วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การดูแลสุขภาพในฤดูหนาว


การรักษาสุขภาพในเหมันตฤดู (ฤดูหนาว)
เหมันตฤดู หรือฤดูหนาว นับเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ รวมเวลา ๔ เดือน ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างรวดเร็ว ความชุ่มชื่นในฤดูฝนที่เกิดจากลมใต้เปลี่ยนไป เมื่อลมเหนือพัดพาเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงอาจเกิดการเจ็บป่วยได้ ส่วนใหญ่มักทำให้สมุฏฐานอาโป (ธาตุน้ำ) พิกัดเสมหะ กำเริบหย่อนหรือพิการได้
ในหน้าหนาวเป็นเหตุทำให้เสมหะทั้ง ๓ ประการ คือ ศอเสมหะ อุระเสมหะ และคูถเสมหะ  เป็นไปได้ทั้งกำเริบ หย่อน และพิการ

ศอเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณลำคอ โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน เมือกในจมูก ลำคอ หลอดลมตอนต้น เช่น มีเสมหะ ไซนัส ไข้หวัด เป็นต้น

๑. ศอเสมหะกำเริบ หมายถึง มีเสมหะมากขึ้น เช่น เกิดการอักเสบในคอ  อาจเกิดจากละอองเกสรดอกไม้ หรือขนของต้นไม้ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือมีพิษ หรือเกิดจากการปรับตัวของร่างกายไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือได้รับเชื้อโรคที่ปลิวมากับลม หรือที่มากับสัตว์ที่ย้ายถิ่น เช่น ไข้หวัดต่างๆ ไข้กำเดา ที่มากับนกเป็ดน้ำ นกนางนวลหรือนกย้ายถิ่นตามฤดูกาล เป็นต้น
๒. ศอเสมหะหย่อน หมายถึง เสมหะที่หล่อเลี้ยงในคอ ในโพรงจมูกแห้ง จากการสัมผัสอากาศที่แห้ง ทำให้น้ำเมือกในทางเดินหายใจที่คอยป้องกันหรือดักจับเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายแห้งลง อาจเกิดโรคได้ง่าย
๓. ศอเสมหะพิการ หมายถึง เสมหะในคอมากเกินไปหรือน้อยเกินไป จนไม่สามารถทำหน้าที่ในการหล่อลื่น ป้องกัน หรือดักจับเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ อาจทำให้เกิดโรคในทางเดินหายใจที่รุนแรงได้
อุระเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณทรวงอก และช่องท้องส่วนบน ได้แก่ เสมหะ น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับทรวงอกและปอด เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคกระเพาะ เป็นต้น
 อุระเสมหะ ก็อาจกำเริบหย่อนหรือพิการได้เช่นเดียวกันกับศอเสมหะ อาการของโรคมักต่อเนื่องกัน
คูถเสมหะ หมายถึง ของเหลวที่อยู่ในช่องท้องส่วนล่างหรือ ระบบขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ โรคที่เกิดมักเกี่ยวข้องกับ ระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย เมือกมูกในลำไส้ น้ำในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ท้องเสีย บิดมูกเลือด ริดสีดวงทวาร กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น
๑. คูถเสมหะกำเริบ หมายถึง เสมหะที่หล่อลื่นในระบบทางเดินอาหารมากเกินไป หรือทำหน้าที่เกินกว่าที่ควร หรือเกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ท้องเสีย ท้องเดิน ลงท้อง เป็นต้น อาจเกิดจากการรับประทานอาหารผิดเวลา เนื่องจากหน้าหนาวเวลากลางวันและกลางคืนเปลี่ยนแปลงมาก อาจเกิดจากอาหารที่แปลก หรือรับประทานมากเกินไป เนื่องจากในหน้าหนาวมักมีพืชผลออกมามาก
๒. คูถเสมหะหย่อน หมายถึง เสมหะที่หล่อลื่นในระบบทางเดินอาหารน้อยลง หรือการทำหน้าที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ท้องผูก หรือทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือทำให้น้ำย่อยกัดกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น (เสมหะหรือน้ำเมือกในกระเพาะอาหารทำหน้าที่เปลี่ยนสภาวะความเป็นกรดของน้ำย่อยให้เป็นกลาง และกั้นไม่ให้น้ำย่อยซึ่งมีความเป็นกรดสูง สัมผัสกับกระเพาะอาหาร เสมหะหรือน้ำเมือกในลำไส้ทำหน้าที่หล่อลื่นให้การขับถ่ายสะดวกขึ้น) อาจเกิดจาก การรับประทานอาหารผิดเวลา การปรับตัวของร่างกายและจิตใจไม่ดี เกิดภาวะความเครียด เกิดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และหลอดเลือด เมื่อกระทบความหนาวเย็น ทำให้การไหลเวียนของเลือดและสารน้ำในร่างกายแปรปรวนไป
. คูถเสมหะพิการ หมายถึง เสมหะที่หล่อลื่นในระบบทางเดินอาหารมากหรือน้อยเกินไป จนทำให้เสียหน้าที่ไป อาการของโรคก็มีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากเสมหะแล้ว ธาตุน้ำอื่นๆ ในร่างกายก็อาจกำเริบ หย่อน หรือพิการได้เช่นกัน เช่น ไขข้อ มันเหลว มันข้น เลือด โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนังจะกระทบมากที่สุด จากการกระทบอาการที่หนาวเย็น เป็นต้น
ดังนั้น การป้องกันรักษาสุขภาพในหน้าหนาว จึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น 
๑. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ๘ และ ๖ ประการ ควรเลี่ยงการสัมผัสความหนาวเย็นเป็นเวลานาน

