วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไข้หวัดในคัมภีร์ตักศิลา

  ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดน้อย เกิดจากอุตุสมุฏฐานและอากาศ ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไข้หวัดน้อย หรือบางทีก็เป็นขึ้นโดยสมุฏฐาน   
๑. ไข้หวัดน้อย
ปฐมเหตุของโรค ไข้หวัดน้อยนี้โดยมากมักเกิดในฤดูฝน  ฤดูหนาว  หรือในทุกๆ คราวที่เปลี่ยนฤดู ฤดูคาบเกี่ยวกัน    ถ้าพูดแล้วก็เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุตุสมุฏฐาน (ฤดูกาล) และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ  กระทำให้กำเดากำเริบ  การเริ่มของไข้หวัดน้อยนี้ ดำเนินครั้งแรกเข้าในอาการเอกโทษ มีอาการตัวร้อน ตาแดง ปวดศีรษะเป็นกำลัง เบาแดง อาเจียน กระหายน้ำ ร้อนใน ปากขม หน้าแดง สะบัดร้อนสะบัดหนาว ผิวหนังและริมฝีปากแห้ง นอนมิใคร่หลับ มีน้ำตาและน้ำมูกไหลมากๆ เสมอๆ ตลอดวัน ปัสสาวะแดง  ทั้งนี้เนื่องจาก กำเดา เป็นสมุฏฐาน
ไข้หวัดน้อยนี้ ดังกล่าวแล้วว่าโดยมากมักจะเกิดจากอุตุสมุฏฐานและอากาศ  แต่ยังอาจจะเกิดขึ้นได้อีกหลายประการ คือ
๑. เนื่องจากความร้อนพระอาทิตย์แผดเผา ที่ต้องฝ่าตรำมา ทำให้กำเดากำเริบ
๒. เนื่องจากความเย็นชื้นของละอองน้ำค้างภายนอกที่ตนฝ่าตรำมา ทำให้กำเดากำเริบ
๓. เนื่องจากได้รับความร้อนเย็นไม่สม่ำเสมอกระทำให้กำเริบ
๔. เนื่องจากละอองหญ้าแห้ง เช่น ฟางข้าว หรือ หญ้าต่างๆแห้งปลิวเข้าฆานะประสาท (จมูกที่รับรู้กลิ่น) รบกวนถึงสมอง ทำให้กำเดากำเริบ ฯลฯ เป็นต้น

หมายเหตุ อันว่าคนไข้ทั้งหลาย ไม่กินยาก็หาย อาบน้ำก็หาย ใน 3 วัน 5 วัน (ถ้าเป็นหวัดธรรมดา)
               อนึ่ง ไข้หวัดน้อยนี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของไข้ ทุวันโทษ ตรีโทษได้ ในวาระต่อไป แล้วแต่อาการของโรคที่จะดำเนินตามกำลังไข้  ดังจะได้กล่าวในบทต่อไปนี้
๒.  ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่นี้โดยปรกติมักจะเนื่องมาจากไข้หวัดน้อย หรือบางทีก็เป็นขึ้นโดยสมุฏฐานของมันเอง ปฐมเหตุของโรคนี้ก็เนื่องจากเหตุอันเดียวกันกับไข้หวัดน้อย คือ อุตุสมุฏฐาน และการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ  แต่ไข้หวัดใหญ่นี้มีอาการเข้าทุวันโทษ คือ กำเดา เสมหะ กำเริบ หรือเข้าตรีโทษทีเดียว กล่าวคือ กำเดา เสมหะ โลหิตกำเริบทั้ง ๓ ประการ คือ มีอาการให้ร้อนใน กระหายน้ำ ตัวร้อนจัด สะบัดร้อนสะบัดหนาว หัวใจกระสับกระส่าย  เหงื่อตกมากๆ  ตาแดง  หน้าแดง  เหนื่อย  หอบ  หายใจขัด  แต่ไข้หวัดใหญ่นี้แบ่งแยกออกเป็น ๒ ชนิดตามสมุฎฐานคือ
ก.  ชนิดจับปอด   คือ หวัดจับปอด  อาการร้อนใน  กระหายน้ำ  ตัวร้อนจัด  ซึมแน่นิ่ง  หรือคลุ้มคลั่งสะบัดร้อนสะบัดหนาว  เหงื่อออกมากๆ  ปวดศีรษะเป็นกำลัง  เบื่ออาหาร  หายใจขัด  เสมหะกำเริบจับปอด  หอบเหนื่อย  ปัสสาวะแดง  ตาแดงเป็นโลหิต  เจ็บคอ  ปวดเมื่อยทั่วข้อลำตัว
ข.  ชนิดจับกระเพาะอาหาร   คือ หวัดจับกระเพาะอาหาร  มีอาการสะบัดร้อนสะบาดหนาว  ตัวร้อนจัด  กระหายน้ำ กระวนกระวาย  ปวดศีรษะ  ท้องร่วง  อุจจาระเป็นเสมหะเป็นฟอง  เบื่ออาหาร  มักอาเจียน  ท้องเฟ้ออยู่เสมอ  เหงื่อตกมากๆ  ปัสสาวะแดง  ปวดเมื่อยตามข้อลำทั่วตัว

อาการจะดำเนินตามกำลังไข้ จับให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ ให้ไอ จาม น้ำมูกตกมาก ตัวร้อน อาเจียน ปากแห้ง ปากเปรี้ยว ปากขม กินข้าวไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอมาก ทำพิษให้คอแห้ง ปากแห้ง ฟันแห้ง จมูกแห้ง น้ำมูก แห้ง บางทีกระทำให้น้ำมูกไหลหยดย้อย
เพราะเหตุมันสมองนั้นเหลวออกไปหยดออกจากจมูกทั้ง2 ข้าง ไปประทะกับศอเสมหะ(เสมหะในลำคอ) จึงทำให้ไอ ถ้ารักษาไม่คลาย กลายเป็นริดสีดวง มองคร่อ(หวัดลงปอด) หืด ไอ และฝี 7 ประการ จะบังเกิดขึ้นการรักษาไข้หวัดทั้ง 2 ประการนี้ ให้ยาลดไข้ รักษาตามอาการ ให้คนไข้ นอนพักผ่อนให้มากๆ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น ใส่เสื้อหนาๆ ให้ผ้าคลุมอก อย่าให้อาบน้ำ หรือถูกน้ำเย็นในขณะที่มีไข้ อาหารควรให้อาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย และอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

 แต่ไข้หวัดใหญ่เป็นไข้อันร้ายแรงในจำพวกไข้หวัดต่างๆด้วยกัน ผู้ที่จะเป็นแพทย์ต่อไปข้างหน้า
 ให้รักษาจงดี หากประมาท รักษาไม่ดี อาจตายได้ ผู้ศึกษาพึงสำเหนียกไว้  พอเป็นสังเขปเพื่อวินิจฉัย และพิจารณาดังกล่าว

ที่มาของข้อมูล http://www.utts.or.th/doc_001.php?a_id=19
ที่มาของภาพ  http://tbn1.google.com/images?q=tbn:KRy5NWBhU4-ixM:http://www.dt.ac.th/learn/kk/135.jpg


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น