่มแทงถูกไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้หรือทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต เกิดการบาดเจ็บได้

คุณธรรม 10 ประการ (จรรยาแพทย์) ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย
1. มีเมตตาจิตแก่คนไข้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ
2. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
3. มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป
4. มีความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล
5. ไม่โลภเห็นแก่ลาภ
6. ไม่โอ้อวดวิชาความรู้ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
7. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เผลอเลอ มักง่าย
8. ไม่ลำเอียงด้วยความรัก ความโกรธ ความกลัว ความหลง (โง่)
9. ไม่หวั่นไหวต่อลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อม
10. ไม่ชอบการมัวเมาในหมู่อบายมุข

ข้อบ่งชี้ในการนวด
ข้อบ่งชี้ในการนวด
๑.๑ การบวมที่ไม่ได้เกิดจากการอักเสบ มี ๒ ชนิด
- บวมน้ำ เกิดจากการคั่งของเลือดและน้ำ
บวมเนื่องจากการอุดตันของท่อน้ำเหลือง
๑.๒ กล้ามเนื้อลีบ ๑.๓ แขนขาชา ๑.๔ ขับเสมหะโดยการเคาะปอด
๑.๕ ภาวะที่เกิดแผลเป็นที่ผิวหนัง ในกล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มข้อ ข้อต่างๆ
๑.๖ ข้อติดเนื่องจากไม่ได้ใช้งานหรือ ฉีกขาด นวดเยื่อหุ้มข้อและกล้ามเนื้อที่อยู่โดยรอบ
๑.๗ กล้ามเนื้อเกิดการเกร็ง (ตะคริว)
๑.๘ กรณีที่มีความเจ็บปวด
๑.๙ ข้อแพลง เจ็บปวด การฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เอ็น พังผืด หรือจาการใช้งานมากเกินไปทำให้ปวดแต่ยังไม่ถึงฉีกขาด
๑.๑o นวดเพื่อการขับถ่าย เช่น เด็กๆ จะมีการนวดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ให้ปัสสาวะได้
๑.๑๑ นวดตามจุดต่างๆ ที่ใช้ฝังเข็มหรือตำรานวดแผนโบราณ เพื่อแก้อาการต่างๆ 

ข้อห้ามในการนวดแผนไทย

ในกรณีที่มีอาการเหล่านี้ ห้ามทำการนวดแผนไทย อาจเกิดอันตรายได้
1. โรคติดเชื้อ  มีไข้  ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวด บวม แดง ร้อน
2. โรคผิวหนัง เพราะจะทำให้เชื้อแพร่ออกไปบริเวณอื่น และแพร่มาสู่ผู้นวดด้วย
3. ขณะมีอาการอักเสบ เพราะจะทำให้การอักเสบมากขึ้น
4. กรณีเดินทาง ทางอากาศระหว่างประเทศ จะสามารถนวดได้หลัง 48 ชั่วโมง                             
5. บริเวณที่มีบาดแผลห้ามนวด อาจทำให้แผลซ้ำ หรือแผลปริแยก
6. บริเวณที่เป็นมะเร็ง จะทำให้มะเร็งแพร่ออกไป
ก่อนการนวด
1. ควรแจ้งให้หมอนวดทราบถึงโรคประจำตัว หรือจุดที่มีปัญหา เช่น ความดันโลหิตสูง
หรือต่ำ  โรคเบาหวาน เป็นต้น     
2. ควรนวดหลังจากรับประทานอาหารมื้อหนักอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง  
หากเป็นอาหารว่าง เช่น กาแฟ ขนม หรือผลไม้เพียงเล็กน้อย  อย่างน้อยประมาณ 30 นาที 
หลังการนวด
1. หลังการนวดไม่ควรอาบน้ำทันที 
2. ควรดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิปกติ หลังการนวด
3. ควรพักผ่อนหลังการนวด
คำแนะนำสำหรับผู้ถูกนวด
- งดอาหารแสลง เช่น อาหารมัน อาหารทอด หน่อไม้ ข้าวเหนียว เครื่องในสัตว์ เหล้า เบียร์ ของหมักดอง
- ห้ามสลัด บีบ ดัด ส่วนที่มีอาการเจ็บปวด
- ท่ากายบริหารเฉพาะโรคหรืออาการ
- คำแนะนำอื่นๆ เช่น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุเกิดโรค

เส้นประธานสิบ
เส้นประธาน คือ เส้นซึ่งเป็นหลักสำคัญของวิชาการนวดไทยตามที่บูรพาจารย์ได้สืบทอดกันมา เชื่อกันว่าในร่างกายของคนเรา มีเส้นอยู่ในร่างกายถึง 72,000 เส้น แต่ที่เป็นเส้นประธานแห่งเส้นทั้งปวงมีเพียง 10 เส้นเท่านั้น
เส้นประธานมีความสำคัญต่อการบำบัดรักษาโรค เพราะเป็นโครงสร้างที่ใช้กันในการอธิบายถึงความเป็นปกติสุขและความผิดปกติของร่างกายได้ โดยเฉพาะความผิดปกติซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดขัดหรือการกำเริบของลม จึงสามารถนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติ นั้นว่ามีความสัมพันธ์กับเส้นประธานใด รวมทั้งสามารถกำหนดวิธีการนวดรักษาที่สอดคล้องสัมพันธ์กับเส้นประธานนั้นได้อย่างมีหลักการ