๒. ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสม นอนในห้องที่ให้ความอบอุ่น ไม่ควรผึ่งลม
๓. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แสลงกับเสมหะ เช่น อาหารรสเย็น รสหวาน รสมัน และรสเค็ม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เสมหะกำเริบได้
๔. ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีร่างกายผอม ไขมันน้อย อาจมีปัญหาเรื่องผิวหนังแห้ง แตกระแหง ทำให้คันหรือติดเชื้อได้ง่าย  จึงควรใช้สบู่ ครีม หรือสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาผิว สมุนไพรที่ช่วยรักษาผิว ทำให้ผิวชุ่มชื่น เช่น ชะเอมเทศ ชะเอมไทย เปลือกกล้วยหอม ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ เป็นต้น ควรใช้สบู่อ่อนๆ เช่น สบู่สำหรับเด็ก เป็นต้น อาจใช้ครีมหรือโลชั่นทาผิวหลังอาบน้ำ น้ำมันสมุนไพรที่ใช้รักษาผิวได้ดี เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น
๕. ควรใช้ยารสสุขุม รสจืด และรสเปรี้ยว และควรนำรสยาตามอายุสมุฏฐานมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น
๕.๑ ปฐมวัย สมุฏฐานเสมหะ ควรใช้อาหารรสสุขุม จืด เปรี้ยว ขม หวาน ทั้งนี้  อาหารรสหวานควรให้ลดน้อยลง ถ้ามีเสมหะกำเริบอยู่ด้วย ควรงดไว้ก่อน สำหรับอาหารรสเผ็ดหอมร้อน อาจให้บ้างเล็กน้อยในตอนเช้าและมื้อเย็น

