วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อาหารการกินที่ทำให้เกิดโรค


อาหารการกินที่ทำให้เกิดโรคในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทย
ในทัศนะของแพทย์แผนไทยกล่าวว่า ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย ธาตุทั้ง ๔ การเจ็บป่วยเกิดเพราะได้รับอิทธิพลจากธาตุกำเนิด  ฤดูกาลหรือภูมิอากาศ  อายุ ช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลง อาหารที่บริโภค  ภูมิประเทศ  พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม   ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดสภาวะสภาพของบุคคล  โดยเฉพาะเรื่องอาหาร    ในทัศนะของแพทย์แผนไทยยังเห็นว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นแหล่งก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ   หากธาตุทั้ง  4  อยู่ในสภาวะสมดุลร่างกายก็จะเป็นปกติและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  เหตุที่ทำให้ร่างกายสมดุลหรือเสียสมดุลที่สำคัญก็คือ  อาหาร  ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 พระคัมภีร์ก่อนคือ           1.  พระคัมภีร์โรคนิทาน
                         2.  พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์
            ครูแพทย์แผนไทยแต่โบราณตระหนักรู้ถึงคุณและโทษของอาหารที่ทำให้เกิดโรคได้เป็นอย่างดี  และการรักษาโรค ในบางครั้งต้องมีการควบคุมเรื่องอาหาร  โดยเฉพาะอาหารที่แสลงต่อโรค  หรืออาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ  และได้มีการจดบันทึกไว้เป็นความรู้ในพระคัมภีร์แพทย์  เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาวิชาแพทย์แผนไทยรุ่นต่อมาได้ใช้เป็นหลักในการพิจารณาโรค  พิจารณาไข้ต่อไป

พระคัมภีร์โรคนิทาน
          อาหารใหม่    “เมื่อพิการแตกไซร้   ถ้าบริโภคอาหารเข้าไปอิ่มแล้วเมื่อใด    ก็ทำให้ร้อนท้องนัก   บางทีให้สะอึก   บางทีให้ขัดในอก   แล้วให้จุกเสียดตามชายโครง  ให้ผะอืดให้ผะอม   คนสมมติว่า  ไฟธาตุหย่อน  จะเช่นอย่างสมมุติว่านั้นหาไม่  อาการอย่างนี้ย่อมเป็นโทษเพราะเสพอาหารที่ไม่เคยบริโภคนั้น  ประหนึ่งคือ  อาหารดิบประการ หนึ่ง   ลมกุจฉิสยาวาตาพัดไม่ตลอดก็ให้เป็นต่าง ๆ  บางทีให้ลง   บางทีให้เป็นพรรดึก  แดกขึ้นแดกลงกินอาหารไม่ได้
         อาหารเก่า     “ เมื่อพิการแตก  คือ  ทรางขโมยกินลำไส้  ถ้าพ้นกำหนดทรางแล้ว คือ  ริศดวงคูถ

พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์   
         
 อาหารใหม่     ถ้าพิการนั้น  คือ  กินเข้าๆไป  อิ่มแล้วเมื่อใดมักให้ร้อนท้องนัก  บางทีให้ลงดุจกินยารุ   บางทีให้สะอึก  ขัดหัวอกแล้วให้จุกเสียดตามชายโครง  ผะอืดผะอม  สมมุติว่าไฟธาตุนั้นหย่อน   โรคทั้งนี้ย่อมให้โทษเพราะอาหารมิควรกินนั้นอย่าง 1  กินอาหารดิบอย่าง 1  ลมในท้องพัดไม่ตลอด  มักแปรไปเป็นต่างๆ  บางทีให้ลงท้อง   บางทีให้ผูกเป็นพรรดึก   ให้แดกขึ้นแดกลง   กินอาหารมิได้  ให้ลงแดง  ให้ราก  มักเป็นป่วง 7 จำพวก  ”
          
อาหารเก่า     “ ถ้าพิการ คือ  ทรางขโมยกินลำไส้  ถ้าพ้นกำหนดทรางแล้ว  คือ เป็นริศสิดวงนั้นเองแล  ”
 