โครงสร้างของเส้นประธาน
ในตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 ของพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) พรรณาลักษณะของเส้นประธานว่า
เส้นสิบท่านพรรณา      ในครรภาเป็นนิไสย
ล้อมสูญพระเมรุ์ไว้         สถิตย์ลึกสักสองนิ้ว
ล้อมเป็นจักร์ทราสูนย์     ดูไพบูลย์ไม่แพลงพลิ้ว
ดุจสายบรรทัดทิว            เป็นแนวแถวทอดเรียงกัน
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เส้นประธานทั้งสิบนั้นมีศูนย์กลางอยู่โดยรอบสะดือ ลึกลงไป 2 นิ้วมือ ลักษณะการทอดออกจากศูนย์กลางนั้น เป็นแนวแถวเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ในตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 ยังพรรณาอีกว่า
เส้นเอ็นย่อมเป็นรู
ลมเลือดชูให้ฟูฟ่อน
กำเริบมักรุมร้อน
ให้ศุขทุกข์ทุกราตรี

หากตีความตามตัวอักษร อาจทำให้เข้าใจว่า เส้นประธานน่าจะหมายถึงหลอดเลือดเพราะมีเลือดอยู่ข้างใน บางคนตีความว่าเป็นเส้นเอ็น หมายถึงเส้นที่ยึดโยงกล้ามเนื้อกับกระดูก หรือเอ็นที่ยึดโยงอยู่ในข้อต่างๆ

แต่ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เส้นประธานไม่น่าจะหมายถึงหลอดเลือดหรือเอ็นอย่างที่เข้าใจกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับความรู้ทางกายวิภาคสมัยใหม่ พบว่าทางเดินของเส้นประธานไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับทางเดินของหลอดเลือด หรือเส้นเอ็นอย่างอย่างตรงตัวเสียทีเดียว และจากการศึกษาโดยการกดจุดเริ่มต้นของเส้นประธานบริเวณสะดือแล้ว พบว่าเกิดความรู้สึกแล่นไปได้ตามทิศทางที่ระบุไว้ในตำรา

จึงเป็นไปได้ว่าทางเดินของเส้นประธานก็คือทิศทางการแล่นของกระแสความรู้สึกที่เกิดจากการกดจุดต่างๆ นั่นเอง ส่วนหมอนวดไทยจะทำหน้าที่นวดเพื่อให้เลือดลมวิ่งรับกับตัวยาที่เข้าไป โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเส้นประธานสิบ

เส้นประธานสิบ
เส้นประธาน
จุดเริ่มต้น
จุดสิ้นสุด
ลมประจำเส้น
  เส้นอิทา
  ข้างสะดือด้านซ้าย 1 นิ้วมือ
จมูกซ้าย
จันทะกาลา ปะกัง พหิ 
สัตวาต
  เส้นปิงคลา
  ข้างสะดือด้านขวา 1 นิ้วมือ
จมูกขวา
สูญทกาลา ปะกัง พหิ 
รัตนาวาต
  เส้นสุมนา
  เหนือสะดือ 2 นิ้วมือ
โคนลิ้น
ชิวหาสดมภ์ ดานตะคุน 
ทะกรน บาทจิต
  เส้นกาลทารี
  เหนือสะดือ 1 นิ้วมือ
นิ้วมือ นิ้วเท้า
ไม่ระบุ แสลงขนมจีน 
ข้าวเหนียว ถั่ว
  เส้นสหัศรังสี
  ข้างสะดือด้านซ้าย 3 นิ้วมือ
ตาซ้าย
จักขุนิวาต แสลงของหวาน
  เส้นทวารี
  ข้างสะดือด้านขวา 3 นิ้วมือ
ตาขวา
ทิพจักษุ ปัตฆาต
  เส้นจันทภูสัง
  ข้างสะดือด้านซ้าย 4 นิ้วมือ
หูซ้าย
ไม่ระบุ แสลง อาบน้ำ
  เส้นรุชำ
  ข้างสะดือด้านขวา 4 นิ้วมือ
หูขวา
ไม่ระบุ กินน้ำมะพร้าว
  เส้นสุขุมัง
  ใต้สะดือ 2 นิ้วมือ เยื้องซ้ายเล็กน้อย
ทวารหนัก
ไม่ระบุ แสลงกินมันมาก
  เส้นสิกขิณี
  ใต้สะดือ 2 นิ้วมือ เยื้องขวาเล็กน้อย
ทวารเบา
   กุจฉิสยาวาตา