๕.๒ มัชฌิมวัย สมุฏฐานดีและโลหิต ควรใช้อาหารรสสุขุม จืด ขม เปรี้ยว ฝาด เค็ม
๕.๓ ปัจฉิมวัย สมุฏฐานลมกำเริบ เสมหะและเหงื่อแทรก ควรใช้อาหารรสสุขุม จืด เปรี้ยว เผ็ดร้อน หอมเย็น ขม เค็ม ฝาด  ในมื้อเช้าและมื้อเย็นควรลดอาหารรสเย็นและรสเค็มลง เนื่องจากเป็นอาหารแสลงกับเสมหะ ตอนเช้าเป็นสมุฏฐานเสมหะ ส่วนตอนเย็นเป็นสมุฏฐานวาตะที่เจือตามมาจากฤดูฝน ในผู้สูงอายุถ้าให้เสมหะและวาตะกำเริบร่วมกัน จะทำให้สุขภาพอ่อนแอ อาจทำให้ระบบหายใจ การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจติดขัดได้ อาหารที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุในฤดูนี้ ควรมีรสสุขุม เปรี้ยว เผ็ดร้อน หอมร้อน ขม เค็ม
อาหารที่เหมาะสำหรับฤดูหนาว
ในฤดูหนาว สิ่งที่ควรทำคือการกระตุ้นให้ร่างกายมีความอบอุ่นอยู่เสมอ ความจริงแล้วอาหารที่ใช้ในฤดูฝนส่วนใหญ่ที่มีรสเผ็ดหอมร้อน ก็สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารในฤดูหนาวได้ดี และควรเพิ่มอาหารดังนี้เข้าไปด้วย เช่น
พืชผัก ได้แก่ มะเขือเทศ ยอดมะกอก ยอดมะม่วงหิมพานต์ มะขามสด ยอดมะขาม ผักติ้ว ผักเม็ก ผักกระโดน ยอดกระเจี๊ยบแดง มะละกอ มะเขือขื่น มะอึก มะแว้ง มะเขือพวง ผักพาย สาหร่ายน้ำจืด สาหร่ายน้ำเค็ม ผักตบ แพงพวยน้ำ ผักแว่น ผักลิ้นปี่ แมงลัก สะระแหน่ ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชีฝรั่ง ผักชีหอม ผักชีลาว โหระพา ผักตั้งโอ๋ ตะลิงปลิง ลูกมะกอกชะมวง มะรุม
ผลไม้ เน้นผลไม้ที่มีวิตามินซีเยอะๆจะช่วยพิ่มภูมิต้านทานโรค ได้แก่ ส้มต่างๆ มะนาว มะเฟือง มะไฟ สับปะรด ลางสาด มะม่วงดิบ กระท้อน ระกำ มะยม มะเม่า
การปรุงอาหารนั้น ควรปรุงให้ครบถ้วน ไม่ควรใช้รสใดรสหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่เน้นส่วนปรุงหลักตามฤดูกาล
นอกจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแล้ว ยังมีโรคที่มากับลมหนาวตามนกที่ย้ายถิ่น หรือเกสรดอกไม้ที่ปลิวมา เช่น ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัดนก ไข้ดอกสัก แพ้อากาศ ผื่นคัน ลมพิษ เป็นต้น

โรคที่มากับหน้าหนาว ที่พึงระวัง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด อีสุกอีใส มือเท้าปาก อุจจาระร่วง
            ข้อมูลระบาดวิทยาตั้งแต่ปลายปี ช่วงพฤศจิกายน 2555 ถึงมกราคม 2556 ช่วงเดียวกันนี้ พบผู้ป่วยโรคเหล่านี้ รวม 471,172 ราย เสียชีวิต 355 ราย โดยโรคที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือ ปอดบวม มีผู้เสียชีวิต 350 ราย จากที่ป่วยทั้งหมด 64,155 ราย รองลงมาคือ ไข้หวัดใหญ่ 23,255 ราย เสียชีวิต 1 ราย อันดับ 3 คือ อุจจาระร่วง ผู้ป่วย 23,255 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนโรคมือ เท้า ปาก โรคอีสุกอีใส และโรคหัด ไม่มีผู้เสียชีวิต
สรุปการดูแลสุขภาพในฤดูนี้ คือ ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ผ้าห่มเลือกผ้าหนาๆ ที่สะอาด โดยเฉพาะหน้าอก ศีรษะ คอ หากมีละออง ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ ผ้าปิดจมูกก็มีความสำคัญ ตามด้วย "ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง" ทุกครั้ง ทุกมื้อ ที่ขาดไม่ได้คือ "ออกกำลังกาย" เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค และพักผ่อนให้เพียงพอ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์วุฒิ วุฒิํธรรมเวช
http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/book542/thai.html
ข้อมูล : มติชนรายวัน 13 พ.ย. 2556
 ภาพจากอินเตอร์เน็ต
......................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น