จากข้อความตามพระคัมภีร์ขออธิบายขยายความ  ดังนี้
  
อาหารใหม่
          อาหารใหม่เป็นอาหารที่รับประทานเข้าไปผ่านระบบการย่อยจากปากเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น(กระเพาะอาหาร) 
ไปจนถึงลำไส้น้อยส่วนปลาย   อาการกำเริบหย่อนหรือพิการของอาหารใหม่  ท่านจำเพาะเฉพาะอาการที่เกิดจากอาหารเป็นต้นเหตุ   คือ  อาหารที่ไม่ควรกิน  เช่น    อาหารที่ไม่ถูกกับธาตุหรือโรค   อาหารบูดเน่าเสีย   อาหารแข็งย่อยยาก   อาหารมันมาก  อาหารที่ไม่เคยกิน  อาหารสกปรกมีเชื้อโรค   อาหารที่มีพิษหรือสารพิษ  เป็นต้น  อาหารดิบ หรือสุก ๆดิบๆ  ทำให้ไฟธาตุนั้นหย่อนหรือพิการไป   ถ้ามีพยาธิด้วยก็จะเป็นเหตุให้ฟักหรือกระจายตัวในช่วงอาหารเก่า   ทำให้กระทบไปถึงพิกัดธาตุสมุฏฐานอื่นๆ เช่น  ลำไส้น้อย  ลำไส้ใหญ่  ไฟธาตุที่ย่อยอาหารพลอยกำเริบ  หย่อน  หรือพิการไปด้วย  ดังนั้น  อาการเจ็บป่วยจึงมีบางอาการคล้ายกับอาการของลำไส้น้อย  ลำไส้ใหญ่และไฟธาตุที่ช่วยย่อยอาหารกำเริบ หย่อน หรือพิการ
ถ้าพิจารณาจากอาการที่ปรากฏในพระคัมภีร์  จะเห็นว่า   “ กินข้าวเข้าไปอิ่มแล้วเมื่อใดมักให้ร้อนท้องนัก  ” ซึ่งเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร   ดังนั้น  การที่อาหารใหม่จะกำเริบ หย่อนหรือพิการได้นั้น   ส่วนหนึ่งก็คือ  สุขภาพของร่างกายผู้นั้นที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์อาจมีอาการของโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้ในช่วงแรกๆ อยู่ก่อนแล้วก็ได้
 อาหารใหม่หย่อนหรือพิการ
          เป็นอาหารหรือยาที่มีสรรพคุณไปขัดขวางหรือยับยั้งการทำหน้าที่ของพิกัดธาตุสมุฏฐานอื่น  เช่น
  -  อาหารหรือยาที่มีรสเย็น  จะไปลดความสามารถในการย่อยอาหารของน้ำย่อย
  -  อาหารรสฝาด  แสลงกับคนที่ไฟธาตุอ่อนหรือเป็นพรรดึก   กระตุ้นให้ลำไส้หดรัดตัว  ทำให้ท้องผูก  ถ่ายยาก   
  -  อาหารหรือยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือกระตุ้นประสาท    การทำงานของกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  -  กินอาหารมากเกินไปจนเกินความสามารถในการย่อยของน้ำย่อยและกระเพาะอาหารลำไส้
  -  อาหารที่ย่อยยาก    เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด   อาหารที่ไม่เคยกิน   ทำให้อาหารไม่ย่อยหรือย่อยไม่หมด
  -  อาหารมันมาก    เกินกว่าการช่วยย่อยของน้ำดี   ทำให้อาหารไม่ย่อยหรือย่อยไม่หมด
      อาหารถ้าถูกย่อยด้วยน้ำย่อยไม่หมด  จะเกิดการหมักหมม  ถูกย่อยด้วยแบคทีเรีย  เน่าเสีย  เกิดลมในกระเพาะอาหารมาก  เกิดแก๊สพิษ  มักให้ร้อนท้องนัก  บางทีลงดุจกินยารุ  บางทีให้สะอึก  ขัดในหัวอก  ( หายใจขัด )   แล้วให้จุกเสียดตามชายโครง  ผะอืดผะอม   สมมุติว่าไฟธาตุนั้นหย่อน  ( ลักษณะคล้ายโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล )
อาหารใหม่กำเริบหรือพิการ
          เป็นอาหารหรือยาที่ทำให้การทำหน้าที่ของพิกัดธาตุสมุฏฐานอื่นทำงานเกินกว่าปกติหรือกำเริบ  เช่น
 อาหารที่ไม่ถูกกับธาตุหรือโรค  เช่น
  -  อาหารรสร้อน  แสลงกับคนที่มีธาตุร้อน  หรือมีไข้  เป็นต้น 
  -  อาหารบูดเน่าเสีย  ของหมักดอง  ทำให้ท้องเสีย  ท้องเดิน
  -  อาหารที่มีพิษหรือสารพิษ  ทำให้ลงท้อง  อาเจียน  และอาการอื่นๆ ตามพิษของสารที่ได้รับ
  -  อาหารสกปรก  อาหารดิบ  หรืออาหารสุกๆดิบ ๆ  มีพยาธิ  ทำให้ท้องเสีย  ท้องเดิน  หรือป่วยตามเชื้อโรคที่ได้รับ  เช่น  เป็นลมป่วง   ( ท้องเดินอย่างรุนแรง  รวมไปถึงอหิวาตกโรค   ดูในเรื่องป่วง )  หรือเมื่อตกไปเป็นอาหารเก่า  เกิดพยาธิต่าง ๆ เป็นต้น
อาหารเก่า
        อาหารเก่าเป็นกากอาหารส่วนที่ได้ย่อยและดูดซึมอาหารไปแล้ว  อยู่บริเวณถัดจากลำไส้น้อยลงไปจนถึงซ่วงทวาร  เพื่อรอการขับถ่าย   ในช่วงนี้ไม่มีน้ำย่อย   การย่อยเกิดจากแบคทีเรีย  ซึ่งทำให้เกิดลมและสารที่มีพิษมาก    ถ้าอาหารเก่าถูกเก็บไว้นานๆ ร่างกายจะดูดเอาน้ำ  ลม  และสารพิษเข้าสู่ร่างกาย  อุจจาระแข็งตัว  ถ่ายยาก  ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร
อาหารเก่ากำเริบหรือพิการ
        โบราณจารย์ท่านจัดเอาอาหารที่มีพยาธิเป็นอาหารพิการ  พยาธิที่ปะปนมากับอาหารมีอยู่มากมายหลายชนิด   ส่วนหนึ่งจะฟักออกเป็นตัวในช่วงอาหารเก่า   ทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น  ให้มีอุจจาระเป็นฟองเน่าเหม็น  พุงโร  ก้นปอด  ผอมเหลือง
       -  ถ้าสารพิษและสิ่งสกปรกถูกส่งออกไปตามผิวหนัง   จะทำให้เกิดฝ้า   ผิวหมองคล้ำ  ไม่สดใส
       -  ถ้าอาหารเก่าตกค้างเป็นคราบอยู่ตามผนังลำไส้  นานเข้าจะหนาและแข็ง  เวลาลำไส้หดตัวทำให้ถูครูดกับคราบอาหาร  เกิดริดสีดวงลำไส้ได้  เกิดแผล  ติดเชื้อ  อักเสบเป็นฝีหนอง   ส่วนมากมักเกิดในผู้สูงอายุ  ที่มีอาการคูถเสมหะ    ลมในลำไส้   ลมในท้อง   หย่อนและพิการด้วย   จัดอยู่ในอชินโรค  อชินธาตุ   ส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่ไม่ถูกกับโรคหรือธาตุ   ทำให้ธาตุไม่ย่อย   อาหารที่มีเส้นใยน้อยก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ท้องผูก  
 ( ดูเพิ่มเติม  เรื่องอุจจาระธาตุพิการ  ในพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ )

การดูแลรักษา
1.  งดอาหารที่แสลงกับโรคหรือธาตุ  อาหารที่ไม่เคยกิน  อาหารเน่าเสีย  อาหารเก็บไว้นาน  อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารแข็ง  ย่อยยาก  เป็นต้น
2.  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  และพักผ่อนให้เพียงพอ
3.  รับประทานอาหารที่มีเส้นใย  อาหารที่ช่วยการขับถ่ายให้มาก ๆ


การใช้ยาสมุนไพรรักษา
1.  ถ้ากินอิ่มแล้วปวดท้อง   ให้ท้องร้อน  ให้จุกเสียด  ผะอืดผะอม  ให้ยาแก้โรคกระเพาะอาหาร  ลำไส้
2.  ถ้าท้องเสีย  ท้องเดิน  ลงท้อง  เป็นลมป่วง  ให้ยาแก้ท้องเสีย  แก้ลมป่วง
3.  ถ้ากินอาหารรสมันมาก  หรือนมแล้วถ่ายอย่างแรง   ให้ยาแก้ท้องเสีย  ยาบำรุงธาตุ  บำรุงน้ำดี
4.  ถ้าเป็นพรรดึก  ให้ยาระบาย  ยาถ่าย
5. ถ้าลงท้อง  ถ่ายและอาเจียน  เนื่องจากกินของผิดสำแดง  อาหารเป็นพิษ  สารพิษ  ให้ยาสมานลำไส้  ยาแก้พิษ
6.  ถ้าท้องผูก  เป็นพรรดึก  ให้ยาระบาย  ยาถ่าย
7.  ถ้าเป็นริดสีดวงทวาร  ให้ยาแก้ริดสีดวงทวาร
8.  ถ้ามีอาการสมองมึนงง  ให้ยาถ่ายขับพิษและยาหอมบำรุงโลหิต หัวใจ และสมอง
9.  ถ้าผิวพรรณหม่นหมอง  มีฝ้าเลือด  ให้ยาฟอกและบำรุงโลหิต 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.prueksaveda.com/ โดย ยศ พฤกษเวช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น