หมายเหตุ ในการอ่านสรุปพื้นฐานการนวดและเส้นประธาน๑๐ ในหนังสือตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรมเล่ม ๓  
ควรอ่านเนื้อหาในหนังสือทั้งหมดก่อนอย่างน้อย ๑ รอบ แล้วมาอ่านสรุปจะทำให้เข้าใจ ภาพรวมทั้งหมดยิ่งขึ้น
ตัวอย่างข้อสอบเรื่องการนวด
ข้อ 1.    การนวดบริเวณเนื้อตายที่มีสีดำจากเลือดไปเลี้ยงน้อย อาจเกิดอันตรายที่ต้องระมัดระวังให้มากคือ
                   1.   ก้อนเลือดสีดำไปอุดตันสมอง                           2.   เกิดแผลติดเชื้อ
                   3.   เส้นเลือดอักเสบ                                                  4.   ทำให้ช๊อคหมดสติได้
ข้อ 2.    การบวมแบบใดที่ไม่ควรนวด
                   1.   บวมน้ำ                                                                  2.   บวมอักเสบ
                   3.   บวมจากท่อน้ำเหลืองอุดตัน                             4.   ไม่มีข้อใดถูก
ข้อ 3.    ในตำราโรคนิทานของพระยาวิขยาธิบดีกล่าวว่า " เส้นเอ็นย่อมเป็นรู ........ชูให้ฟูฟอน" ข้อความที่เว้นไว้คือ
                   1.   เส้นลม                                                                  2.   ลมเลือด
                   3.   โลหิต                                                                    4.   น้ำเหลือง
ข้อ 4.    ลมจันทกะลา เป็นลมประจำเส้นประธานใด
                  1.   เส้นอิทา                                                                 2.   เส้นสุมนา
                  3.   เส้นปิงคลา                                                            4.   เส้นสหัสรังษี
ข้อ 5.    ลมตาลตะคุณ เกิดจากเส้นใดก่อโทษ
                  1.   เส้นปิงคลา                                                           2.   เส้นสุมนา
                  3.   เส้นกาลทารี                                                         4.   เส้นทวารี
ข้อ 6.    ลมศุญทะกะลา เป็นลมประจำของเส้นประธานเส้นใด
                  1.   เส้นทวารี                                                              2.   เส้นสุมนา
                  3.   เส้นคิชฌะ                                                           4.   เส้นปิงคลา
ข้อ 7.    วิธีการนวดแบบใดที่ควรทำการเปรียบเทียบช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อก่อนและหลังการนวด
                  1.   การดึง                                                                   2.   การกด
                  3.   การบิด                                                                  4.   การตัด
ข้อ 8.    เส้นที่ไปสิ้นสุดที่รากตาขวาคือเส้นใด
                  1.   ปิงคลา                                                                  2.   ทวารี
                  3.   สหัสรังษี                                                             4.   รุชำ
ข้อ 9.    เส้นที่ลงไปถึงปลายนิ้วเท้าคือเส้นใด
                  1.   สหัสรังษี                                                             2.   กาลทารี
                  3.   รุชำ                                                                       4.   อิทา
ข้อ 10.    เส้นสิบตามที่ท่านพรรณาในตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 มีลักษณะอย่างไร
                  1.   สถิตย์ลึกสักสามนิ้ว                                           2.   ล้อมเป็นจันทราศูนย์
                  3.   เป็นแนวแถวทอดเรียงกัน                               4.   ถูกทุกข้อ
ข้อ 11.     การตรวจเส้นสุมนา ตามตำราวเวชศึกษาให้ทำอย่างไร
                  1.   ใช้นิ้วกดเหนือสะดือ 2 นิ้วมือ                        2.   ใช้นิ้วกดเหนือไหปลาร้า
                  3.   ใช้นิ้วกดเหนือกระดูกหน้าอก                       4.   ใช้นิ้วกดใต้ลิ้นปี่
ข้อ 12.     ตามตำราเวชศึกษา เส้นที่อยู่เหนือสะดือ 1 นิ้วเศษ เป็นเส้นต่อเนื่องกับเส้นสุมนา มีหน้าที่รับโลหิต จากเส้นสุมนาจ่ายไปตามอวัยวะ ตอนล่างทั่วไปมีขาและเท้าเป็นต้น เรียกว่าเส้นอะไร
                  1.   เส้นกาลทารี                                                     2.   เส้นสุมนา
                  3.   เส้นสหัสรังษี                                                   4.   เส้นอัมพฤกษ์
ข้อ 13.     ตามตำราเวชศึกษา เส้นสุมนาถ้าพิการ จะทำให้เกิดเป็นโรคลมชนิดใด
                  1.   ชิวหาสดมภ์                                                      2.   บาดทะจิต
                  3.   พิตคุณ                                                                4.   ตุลาราก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น